x close

TIME เผยอันดับ 10 ข่าวดังจากทั่วโลก ประจำปี 2556

TIME เผยอันดับ 10 ข่าวดังจากทั่วโลก ประจำปี 2556

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม


          ในช่วงปีที่ผ่านมาได้มีเหตุการณ์ใหญ่ ๆ เกิดขึ้นในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลกมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นแถบทวีปเอเชียของเรา ตลอดจนฝั่งยุโรป อเมริกา ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ซึ่งแต่ละเหตุการณ์นั้นก็ได้ส่งผลกระทบครั้งใหญ่ต่อประเทศอื่น ๆ ที่อยู่ในซีกโลกต่าง ๆ จนต้องมีการยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ หรือเข้ามาร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาเพื่อให้ผ่านลุล่วงไปได้ด้วยดี และในวันนี้ กระปุกดอทคอม ก็จะขอยก 10 ข่าวดังจากทั่วโลก ในปี 2556 ที่จัดอันดับโดยนิตยสาร TIME มาให้เราได้ย้อนกลับไปดูอีกครั้ง ว่าในรอบปีที่ผ่านมามีเหตุการณ์สำคัญใดบ้างที่เกิดขึ้นรอบตัวเรา 


1. สงครามกลางเมืองในซีเรีย

สงครามซีเรีย
ภาพประกอบจาก ABO SHUJA / AFP

          หลังจากการสู้รบยาวนานกว่า 2 ปี ระหว่างฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลและฝ่ายต่อต้านในสงครามกลางเมืองของซีเรีย ในที่สุดเช้าวันที่ 21 สิงหาคม 2556 ก็ได้มีรายงานถึงการโจมตีด้วยอาวุธเคมีจากบริเวณชานเมืองดามัสกัส ซึ่งนับเป็นเหตุการณ์ที่น่าสะพรึงกลัวเป็นอย่างยิ่งในสงครามกลางเมืองนี้ ค่าเสียหายของการโจมตีในครั้งนี้ถูกจ่ายด้วยชีวิตของเหยื่อนับแสนคน และได้ก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ลี้ภัยครั้งใหญ่ที่สุดแห่งยุค ขณะที่ภาพคลิปอันน่าหวาดหวั่นของเด็กและสตรีที่ค่อย ๆ เสียชีวิตด้วยแก๊สพิษ ก็ได้นำไปสู่ปฏิกิริยาตอบกลับอันรุนแรงจากประชาคมระหว่างประเทศ ผู้ซึ่งเฝ้ามองความเสียหายที่เกิดขึ้นในสงครามกลางเมืองของซีเรียมาตลอด

         เพียงแค่ 10 วันหลังจากข่าวซึ่งระบุว่า ประธานาธิบดีบาซาร์ อัลซัด ผู้นำซีเรียได้ใช้อาวุธเคมีสังหารผู้คนไปถึง 1,429 ราย ถูกเผยแพร่สู่สาธารณะ ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ผู้นำสหรัฐฯ ก็ได้ลุกขึ้นมาประกาศว่าจะขอให้สภาคองเกรส อนุมัติให้สหรัฐฯ นำกำลังเข้ายับยั้งการใช้อาวุธชีวภาพในซีเรีย ในขณะที่ประธานาธิบดีบาซาร์ อัลซัด ยังคงปฏิเสธข่าวดังกล่าว และยังคงดำเนินการสู้รบกับกลุ่มต่อต้านต่อไป

          อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่คนทั่วโลกเป็นกังวลก็ไม่ได้เกิดขึ้น เมื่อประชาชนชาวอเมริกันได้ออกมาต่อต้านการที่สหรัฐฯ จะยื่นมือเข้าไปแทรกแซงสิ่งที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลาง ขณะที่รัสเซีย ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนของซีเรีย ก็ได้ออกมาโน้มน้าวให้มีการเคลื่อนย้ายคลังอาวุธชีวภาพออกมาสู่การควบคุมของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ จนในที่สุดผู้นำของซีเรียก็ยอมให้ความร่วมมือด้วยการให้ผู้ตรวจสอบจากสหประชาชาติเข้าไปตรวจสอบคลังอาวุธดังกล่าวในที่สุด

