เวียนเทียน 2566 วันไหนบ้าง เราชาวพุทธรู้กันไหม วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา วันใดที่นิยมเวียนเทียน และเราเวียนเทียนเพื่ออะไร เวียนเทียนวนทางไหน เวียนเทียนกี่โมง มาดูคำตอบกัน
หนึ่งสิ่งที่พุทธศาสนิกชนปฏิบัติเป็นประจำในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาก็คือการเวียนเทียน หากแต่ชาวพุทธบางคนยังคงสับสนว่า เวียนเทียนวันไหนบ้าง และเหตุใดจึงมีการเวียนเทียนเมื่อวันสำคัญทางพระพุทธศาสนามาถึง กระปุกดอทคอมจึงขอพาทุกท่านไปไขคำตอบเรื่องนี้
เวียนเทียนเพื่ออะไร
การเวียนเทียน คือการเดินเวียนรอบปูชนียสถานสำคัญ เช่น พระอุโบสถ วิหาร หรือพระพุทธรูป เพื่อระลึกถึงพระรัตนตรัย อันได้แก่ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จึงได้กำหนดให้เดินเวียน 3 รอบ เพื่อให้รู้สังสารวัฏเราว่ามีการเวียนว่ายตายเกิดเหมือนวงล้อหมุนไปแล้วกลับมาจุดเดิม ในระหว่างที่เดินก็นำบทสวดมนต์มาสวดได้
เวียนเทียนวนทางไหน
ในการเวียนเทียนในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาจะต้องเดินวนขวาทักษิณาวรรต หรือเวียนประทักษิณาวัตร คือเวียนขวา 3 รอบ ซึ่งเป็นไปตามคติความเชื่อแต่โบราณว่า ขวาเป็นมงคล ดังนั้นสิ่งที่เราเคารพจะต้องอยู่ทางด้านขวา อันเป็นเครื่องหมายถึงการแสดงออกซึ่งการเคารพบูชาต่อสิ่งนั้น ๆ อย่างสูงสุด แต่หากเป็นการเวียนเทียนในงานอวมงคล เช่น งานศพ จะเดินเวียนทางซ้าย เรียกว่า อุตราวรรต
ภาพจาก netsuthep / Shutterstock.com
เวียนเทียนกี่โมง พร้อมวิธีการเวียนเทียน
โดยทั่วไปจะมีการเวียนเทียนกันในช่วงเย็น ๆ คือประมาณ 5 โมงเย็นไปจนถึงช่วงค่ำ แต่หากมีเรื่องของสถานการณ์ความไม่ปลอดภัยเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น วัดในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อาจจัดพิธีเวียนเทียนตั้งแต่ช่วงบ่าย ๆ เพื่อสะดวกในการรักษาความปลอดภัย ดังนั้นเวลาของการเวียนเทียนขึ้นอยู่กับสถานที่นั้น ๆ เป็นผู้กำหนด
ทั้งนี้ พุทธศาสนิกชนควรไปถึงวัดก่อนเวลาเวียนเทียนสักเล็กน้อย เพื่อเข้าไปบูชาพระรัตนตรัย จากนั้นออกมาเตรียมตัวหน้าสถานที่ประกอบพิธีเวียนเทียน พนมมือถือธูป เทียน และดอกไม้ในมือเพื่อเป็นเครื่องสักการบูชา เดินตามแถวไปทางด้านขวามือของสถานที่ที่เวียนเทียนจนครบ 3 รอบ
โดยรอบแรกให้ระลึกถึงพระพุทธคุณ โดยสวดบท "อิติปิโส" ดังที่ว่า "อิติปิโส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ วิชชาจะระณะสัมปันโน สุคะโต โลกะวิทู อะนุตตะโร ปุริสะทัมมะสาระถิ สัตถา เทวะมะนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ"
รอบที่สองระลึกถึงพระธรรมคุณ โดยสวดบท "สวากขาโต" ดังที่ว่า "สวากขาโต ภะคะวาตา ธัมโม สันทิฏฐิโก อะกาลิโก เอหิปัสสิโก โอปะนะยิโก ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิติ"
รอบที่สามระลึกถึงพระสังฆคุณ โดยสวดบท "สุปะฏิปันโน" ดังที่ว่า "สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ อุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ญายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ สามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ยะทิทัง จัตตาริ ปุริสะยุคานิ อัฏฐะ ปุริสะปุคคะลา เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ อาหุเนยโย ปาหุเนยโย ทักขิเณยโย อัญชลีกะระณีโย อะนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสาติ"
