22 กันยายน วันแรดโลก ร่วมอนุรักษ์และต่อต้านการล่านอแรด


             วันแรดโลก วันที่ 22 กันยายน ร่วมรณรงค์ต่อต้านการล่าเอานอแรด และตระหนักถึงความสำคัญของประชากรแรดที่กำลังลดจำนวนลงอย่างน่าเป็นห่วง

วันแรดโลก

             รู้หรือไม่ว่า "แรด" ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นสัตว์บกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดรองจากช้าง กำลังจะสูญพันธุ์ลงไปทุกที ด้วยเหตุนี้ในวันที่ 22 กันยายน ของทุกปี ซึ่งเป็น วันอนุรักษ์แรดโลก (World Rhino Day) จึงได้ถูกก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นการตอกย้ำและเพิ่มความตระหนักถึงการลดลงของจำนวนประชากรแรดทั่วโลก จนใกล้จะสูญพันธุ์ลงอย่างน่าเสียดายในขณะนี้ กระปุกดอทคอมจึงได้หยิบยกความสำคัญของวันแรดโลก มาให้ทุกคนรู้จักไปพร้อม ๆ กันค่ะ

วันแรดโลก ก่อตั้งได้อย่างไร


             จุดเริ่มต้นของวันแรดโลก ถือกำเนิดขึ้นในปี 2553 โดยองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wide Fund for Nature - WWF) แห่งแอฟริกาใต้ จากการริเริ่มของผู้หญิง 2 คน คือ ลิซ่า เจน แคมป์เบล และ ซิงห์ ที่มีความต้องการเหมือนกันในการก่อตั้งวันแรดโลกขึ้นมา เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองให้กับแรดทั้ง 5 สายพันธุ์ และผลักดันจนสามารถเกิดเป็นวันแรดโลกได้สำเร็จ จนกลายเป็นที่ยอมรับของทั่วโลกและองค์กรต่าง ๆ ที่หันมาร่วมกันอนุรักษ์แรด 5 สายพันธุ์ ได้แก่
 
           1. แรดขาว (Ceratotherium simum) เป็นแรดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก พบในทวีปแอฟริกา

           2. แรดดำ (Diceros bicornis) เป็นแรดที่มีความใหญ่รองมาจากแรดขาว พบในทวีปแอฟริกาเช่นกัน
          
           3. แรดอินเดีย (Rhinoceros unicornis) พบในภูมิภาคเอเชียใต้ จัดเป็นแรดที่มีเพียงนอเดียว มีลักษณะเด่นคือ ผิวหนังหนาและมีรอยย่นเห็นได้ชัดเจน

           4. แรดชวา (Rhinoceros sondaicus) พบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีลักษณะคล้ายคลึงกับแรดอินเดีย เป็นแรดชนิดที่หายากที่สุดในโลก และได้รับการจัดอันดับว่าเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมชนิดที่หายากที่สุดในโลกอีกด้วย

           5. กระซู่ หรือแรด 2 นอ หรือ แรดสุมาตรา แรดขน (Dicerorhinus sumatrensis) มีลักษณะเด่นที่สุดคือ มี 2 นอ นอหน้าใหญ่กว่านอหลัง จัดเป็นสัตว์ตระกูลแรดที่มีขนาดเล็กที่สุด พบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่นกัน มีลักษณะเด่นคือ มีขนปกคลุมทั้งลำตัว เป็นแรดที่หายากมากอีกชนิดหนึ่ง
 
           โดยกำหนดให้วันที่ 22 กันยายน ของทุกปี เป็นวันอนุรักษ์แรดโลก พร้อมกันนี้การจัดตั้งวันแรดโลก ยังเป็นอีกหนึ่งหนทางเพิ่มความตระหนักถึงการลดจำนวนลงของประชากรแรดทั่วโลก จนเกือบจะกลายมาเป็นสัตว์สูญพันธุ์ในปัจจุบัน

