x close

20 ข่าวการเมืองที่ดุเดือด ร้อนแรง ปี 2556



20 ข่าวการเมืองที่ดุเดือด ร้อนแรง ปี 2556

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

            ในรอบปี 2556 ที่ผ่านมา การเมืองไทยดูเหมือนจะร้อนแรง ดุเดือด กันหลายเรื่องโดยเฉพาะปลายปีอย่างเดือนพฤศจิกายน และธันวาคม ส่วนต้น ๆ ปี ก็มีเรื่องให้ถกเถียงมายาวนานอย่างเช่น โครงการจำนำข้าว รวมถึงการสูญเสียบุคคลทางการเมือง การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ขณะที่ประเด็นพรรคประชาธิปัตย์ชนะเลือกตั้ง ส.ส. เขตดอนมือง ได้ในรอบ 37 ปีก็ติดโผมาด้วย นอกจากนี้ยังมีอีกหลาย ๆ เรื่อง และวันนี้กระปุกดอทคอม ขอรวบรวม 20 ประเด็นข่าวการเมืองที่สุดแห่งปีมาฝาก ซึ่งมีเหตุการณ์มีอะไรบ้าง ไปย้อนดูกันเลย


 1. ชุมพล ศิลปอาชา ถึงแก่อสัญกรรม

ชุมพล ศิลปอาชา
(ภาพจาก : สปริงนิวส์)

            ชุมพล ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้หมดสติกลางทำเนียบรัฐบาล ด้วยสภาพที่หน้าซีด ตัวเหลือง เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2555 จนถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล พักรักษาตัวอยู่ในห้องฉุกเฉิน แต่อาการก็ไม่ได้ดีขึ้น กระทั่งนายชุมพลถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2556 ข่าวนี้ก็ทำเอาคนในครอบครัวและสมาชิกพรรคชาติไทยพัฒนาช็อกไปตาม ๆ กัน


2. เสธ.หนั่น ถึงแก่อนิจกรรมตามชุมพลไป

พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์

            เรียกได้ว่าปี 2556 นี้เป็นปีที่พรรคชาติไทยพัฒนาสูญเสียบุคคลคนสำคัญของพรรคไปถึง 2 คน เพราะนอกจากนายชุมพล ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคที่ถึงแก่อสัญกรรมไป เมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2556 แล้วนั้น พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา ก็ถึงแก่อนิจกรรมเช่นกัน หลังจากที่ถูกนำส่งโรงพยาบาล รักษาอาการโรคถุงลมโป่งพองตั้งแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ซึ่งอาการหลังจากถูกนำส่งโรงพยาบาลของ พล.ต.สนั่น ก็ทรง ๆ ทรุด ๆ ไม่รู้สึกตัวเป็นเวลานาน กระทั่งวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 ก็ถึงแก่อนิจกรรมด้วยอาการติดเชื้อในกระแสเลือด


 3. เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ดุเดือด สุขุมพันธุ์ ชนะ พงศพัศ แบบฉิวเฉียด 

สุขุมพันธุ์ พงศพัศ

            ถือเป็นการเลือกตั้งที่ใหญ่ที่สุดในปี 2556 เลยก็ว่าได้ สำหรับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เพราะตั้งแต่ยังไม่มีการประกาศตัวผู้สมัครจาก 2 พรรคการเมืองใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ ก็ได้รับความสนใจจากประชาชนในประเทศเป็นอย่างมาก เริ่มตั้ง 2 พรรคดังกล่าวจะส่งใครลงเลือกตั้ง ซึ่งทางพรรคเพื่อไทย มีกระแสข่าวว่า ผู้ลงรับสมัครผู้ว่าฯ กทม. เป็นการท้าชิงกันระหว่างคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ กับ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ ก็มีกระแสข่าวว่าจะส่งคนอื่นลงแทน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เจ้าของเก้าอี้ตัวเดิม เช่น กรณ์ จาติกวณิช, กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ ฯลฯ เป็นต้น แต่สุดท้ายพรรคเพื่อไทยก็เลือก พล.ต.อ.พงศพัศ โดยต้องลาออกจากรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) มาเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ก็ยังคงไว้วางใจ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ นอกจากตัวแทนจาก 2 พรรคการเมืองใหญ่แล้ว ยังมีผู้สมัครอิสระรายอื่นมาร่วมสมัครชิงตำแหน่งด้วยเช่น อาทิ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส อดีต ผบ.ตร., นายโฆสิต สุวินิจจิต, นายสุหฤท สยามวาลา เป็นต้น

