ย้อนประวัติเส้นทางการเมือง เอ๋ ชนม์สวัสดิ์ ทายาทตระกูลดังเมืองปากน้ำ จากงานบริหารท้องถิ่นสู่การเมืองระดับชาติ ทำงานด้านการเมืองทั้งตระกูล
ภาพจาก เฟซบุ๊ก Chonsawat Asavahame
กลายเป็นข่าวใหญ่จากสื่อทุกสำนัก สำหรับการเสียชีวิตของ เอ๋ ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม นักธุรกิจชื่อดัง อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งจากไปอย่างกะทันหันในวัย 55 ปี และอีกมุมหนึ่งข่าวนี้ยังได้รับการจับตาเนื่องจากส่งผลต่อการเมืองปากน้ำ จ.สมุทรปราการ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อ่านข่าว : เอ๋ ชนม์สวัสดิ์ เสียชีวิตแล้ว หลังหมดสติที่บุรีรัมย์ แพทย์ช่วยทั้งคืนสุดความสามารถ
อ่านข่าว : คาดสาเหตุ เอ๋ ชนม์สวัสดิ์ เสียชีวิต มาจากปัญหาหัวใจ - อนุทิน อยู่เฝ้าจนวินาทีสุดท้าย
อ่านข่าว : 7 เรื่องน่ารู้ เอ๋ ชนม์สวัสดิ์ กับชีวิตที่พลิกผัน ทั้งการเมือง - ความรัก เจ้าพ่อเมืองปากน้ำ
ภาพจาก เฟซบุ๊ก Chonsawat Asavahame
เส้นทางทางการเมืองของ ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม
เอ๋ ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม เป็นลูกชายของนายวัฒนา อัศวเหม อดีตรัฐมนตรีและอดีต ส.ส. 10 สมัย ซึ่งหลบหนีคดีในต่างประเทศ และมีพี่น้องทั้งหมด 3 คน ประกอบด้วย นายพิบูลย์ อัศวเหม พี่ชาย ปัจจุบันหลบหนีคดีในต่างประเทศ ส่วนนายพูลผล อัศวเหม อดีต ส.ส.สมุทร ปราการ เสียชีวิตไปก่อนหน้านี้
ชนม์สวัสดิ์ ฟื้นฟูอิทธิพลการเมืองใน จ.สมุทรปราการ จนกลับมาเป็นบ้านใหญ่การเมืองระดับชาติได้อีกครั้ง หลังจากตระกูลอัศวเหม ภายใต้การนำของนายวัฒนา ผู้เป็นพ่อ พ่ายแพ้ให้พรรคไทยรักไทย ในช่วงยุคทองใต้การนำของทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2544 แต่ในช่วงเวลาที่พ่ายแพ้ในสนามการเมืองระดับชาติ ถือเป็นยุคที่ ชนม์สวัสดิ์ เสริมรากฐานการเมืองท้องถิ่นให้แน่นขึ้นอีก
ปี 2554 มีการเลือกตั้งนายก อบจ.สมุทรปราการ ชนม์สวัสดิ์ ขยับจากเวทีนายกเล็กปากน้ำ ก้าวเข้าสู่เวที อบจ. ก่อนที่กลุ่มสมุทรปราการก้าวหน้า จะได้เก้าอี้ สมาชิด อบจ. 30 ที่นั่ง โดย ชนม์สวัสดิ์ ได้เป็นนายก อบจ. สมุทรปราการ ในปี 2555-2556 แต่ต่อมาถูกสั่งปลดตามคำสั่งหัวหน้า คสช. เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2558
ภาพจาก เฟซบุ๊ก Chonsawat Asavahame
เส้นทางการเมืองระดับชาติ
นายชนม์สวัสดิ์ เคยเป็นกรรมการบริหารพรรคมหาชน เป็นกรรมการบริหารพรรคเพื่อแผ่นดิน ลงสมัครรับเลือกตั้งในปี 2550 แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง ต่อมาได้เป็นรองหัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดินในปี 2551 ตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2562 บ้านใหญ่ม้าทองคำให้การสนับสนุนผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ เช่นเดียวกับเลือกตั้ง 2566 ที่กำลังจะมีขึ้นในปีนี้
ปัจจุบัน นายอัครวัฒน์ อัศวเหม ส.ส.สมุทรปราการ และนายต่อศักดิ์ อัศวเหม ส.ส.บัญชีรายชื่อ หลานชายของวัฒนา อัศวเหม รับหน้าที่ประสานงานกลุ่ม ส.ส.สมุทรปราการ 6 คน สังกัดพรรคพลังประชารัฐ
ภาพจาก ThaiPBS
เครือข่ายการเมืองท้องถิ่นของ เอ๋ ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม
นอกจาก เอ๋ ชนม์สวัสดิ์ จะเป็นหัวเรือใหญ่ทางการเมืองแล้ว ยังมีคนใกล้ชิดซึ่งทำงานการเมืองในระดับท้องถิ่นอีกหลายตำแหน่ง เช่น
- ประภาพร อัศวเหม ภรรยา พูลผล อัศวเหม เป็นนายกเทศมนตรีนครสมุทรปราการ
- ปราการพิม อัศวเหม ลูกสาวประภาพร เป็นสมาชิกสภา อบจ.สมุทรปราการ เขต อ.พระสมุทรเจดีย์
- นันทิดา แก้วบัวสาย คู่ชีวิตของ ชนม์สวัสดิ์ เป็นนายก อบจ.สมุทรปราการ
- ชนม์ทิดา อัศวเหม ลูกสาวชนม์สวัสดิ์ เป็นเลขานุการนายก อบจ.สมุทรปราการ
ภาพจาก Instagram chonsawat28
บาดแผลทางการเมือง
ชนม์สวัสดิ์ เคยถูกจำคุกในคดีทุจริตการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลนครสมุทรปราการ ปี 2542 ซึ่งศาลฎีกาตัดสินเมื่อ 4 สิงหาคม 2558 ต่อมาเขาได้รับการพระราชทานอภัยโทษตามมาตรา 8 (3) ของพระราชทานอภัยโทษพระราชกฤษฎีพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งได้ลดวันต้องโทษ 1 ใน 4 ของโทษที่เหลือ เมื่อ 7 กันยายน 2559
เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2565 ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิด ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารจังหวัด (อบจ.) สมุทรปราการ กับพวก ประมาณ 5-7 ราย กรณีทุจริตการจัดสรรเงินอุดหนุนแก่วัดใน จ.สมุทรปราการ โดยมิชอบ ช่วงปี 2554-2556 จำนวนกว่า 20 โครงการ ในการบูรณะบำรุงวัด และเตาเผาศพ มูลค่าความเสียหายรวมกว่า 100 ล้านบาท โดยคดีนี้อยู่ในขั้นตอนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. จัดทำรายละเอียด และเตรียมส่งสำนวนให้กับอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อส่งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบในพื้นที่ที่มีอำนาจวินิจฉัยต่อไป
ทิศทางการเมืองในอนาคต
น.ส.ชนม์ทิดา ลูกสาวของ ชนม์สวัสดิ์ ปัจจุบันคบหากับลูกชายของนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ซึ่งการเลือกตั้ง 2566 ที่จะถึงนี้ น.ส.ชนม์ทิดา ได้รับการเสนอให้อยู่ในบัญชีรายชื่อลำดับที่ 5 ของพรรคภูมิใจไทย จึงเป็นอีกภาพสะท้อนถึงสายสัมพันธ์ใกล้ชิดของทั้ง 2 ครอบครัว