x close

ประวัติ ออง ซาน ซูจี ดอกไม้เหล็กแห่งเมียนมา ผู้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ก่อนถูกรัฐประหาร


ออง ซาน ซูจี

ออง ซาน ซูจี
 
          ประวัติ ออง ซาน ซูจี นักต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยแห่งเมียนมา เจ้าของรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ผู้นำพรรค NLD ที่ได้รับชัยในการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น ก่อนถูกรัฐประหาร

          เรื่องราวของนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยหญิงแห่งเมียนมา อย่าง ออง ซาน ซูจี กลับมาเป็นที่จับตามองของคนทั่วโลกอีกครั้ง ภายหลังปรากฏข่าว กองทัพเมียนมาก่อรัฐประหาร ยึดอำนาจจากพรรครัฐบาลที่นำโดย ออง ซาน ซูจี ผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) โดยทหารได้เข้าจับกุมตัวเธอจากบ้านพัก ตลอดจนแกนนำพรรคระดับรัฐมนตรีหลายคน โดยทางกองทัพได้แต่งตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ที่มาดำรงตำแหน่งชั่วคราว พร้อมประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน 

          ข่าวพม่ารัฐประหารสร้างความตื่นตกใจไปทั่วโลก หลายประเทศรวมถึงสหรัฐฯ เรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ที่ถูกทหารจับกุม และขู่จะมีการคว่ำบาตร ขณะที่ผู้คนต่างก็ให้ความสนใจกับเรื่องราวของ ออง ซาน ซูจี ที่ถูกกองทัพควบคุมตัวอีกครั้ง 

          และเพื่อให้ทุกคนได้รู้จักกับ ออง ซาน ซูจี ดอกไม้เหล็กแห่งเมียนมา ผู้ยืนหยัดอย่างเด็ดเดี่ยวเรียกร้องประชาธิปไตยแก่บ้านเกิดของตนมานานนับสิบปีกันมากขึ้น กระปุกดอทคอม ก็ไม่พลาดที่จะนำเรื่องราวของ ออง ซาน ซูจี มาฝากกันค่ะ
 

 
ประวัติ ออง ซาน ซูจี ดอกไม้เหล็กแห่งเมียนมา
 
ออง ซาน ซูจี

          ออง ซาน ซูจี เกิดเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2488 เป็นบุตรสาวคนสุดท้องของนายพลออง ซาน "วีรบุรุษอิสรภาพของประเทศพม่า" ผู้นำการต่อสู้กับญี่ปุ่นและสหราชอาณาจักร จนนำไปสู่การได้รับอิสรภาพเป็นรัฐเอกราชของสหภาพพม่า เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2491 และนางดอว์ขิ่นจี โดยนายพลออง ซาน ถูกลอบสังหาร ขณะที่ ออง ซาน ซูจี อายุ 2 ขวบ เท่านั้น

          สำหรับเรื่องการศึกษานั้น ออง ซาน ซูจี จบการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ ที่เซนต์ฮิวจส์คอลเลจ มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ และระดับปริญญาเอก SOAS (School of Oriental and African Studies) มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ
 
ชีวิตรักของ ออง ซาน ซูจี กับ ไมเคิล อริส สามีชาวอังกฤษ

 ออง ซาน ซูจี

          เส้นทางความรักของ ออง ซาน ซูจี กับ ไมเคิล อริส เพื่อนนักศึกษาชาวอังกฤษ เกิดขึ้นขณะที่ทั้ง 2 คน ศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ โดยตอนนั้น ออง ซาน ซูจี ยังเป็นนักศึกษาสาขาปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ ส่วน ไมเคิล อริส ศึกษาอยู่ในสาขาอารยธรรมทิเบต จนกระทั่งเมื่อปี 2515 ออง ซาน ซูจี และไมเคิล อริส ได้เข้าพิธีแต่งงานกัน และมีบุตรชายด้วยกัน 2 คน คือ อเล็กซานเดอร์ และ คิม ปัจจุบัน ไมเคิล อริส สามีของออง ซาน ซูจี เสียชีวิตแล้วเมื่อปี 2542 ด้วยโรคมะเร็ง
 