            ในช่วงโค้งแรกของการเลือกตั้ง ผลสำรวจต่าง ๆ ต่างระบุแทบไปในทิศทางเดียวกันว่า คนกรุงเทพฯ เลือก พล.ต.อ.พงศพัศ มากกว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ก่อนที่ช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง ผลสำรวจก็ยังเป็นเช่นเดิม แต่สุดท้าย เมื่อถึงวันเลือกตั้งจริง วันที่ 3 มีนาคม 2556 ผลปรากฏว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ สามารถเอาชนะ พล.ต.อ.พงศพัศ ไปได้ด้วยคะแนนเสียง 1,256,231 คะแนน ต่อ 1,077,899 คะแนน ซึ่งทำให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ เป็นผู้ว่าฯ กทม. ที่มีคะแนนเสียงมากที่สุด และ พล.ต.อ.พงศพัศ เป็นอันดับ 2 ที่มีคะแนนเสียงมากที่สุดเช่นกัน


 4. อี้ แทนคุณ โค่น แซม ยุรนันท์ คว้าเก้าอี้ ส.ส. เขตดอนเมือง

อี้ แทนคุณ

            หลังจากที่ผ่านการเลือกตั้งปี 2554 ไป 2 ปี สมรภูมิการเลือกตั้งในเขตดอนเมืองก็กลับมาเดือดอีกครั้ง เมื่อ เก่ง การุณ โหสกุล ส.ส. พรรคเพื่อไทย เขตดอนเมือง ถูกศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งแจกใบแดง พร้อมตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี ข้อหาปราศรัยใส่ร้ายนายแทนคุณ ก่อนเลือกตั้งปี พ.ศ. 2554 ทำให้เขตดอนเมืองต้องมีการเลือกตั้งซ่อม ส.ส. ขึ้น โดยที่ก่อนหน้านี้มีการเลือกตั้งซ่อม ส.ก. มาแล้ว จากการที่นายสุริยา โหสกุล พี่ชายของนายการุณเสียชีวิต ซึ่งเมื่อมีการเลือกตั้งใหม่ปรากฏว่า นางกนกนุช นากสุวรรณภา จากพรรคประชาธิปัตย์ สามารถเอาชนะการเลือกตั้ง ส.ก. ไปได้ ถือเป็นการเริ่มสั่นคลอนฐานที่มั่นของพรรคเพื่อไทยเข้าเต็ม ๆ

            ขณะที่การเลือกตั้งซ่อม ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ได้ส่งนายแทนคุณลงสมัครอีกครั้งหลังจากแพ้ไปครั้งที่แล้ว ขณะที่พรรคเพื่อไทยมีกระแสข่าวว่ามี 4 ตัวเลือก ได้แก่ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์, นายจตุพร พรหมพันธุ์, นายยุรนันท์ ภมรมนตรี และนางพิมพ์ชนา โหสกุล ภรรยานายการุณ และ ส.ก.เขตดอนเมือง สุดท้ายพรรคเพื่อไทยได้ให้นายยุรนันท์ลาออกจาก ส.ส.บัญชีรายชื่อ เพื่อมาลงสมัคร ส.ส. เขตดอนเมือง แข่งกับนายแทนคุณ

            อย่างไรก็ตาม ก่อนการเลือกตั้งก็มีเหตุการณ์ที่นายการุณกับนายแทนคุณกระทบกระทั่งกันอีกครั้ง เมื่อมีคลิปที่นายการุณเข้าไปด่านายแทนคุณ ซึ่งนายแทนคุณก็กล่าวในคลิปนั้นว่า อย่าทำร้ายผม เนื่องจากนายแทนคุณได้ถ่ายรูปนายการุณเอาไว้ ในงานประชุม SML จนกลายเป็นประเด็นตอบโต้กันเดือดในภายหลัง

            และเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2556 ผลการเลือกตั้ง ปรากฏว่า นายแทนคุณ สามารถเอาชนะนายยุรนันท์ไปได้ด้วยคะแนนเสียง 32,751 คะแนน ต่อ 30,357 คะแนน ซึ่งทำให้พรรคประชาธิปัตย์สามารถคว้าเก้าอี้ ส.ส. ในเขตดอนเมืองได้เป็นครั้งแรกในรอบ 37 ปี


