ชวนชม 2 ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ ฉลองวันแม่


ชวนชม 2 ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ ฉลองวันแม่


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล

            สดร. ชวนชม 2 ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ฉลองวันแม่ ซูเปอร์ฟูลมูน ดวงจันทร์โตสุดในรอบปี และฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์

            เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2557 ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ  (สดร.) เปิดเผยว่า ในช่วงวันแม่ในเดือนสิงหาคม จะมีปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่น่าสนใจ คือ ในคืนวันที่ 10 สิงหาคม เวลาประมาณ 00.46 น. ตามเวลาในประเทศไทย ดวงจันทร์จะโคจรมาเข้าใกล้โลกที่สุดในรอบปีที่ระยะห่าง 356,896 กิโลเมตร ประกอบกับเป็นวันที่ดวงจันทร์เต็มดวงพอดี คนบนโลกจึงสามารถมองเห็นดวงจันทร์ที่มีขนาดใหญ่กว่าปกติประมาณ 10%

            โดยปรากฏการณ์ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกคนทั่วไปมักเรียกว่า ซูเปอร์มูน (Supermoon) ซึ่งมีผู้นิยามว่าหมายถึง ดวงจันทร์เต็มดวงที่มีระยะห่างจากโลกน้อยกว่า 360,000 กิโลเมตร เกิดครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2557 ที่ระยะห่าง 358,258 กิโลเมตร แต่ในคืนวันที่ 10 สิงหาคมนี้ ดวงจันทร์เต็มดวงจะใกล้โลกที่สุดในรอบปี ที่ระยะห่าง 356,896 กิโลเมตร จึงเรียกว่า ซูเปอร์ ฟูล มูน (Super Full Moon)

            นอกจากนี้ ช่วงหลังเที่ยงคืนของวันที่ 12 สิงหาคม ถึงรุ่งเช้าวันที่ 13 สิงหาคม 57 เวลาประมาณ 01.00-04.00 น.จะมีปรากฏการณ์ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์บนท้องฟ้าทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ จุดศูนย์กลางการกระจายอยู่บริเวณระหว่างกลุ่มดาวค้างคาว (Cassiopeia) และกลุ่มดาวเพอร์เซอุส (Perseus) ในช่วงเวลาดังกล่าวอาจมีจำนวนดาวตกที่เห็นได้ด้วยตาเปล่าถึง 75-100 ดวงต่อชั่วโมง

            อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าเสียดายว่าในเดือนสิงหาคม พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทยเป็นช่วงกลางฤดูฝนและในคืนวันที่ 12 สิงหาคม 2557 มีแสงจันทร์รบกวนทำให้สภาพท้องฟ้าไม่เอื้ออำนวยต่อการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์อาจทำให้ในปีนี้ไม่สามารถมองเห็นฝนดาวตกมากเท่าที่ควร


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก






เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ชวนชม 2 ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ ฉลองวันแม่ อัปเดตล่าสุด 1 กรกฎาคม 2558 เวลา 15:21:31 1,675,878 อ่าน
TOP
x close