วันสําคัญทางพระพุทธศาสนา 2566 ทั้งวันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา ตรงกับวันที่เท่าไร มาดูกัน
วันสําคัญทางพระพุทธศาสนา ส่วนใหญ่จะยึดตามปฏิทินจันทรคติ เป็นวันที่เคยมีเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับพุทธประวัติ และเหตุการณ์ที่สำคัญเกี่ยวกับศาสนาพุทธ และวันสำคัญทางศาสนาพุทธ ที่ชาวพุทธยึดถือปฏิบัติมายาวนาน มีดังนี้
วันมาฆบูชา
วันมาฆบูชา ซึ่งจะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 แต่ถ้าปีใดมีเดือนอธิกมาส คือ มีเดือน 8
สองครั้ง วันมาฆบูชาก็จะเลื่อนไปเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4
และมักตรงกับเดือนกุมภาพันธ์ หรือมีนาคม โดยในปีนี้วันมาฆบูชา ตรงกับวันที่ 6 มีนาคม 2566 ซึ่งในวันนี้ เป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง
"โอวาทปาติโมกข์" แก่พระสงฆ์เป็นครั้งแรก อ่านประวัติ ความเป็นมาวันมาฆบูชา คลิกเลย
วันวิสาขบูชา
วันวิสาขบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย และมักจะตรงกับเดือนพฤษภาคม หรือมิถุนายน แต่ถ้าปีใดมีอธิกมาส คือ มีเดือน 8 สองหน ก็เลื่อนไปเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ กลางเดือน 7 หรือราวเดือนมิถุนายน โดยในปีนี้วันวิสาขบูชา ตรงกับวันที่ 3 มิถุนายน 2566 สำหรับวันนี้มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น 3 ประการ คือ เป็นวันพระพุทธเจ้าประสูติ, ตรัสรู้อนุตตรสัมโพธิญาณ และเสด็จเข้าสู่ปรินิพพาน อ่านประวัติ ความเป็นมาวันวิสาขบูชา คลิกเลย
วันอาสาฬหบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี โดยในปีนี้วันอาสาฬหบูชา ตรงกับวันที่ 1 สิงหาคม 2566 สำหรับวันนี้ เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมที่ทรงตรัสรู้เป็นครั้งแรก จึงถือได้ว่าวันนี้เป็นวันเริ่มต้นประกาศพระพุทธศาสนาแก่ชาวโลก และด้วยการที่พระพุทธเจ้าทรงสามารถแสดง เปิดเผย ทำให้แจ้งแก่ชาวโลก ซึ่งพระธรรมที่ทรงตรัสรู้ได้ จึงถือได้ว่าพระองค์ได้ทรงกลายเป็นสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าโดย สมบูรณ์ อ่านประวัติ ความเป็นมาวันอาสาฬหบูชา คลิกเลย
วันเข้าพรรษา เป็นวันสำคัญในพุทธศาสนาวันหนึ่ง ที่พระสงฆ์อธิษฐานว่าจะพักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง ตลอดช่วงฤดูฝนที่มีกำหนดเป็นระยะเวลา 3 เดือน ตามที่พระธรรมวินัยบัญญัติไว้ โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น ในปีนี้วันอาสาฬหบูชา ตรงกับวันที่ 1 สิงหาคม ซึ่งวันเข้าพรรษาเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่ต่อเนื่องมาจากวัน อาสาฬหบูชา ปีนี้วันเข้าพรรษาตรงกับวันที่ 2 สิงหาคม 2566 พุทธศาสนิกชนชาวไทยทั้งพระมหากษัตริย์และคนทั่วไป ได้สืบทอดประเพณีปฏิบัติการทำบุญในวันเข้าพรรษามาช้านานแล้วตั้งแต่สมัยสุโขทัย อ่านประวัติ ความเป็นมาวันเข้าพรรษา คลิกเลย