5. ม็อบใหญ่ปลายปี จากต้านนิรโทษกรรม สู่การปฏิรูป


            สถานการณ์การเมืองไทยเริ่มร้อนระอุเมื่อนายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ สมาชิกพรรคเพื่อไทย ได้เสนอแก้ไขร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับนายวรชัย เหมะ ส.ส. พรรคเพื่อไทย ให้ครอบคลุมการนิรโทษถึงแกนนำ, พ.ต.ท.ทักษิณ, นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ โดยได้ผ่านวาระ 3 ในช่วงเวลาประมาณ 02.00-04.00 น. ของวันที่ 31 ตุลาคม 2556 ซึ่งในช่วงนั้นเองนายสุเทพก็ได้ประกาศชุมนุมที่สถานีรถไฟสามเสนแล้ว

            หลังจาก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ผ่านวาระ 3 แล้ว ก็มีประชาชนจำนวนมากออกมาคัดค้านไม่เห็นด้วย กระทั่งวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 วุฒิสภาจึงให้ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวตกไป อย่างไรก็ตาม ทางกลุ่มผู้ชุมนุมได้ประกาศยกระดับการชุมนุมเป็นการขับไล่รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์แทน เนื่องจากเห็นว่าหมดความชอบธรรมแล้ว อีกทั้งร่าง พ.ร.บ. ที่ตกไปนั้นมีโอกาสนำมาทูลเกล้าฯ ได้ทันทีหากพ้น 180 วัน หลังจากที่วุฒิสภาให้ร่าง พ.ร.บ. ตกไป

            การยกระดับการชุมนุมของนายสุเทพ ได้มีการเดินทางไปยึดศูนย์ราชการฯ กระทรวงต่าง ๆ สถานีโทรทัศน์ฟรีทีวี เพื่อกดดันให้รัฐบาลออกจากตำแหน่ง และเริ่มเปิดเผยถึงแนวความคิดการปฏิรูปประเทศ เช่น คดีทุจริตต้องไม่มีอายุความ, ปฏิรูปโครงสร้างตำรวจ ฯ อีกทั้งยังได้ตั้งชื่อกลุ่มอย่างเป็นทางการว่า คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.)

            จนกระทั่งวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2556 พรรคประชาธิปัตย์ได้ประกาศลาออกจาก ส.ส. ยกพรรค ส่งผลให้วันที่ 9 ธันวาคมซึ่งเป็นวันที่ทางกลุ่มผู้ชุมนุมได้นัดชุมนุมใหญ่ที่ทำเนียบรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ก็ได้ประกาศยุบสภาฯ และให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557

            อย่างไรก็ตาม ทาง กปปส. ได้กดดันให้รัฐบาลลาออกจากการรักษาการ เปิดโอกาสให้มีรัฐบาลชั่วคราวทำหน้าที่ปฏิรูปประเทศในการแก้ไขกฎหมายต่าง ๆ ขณะที่ทางพรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งครั้งนี้ โดยที่ในวันเปิดรับสมัคร ส.ส. วันแรก ทาง กปปส. ก็ได้เดินทางไปปิดสถานที่รับสมัครด้วย เพื่อไม่ให้ผู้สมัครสามารถสมัครเลือกตั้งได้ ทำให้สถานการณ์การเลือกตั้งปี 2557 ยังคงคลุมเครือว่าจะออกมาเป็นเช่นไร

            ทว่าวันที่ 26 ธันวาคม 2556 ทางกลุ่ม คปท. ได้นำมวลชนมาปิดล้อมสถานที่รับสมัครที่ดินแดง จนปะทะกับตำรวจ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย เป็นตำรวจ 1 คน ผู้ชุมนุม 1 คน ขณะที่ กกต. และพรรคการเมืองก็ได้จับสลากหมายเลขพรรคการเมืองอยู่ด้านใน ซึ่งภายหลังจากการจับสลากเสร็จ กกต. ก็แนะนำว่าให้รัฐบาลเลื่อนการเลือกตั้งออกไป ซึ่งทางรัฐบาลก็ตอบโต้ทันควันว่า จะไม่มีการเลื่อนเลือกตั้ง เพราะผิดรัฐธรรมนูญ