เส้นทางการเมืองของ ออง ซาน ซูจี จนมาถึงปัจจุบัน

ออง ซาน ซูจี

          ออง ซาน ซูจี เริ่มก้าวเข้าสู่เส้นทางการเมืองในปี 2531 เมื่อออง ซาน ซูจี เดินทางกลับบ้านเกิดที่กรุงย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา เพื่อมาดูแลนางดอว์ขิ่นจี มารดาซึ่งกำลังป่วยหนัก โดยขณะนั้นกำลังเกิดความวุ่นวายในประเทศเมียนมา ทั้งปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ และปัญหาการเมือง ทำให้ประชาชนออกมากดดัน จนนายพลเนวิน ต้องลาออกจากตำแหน่งประธานพรรคโครงการสังคมนิยมพม่า (The Burma Socialist Programme Party-BSPP) ที่ยึดอำนาจการปกครองประเทศเมียนมา มานานถึง 26 ปี

          หลังจากนั้นไม่นานก็เกิดการนองเลือดในวันที่ 8 สิงหาคม 2531 (ค.ศ. 1988) หรือที่รู้จักกันในชื่อเหตุการณ์ 8888 ซึ่งประชาชนนับล้านรวมตัวกันในกรุงย่างกุ้ง เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย จนทำให้ผู้นำทหารสั่งปราบปรามประชาชน ผู้ประท้วงราว 3,000 คน เสียชีวิต

          จากนั้นก็เกิดเหตุการณ์ปราบปรามประชาชน ในวันที่ 15 สิงหาคม 2531 ออง ซาน ซูจี ก็ได้เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองเป็นครั้งแรก โดยส่งหนังสือเปิดผนึกถึงรัฐบาลเรียกร้องให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อเตรียมการเลือกตั้งทั่วไป และในวันที่ 24 กันยายน 2531 ออง ซาน ซูจี ได้ร่วมจัดตั้ง "พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย" หรือเอ็นแอลดี (National League for Democracy: NLD) ขึ้นมา และได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรค ต่อจากนั้น ออง ซาน ซูจี ได้เดินหน้าปราศรัยทางการเมืองเรื่อยมา จนกระทั่งเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2532 ได้เกิดเหตุการณ์ที่ดินดอนสามเหลี่ยมอิรวดี ซึ่งในตอนนั้น ออง ซาน ซูจี ได้เดินเข้าหาเหล่าทหารที่ถือปืนไรเฟิลเล็งเข้าหาเธอ

          เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2532 รัฐบาลทหารเมียนมาได้ใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกสั่งกักบริเวณออง ซาน ซูจี ให้อยู่แต่ในบ้านพักเป็นครั้งแรก เป็นเวลา 3 ปี โดยไม่มีข้อหา ทั้งยังจับกุมสมาชิกพรรค NLD จำนวนมากไปคุมขังไว้ที่เรือนจำอินเส่ง โดย ออง ซาน ซูจี ได้อดอาหารเพื่อประท้วง และเรียกร้องให้นำเธอไปขังรวมกับสมาชิกพรรคคนอื่น ๆ ต่อมา ออง ซาน ซูจี ยุติการอดอาหารประท้วงเมื่อรัฐบาลเผด็จการทหารให้สัญญาว่าจะปฏิบัติต่อสมาชิกพรรค NLD ซึ่งถูกคุมขังไว้ในเรือนจำเป็นอย่างดี
 