วันออกพรรษา
วันออกพรรษา นั้นถือว่าเป็นวันของการสิ้นสุดระยะในการจำพรรษา
หรือออกจากการอยู่ประจำที่วัดในช่วงฤดูฝนตลอด 3 เดือนของพระภิกษุสงฆ์ โดย วันออกพรรษา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี ซึ่งเรียกอีกอย่างว่า "วันมหาปวารณา" คำว่า "ปวารณา" นั้น แปลว่า "อนุญาต" หรือ "ยอมให้" เป็นการเปิดโอกาสให้ภิกษุว่ากล่าวตักเตือนกันได้ เพราะในระหว่างเข้าพรรษา
พระสงฆ์บางรูปอาจมีข้อบกพร่องที่ต้องแก้ไข
การให้ผู้อื่นว่ากล่าวตักเตือนได้ ทำให้ได้รู้ข้อบกพร่องของตน
และยังเปิดโอกาสให้ซักถามข้อสงสัยซึ่งกันและกันด้วย
โดยในปีนี้วันออกพรรษา ตรงกับวันที่ 28 ตุลาคม 2566 อ่านประวัติ ความเป็นมาวันออกพรรษา คลิกเลย
วันโกน
วันโกน ที่มีกำหนดตามปฏิทินจันทรคติ โดยมีเดือนละ 4 วัน ได้แก่ วันขึ้น 7 ค่ำ กับ
14 ค่ำ และวันแรม 7 ค่ำ กับ 14 ค่ำ ของทุกเดือน (หรือวันแรม 13 ค่ำ
หากตรงกับเดือนขาด) ซึ่งเป็นวันก่อนวันพระ 1 วัน
โดยวันนี้เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระสงฆ์ประชุมสนทนาธรรมและแสดงพระธรรมเทศนาแก่ประชาชนตามคำขออนุญาตของพระเจ้าพิมพิสาร และเมื่อพระพุทธศาสนาได้เผยแผ่เข้ามาในประเทศไทย พุทธศาสนิกชนจึงถือเอาวันดังกล่าวมาเป็นวันธรรมสวนะเพื่อถือศีล ปฏิบัติธรรม
ประกอบบุญกุศล และกระทำกิจของสงฆ์มาตั้งแต่สมัยสุโขทัย
วันพระ
วันพระ มีกำหนดตามปฏิทินจันทรคติ โดยมีเดือนละ 4 วัน ได้แก่ วันขึ้น 8 ค่ำ, วันขึ้น 15 ค่ำ (วันเพ็ญ),
วันแรม 8 ค่ำ และวันแรม 15 ค่ำ (หากเดือนใดเป็นเดือนขาด ถือเอาวันแรม 14
ค่ำ) โดยวันพระเป็นวันประชุมของพุทธศาสนิกชน
เพื่อปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนาในพระพุทธศาสนาประจำสัปดาห์
หรือที่เรียกกันทั่วไปอีกคำหนึ่งว่า "วันธรรมสวนะ"
อันได้แก่ วันถือศีลฟังธรรม (ธรรมสวนะ หมายถึง การฟังธรรม)
เมื่อรู้ถึงความสำคัญของวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาแล้ว
เยาวชนซึ่งถือว่าเป็นพุทธศาสนิกชนคนหนึ่ง ควรนำหลักธรรมต่าง ๆ
มาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เพื่อชะล้างจิตใจให้ปลอดโปร่งผ่องใส
จะได้มีร่างกายและจิตใจที่พร้อมสำหรับการดำเนินชีวิต
อีกทั้งยังเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะชาวพุทธ
และยังเป็นการช่วยธำรงพระพุทธศาสนาให้สืบต่อไป
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
dhammathai.org, วิกิพีเดีย
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ประวัติและความสำคัญเกี่ยวกับวันมาฆบูชา
- วันวิสาขบูชา 3 มิถุนายน 2566 ประวัติวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
- วันอัฏฐมีบูชา วันสำคัญ ที่ชาวพุทธเริ่มลืมเลือน
- วันอาสาฬหบูชา 2566 ตรงกับวันที่ 1 สิงหาคม
- วันเข้าพรรษา 2566 ตรงกับวันพุธที่ 2 สิงหาคม
- วันออกพรรษา 2566 วันที่ 29 ตุลาคม