6. ส.ส. ดูคลิปในสภา


            อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่นับว่าเป็นประเด็นเด่นในการประชุมสภาฯ นั่นคือ การที่มีภาพหลุดออกมาว่า ส.ส. ในสภาฯ กำลังดูคลิปโป๊ ภาพโป๊ หรือเล่นเกมผ่านโทรศัพท์หรือไอแพดอยู่ ซึ่งผู้ที่ทำเช่นนี้ก็มาจากทั้ง 2 พรรคการเมืองใหญ่ ได้แก่ พรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ ทำให้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนเป็นจำนวนมากว่าไม่เหมาะสม



 7. การรวมตัวของกลุ่มหน้ากากขาว

หน้ากากขาว
(ภาพจาก : เฟซบุ๊ก V For Thailand)

            รัฐบาลยิ่งลักษณ์ บริหารประเทศได้เกือบ 2 ปี ก็มีกลุ่มผู้ออกมาต่อต้านเป็นระยะ ๆ เนื่องจากไม่พอใจแนวทางการบริหารที่เป็นโครงการประชานิยม ซึ่งทางกลุ่มผู้ต่อต้านมองว่า อาจจะทำให้ประเทศประสบภาวะล้มละลายทางการคลังในอนาคต รวมถึงปัญหาการทุจริตที่นับวันยิ่งเพิ่มพูน ทั้งนี้ การต่อต้านรัฐบาลเริ่มเปลี่ยนรูปแบบจากการที่มีแกนนำประกาศรวมพลชุมนุมในสถานที่แห่งหนึ่ง มาเป็นการรณรงค์ต่อต้านรัฐบาลผ่านเฟซบุ๊กแทน ซึ่งกลุ่มที่ต้านรัฐบาลนี้ก็ใช้ชื่อว่า V for Vendetta พร้อมใช้รูปหน้ากากกาย ฟอคส์ เป็นสัญลักษณ์ มีชื่อเรียกในแบบที่คุ้นเคยกันว่า กลุ่มหน้ากากขาว

            เมื่อมีผู้ต่อต้านรัฐบาลผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กระยะเวลาหนึ่ง และมีจำนวนคนต่อต้านมากพอแล้ว ทางกลุ่มหน้ากากขาวจึงได้นัดรวมพลรณรงค์ต้านรัฐบาลในใจกลางเมือง เช่น ห้างเซ็นทรัลเวิลด์, ย่านสีลม เป็นต้น ก่อนจะขยายตัวไปเป็นกลุ่มหน้ากากขาวตามจังหวัดต่าง ๆ นัดรวมพลตามจังหวัดนั้น ๆ ไป โดยที่ไม่ทราบว่ามีใครเป็นแกนนำ

            อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มหน้ากากขาวนั้น มีบุคคลหนึ่งที่โดดเด่นขึ้นมา หลังจากสวมหน้ากากขาวยืนประท้วงตามลำพังที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ในประเด็นจำนำข้าว เขาคนนั้นก็คือ ร.อ.ทรงกลด ชื่นชูผล หรือ ผู้กองปูเค็ม นั่นเอง ต่อมาผู้กองปูเค็มก็ได้ร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของทางกลุ่มหน้ากากขาวในการต่อต้านรัฐบาลอยู่เสมอ กระทั่งกลุ่มหน้ากากขาวค่อย ๆ ลดบทบาทการทำกิจกรรมลงไป ทันทีที่มีกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม


8. คลิปเสียงคล้ายทักษิณ-ยุทธศักดิ์ และประเด็นถังเช่า

คลิปเสียงคล้ายทักษิณ-ยุทธศักดิ์

            ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2556 ได้มีคลิปเสียงการสนทนาระหว่างบุคคล 2 คนหลุดออกมา ซึ่งเสียงคนในคลิปก็คล้าย พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อย่างไรก็ตาม พล.อ.ยุทธศักดิ์ ก็ได้ปฏิเสธที่จะชี้แจงเรื่องดังกล่าวไปแล้ว โดยประเด็นในคลิปนี้กลายเป็นจุดสนใจของประชาชน เนื่องจากมีการพาดพิงถึงหลายฝ่าย เช่น ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้นำเหล่าทัพ การนิรโทษกรรม และที่ฮือฮาที่สุดคงหนีไม่พ้นเรื่องถั่งเช่า ที่ทำให้หลายคนต้องรีบไปค้นหาข้อมูลอย่างไวว่า มันคืออะไร และมีสรรพคุณอะไรบ้างนั่นเอง