ชีวิตของ ออง ซาน ซูจี หลังถูกกักบริเวณอยู่ภายในบ้านพัก จนวันที่ได้รับอิสรภาพ

ออง ซาน ซูจี

ออง ซาน ซูจี

          หลังจากที่ ออง ซาน ซูจี ถูกกักบริเวณอยู่ภายในบ้านพัก ปรากฏว่ารัฐบาลทหารเมียนมาในขณะนั้นได้จัดให้มีการเลือกตั้งขึ้นในปี 2533 ปรากฏว่าพรรค NLD ของออง ซาน ซูจี ได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นในการเลือกตั้ง โดยได้ที่นั่งในสภาร้อยละ 82 แต่รัฐบาลทหารเมียนมาไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น ทว่าได้มีการยื่นข้อเสนอให้ออง ซาน ซูจี ยุติบทบาททางการเมือง และเดินทางออกนอกประเทศ เพื่อไปใช้ชีวิตกับครอบครัวที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งออง ซาน ซูจี ได้ปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว เป็นเหตุให้รัฐบาลทหารเมียนมามีคำสั่งยืดเวลาการกักบริเวณออง ซาน ซูจี ออกไปอีก

ออง ซาน ซูจี

          จนกระทั่ง 6 ปีต่อมา ออง ซาน ซูจี ได้รับอิสรภาพ แต่เพียงไม่นานเธอก็ถูกรัฐบาลทหารเมียนมาสั่งกักบริเวณอีกครั้งโดยปราศจากความผิด ซึ่งการสั่งกักบริเวณในครั้งนี้กินเวลา 18 เดือน จนออง ซาน ซูจี ได้รับอิสรภาพในเดือนพฤษภาคม 2545 ต่อมาเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2546 ออง ซาน ซูจี ได้เดินทางไปพบปะประชาชน ซึ่งระหว่างนั้นได้เกิดการปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุนและผู้ต่อต้าน ทำให้รัฐบาลทหารเมียนมานำเหตุผลดังกล่าวมาสั่งกักบริเวณออง ซาน ซูจี อีกครั้ง

          ต่อมาเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2553 รัฐบาลทหารเมียนมาได้มีคำสั่งปล่อยตัวออง ซาน ซูจี ออกจากบ้านพัก หลังถูกนานาชาติกดดันอย่างหนัก และในวันที่ 23 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน ออง ซาน ซูจี ก็ได้พบกับ คิม บุตรชายคนเล็ก เป็นครั้งแรก โดยออง ซาน ซูจี ได้รอรับบุตรชายที่สนามบินมิงกาลาดง ถือเป็นครั้งแรกที่ออง ซาน ซูจี ได้อยู่ร่วมกับครอบครัว แม้จะไม่สมบูรณ์ก็ตาม

ออง ซาน ซูจี กับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ 

อองซาน ซูจี

          ด้วยความมุ่งมั่นที่จะต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยภายในประเทศเมียนมา ทำให้ในวันที่ 14 ตุลาคม 2534 คณะกรรมการรางวัลโนเบล ประกาศมอบรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ให้แก่ออง ซาน ซูจี (สตรีคนแรกของเอเชียที่ได้รับรางวัลโนเบล) โดยในวันที่ 14 ตุลาคม 2534 ซึ่งมีพิธีมอบรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ที่ศาลาว่าการกรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์  ออง ซาน ซูจี ไม่มีโอกาสเดินทางไปรับรางวัลด้วยตัวเอง เนื่องจากยังถูกกักบริเวณอยู่ภายในบ้านพักที่ประเทศเมียนมา
 
          ซึ่งในวันดังกล่าว ไมเคิล อริส สามีของออง ซาน ซูจี และบุตรชายคือ อเล็กซานเดอร์ และคิม ได้เดินทางไปรับรางวัลโนเบลแทน ส่วนออง ซาน ซูจี ทำได้แต่เพียงติดตามข่าวการประกาศรางวัลจากการฟังวิทยุอยู่ที่บ้านพัก
 