          ทั้งนี้ ท่ามกลางความเดือดดาลของผู้คนในสงครามกลางเมืองที่นำประเทศเข้าสู่วิกฤติและความแตกแยกที่ทวีหนักขึ้น การเจรจาเพื่อสันติภาพจะถูกจัดขึ้นในกรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในปี 2557 นี้ ซึ่งแม้ว่าจะเป็นเวลาที่ไม่ใกล้นัก แต่ก็นับว่าเป็นอีกหนึ่งแสงแห่งความหวัง ที่สงครามอันยืดเยื้อของซีเรียจะสิ้นสุดลง




2. บทใหม่ของอิหร่าน

ฮัสซัน โรฮานี
ประธานาธิบดีฮัสซัน โรฮานี
ภาพประกอบจาก IRANIAN PRESIDENCY WEBSITE / AFP

          ดูเหมือนว่าประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของอิหร่านจะเริ่มต้นขึ้น เมื่อประธานาธิบดีฮัสซัน โรฮานี ผู้นำคนใหม่ของอิหร่านที่ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีอย่างถล่มทลายเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีแนวโน้มที่จะมีความเป็นมิตรต่อชาติตะวันตกและอิสราเอลมากกว่าอดีตประธานาธิบดีมะห์มูด อะห์มาดิเนจัด ผู้นำคนก่อนที่ได้ก้าวลงจากตำแหน่งไป ทั้งยังดูเหมือนว่าประธานาธิบดีโรฮานีกับคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ของเขามีความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงบรรยากาศรอบ ๆ อิหร่านและนำประเทศไปสู่ทางสายกลาง ด้วยการพยายามที่จะเจรจากับบรรดาชาติมหาอำนาจให้บรรลุข้อตกลงเรื่องโครงการพัฒนานิวเคลียร์ของอิหร่าน เพื่อยุติมาตรการคว่ำบาตรจากต่างชาติ และยังเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 30 ปีที่มีการเจรจาระดับสูงสุดระหว่างผู้นำอิหร่านและสหรัฐฯ เมื่อประธานาธิบดีโรฮานีได้พูดคุยทางโทรศัพท์กับประธานาธิบดีบารัค โอบามา เป็นเวลานาน 15 นาที

          แม้ว่าท่าทีของผู้นำคนใหม่ของอิหร่านจะยังเป็นที่น่ากังขาใจของอิสราเอล แต่อิหร่านก็ยังคงเดินหน้าในเรื่องการเจรจาดังกล่าวต่อไป เพื่อให้ประเทศได้หลุดพ้นจากการคว่ำบาตรยาวนานหลายปี


3. จุดจบของการปฏิวัติอียิปต์ ?

ข่าวอียิปต์ ประท้วง
ภาพประกอบจาก MAHMOUD kHALED / AFP

          ในวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา พลเอกอับเดล ฟาตาห์ อัลซีซี ผู้นำกองทัพอียิปต์ ได้ออกแถลงการณ์โค่นล้มอำนาจ อดีตประธานาธิบดีโมฮาเหม็ด มอร์ซี ผู้นำซึ่งมาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งดำรงตำแหน่งมาได้เพียงปีเดียวเท่านั้น พร้อมควบคุมตัวนายมอร์ซี และแกนนำพรรคมุสลิมภราดรภาพ หรือเอฟเจพี หลายคนไปไว้ในที่ลับแห่งหนึ่ง ท่ามกลางความยินดีของประชาชนหลายล้านคนที่ออกมาเดินขบวนประท้วงทั่วถนนในอียิปต์เพื่อขับไล่นายมอร์ซี ผู้ที่เป็นกลุ่มอำนาจนิยม และเริ่มจะนำศาสนาเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองและการปกครอง

          อย่างไรก็ตาม การโค่นล้มอำนาจของนายมอร์ซีก็ได้นำไปสู่การประท้วงครั้งใหญ่จากกลุ่มผู้ที่สนับสนุนนายมอร์ซี่ ซึ่งออกมาปะทะกับกลุ่มต่อต้าน และได้นำไปสู่การนองเลือดครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 14 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคน และบาดเจ็บอีกกว่า 4,000 คน ทั้งนี้ ก่อนที่ทางกองทัพจะร่วมกันทำให้ประเทศกลับมาสู่การเป็นระบอบประชาธิปไตยอีกครั้ง พวกเขาจำเป็นที่จะต้องยุติความขัดแย้งและแตกแยกอย่างรุนแรงของกลุ่มผู้ปฏิวัติที่มีมานานนับตั้งแต่อดีตประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัค ลงจากตำแหน่งในเดือนกุมภาพันธ์ 2555 เสียก่อน โดยในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา พลเอกอับเดล ฟาตาห์ อัลซีซี เคยให้สัมภาษณ์ว่า ได้มีแผนจัดการเลือกตั้งในอียิปต์แล้วในปีหน้า
4. สโนว์เดน เขย่าโลก

 เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน
เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน


          เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน (Edward Snowden) อดีตลูกจ้างสำนักข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (CIA) ได้ออกมาเปิดโปงว่า สำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ (NSA) สังกัดรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ทำการลอบดักฟังโทรศัพท์ รวมถึงจารกรรมข้อมูลจากระบบจัดเก็บเอกสาร พร้อมบัญชีผู้ใช้และรหัสผ่านอีเมลของเจ้าหน้าที่ระดับสูงประจำสถานเอกอัครราชทูต 38 แห่งในกรุงวอชิงตัน ตั้งแต่ช่วงปี 2553 ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ถือเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของคนทั้งโลก จึงเป็นเรื่องควรแก่การประณามอย่างยิ่ง ซึ่งการออกมาแฉข้อมูลในครั้งนี้ของเขาก็ได้ก่อให้เกิดภัยต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศระหว่างสหรัฐฯ กับพันธมิตรชาติอื่น ๆ ที่ไม่พอใจในเรื่องที่สหรัฐฯ เข้ามาสอดแนมข้อมูลในประเทศของตน ขณะที่นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล จากเยอรมนีก็ต้องการคำตอบเกี่ยวกับเรื่องการดักฟังโทรศัพท์ของสหรัฐฯ และประธานาธิบดีดิลมา รูซเซฟฟ์  ผู้นำบราซิลก็ได้ออกมาประณามสหรัฐฯ ในเวทีสหประชาชาติว่า สหรัฐฯ นั้นกำลังดูถูกอธิปไตยในประเทศของเธอ

          จากผลกระทบทั้งในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และชุมชนหน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯ ทำให้ เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน กลายมาเป็นบุคคลที่รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังต้องการตัวอย่างยิ่งในฐานะคนทรยศ นอกจากนี้กลุ่มบริษัทเว็บไซต์สัญชาติอเมริกันก็มีแนวโน้มที่จะเกิดความสูญเสียมูลค่านับพันล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อผู้ใช้งานต่างชาติจำนวนมากต่างหันไปใช้บริการเว็บไซต์และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่พวกเขาคาดว่ามีแนวโน้มที่จะถูกสอดแนมต่ำกว่า


5. พระสันตะปาปาฟรานซิส พระสันตะปาปาคนใหม่

โป๊ปฟรานซิส เลือกแหวนชาวประมงทำจากเงิน แทนแหวนทองคำ
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก independent.ie