  9. ภาพหลุด คำรณวิทย์ บินพบ ทักษิณ ที่มาเก๊า 

คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง

คำรณวิทย์ ทักษิณ

            จากประเด็นรูปถ่ายในห้องทำงานของ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ที่ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ติดยศให้ พร้อมกับข้อความ "มีวันนี้ เพราะพี่ให้" หลังจากได้รับตำแหน่งหมาด ๆ เมื่อปี 2555 จนกลายเป็นที่วิจารณ์ของหลายฝ่ายถึงความไม่เหมาะสม ล่าสุด ในปี 2556 พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ก็มีประเด็นเกี่ยวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ อีกครั้ง เมื่อมีภาพหลุดออกมาเป็นภาพที่ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ กำลังถ่ายภาพร่วมกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่มาเก๊า ส่งผลให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงประเด็นดังกล่าวอีกครั้ง



 10. เฉลิมป่วย

เฉลิม อยู่บำรุง

            ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ถูกหามส่งโรงพยาบาลเป็นการด่วน เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2556 เนื่องจากมีอาการเยื่อหุ้มใต้สมอง ต้องเข้ารับการผ่าตัด โดยหลังจากผ่าตัดเสร็จ ก็ออกจากโรงพยาบาล ทว่าผ่านไปเพียงไม่กี่วัน ร.ต.อ.เฉลิม ต้องถูกนำส่งโรงพยาบาลอีกครั้ง ขณะที่กำลังประชุมแนวทางป้องกันยาเสพติดกับ พล.ต.อ.พงศพัศ ซึ่งแพทย์ก็เปิดเผยว่า สาเหตุที่มีอาการกำเริบซ้ำเป็นเพราะเลือดที่คั่งในสมองคราวที่แล้วไม่แห้งนั่นเอง



 11. ประชา มาลีนนท์ กับ คดีรถดับเพลิง

ประชา มาลีนนท์

            เมื่อปี 2547 นายประชา มาลีนนท์ ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ถูกตั้งให้เป็น 1 ใน 6 ผู้ต้องหาคดีร่วมกันทุจริตซื้อรถและเรือดับเพลิง มูลค่า 6 พันล้านบาท จนถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เข้ามาสืบสวน สามารถชี้มูลความผิดผู้ต้องหาทั้ง 6 คน ก่อนส่งไปให้อัยการฟ้องต่อศาลฎีกา กระทั่งวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2556 ศาลฎีกาก็ได้ตัดสินว่านายประชามีความผิดจริง ต้องโทษจำคุก 12 ปี อย่างไรก็ตามในวันที่พิพากษา นายประชาไม่ได้มาตามที่ศาลนัด คาดว่าเตรียมหนีคดีไปอยู่ต่างประเทศแล้ว

            ทั้งนี้ ในเดือนตุลาคม ก็มีภาพนายประชากำลังนั่งทานอาหารอยู่ในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา แพร่หลายในโลกอินเทอร์เน็ต คาดว่า นายประชาเตรียมกลับเข้ามาในประเทศไทยหลังจากที่ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย สามารถผ่านวาระ 3 ไปได้



12. โทนี่ แบลร์ มาไทย ขึ้นเวทีปฏิรูปประเทศ

โทนี่ แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรี แห่งสหราชอาณาจักร
(ภาพจาก : tonyblairoffice)

            ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2556 รัฐบาลได้ริเริ่มแนวความคิดปฏิรูปประเทศ โดยได้มอบหมายให้นายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา, นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี และนายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้เชิญชวนกลุ่มต่าง ๆ เข้ามาร่วมหารือถึงแนวทางการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งในช่วงนั้นเอง สถานการณ์ทางการเมืองได้เริ่มมีความตึงเครียดขึ้นมาทีละนิด เมื่อกำลังจะมีการนำ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เข้าสู่สภานั่นเอง (ก่อนที่จะแปลงร่างเป็นฉบับสุดซอยในภายหลัง)

            นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้เปิดเวทีปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ "ผนึกกำลังสู่อนาคต เรียนรู้ร่วมกันจากประสบการณ์" ในวันที่ 2 กันยายน 2556 อีกด้วย โดยได้เชิญบุคคลที่มีชื่อเสียงจากต่างประเทศมา 2 คน เพื่อเสนอแนวคิดในการหาทางออก คือ นายโคฟี่ อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ กับ โทนี่ แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ซึ่งนายโคฟี่ อันนัน ตอบปฏิเสธ ขณะที่นายโทนี่ แบลร์ เข้าร่วม

            ทั้งนี้ นายโทนี่ แบลร์ ได้เสนอแนวทางทางออกของประเทศตอนหนึ่งว่า ความแตกแยกกันในประเทศไทยนั้น จะสามารถแก้ปัญหาได้ด้วยประชาธิปไตยที่แท้จริง โดยต้องเข้าใจว่า ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่เรื่องการลงคะแนนเสียง แต่เป็นเรื่องของแนวคิด ความคิด พร้อมกันนี้ ยังมีหลายฝ่ายวิจารณ์รัฐบาลว่า ทำไมต้องให้คนต่างประเทศมายุ่งกิจการทางการเมืองไทย และทำไมต้องจ่ายเงินจำนวน 20 ล้านเพื่อจ้างให้โทนี่ แบลร์ มาพูด อย่างไรก็ตาม กระทรวงต่างประเทศได้ออกมาปฏิเสธเรื่องเงินค่าจ้างแล้ว ระบุว่า นายโทนี่ แบลร์ พูดให้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย



13. บ้านเลขที่ 109 พ้นโทษแบนทางการเมือง 5 ปี

บรรหาร
(ภาพจาก : ข่าวสด)

สมชาย วงศ์สวัสดิ์ นำสมาชิกบ้านเลขที่ 109 สมัครเพื่อไทย

            ในวันที่ 2 ธันวาคม 2556 ที่ผ่านมา เป็นวันที่ครบรอบ 5 ปี ของการตัดสินยุบพรรคพลังประชาชน, พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย พอดี ส่งผลให้กรรมการบริหารพรรคทั้งหมด 109 คน หรือเรียกกันติดปากว่า บ้านเลขที่ 109 นั้น พ้นโทษแบนทางการเมือง นำโดยนายบรรหาร ศิลปอาชา, นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และนายนพดล ปัทมะ ซึ่งทันทีที่ทั้ง 3 คนพ้นโทษ ก็ต่างสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรค ซึ่งนายบรรหารได้สมัครเป็นสมาชิกพรรคชาติไทยพัฒนา ขณะที่นายสมชายและนายนพดล สมัครเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย และเมื่อนางสาวยิ่งลักษณ์ ประกาศยุบสภา จึงทำให้บุคคลที่เพิ่งพ้นโทษแบนกลับมา รวมถึงบ้านเลขที่ 111 ที่เป็นอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย มีโอกาสสมัครเป็น ส.ส. อีกครั้ง


 14. นาฬิกาสภาไทย เรือนละ 7.5 หมื่น


            นอกจากเหตุการณ์ความชุลมุนในสภา, ส.ส. ดูภาพโป๊ในสภาแล้ว สภาไทยก็ยังคงมีประเด็นให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อีกครั้ง เมื่อมีการแฉว่า นาฬิกาที่รัฐบาลซื้อประดับรอบรัฐสภาจำนวน 200 เรือน มีมูลค่าทั้งหมด 15 ล้านบาท หรือตกประมาณเรือนละ 75,000 บาท ซึ่งทางชาวอินเทอร์เน็ตก็ได้ไปสืบเสาะหาราคาขายที่แท้จริง พบว่า นาฬิการุ่นดังกล่าวขายสูงสุดไม่เกิน 25,000 บาทเท่านั้น ทำให้ประชาชนที่รับทราบข้อมูลต่างวิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมของราคา

            ขณะที่ทางสภาฯ ก็ได้ชี้แจงว่า สาเหตุที่ราคานาฬิกาแพงถึง 15 ล้านบาท เป็นเพราะมีการเชื่อมดาวเทียม อินเทอร์เน็ต ทำให้นาฬิกาเดินตรงกันทุกเรือน เพื่อทำให้ ส.ส. เข้าประชุมได้ตรงกันมากขึ้น แต่ว่านาฬิกาที่รัฐสภาซื้อก็ตายอย่างรวดเร็ว ท่ามกลางการวิจารณ์จากสังคมโลกโซเชียลอย่างหนัก