          จนกระทั่งวันที่ 16 มิถุนายน 2555 ออง ซาน ซูจี จึงมีโอกาสเดินทางไปที่กรุงออสโล เพื่อกล่าวสุนทรพจน์ในโอกาสได้รับรางวัลโนเบล ว่า "เธอทราบข่าวรางวัลนี้ทางวิทยุขณะถูกคุมขังในบ้านพัก ไม่เคยคาดคิดว่าจะได้รับรางวัลใด ๆ เพียงแต่รางวัลที่จะได้เห็นบ้านเมืองที่เสรี ปลอดภัย และยุติธรรม ขอบคุณสำหรับรางวัลนี้ ที่แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจ ที่เกื้อหนุนการแสวงหาสันติภาพของพม่า ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวโลกต่างแสวงหาเช่นกัน จากสภาพที่ต้องถูกคุมขังโดดเดี่ยวในบ้านของตัวเอง รางวัลโนเบลนี้ได้สร้างความรู้สึกว่า เธอมีความเชื่อมโยงกับโลกภายนอก เป็นส่วนหนึ่งของโลกนี้อยู่ เป็นส่วนหนึ่งของมนุษยชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บ่งบอกว่า โลกนี้ไม่ลืมพม่า"

ออง ซาน ซูจี สัญลักษณ์แห่งการต่อต้านการกดขี่โดยสันติ

          เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2545 องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ประกาศให้ ออง ซาน ซูจี ผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ พรรค NLD ที่ต่อสู้โดยสันติวิธีเพื่อเรียกร้องการปกครองระบอบประชาธิปไตยในบ้านเกิดของตน เป็น "สัญลักษณ์แห่งการต่อต้านการกดขี่โดยสันติ"
 
ออง ซาน ซูจี กับตำแหน่งผู้นำรัฐบาลคนใหม่ของประเทศเมียนมา

ออง ซาน ซูจี
ภาพจาก Phyo Hein Kyaw/AFP

          ศึกเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ของประเทศเมียนมานั้น แม้จะมีชื่อพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือพรรค NLD ของออง ซาน ซูจี ร่วมชิงชัยด้วย แต่เส้นทางก้าวสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีของออง ซาน ซูจี กลับไม่มีวันเป็นจริงได้ แม้ว่าสุดท้ายแล้วหากพรรค NLD จะสามารถคว้าชัยในการเลือกตั้ง เนื่องจากรัฐธรรมนูญของประเทศเมียนมาได้บัญญัติไว้ว่า ห้ามไม่ให้บุคคลที่มีสามี หรือบุตรเป็นคนต่างด้าว หรือถือสัญชาติอื่นที่ไม่ใช่สัญชาติเมียนมา ลงสมัครรับเลือกตั้ง หรือขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีโดยเด็ดขาด
 
          แต่ถึงอย่างไร ออง ซาน ซูจี  ก็ได้เคยประกาศไว้ว่า ถ้าพรรค NLD ชนะเลือกตั้ง และพวกเราได้จัดตั้งรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศ ก็จะขอเป็นผู้นำรัฐบาลเอง ไม่ว่าจะได้เป็นประธานาธิบดีหรือไม่ก็ตาม

ออง ซาน ซูจี พบ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เมียนมา

          น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เดินทางเยือนเมียนมา เพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำกลุ่มอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ครั้งที่ 4 ที่กรุงเนปิดอว์ ซึ่งการเดินทางไปเมียนมาครั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีโอกาสได้พบกับออง ซาน ซูจี ณ สถานเอกอัครราชทูตไทย ในนครย่างกุ้ง เมื่อช่วงค่ำวันที่ 20 ธันวาคม 2554 แต่ไม่มีการเปิดเผยว่าในการพบกันระหว่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ และออง ซาน ซูจี มีการหารือในเรื่องใดบ้าง
 
ออง ซาน ซูจี เยือนไทยครั้งแรก หลังรับอิสรภาพ
 
ออง ซาน ซูจี

ออง ซาน ซูจี

          ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2555 ออง ซาน ซูจี ได้เดินทางออกนอกประเทศเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ถูกกักบริเวณเมื่อปี 2533 โดย ออง ซาน ซูจี ได้เดินทางมายังประเทศไทย เพื่อเข้าร่วมประชุมเวทีเศรษฐกิจโลกว่าด้วยเอเชียตะวันออก (World Economic Forum on East Asia 2012) ในวันที่ 1 มิถุนายน 2555

