วันตำรวจ 17 ตุลาคม


          วันตํารวจแห่งชาติ ตรงกับวันที่ 17 ตุลาคม ของทุกปี ถือเป็นวันสำคัญอีกหนึ่งวันของประเทศไทย และวันนี้เรามีข้อมูล ประวัติความเป็นมา และความสำคัญวันตํารวจแห่งชาติมาฝาก


วันตำรวจไทย
วันตำรวจแห่งชาติ


         วันตำรวจไทย เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2458 โดยเป็นวันประกาศรวม "กรมพลตระเวน" กับ "กรมตำรวจภูธร" เป็นกรมเดียวกัน เรียกว่า "กรมตำรวจ" ซึ่งภายหลังได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น "สำนักงานตำรวจแห่งชาติ" จึงได้ถือเอาวันที่ 13 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันตำรวจ

         ทั้งนี้ ความที่เดิมทีวันที่ 13 ตุลาคมนั้น เป็นวันตำรวจไทย

         เพื่อร่วมแสดงความเคารพเทิดทูนต่อในหลวง รัชกาลที่ 9 ดังนั้น พล.ต.อ. จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) จึงมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงวันตำรวจไทย เป็นวันที่ 17 ตุลาคม นับจากนี้ไป

         โดยถือเอาฤกษ์วันสถาปนาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2541 มากำหนดเป็นวันตำรวจแทน

ประวัติวันตำรวจแห่งชาติ

          กิจการตำรวจได้กำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ โดยพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราระเบียบการปกครองบ้านเมืองเป็น 4 เหล่า เรียกว่า จตุสดมภ์ ได้แก่ เวียง วัง คลัง นา และพร้อมกันนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีกิจการตำรวจขึ้น โดยให้ขึ้นอยู่กับเวียง อันมีเจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ สมุหนายก อัครมหาเสนาบดี เป็นผู้บังคับบัญชา

          ทั้งนี้ กิจการตำรวจในขณะนั้น แบ่งออกเป็นตำรวจพระนครบาล ตำรวจภูธร ส่วนตำรวจหลวงให้ขึ้นอยู่กับวัง มีเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี ศรีรัตนมณเฑียรบาล เป็นผู้บังคับบัญชา และทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตราศักดินาของตำรวจไว้เป็นบรรทัดฐานในบทพระอัยการ ระบุตำแหน่งนายพลเรือน เช่นเดียวกับข้าราชการฝ่ายอื่น 

          นอกจากนี้ยังมีเอกสารหลายชิ้นที่แสดงว่าบุคคลที่จะเป็นตำรวจได้นั้นต้องคัดเลือกจากผู้ที่มีชาติกำเนิดสืบเชื้อสายมาจากตระกูลที่ได้ทำคุณงามความดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และต้องเป็นบุคคลที่ทรงวางพระราชหฤทัย การบังคับบัญชาตำรวจก็ต้องขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะแต่พระองค์เดียว ทำให้กิจการตำรวจในยุคนี้จะจัดตั้งเพื่อให้ทำหน้าที่ในวงจำกัด และมิได้ขยายไปยังส่วนการปกครองทั่วประเทศเท่าไหร่นัก แต่เมื่อเหตุการณ์บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไป มีการติดต่อกับชาวต่างประเทศมากขึ้น กรมตำรวจจึงได้รับความสนใจที่จะปรับปรุงรูปแบบเพื่อให้เป็นไปตามแบบอย่างประเทศตะวันตก

          โดยในปี พ.ศ. 2405 สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการปรับปรุงกิจการตำรวจครั้งสำคัญ กล่าวคือ มีการจัดตั้งกองตำรวจขึ้นเป็นครั้งแรกตามแบบอย่างยุโรป เรียกว่า กองโปลิศ โดยจ้างชาวมลายูและชาวอินเดียเป็นตำรวจ เรียกว่า คอนสเตเปิล โดยให้มีหน้าที่รักษาการณ์แต่ในเขตกรุงเทพมหานครชั้นใน และขึ้นอยู่กับสังกัดกรมพระนครบาล

          ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการปรับปรุงกองโปลิศ และจัดตั้งตำรวจภูธรขึ้นเป็นทหารโปลิศ ในปี พ.ศ. 2419 เพื่อให้เป็นกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยในส่วนภูมิภาค และให้สามารถปฏิบัติการทางทหารได้ด้วย โดยได้ว่าจ้างนาย G. Schau ชาวเดนมาร์ก เป็นผู้วางโครงการ

