จุฬาฯ พบสัตว์ชนิดใหม่ของโลก ตะขาบม่วง-ปลิงควาย-ไส้เดือนยักษ์


ตะขาบม่วงสิมิลัน
ตะขาบม่วงสิมิลัน

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ทวิตเตอร์ @ThaiPBS

           จุฬาฯ พบสัตว์ชนิดใหม่ของโลก ตะขาบม่วงสิมิลัน ปลิงควายนครพม และไส้เดือนยักษ์ไทย หลายสายพันธุ์

           เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2557 ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วย ศ. นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ศ. ดร.สุพจน์ หารหนองบัว คณะบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ศ. ดร.สมศักดิ์ ปัญหา อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยซิลเทมาติกส์ของสัตว์ ร่วมกันแถลงข่าวพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ของโลก

           ทั้งนี้ ศ.ดร.สุพจน์ กล่าวว่า ได้ค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ 3 กลุ่มด้วยกัน คือ

           1. ตะขาบม่วงสิมิลัน เป็นตะขาบชนิดใหม่ของโลก
           2. ไส้เดือนยักษ์ชนิดใหม่ของโลก
           3. ปลิงควายนครพนม เป็นชนิดใหม่ของโลก

           สำหรับการค้นพบนี้ เป็นผลมาจากการสนับสนุนของจุฬาฯ และ สกว. เพื่อพัฒนางานวิจัยด้านอนุกรมวิธานและซิสเทมาติกส์ของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังในดินอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตะขาบม่วงสิมิลัน ตะขาบชนิดใหม่ของโลก ซึ่งตะขาบเป็นสัตว์ผู้ล่าในระบบนิเวศป่าไม้ โดยมีเขี้ยวพิษและน้ำพิษที่ถูกพัฒนาเพื่อใช้ในการล่าเหยื่อ และด้วยบทบาทดังกล่าวในระบบนิเวศของตะขาบ ทำให้มันถูกจัดเป็นตัวควบคุมประชากรของสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ และสามารถใช้ในการชี้วัดความสมดุลในระบบนิเวศตามธรรมชาติได้

           ขณะที่ ศ. ดร.สมศักดิ์ และคณะนักวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการศึกษาวิจัยสายพันธุ์ของตะขาบที่มีอยู่ในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ลาว พม่า และมาเลเซีย ตั้งแต่ พ.ศ. 2554 และได้ค้นพบตะขาบชนิดใหม่ของโลกในประเทศไทย จากหมู่เกาะสิมิลัน จังหวัดพังงา ภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาสยามบรมราชกุมารี และตะขาบชนิดใหม่ของโลกนี้ ได้รับพระราชทานชื่อวิทยาศาสตร์จากพระองค์ท่านว่า "Sterropristes violaceus Muadsub and Panha, 2012" โดยคำว่า violaceus ในชื่อวิทยาศาสตร์ หมายถึง สีม่วงของลำตัวตะขาบ ซึ่งตรงกับสีวันพระราชสมภพของพระองค์ท่าน

           นอกจากนี้  ศ. ดร.สมศักดิ์ ยังได้นำเสนองานวิจัยเกี่ยวกับไส้เดือนสายพันธุ์ไทย โดยมีการเก็บตัวอย่างและศึกษาทั่วประเทศไทย และยืนยันแล้วว่าไส้เดือนสายพันธุ์ไทยกว่า 50 สายพันธุ์ และคาดว่าน่าจะมีมากกว่า 100 สายพันธุ์ ส่วนไส้เดือนชนิดที่โดดเด่น ได้แก่

            ไส้เดือนยักษ์แม่น้ำโขง Amynthas maekongianus พบที่ริมชายหาดแม่น้ำโขงหลายพื้นที่สองฝั่งโขงของไทยและลาว มีบทบาททำให้ดินบริเวณแม่น้ำโขงอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การทำการเกษตร

           ไส้เดือนขี้ตาแร่ Metaphire peguana พบทั่วไปในแทบทุกพื้นที่ในประเทศไทย ขี้คู้ Metaphire posthuma ไส้เดือนแดง Perionyx excavatus

           ไส้เดือนคันนาสกุล Drawida ที่พบในระบบนิเวศป่าแบบต่าง ๆ รวมถึงระบบนิเวศทางการเกษตร เกษตรกรนำไส้เดือนบางสายพันธุ์มาทำฟาร์มเพาะเลี้ยงเพื่อใช้ประโยชน์อย่างหลากหลาย เป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดี

           นอกจากนี้ ยังได้ค้นพบ ปลิงควาย จ.นครพนม และไส้เดือนยักษ์ศรีสะเกษ โดยไส้เดือนสามารถใช้ประโยชน์ทางการเกษตร ซึ่งการค้นพบครั้งนี้ได้รับการยืนยันด้วยวิธีตรวจดีเอ็นเอ และโครโมโซมว่าเป็นสัตว์สายพันธุ์ใหม่จริง โดยได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยเรียบร้อยแล้ว


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก







เรื่องที่คุณอาจสนใจ
จุฬาฯ พบสัตว์ชนิดใหม่ของโลก ตะขาบม่วง-ปลิงควาย-ไส้เดือนยักษ์ อัปเดตล่าสุด 8 ตุลาคม 2557 เวลา 12:19:55 33,161 อ่าน
TOP
x close