ออง ซาน ซูจี พบกับบารัค โอบามา ผู้นำสหรัฐฯ เป็นครั้งแรก 

ออง ซาน ซูจี
ภาพจาก MANDEL NGAN/AFP

ออง ซาน ซูจี
ภาพจาก MANDEL NGAN/AFP

ออง ซาน ซูจี
ภาพจาก MANDEL NGAN/AFP

          เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2557 บารัค โอบามา ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ได้เดินทางไปพบกับนางออง ซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้านของพม่า ที่บ้านพักนางซูจี ในนครย่างกุ้ง เพื่อหารือเกี่ยวกับการปฏิรูปการเมืองของพม่า และการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2558
 
เพลง อองซานซูจี หนึ่งในผลงานของ คาราบาว
 


          สำหรับเพลง อองซานซูจี ถือว่าเป็นหนึ่งในผลงานของ ยืนยง โอภากุล หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ แอ๊ด คาราบาว ศิลปินเพลงเพื่อชีวิต ซึ่งมักสร้างสรรค์บทเพลงที่ล้วนแล้วแต่มีความหมาย เป็นเรื่องราวบอกถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ณ ยุคสมัยนั้น ๆ

          โดยเพลง ออง ซาน ซูจี เป็นหนึ่งในผลงานของ แอ๊ด คาราบาว ที่ต้องการนำเรื่องราวการต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยกับรัฐบาลทหารตามแนวทางของออง ซาน ซูจี มาถ่ายทอดให้สาธารณชนได้รับรู้

ออง ซาน ซูจี หนังตีแผ่ชีวิตสตรีที่ยอมอุทิศทั้งชีวิตและครอบครัวเพื่อแผ่นดินเกิด

ออง ซาน ซูจี

ออง ซาน ซูจี

ออง ซาน ซูจี

          เรื่องราวของออง ซาน ซูจี ได้รับความสนใจไปทั่วโลก จนถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ และเข้าฉายในประเทศไทย เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2555 สำหรับภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวเป็นผลงานการกำกับของ ลุค เบซอง ผู้กำกับชาวฝรั่งเศส ที่ได้นักแสดงคุณภาพมากฝีมือ มิเชลล์ โหย่ว มาร่วมถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตของออง ซาน ซูจี สตรีที่เป็นเสมือนตัวแทนผู้นำแห่งจิตวิญญาณของเสรีชนเพื่อเรียกร้องเสรีภาพในเมียนมา
 
ออง ซาน ซูจี

ออง ซาน ซูจี

ออง ซาน ซูจี จากไอคอนด้านสิทธิมนุษยชน สู่ผู้ต้องหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ 

          เป็นเวลาหลายสิบปีที่ออง ซาน ซูจี ได้รับการเชิดชูจากนานาชาติให้เป็นเสมือนตัวแทนและสัญลักษณ์ด้านสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ อย่างไรก็ตาม ภาพลักษณ์ของเธอในสายตาของนานาชาติมีอันต้องเปลี่ยนไป ภายหลังเหตุการณ์ชนกลุ่มน้อยโรฮีนจากว่า 700,000 ชีวิต พากันลี้ภัยจากถิ่นฐานในรัฐยะไข่ ของเมียนมา อพยพไปยังบังกลาเทศ เมื่อปี 2560 
          
          เหตุการณ์ในครั้งนั้นเกิดขึ้นสืบเนื่องจากกองทัพเมียนมาได้ส่งทหารเข้าปราบปรามกองกำลังติดอาวุธในรัฐยะไข่ แต่กลุ่มทหารกลับใช้กำลังคุกคามชนกลุ่มน้อยนี้ด้วยการเผาที่อยู่ ไล่สังหาร และข่มขืนชาวโรฮีนจา ในขณะที่ออง ซาน ซูจี กลับเพิกเฉยต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ออกมาแสดงท่าทียับยั้งหรือประณามการกระทำของทหารโดยตรง ทำให้เธอถูกมองว่าไม่ต่างจากผู้สมรู้ร่วมคิด 
          