          หลังจากที่ควันสีขาวพวยพุ่งขึ้นในพิธีประชุมลับคอนเคลฟ เมื่อวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา ยุคใหม่ของวาติกันก็ได้เริ่มต้นขึ้น เมื่อพระคาร์ดินัลคอร์เค เบร์โกเกลียว อัครมุขนายกแห่งบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา ได้รับเลือกให้ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นสมเด็จพระสันตะปาปาองค์ใหม่ โดยมีพระนามว่าสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ถัดจากสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ที่ทรงสละตำแหน่งไป

          สำหรับพระนาม "ฟรานซิส" นั้นเป็นพระนามที่พระองค์ทรงเลือกด้วยพระองค์เอง พร้อมได้มีการประกาศว่าพระนามอย่างเป็นทางการของพระองค์คือ "ฟรานซิส" ไม่ใช่ "ฟรานซิสที่ 1" พระองค์จะมีพระนามว่าฟรานซิสที่ 1 ก็ต่อเมื่อในอนาคตมีสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสที่ 2 แล้วเท่านั้น และสำหรับภารกิจขององค์หลังจากนี้ก็คือการเป็นผู้นำการปฏิรูปทางการเงินของวาติกัน รวมทั้งท้าทายมุมมองดั้งเดิมของคริสตจักรที่มีต่อสตรีและกลุ่มคนรักร่วมเพศ อีกทั้งสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสยังได้กล่าวประณามต่อธรรมชาติของการแย่งชิงในระบบทุนนิยมของตะวันตกด้วย


6. การก่อการร้ายในแอฟริกา

การก่อการร้ายในแอฟริกา
ภาพประกอบจาก James Quest / AFP

          การแทรกแซงทางทหารของฝรั่งเศสในมาลี เพื่อผลักดันฝ่ายกบฏอิสลามิสต์ถอยร่นออกไปจากเมืองดิอาบาลีเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ได้ประสบความสำเร็จอย่างกว้างขวาง แต่กลับเป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดการก่อการร้ายจากกลุ่มหัวรุนแรงทั่วแอฟริกาเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตตัวประกันที่โรงงานแก๊ซในแอลจีเรีย ที่ส่งผลให้มีชาวต่างชาติถูกสังหารไป 39 ราย การโจมตีอย่างอุกอาจของกลุ่มผู้ก่อการร้าย โบโกฮารัมในประเทศไนจีเรีย รวมถึงเหตุกราดยิงและบุกยึดห้างสรรพสินค้าเวสต์เกทกลางกรุงไนโรบี ที่ถูกระบุว่า เป็นฝีมือของกลุ่มหัวรุนแรง อัล เชบับ จากโซมาเลีย จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 68 ราย

          สำหรับเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้นได้รับความสนใจจากกลุ่มมหาอำนาจตะวันตกอย่างมาก เนื่องจากมีความเป็นกังวลว่ากลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงที่กระจัดกระจายอยู่ในทางตอนเหนือของทวีปแอฟริกา อาจจะเป็นภัยต่อสหรัฐฯ และชาติตะวันตกได้ สหรัฐฯ จึงได้ทำข้อตกลงกับรัฐบาลของอิตาลี เพื่อขออนุญาตใช้ฐานทัพเรือของอิตาลีที่ตั้งอยู่บนเกาะซิซิลีในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เป็นฐานปฏิบัติการของเหล่านาวิกโยธินอเมริกันและฐานของเครื่องบินโดรน เพื่อดำเนินภารกิจพิเศษในลิเบียและโซมาเลีย ทั้งนี้ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ฝรั่งเศสได้ประกาศว่าจะเสริมความแข็งแกร่งในด้านกองกำลังทหารเข้าไปยังประเทศในแอฟริกากลางที่เคยเป็นอาณานิคม ซึ่งขณะนี้กำลังถูกครอบงำโดยกลุ่มนักรบมุสลิมหัวรุนแรง