15. พ.ร.บ.กู้เงิน 2.2 ล้านล้าน ผ่านสภา

พ.ร.บ.กู้เงิน 2.2 ล้านล้าน

            รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ได้ออกโครงการรถคันแรก, จำนำข้าว, ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ไปเรียบร้อยแล้วตั้งแต่เข้ามาบริหารใหม่ ๆ อย่างไรก็ตามในปี 2556 นี้ รัฐบาลก็ได้ผุดโครงการใหม่ขึ้นมา ได้แก่ โครงการกู้เงิน 2.2 ล้านล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน กล่าวคือ จะเป็นการกู้เงิน 2.2 ล้านล้านบาทเพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงระบบรถรางใหม่ทั่วประเทศ สร้างรถไฟความเร็วสูงตั้งแต่เหนือจรดใต้ เชื่อมกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งโครงการดังกล่าวก็ถูกวิจารณ์จากหลายฝ่ายว่า จะทำให้คนไทยต้องแบกรับหนี้ไปถึง 50 ปี

            อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.กู้เงิน 2.2 ล้านล้านบาท ก็สามารถผ่านสภาฯ ไปได้ทั้ง 3 วาระ และวุฒิสภาก็รับร่าง พ.ร.บ. เรียบร้อย โดยให้ผ่านบางมาตราไปเรียบร้อยแล้ว ขณะเดียวกัน ผู้ที่ไม่เห็นด้วยก็ได้ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญก็ได้รับคำร้องเอาไว้แล้ว


16. จำนำข้าวขาดทุน

จำนำข้าว

            โครงการจำนำข้าว ดำเนินการมากว่า 2 ปี ซึ่งถูกวิจารณ์เป็นอย่างมาก ว่าเป็นโครงการที่มีการทุจริตกันสูง ทำประเทศเสี่ยงประสบภาวะทางการคลังในอนาคต อีกทั้งไทยยังต้องกักตุนข้าวในสต็อกกว่า 10-17 ล้านตัน ส่งผลต่อราคาข้าวในตลาดโลก และที่สำคัญที่สุดคือ การขาดทุนกว่า 4 แสนล้านบาท

            อย่างไรก็ตาม ทางรัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์ก็ได้ชี้แจงว่า ขาดทุนเพียงแค่ 2-3 แสนล้านบาทเท่านั้น จำนวนเงิน 4 แสนบาท เป็นการคิดกันไปเอง

            นอกจากนี้ ยังมีอีกเหตุการณ์ที่เป็นที่กล่าวถึง นั่นคือ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนเกี่ยวกับการขาดทุนโครงการรับจำนำข้าว จนถูกผู้สื่อข่าวซักถามจนจนมุม โดยทั้งคู่ไม่สามารถตอบคำถามได้ เช่น ขาดทุนเท่าไหร่กันแน่ ใช้สูตรใดในการคำนวณการขาดทุน เป็นต้น และจนถึงทุกวันนี้ประชาชนหลายคนก็ยังคงสงสัยในโครงการจำนำข้าว


 17. อัยการสูงสุดส่งฟ้องศาล คดีอภิสิทธิ์-สุเทพ สั่งสลายเสื้อแดงปี 2553

อภิสิทธิ์-สุเทพ คดีสลายเสื้อแดงปี 53
(ภาพจาก : สปริงนิวส์)

            หลังจากที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้สลายการชุมนุม นปช. เมื่อปี 2553 ทำให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้เรียกตัวนายอภิสิทธิ์ ที่ขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์แก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ผอ.ศอฉ.) เข้ารับทราบข้อกล่าวหาในคดีร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนา กระทั่งมีการสอบสวนกันไปเรื่อย ๆ ในที่สุดอัยการสูงสุดก็ได้ส่งฟ้องศาลในวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2556 ซึ่งนายอภิสิทธิ์ ได้เดินทางมารายงานตัวที่ศาลอาญา พร้อมกับยื่นหลักทรัพย์ 1.8 ล้านบาทขอประกันตัวออกไป พร้อมกับถูกสั่งห้ามเดินทางออกนอกประเทศ โดยที่ศาลจะนัดตรวจพยานหลักฐานอีกครั้ง 24 มีนาคม 2557

            ขณะที่นายสุเทพได้ขอเลื่อนนัดออกไปเป็นวันที่ 8 มกราคม 2557 โดยอ้างว่าติดภารกิจ กปปส. ที่กำลังชุมนุมอยู่ในขณะนั้น


 18. ราตรี ได้กลับไทย แต่วีระยังถูกขังที่กัมพูชา

ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์
(ภาพจาก : ไทยพีบีเอส)