          ถัดมาในปี พ.ศ. 2420 กองทหารโปลิศได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นกรมกองตระเวนหัวเมือง และได้มีการจัดตั้งกรมตำรวจภูธรขึ้นแทนกรมกองตระเวนหัวเมือง ในปี พ.ศ. 2440 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ พลตรี พระยาวาสุเทพ (G. Schau) เป็นเจ้ากรมตำรวจภูธร และได้มีการขยายกิจการตำรวจไปยังหน่วยการปกครองส่วนภูมิภาคตามลำดับ

          โดยกิจการตำรวจในยุคนี้ขึ้นอยู่กับ 2 กระทรวง คือ กรมพลตระเวน หรือตำรวจนครบาล ขึ้นอยู่กับกระทรวงพระนครบาล ส่วนกรมตำรวจภูธร ขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทย

          ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการรวบรวมกิจการตำรวจมาเป็นกรมเดียวกัน เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2458 เรียกว่า กรมตำรวจภูธรและกรมพลตระเวน และในปลายปีได้เปลี่ยนเป็นกรมตำรวจภูธรและกรมตำรวจนครบาล และยกฐานะของเจ้ากรมขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทย ในปี พ.ศ. 2465 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้รวมกระทรวงมหาดไทยกับกระทรวงพระนครบาลเป็นกระทรวงเดียวกัน เรียกว่า กระทรวงมหาดไทย กรมตำรวจภูธรและกรมตำรวจนครบาล จึงโอนมาขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทย

          ต่อมาในปี พ.ศ. 2469 กรมตำรวจภูธรและกรมตำรวจนครบาล ได้เปลี่ยนชื่อเป็นกรมตำรวจภูธร และกรมตำรวจนครบาล ได้เปลี่ยนชื่อเป็นกรมตำรวจภูธร แต่ยังคงแบ่งตำรวจออกเป็น 2 ประเภท คือ ตำรวจที่จับกุมโจรผู้ร้าย ไต่สวนทำสำนวนฟ้องศาลโปลิศสภาโดยตรง เรียกว่า ตำรวจนครบาล ส่วนตำรวจที่ทำการจับกุมผู้ร้ายได้แล้ว ส่งให้อำเภอไต่สวนทำสำนวนให้อัยการประจำจังหวัดนั้น ๆ เรียกว่า ตำรวจภูธร 

          จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2475 จึงได้มีการเปลี่ยนชื่อจากกรมตำรวจภูธร มาเป็นกรมตำรวจ และในปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2542

กิจกรรมวันตำรวจแห่งชาติ


วันตำรวจ
วันตำรวจ

          สำหรับการประกอบพิธีวันตำรวจอย่างเป็นทางการครั้งแรก เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2492 ในสมัยที่ พลตำรวจเอก หลวงชาติตระการโกศล เป็นอธิบดีกรมตำรวจ ต่อมาในปี พ.ศ. 2494 พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจในขณะนั้น ได้จัดงานวันตำรวจ โดยให้มีพิธีเดินสวนสนาม และปฏิบัติต่อเนื่องมาจนถึง พ.ศ. 2500 

          หลังจากนั้นได้ระงับการจัดพิธีเดินสวนสนามที่เป็นการรวมหน่วยทุกหน่วยของตำรวจ และให้ประกอบพิธีทางศาสนาและกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์เพียงอย่างเดียว แต่ในส่วนของนักเรียนนายร้อยตำรวจ และนายตำรวจปกครองของโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ได้กระทำพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนต่อธงชัยประจำหน่วยตำรวจ และสวนสนามภายในโรงเรียนนายร้อยตำรวจ เนื่องใน วันตำรวจ เป็นประจำตลอดมาทุกปี 

          กระทั่งในปี พ.ศ. 2550 พลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จึงได้จัดให้มีพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของเหล่าข้าราชการตำรวจ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ณ ราชมังคลากีฬาสถาน โดยมี พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี และได้อัญเชิญธงชัยประจำหน่วยตำรวจ ซึ่งมีความสำคัญเช่นเดียวกับธงชัยเฉลิมพลของทหาร จำนวนทั้งสิ้น 13 ธง มากระทำพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณและสวนสนาม 

          และเนื่องในโอกาสวันตำรวจ เราขอเป็นกำลังใจให้กับนายตำรวจ (น้ำดี) ทุกท่าน ที่ช่วยพิทักษ์สันติราษฎร์ ดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชน รวมทั้งคุมกฎเพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองด้วยนะคะ

          เช็ก ปฏิทิน 2566 ทั้ง วันหยุดราชการ วันหยุดธนาคาร วันพระ และวันสำคัญต่าง ๆ

อ่านบทความวันสำคัญอื่น ๆ 


ขอบคุณข้อมูลจาก
lib.ru.ac.thbaanmaha.com
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วันตำรวจ 17 ตุลาคม อัปเดตล่าสุด 15 กันยายน 2566 เวลา 17:38:19 145,448 อ่าน
TOP