7. มหันตภัยโรงงานถล่มในบังกลาเทศ

มหันตภัยโรงงานถล่มในบังคลาเทศ
ภาพประกอบจาก MUNIR UZ ZAMAN / AFP

          การถล่มของอาคารรานาพลาซ่า ในพื้นที่รอบนอกของกรุงธากา เมืองหลวงของบังกลาเทศ เมื่อวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา นับเป็นภัยพิบัติครั้งเลวร้ายที่สุดในอุตสาหกรรมนี้ และทำให้มีลูกจ้างเสียชีวิตร่วม 1,100 คน อีกทั้งเหตุที่เกิดขึ้นนี้ยังเป็นเหมือนเครื่องเตือนให้เห็นถึงความน่ากลัวของสภาพยากไร้ในอุตสาหกรรมที่สำคัญของบังกลาเทศซึ่งมีการจ้างพนักงานถึง 4 ล้านคน มหันตภัยครั้งนี้ได้บังคับให้มีการอภิปราย ต่อทั้งภายในและภายนอกประเทศ เพื่อฏิรูปในโรงงานที่ส่งออกสินค้าไปทั่วยุโรปและสหรัฐฯ

          ในเดือนพฤศจิกายน กลุ่มตัวแทน Walmart, Gap and H&M และที่อื่น ๆ ได้เห็นด้วยที่จะให้มีการวางมาตรฐานที่เข้มงวดขึ้นเพื่อลูกจ้าง แต่กระบวนการยังถูกจำกัด และคนงานในบังกลาเทศก็ยังคงต้องต่อสู้เพื่อเรียกร้องรายได้ที่มากขึ้น ทั้งนี้ บังกลาเทศนับเป็นประเทศที่ได้ค่าแรงต่ำมากที่สุดในโลก


8. ข้อพิพาทน่านน้ำทางทะเลระหว่างจีนและประเทศเอเชียใต้

ข้อพิพาทน่านน้ำทางทะเลระหว่างจีนและประเทศเอเชียใต้
ภาพประกอบจาก JAPAN COAST GUARD / AFP

          หนึ่งในความท้าทายที่สุดของจีนในฐานะชาติมหาอำนาจ คือการก้าวไปสู่ประเทศมหาอำนาจทางทะเล ท่ามกลางความตึงเครียดเมื่อจีนเริ่มคุกคามเอเชียและเกิดข้อพิพาททางทะเลกับหลายประเทศในทะเลจีนใต้ ทั้งกับญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ บรูไน มาเลเซีย และเวียดนาม จากการที่จีนได้อ้างสิทธิ์เหนือหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ทั้งหมด และยังจัดทำแผนที่แสดงเส้นประซึ่งกินอาณาเขตรวมไปถึงหมู่เกาะและชายฝั่งของประเทศคู่พิพาทรายอื่น ๆ ในเอเชีย

          จากกรณีความขัดแย้งในการอ้างสิทธิ์หมู่เกาะเตียวหยู หรือ เกาะเซ็งคากุ ในทะเลจีนตะวันออก ที่บานปลายก็ได้ทำให้เกิดเหตุการณ์ชาวจีนในเมืองใหญ่ ลงมือทำร้ายนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่น ทำลายทรัพย์สิน ร้านค้าของญี่ปุ่นในจีน รวมถึงทุบกระจกรถญี่ปุ่นด้วย ก่อนที่ความตึงเครียดในข้อพิพาทระหว่างจีนและประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ จะทวีหนักขึ้น เมื่อจีนได้ประกาศเขตแสดงตนเพื่อการป้องภัยทางอากาศ (ADIZ)  เหนือหมู่เกาะในทะเลจีนตะวันออก