แรด

วิกฤตการณ์ใกล้สูญพันธุ์ของแรด


           ในปัจจุบัน แรดกลายมาเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์เข้าไปทุกขณะ โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้แรดใกล้สูญพันธุ์นั้นเกิดจากการตัดไม้ทำลายป่าที่ทำลายที่อยู่อาศัยของแรด และอีกสาเหตุหลักที่สำคัญคือ การล่าของมนุษย์ ที่ต้องการนำนอแรดไปขายแปรรูปเป็นเครื่องประดับต่าง ๆ รวมถึงการนำนอแรดไปปรุงเป็นยา ตามความเชื่อของชาวจีนว่านอแรดสามารถรักษาโรคได้บางโรค ทั้งที่จริงแล้วส่วนประกอบทางเคมีของนอแรดนั้นไม่ต่างอะไรกับเส้นผมของคนเลย ซึ่งการสำรวจการลักลอบฆ่าแรดในแอฟริกาใต้ พบว่ามีการลักลอบฆ่าแรดเพื่อเอานอเพิ่มสูงขึ้นกว่า 9,300 ตัว จาก 13 ตัว ในปี 2550 เพิ่มขึ้นเป็น 1,215 ตัว ในปี 2557
 
           จากวิกฤตการณ์ใกล้สูญพันธุ์ของแรด ส่งผลให้ก่อนหน้านี้มีข่าวการปกป้องสัตว์สายพันธุ์นี้อย่างจริงจัง  อย่างเช่นกรณีของ เจ้าซูดาน แรดขาวเหนือ (northern white rhino) เพศผู้ วัย 42 ปี ที่คาดว่าน่าจะเป็นแรดขาวเหนือตัวผู้ตัวสุดท้ายของโลก ที่มีความหวังในการผสมพันธุ์กับตัวเมียริบหรี่เพราะอสุจิอ่อนแอ แม้จะพยายามผสมพันธุ์กันมาหลายครั้งก็ประสบความล้มเหลว ส่งผลให้ทางศูนย์อนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าต้องออกมาตรการปกป้องคุ้มครองแบบถึงที่สุด โดยให้เจ้าหน้าที่ถือปืนคอยปกป้องดูแลมัน 24 ชั่วโมง เพราะเกรงว่าหากคลาดสายตา เจ้าซูดานอาจจะตกเป็นเหยื่อของนักล่าสัตว์ได้ ซึ่งนั่นอาจหมายถึงการสูญสิ้นของสายพันธุ์แรดขาวเหนือเลยทีเดียว (อ่านข่าว แรดขาวเหนือตัวผู้ตัวสุดท้ายของโลก เจ้าหน้าที่ถือปืนปกป้อง 24 ชม.)

แรด

การหายไปของแรดในเอเชีย


           สำหรับการลักลอบฆ่าแรดเพื่อเอานอนั้น พบว่าตลาดที่มีการค้าขายใหญ่ที่สุดในเอเชีย คือ ประเทศเวียดนาม รวมทั้งพบว่าแรดชวาตัวสุดท้ายของเวียดนามถูกพบเป็นซากเมื่อเดือนเมษายน 2553
 
           ขณะที่ประเทศไทยนั้น ในอดีตสามารถพบสัตว์ตระกูลแรดในประเทศไทยได้ 2 ชนิด คือ แรดชวาและกระซู่ ซึ่งเป็นสัตว์สงวนบัญชีหมายเลข 1 ของไซเตส แต่ปัจจุบันไม่มีใครพบสิ่งมีชีวิตทั้ง 2 ชนิดนี้ตามธรรมชาติของผืนป่าไทยอีกแล้ว โดยเฉพาะแรดชวาได้หายไปจากประเทศไทยอย่างสิ้นเชิง ส่วนกระซู่ แม้จะยังมีรายงานว่าพบเพียงร่องรอยบ้าง แต่ก็ยังไม่มีใครพบตัวเป็น ๆ แต่อย่างใด
 
           จากวิกฤตการณ์ใกล้สูญพันธุ์ของประชากรแรด ทาง WWF จึงขอเชิญชวนทุกคนร่วมกันช่วยอนุรักษ์ประชากรแรด รวมทั้งช่วยกันต่อต้านค่านิยมการนำนอแรดมาทำเครื่องประดับ และความเชื่อผิด ๆ ที่เชื่อว่านอแรดสามารถนำมาปรุงยา และเพื่อไม่ให้สายพันธุ์แรดหมดไปจากโลก

           เช็กปฏิทิน 2567 ทั้ง วันหยุดราชการ วันหยุดธนาคาร วันพระ และวันสำคัญต่าง ๆ 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
22 กันยายน วันแรดโลก ร่วมอนุรักษ์และต่อต้านการล่านอแรด อัปเดตล่าสุด 17 เมษายน 2567 เวลา 15:48:17 72,949 อ่าน
TOP
x close