วันเกษตรแห่งชาติ ตรงกับวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็นวันรำลึกถึงความสำคัญของการเกษตรกรรม และเพื่อสนับสนุนส่งเสริมอาชีพของเกษตรกร พร้อมน้อมนำศาสตร์พระราชา สู่ศาสตร์แห่งแผ่นดิน ทำกินตามคำพ่อสอน
ประวัติวันเกษตรแห่งชาติ
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ช่วงปี พ.ศ. 2453-2454 พระองค์ทรงสนับสนุนและเป็นผู้ริเริ่มการจัดงานการแสดงกสิกรรมและพาณิชยการ ซึ่งในปัจจุบันคือ งานเกษตรแห่งชาติ
ช่วงระหว่างที่มีการจัดงานเกษตรนั้นจะมีการแสดงมหรสพ แตรวง รวมทั้งจัดแสดงสินค้าเกษตรและเครื่องมือเครื่องจักรที่ใช้ในการเพาะปลูกจากในประเทศและต่างประเทศมากมาย อาทิ การทำโรงนาสาธิตให้ประชาชนดูเป็นตัวอย่าง และการประกวดพันธุ์ข้าวและพันธุ์พืช อีกทั้งมีการแนะนำให้รู้จักระบบชลประทาน ซึ่งทางรัฐบาลสนับสนุนลงทุนจัดงานให้ทั้งหมด
สานต่อจากรัชกาลที่ 5 สู่รัชกาลที่ 6
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงสานต่อโครงการดังกล่าวนี้ โดยมีการแสดงงานการพัฒนาพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์เพิ่มเติมเข้ามา แต่ในช่วงนั้นบ้านเมืองประสบปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้ทางรัฐบาลมีนโยบายลดค่าใช้จ่ายลง การส่งพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ก็มีจำนวนลดลงด้วย เป็นเหตุให้ต้องหยุดการจัดงานวันเกษตรไป แม้ว่าการจัดงานดังกล่าวจะได้รับความสนใจจากประชาชนในเขตกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียงก็ตามที โดยยุคแรก ๆ ของการจัดงานนี้จะใช้ชื่องานว่า "งานวันเกษตร"
หลายปีต่อมารัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญของการจัดงานลักษณะนี้ จึงมีมติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดงานวันเกษตรแห่งชาติขึ้นตั้งแต่วันที่ 3-4 มกราคม พ.ศ. 2491 โดยรัฐบาลให้การสนับสนุนด้านงบประมาณ ซึ่งส่วนราชการทั้งสองได้ร่วมกันจัดติดต่อกันเรื่อยมาเป็นประจำทุกปี ณ บริเวณมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน
วัตถุประสงค์ของการจัดงานวันเกษตรแห่งชาติ
แต่เดิมถือหลักการของการจัดงานนิทรรศการครั้งแรก คือการจัดแสดงต่าง ๆ จะเป็นทางหนึ่งที่ชักนำปลุกใจให้ประชาชนประกอบการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ และค้าขาย ให้เจริญทันสมัย รวมถึงให้เกษตรกรทุกภาคได้รับความก้าวหน้าอย่างทั่วถึงทั้งประเทศ นอกจากนี้ยังเน้นให้เกษตรกรที่ทำงานหนักมาทั้งปีได้มีโอกาสพักผ่อนหย่อนใจและหาความสำราญในการเที่ยวงาน จึงมีมติเห็นชอบให้จัดงานวันเกษตรแห่งชาติขึ้นนั่นเอง
ด้วยเหตุนี้ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ของทุกปี จึงกำหนดให้เป็นวันเกษตรแห่งชาติ ซึ่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ต่างเรียกชื่องานนี้ว่า "งานเกษตรแฟร์" โดยปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนรูปแบบงานไปจากเดิมมาก เนื่องจากมีการก่อสร้างอาคารของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เพิ่มขึ้น การจัดงานจึงไม่สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ เหล่านั้นได้อย่างเต็มที่นัก
กิจกรรมส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการจัดตลาดนัดและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ส่วนผู้ที่มาเที่ยวงานส่วนใหญ่เป็นนิสิต นักศึกษา และข้าราชการในมหาวิทยาลัย รวมถึงบุคคลภายนอกที่มาเดินเที่ยวชมงาน ส่วนเกษตรกรจะมีแต่ที่เป็นแม่ค้าหรือพ่อค้าขนสินค้ามาเพื่อขายเท่านั้น
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก : สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง, KUOnline prku, เฟซบุ๊ก ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ (พ่อสร้าง ลูกสาน) โพธาราม