วันสัตวแพทย์ไทย 4 สิงหาคม ของทุกปี


            วันสัตวแพทย์ไทย ตรงกับ วันที่ 4 สิงหาคม เพื่อระลึกถึงสัตวแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่คอยดูแลสัตว์ เช่น สุนัข แมว กระต่าย ช้าง หรือสัตว์อื่น ๆ เป็นต้น ว่าแต่ประวัติวันสัตวแพทย์มีความเป็นมา และความสำคัญอย่างไรบ้าง เรามีข้อมูลมาฝาก

วันสัตวแพทย์ไทย

          สัตวแพทย์ เป็นสาขาวิชาทางการแพทย์อีกหนึ่งสาขาที่นับว่ามีความสำคัญมากเช่นกัน โดยสัตวแพทย์จะคอยดูแลรักษาสัตว์ทั้งสัตว์เลี้ยงและสัตว์เศรษฐกิจ เพื่อให้มีสุขภาพแข็งแรงและป้องกันไม่ให้เกิดโรค แต่ปัจจุบันวิชาชีพด้านสัตวแพทย์เรียกได้ว่ายังขาดแคลนบุคลากรอีกมาก เพื่อให้ทุกคนเห็นความสำคัญของสัตวแพทย์จึงมีการกำหนดให้วันที่ 4 สิงหาคม เป็น วันสัตวแพทย์ไทย ซึ่งกระปุกดอทคอมมีเกร็ดความรู้เกี่ยวกับ วันสัตวแพทย์ไทย มาฝากกันค่ะ

สัตวแพทย์ คืออะไร


            โดย "สัตวแพทย์" คือ แพทย์ที่รักษาสัตว์ หรือกล่าวแบบภาษาชาวบ้านว่า "หมอรักษาสัตว์" โดยคำว่า Veterinarian นิยมใช้ในอเมริกาเหนือ ถูกใช้เป็นครั้งแรกโดย โทมัส บราวน์ (Thomas Browne) หรือ Veterinary Surgeon นิยมใช้ในยุโรป ซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษาละติน คือ Veterinae โดยมีความหมายว่า draught animals บางครั้งอาจจะใช้คำสั้น ๆ ว่า "Vet"

            ในประเทศไทยคาดว่า คำว่า สัตวแพทย์ พล.ต. ม.จ.ทองฑีฆายุ ทองใหญ่ ผู้ซึ่งเป็นพระบิดาของวิชาสัตวแพทย์สมัยใหม่ เป็นผู้ใช้คำนี้ โดยทรงก่อตั้งโรงเรียนอัศวแพทย์ทหารบก ซึ่งได้พัฒนาต่อมาเป็นโรงเรียนนายสิบสัตวแพทย์ และโรงเรียนนายดาบสัตวแพทย์ทหารบก ตามลำดับ ซึ่งถือว่าเป็นการศึกษาวิชาสัตวแพทยศาสตร์ครั้งแรกของประเทศไทย โดยต้องการผลิตกำลังพลป้อนกองทัพ และได้พัฒนาเป็นแผนกอิสระสัตวแพทยศาสตร์ ตั้งอยู่ ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี ศ. พ.ท.หลวงชัยอัศวรักษ์ เป็นปฐมคณบดี ซึ่งถือว่าเป็นการศึกษาวิชาสัตวแพทยศาสตร์ในสถานศึกษาพลเรือนเป็นครั้งแรก เพื่อผลิตสัตวแพทย์ในระดับปริญญา

สุนัข

            ต่อมาได้มีการพัฒนาเป็นคณะสัตวแพทยศาสตร์ สังกัดมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายพัฒนาประเทศในสมัยนั้น รัฐบาลได้โอนคณะสัตวแพทยศาสตร์ มาสังกัดมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2497 โดยมีการเรียนที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน จำนวน 2 ปี และไปเรียนที่ถนนอังรีดูนังต์ อีก 4 ปี

            ต่อมาได้มีการย้ายกิจการคณะไปสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจัดตั้งเป็นคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปัจจุบันเมื่อปี พ.ศ. 2510 แต่ก็ยังมีอาจารย์และนิสิตส่วนหนึ่งอยู่พัฒนาคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ต่อไป โดยได้เชิญอธิบดีกรมปศุสัตว์ในสมัยนั้นคือ ศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.จักร พิชัยรณรงค์สงคราม เป็นคณบดี และถือว่าท่านคือบิดาของคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

            อย่างไรก็ตาม กรมปศุสัตว์ก็เปิดสอนวิชาสัตวแพทยศาสตร์ในระดับประกาศนียบัตร ณ โรงเรียนสัตวแพทย์ (Paraveterinary School) เพื่อผลิตบุคลากรให้กรมปศุสัตว์ เพื่อบรรเทาความขาดแคลนสัตวแพทย์ของประเทศ โดยมีเพลงนกน้อยในไร่ส้ม เป็นเพลงที่ถูกแต่งเพื่อชื่นชมการปฏิบัติหน้าที่ของสัตวแพทย์ในชนบท และถูกนำไปใช้ในวิชาชีพสื่อสารมวลชนต่อมา

สุนัข

            สำหรับประเทศไทย คำว่า "สัตวแพทย์" สามารถสื่อความหมายได้ 2 กรณี คือ สัตวแพทย์ (Paravet) และนายสัตวแพทย์ (Veterinarian) นายสัตวแพทย์ คือ บุคคลที่เรียนจบสัตวแพทย์ในระดับปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ได้รับคุณวุฒิปริญญาทางสัตวแพทยศาสตร์ (สพ.บ.) และได้รับใบประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ชั้นหนึ่ง

            สัตวแพทย์ คือ บุคคลที่เรียนจบโรงเรียนสัตวแพทย์ของกรมปศุสัตว์ ได้รับประกาศนียบัตร (2 ปี) และได้รับใบประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ชั้นสอง ปัจจุบันโรงเรียนสัตวแพทย์ของกรมปศุสัตว์ได้ยุบและโอนย้ายไปเป็นคณะเทคนิคการสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดทำการสอนในระดับปริญญาด้านเทคนิคการสัตวแพทย์ (4 ปี)

ที่มาของวันสัตวแพทย์ไทย


            เพื่อเป็นการตระหนักถึงความสำคัญของสัตวแพทย์ ประเทศไทยจึงมีการกำหนดให้วันที่ 4 สิงหาคม ของทุกปี เป็น วันสัตวแพทย์ไทย โดยมีสัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย เป็นองค์กรหลักของสัตวแพทย์ในประเทศไทย ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่บทบาทของสัตวแพทย์ต่อสาธารณชนในด้านต่าง ๆ


เช็ก ปฏิทิน 2567 ทั้ง วันหยุดราชการ วันหยุดธนาคาร วันพระ และวันสำคัญต่าง ๆ


ขอบคุณข้อมูลจาก : thailandexhibition.comvetcouncil.or.th

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วันสัตวแพทย์ไทย 4 สิงหาคม ของทุกปี อัปเดตล่าสุด 2 สิงหาคม 2567 เวลา 22:34:30 60,254 อ่าน
TOP
x close