เมื่อเดินครบ 3 รอบแล้ว ให้นำดอกไม้ ธูป เทียน วางและปักไว้ในจุดที่เตรียมไว้
เวียนเทียนวันไหนบ้าง
การเวียนเทียนถือเป็นพิธีกรรมสำคัญในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ทุกวันสำคัญที่จะมีการเวียนเทียน แต่เดิมกำหนดให้มีการเวียนเทียนใน 3 วัน ได้แก่ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอัฏฐมีบูชา ภายหลังเพิ่มวันอาสาฬบูชาขึ้นมาอีก 1 วัน รวมมีวันที่กำหนดเวียนเทียนเป็น 4 วัน คือ
1. วันมาฆบูชา
วันเพ็ญเดือน 3 หรือขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 (หากเป็นปีอธิกมาสจะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4) เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ อันเป็นหลักคำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนา คือ "ทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์" วันมาฆบูชาจึงถือเป็น "วันพระธรรม" ดังนั้นจึงมีการเวียนเทียน เพื่อบูชาพระรัตนตรัย
2. วันวิสาขบูชา
วันเพ็ญเดือน 6 หรือขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 (หากเป็นปีอธิกมาสจะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7) เป็นวันที่เกิด 3 เหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตของพระสัมมาพระพุทธเจ้า เวียนมาบรรจบกันในวันเพ็ญเดือน 6 แม้จะมีช่วงระยะเวลาห่างกันนับเป็นเวลาหลายสิบปี ซึ่งเหตุการณ์อัศจรรย์ 3 ประการ คือ ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน จึงถือเป็น "วันพระพุทธ"
3. วันอัฏฐมีบูชา
วันอัฏฐมีบูชา เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาที่นับจากวันวิสาขบูชาไปอีก 8 วัน จึงตรงกับวันแรม 8 ค่ำ เดือน 6 (หากเป็นปีอธิกมาสจะตรงกับวันแรม 8 ค่ำ เดือน 7) คือวันคล้ายวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของพระพุทธเจ้า หลังจากเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานได้ 8 วัน นับเป็นวันที่ชาวพุทธมีความโศกเศร้าเสียใจเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสูญเสียพระบรมสรีระแห่งองค์พระบรมศาสดา อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีเพียงบางวัดเท่านั้นที่จัดพิธีบำเพ็ญกุศลในวันนี้ เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งพุทธกาล และมีการเวียนเทียนในตอนค่ำ
4. วันอาสาฬหบูชา
วันเพ็ญเดือน 8 ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 เป็นวันที่พระพุทธเจ้าได้ทรงประกาศพระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรก หลังจากตรัสรู้ได้ 2 เดือน โดยแสดงปฐมเทศนาโปรดพระปัญจวัคคีย์ทั้งห้า จากนั้นพระอัญญาโกณฑัญญะ ได้บรรลุธรรมและขอบวชเป็นพระภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนา จึงถือว่าวันนี้มีพระรัตนตรัยครบองค์สามบริบูรณ์ครั้งแรกในโลก คือ มีทั้งพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ วันนี้จึงนับว่ามีความสำคัญและเป็นอีกวันหนึ่งที่ชาวพุทธนิยมเวียนเทียน
อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาทั้งสี่ที่กล่าวไปข้างต้น ในบางวัด บางจังหวัด อาจมีการจัดพิธีเวียนเทียนในวันสำคัญอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน ตามขนบธรรมเนียมประเพณีของท้องที่นั้น เช่น บางวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยังนิยมจัดพิธีเวียนเทียนในวันออกพรรษาด้วย
บทความวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา