อ.เจษฎา โพสต์อธิบาย ภาพเอกซเรย์พยาธิเต็มตัวคนจีน





แฟ้มภาพ

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก hk.on.cc

          อ.เจษฎา โพสต์อธิบาย ภาพเอกซเรย์พยาธิเต็มตัวคนจีน เป็นเรื่องจริง แต่ไม่ฟันธงว่าเป็นพยาธิตัวตืดปลา

          เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2557 เฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant ของนายเจษฎา เด่นดวงบริพันธุ์ อาจารย์ประจำภาคชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการเขียนข้อความถึงกรณีที่มีภาพเอกซเรย์คนจีน เจอพยาธิทั้งตัวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องจริง และการที่เอกซเรย์เห็นพยาธิได้ เป็นเพราะมีการสร้างแคลเซียมในร่างกายเพื่อมาต้านพยาธินั่นเอง ส่วนการระบุว่า พยาธิมาจากปลาดิบ ตนไม่ฟันธงเรื่องนี้ แต่รับว่า พยาธิตัวตืดของปลานั้นมีจริง

สำหรับข้อความทั้งหมดของนายเจษฎา มีดังนี้

          "ภาพเอกซเรย์คนจีนเจอพยาธิทั้งตัว เรื่องจริงหรือไม่" ....

          เรื่องจริงครับ เป็นภาพเอกซเรย์ของคนที่มีพยาธิตัวตืด กระจายไปตามเส้นเลือดไปทั่วร่างกาย แค่สิ่งที่เอกซเรย์เห็นนั้นเรียกว่า cysticercosis คือเป็นแคลเซียมของร่างกายเราที่สร้างขึ้นมาต่อต้านกับพยาธิ จึงทำให้เอกซเรย์เห็นได้

          ตามข่าวเชื่อว่าพยาธิตัวตืดนี้มากับการกินเนื้อปลาดิบ ๆ ของปลาน้ำจืด (บ้านเราก็มีคนไข้แบบนี้เช่นกัน จากตัวตืดหมู) .... วิธีการป้องกันที่ดีที่สุดคือ การทำให้สุกเสียก่อน หรือเอาปลาดิบนั้นแช่แข็งอุณหภูมิติดลบ 15 องศา สัก 4 วันครับ

          นอกจากนี้ นายเจษฎา ยังระบุอีกว่า ผมแค่บอกว่าภาพนั้นเป็นภาพพยาธิจริงครับ และแค่บอกว่าตามข่าวของฝรั่ง หมอพูดว่ามาจากปลา ... และก็ตอบข้อสงสัยที่ว่าในปลามีพยาธิตัวตืดได้ไหม .... ผมไม่ได้ฟันธงว่าคนนี้ไปติดโรคจากพยาธิตัวตืดปลาครับ

          คำถามต่อเนื่องจากเรื่องเอกซเรย์เจอพยาธิในคนจีนว่า พยาธิตัวตืดมีในปลาด้วยเหรอ เคยเรียนแต่ตัวตืดหมู ตัวตืดวัว .... มีครับ มีพยาธิตัวตืดปลาด้วย (แต่ผมไม่ทราบว่าใช่ตัวเดียวกับที่เจอในคนไข้คนจีนหรือเปล่า)

          จากเว็บมหิดลครับ

ชื่อสามัญ พยาธิตืดปลา

          ทำให้เกิดโรค Diphyllobothriasis

          เป็นหนอนพยาธิในคนที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ปกติพบในสัตว์กินปลาโดยเฉพาะในยุโรปตอนเหนือ ตัวตืดไม่แสดงความจำเพาะต่อโฮสต์ จึงพบได้ในสัตว์พวกสุนัข พวกมิงค์ (mustelids), พวกแมวน้ำ (pinnipeds), พวกหมี เป็นต้น

รูปลักษณะ

          ตัวตืดมีสีงาช้าง ยาว 10 เมตร หรือมากกว่า ประกอบด้วยปล้องจำนวนได้ถึง 3,000 ปล้องหรือมากกว่า, หัวมีขนาดเล็กคล้ายช้อน ขนาด 12.5 มม. มีร่องด้านหลังและท้องเรียกว่า บอเทรีย, ต่อจากหัวคือคอซึ่งยาวเป็นหลายเท่าของหัว และ ต่อมาเป็นปล้องต่อกันเป็นโซ่ยาว ; ประมาณ 4 ใน 5 ของลำตัว ประกอบด้วยปล้องอ่อนและปล้องแก่, ส่วนที่เหลือเป็นปล้องสุก

          ปล้องแก่กว้างมากกว่ายาวและเต็มไปด้วยอวัยวะสืบพันธ์ุ อัณฑะประกอบด้วยพวงเม็ดเล็ก ๆ จำนวนมากอยู่สองข้างด้านหลังของลำตัว ; วิเทลลินเป็นพวงเม็ดเล็ก ๆ มากมายเช่นเดียวกันกระจายอยู่ทั่วไปในปล้อง ; รูเปิดของอวัยวะเพศผู้และเมียคือ genital atrium อยู่ตรงเส้นกึ่งกลางด้านท้อง (midventral) ; รังไข่มี 2 พู (bilobed) อยู่ 1 ใน 3 ด้านล่างของปล้องและอยู่ด้านท้อง ; มดลูกพับไปมาเป็นรูปดอกกุหลาบ (rosette) และสุดปลายมดลูกมีรูเปิด (uterinepore) เพื่อปล่อยไข่สู่ภายนอก ; ปล้องแก่และปล้องสุกไม่สามารถไม่สามารถแบ่งแยกจากกันได้เด่นชัด ; การสร้างไข่และปล่อยไข่มีตลอดช่วงระยะเวลาหนึ่ง เมื่อปล้องสุกหยุดทำงานจะค่อยสลายตัวและหลุดออกมาเป็นเส้นยาว ; ตัวตืด 1 ตัวปล่อยไข่ได้ถึง 1 ล้านฟองต่อวัน

          ไข่พยาธิกลมรีค่อนข้างอ้วน มีฝา, เปลือกไข่ค่อนข้างหนา ออกสีเหลืองทอง, ภายในยังไม่เป็นตัว



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อ.เจษฎา โพสต์อธิบาย ภาพเอกซเรย์พยาธิเต็มตัวคนจีน อัปเดตล่าสุด 26 กันยายน 2557 เวลา 14:48:23 77,390 อ่าน
TOP
x close