          องค์การสหประชาชาติ ประณามเหตุการณ์ดังกล่าวว่าเป็นตัวอย่างของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ องค์กรนานาชาติหลายแห่งลงมติยึดคืนรางวัลเกียรติยศด้านสิทธิมนุษยชนจาก ออง ซาน ซูจี รวมถึง Amnesty International นอกจากนี้ยังมีเสียงเรียกร้องให้ยึดรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ คืนด้วย แต่ทางคณะกรรมการรางวัลโนเบลยืนยันว่าไม่สามารถยึดคืนได้ และไม่มีระเบียบเรื่องการยึดคืนรางวัล 
          
          ทั้งนี้ พบว่า ออง ซาน ซูจี ยังทำหน้าที่เป็นตัวแทนของเมียนมา มาขึ้นศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เพื่อต่อสู้กับข้อกล่าวหาว่ารัฐบาลเมียนมาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โรฮีนจา ซึ่งเธอได้ปฏิเสธข้อกล่าวหานั้น และโทษว่าเป็นฝีมือของกลุ่มก่อการร้าย 


ภาพจาก STAN HONDA / AFP

ออง ซาน ซูจี ถูกจับ พม่ารัฐประหาร
          
          แม้ภาพลักษณ์ของ ออง ซาน ซูจี ในสายตานานาชาติจะเสื่อมลงจากกรณีโรฮีนจา แต่ความนิยมของเธอในเมียนมากลับไม่ได้หายไป ดังจะเห็นจากการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤศจิกายน 2563 ซึ่งพรรค NLD ของเธอได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นด้วยเสียงโหวต 83% 
          
          อย่างไรก็ตาม ทางกองทัพและพรรคที่กองทัพให้การสนับสนุน กล่าวหาว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นและเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งใหม่ แต่กลับไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาล 
          
          กระทั่งเช้าตรู่ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนเริ่มการประชุมสภาครั้งแรก หลังได้รับชัยในการเลือกตั้ง ทางกองทัพเมียนมาซึ่งนำโดย นายพลมิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้นำทหารเข้าจับกุมออง ซาน ซูจี และแกนนำพรรค NLD ก่อนประกาศยืนยันรัฐประหารยึดอำนาจ 
          
          โดยมีการแต่งตั้ง มิน ส่วย รองประธานาธิบดี ซึ่งเป็นอดีตนายพล ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีชั่วคราว ซึ่งเขาได้มอบอำนาจแก่กองทัพในการควบคุมดูแลประเทศ พร้อมประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน 1 ปี ซึ่งนายพลมิน อ่อง หล่าย ให้สัญญาว่าจะจัดการเลือกตั้งทั่วไปในเมียนมาอีกครั้ง แต่ไม่ได้กำหนดวันเวลาที่แน่นอน 


ภาพจาก STR / AFP


ภาพจาก STR / AFP

ออง ซาน ซูจี

ออง ซาน ซูจี

ออง ซาน ซูจี


ภาพจาก คุณ bankthanachai สมาชิกเว็บไซต์ยูทูบดอทคอม, ไทยพีบีเอส, M PICTURE, jendhamuni, claudearpi, เฟซบุ๊ก Aung San Suu Kyi

ขอบคุณข้อมูลจาก
channelnewsasia.com
dw.com
- asiancorrespondent.com
- rayong-law.com







เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ประวัติ ออง ซาน ซูจี ดอกไม้เหล็กแห่งเมียนมา ผู้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ก่อนถูกรัฐประหาร อัปเดตล่าสุด 2 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 16:17:32 117,808 อ่าน
TOP