          และในเวลาต่อมา สหรัฐฯ ยังได้ส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดแบบ B-52 ซึ่งไม่ติดอาวุธของสหรัฐฯ บินผ่านเข้าไปในน่านฟ้าในทะเลจีนตะวันออกซึ่งอยู่เหนือบริเวณกลุ่มเกาะที่กำลังเป็นกรณีพิพาทระหว่างจีนกับญี่ปุ่น ซึ่งจีนได้ประกาศให้เป็นเขตป้องกันตนเองทางอากาศของตนแล้ว อย่างไรก็ตามแม้ว่าเหตุการณ์ในครั้งนั้นจะยังไม่ทำให้จีนออกมาตอบสนองอย่างรุนแรง แต่เขตป้องกันทางอากาศของจีนก็ยังคงมีอยู่ เช่นเดียวกับความคุกรุ่นทางการเมืองอันสืบเนื่องมาจากกรณีพิพาทดังกล่าว


9. เหตุข่มขืนระบาดในอินเดีย

          ความฮือฮาครั้งใหญ่ในข่าวช็อกโลก จากเหตุคดีรุมโทรมนักศึกษาสาวบนรถเมล์ในกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย ในช่วงปลายปี 2555 ได้ส่งผลสืบเนื่องต่อมายังช่วงต้นปี 2556 และนำไปสู่การเดินขบวนประท้วงครั้งใหญ่ในประเทศอินเดีย เพื่อเรียกร้องให้รัฐมีการคุ้มครองต่อสตรีมากขึ้น และเร่งกระบวนการพิพากษาโทษต่อนักโทษที่ก่อเหตุสะเทือนขวัญในครั้งนั้น จนกระทั่งต่อมา นักโทษ 4 ใน 6 ก็ได้ถูกตัดสินให้ประหารชีวิตในเดือนกันยายน นอกจากนี้คดีข่มขืนเด็กสาววัย 23 ปี ในนครมุมไบ ก็ยังดึงดูดความสนใจของผู้คนทั้งภายในประเทศและทั่วโลก ให้พุ่งตรงไปยังสภาพสังคมอันฉาวโฉ่ของอินเดียที่มีผู้ชายเป็นใหญ่ อย่างไรก็ตาม จากเหตุคดีข่มขืนที่แพร่ระบาดไปทั่วทั้งอินเดีย ก็ได้ก่อให้เกิดการใคร่ครวญถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนของสตรีในประเทศกำลังพัฒนา ที่มีเด็กผู้หญิงอายุไม่ถึง 14 ปี กว่า 2 ล้านคนที่มีการตั้งครรภ์ แห่งนี้อีกครั้ง



10. ซูเปอร์ไต้ฝุ่นไห่เยี่ยน

ซูเปอร์ไต้ฝุ่นไห่เยี่ยน
ภาพประกอบจาก NOEL CELIS / AFP

          เหตุมหันตภัยซูเปอร์ไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนถล่มฟิลิปปินส์ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมานั้น นับได้ว่าเป็นพายุที่สร้างความเสียหายต่อฟิลิปปินส์มากที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา และด้วยกระแสลมแรงถึง 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งก่อให้เกิดคลื่นสูง 20 ฟุตถล่มเข้ายังตอนกลางของประเทศ ทำให้แม้ว่าจะมีการเตรียมการอพยพผู้คนเกือบ 800,000 คนไว้ล่วงหน้า แต่ภัยธรรมชาติในครั้งนี้ก็ยังคร่าชีวิตของผู้คนในฟิลิปปินส์ไปไม่ต่ำกว่า 5,000 ราย และกวาดล้างเมืองชายฝั่งของทาโคลบันไปจนสิ้น ทำให้ผู้คนเกือบ 2 ล้านคนไร้ที่อยู่อาศัย

          และจากความเสียหายครั้งใหญ่นี้ ทำให้ประชาคมระหว่างประเทศได้เข้ามามอบความช่วยเหลือแก่ฟิลิปปินส์ ทั้งในเรื่องของเงินและเครื่องยังชีพที่ถูกบริจาคเข้ามา




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
TIME เผยอันดับ 10 ข่าวดังจากทั่วโลก ประจำปี 2556 อัปเดตล่าสุด 29 ธันวาคม 2556 เวลา 22:17:33 57,953 อ่าน
TOP