            เป็นระยะเวลากว่า 2 ปีกว่าที่นายวีระ สมความคิด และนางสาวราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ ถูกทางการกัมพูชาจับกุมตัวไปในข้อหาข้ามพรมแดนผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม กัมพูชาได้มีพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ ทำให้นางสาวราตรีพ้นโทษ สามารถกลับถึงไทยในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2556 ส่วนนายวีระ ได้รับการลดโทษ 6 เดือน ทำให้เหลือโทษจำคุกอีกประมาณ 5 ปีครึ่งเท่านั้น


 19. จับกำนันเป๊าะ


            วันที่ 30 มกราคม 2556 เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมนายสมชาย คุณปลื้ม หรือ กำนันเป๊าะ ผู้ต้องหาหนีคดีจ้างวานฆ่ากำนันยูรได้เป็นผลสำเร็จ ขณะที่กำลังเข้ามารักษาตัวที่โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ โดยใช้ชื่อปลอมว่านายกิม แซ่ตั้ง ซึ่งภายหลังที่จับกุมตัวกำนันเป๊าะได้ ศาลจึงได้ตัดสินให้จำคุกรวม 30 ปี 4 เดือน

            อย่างไรก็ตาม เมื่อขังกำนันเป๊าะที่เรือนจำได้ไม่นาน ก็ต้องย้ายกำนันเป๊าะไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลแทน เนื่องจากมีอาการอ่อนเพลีย ต้องเข้าห้องไอซียู โดยมีผู้คุมเฝ้าหน้าห้องตลอดเวลา


  20. นายกฯ ยิ่งลักษณ์ตัดสินใจยุบสภา

นายกฯ แถลงยุบสภา
(ภาพจาก : ‏@teeratr)

            หลังจากที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดนกดดันและโจมตีจากประชาชนอย่างหนัก ทั้งเรื่องโครงการจำนำข้าว เรื่องทุจริตอีกหลายโครงการ รวมถึง การเสนอออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จนทำให้ประชาชนออกมาประท้วงเป็นจำนวนมาก กระทั่งล่าสุดเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2556  ยิ่งลักษณ์ ก็ได้แถลง ประกาศยุบสภา เพื่อจัดเลือกตั้งใหม่ตามระบอบประชาธิปไตย โดยขอเชิญทุกกลุ่มทุกพรรคใช้เวทีการเลือกตั้งนำเสนอทางเลือกให้ประชาชน และเมื่อยุบแล้ว รัฐมนตรีย่อมพ้นจากตำแหน่งไปตามกฎหมาย แต่ต้องอยู่ในตำแหน่งจนกว่าคณะรัฐมนตรีใหม่จะเข้ารับตำแหน่ง

            หลัง ยิ่งลักษณ์ ประกาศยุบสภา ดูเหมือนการเมืองไทยจะยังไม่จบ เพราะแกนนำม็อบ กปปส. ที่นำโดยสุเทพ เทือกสุบรรณ ประกาศให้ ยิ่งลักษณ์ พร้อมคณะลงจากรักษาการนายกฯ ด้วย ขณะที่ฝ่าย ยิ่งลักษณ์ ก็ยืนยันที่จะรักษาการเก้าอี้นายกฯ ต่อไป จนกว่าจะมีการเลือกตั้ง และมีคนมาดำรงตำแหน่งตามระบอบประชาธิปไตย ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2556 พร้อมอ้างว่าจะผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ

            อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนเรื่องการเมืองจะยังคงดุเดือดเรื่อย ๆ เพราะทาง กปปส. ประกาศย้ำชัดแล้วว่า ไม่รับผลการเลือกตั้งครั้งนี้ และหลังปีใหม่จะทำการรุกฆาต ยิ่งลักษณ์ เจอที่ไหน ไล่ที่นั่น พร้อมจะชุมนุมทุกวัน ทุกคืนไม่เว้นวันหยุดราชการ เอ้า !  ประเด็นนี้ปี 57 ติดตามกันต่อค่ะ


            และนี่คือ 20 ข่าวการเมืองเด่น ๆ ในปี 2556 ส่วนปี 2557 ข่าวการเมืองคงจะเด่นตั้งแต่ต้นปีอย่างแน่นอน จากสถานการณ์การชุมนุมในขณะนี้ และการเลือกตั้งใหญ่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ซึ่งสถานการณ์ทางการเมืองจะเป็นอย่างไรต่อไป คงต้องติดตามดูกัน




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
20 ข่าวการเมืองที่ดุเดือด ร้อนแรง ปี 2556 อัปเดตล่าสุด 3 มกราคม 2557 เวลา 17:26:51 37,075 อ่าน
TOP