หนูโปร่งแสง
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก health-innovations.org
ญี่ปุ่นทำหนูโปร่งแสง ไล่เลือดออกจากอวัยวะภายใน มองเห็นทุกส่วนชัดแจ๋วแบบ 3D ศึกษาอวัยวะภายในได้แบบไม่ต้องผ่าตัด
การทำให้สิ่งมีชีวิตโปร่งแสงได้ไม่ใช่แค่เรื่องที่อยู่ในนิยายวิทยาศาสตร์อีกต่อไป เมื่อทีมวิจัยจากญี่ปุ่นนำโดยสถาบันวิจัยริเคน ร่วมกับมหาวิทยาลัยโตเกียว และสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งญี่ปุ่น ประสบความสำเร็จในการวิจัยทำหนูเรืองแสง สามารถศึกษาอวัยวะภายในได้โดยไม่ต้องผ่าตัด และเข้าใจภาพรวมอวัยวะร่างกายดีกว่าเดิม
เว็บไซต์เจแปนไทมส์ มีรายงานเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2557 ว่า ประโยชน์ที่จะได้รับจากความสำเร็จในการทำหนูโปร่งแสง คือสามารถศึกษาในระดับอวัยวะภายในได้โดยที่ยังมองเห็นภาพรวมของอวัยวะร่างกายทั้งหมด ทำให้เข้าใจถึงโครงสร้างภายในดีกว่าเดิม และยังช่วยให้เข้าใจถึงยีนจำเพาะที่แสดงลักษณะออกมาในเนื้อเยื่อต่าง ๆ รวมทั้งยังสามารถใช้เพื่อศึกษาการพัฒนาของตัวอ่อนขณะอยู่ในครรภ์ การพัฒนาของมะเร็ง ตลอดจนการพัฒนาเปลี่ยนแปลงของโรคภูมิต้านทานเนื้อเยื่อตนเองหรือโรคออโต้อิมมูนได้ในระดับเซลล์เลยทีเดียว ซึ่งคาดว่ามันจะนำมาสู่ความเข้าใจต่อโรคที่มากขึ้น และอาจนำไปสู่การหาวิธีการรักษาต่อไป
สำหรับกระบวนการทำหนูโปร่งแสง จะโฟกัสไปที่การกำจัด "ฮีม" (heme) สารซึ่งทำให้เลือดมีสีแดงออกจากร่างกาย เริ่มต้นจากการฉีดน้ำเกลือเข้าไปในหัวใจของหนู เพื่อให้หัวใจปั๊มน้ำเกลือเข้าไปแทนที่เลือดในระบบหมุนเวียนเลือดทั่วร่างกาย จากนั้นสารพิเศษจะถูกฉีดเข้าไปเพื่อแยก "ฮีม" (heme) ออกจากฮีโมโกลบินที่ยังหลงเหลืออยู่ในอวัยวะต่าง ๆ จากนั้นผิวหนังของหนูจะถูกลอกแล้วนำไปแช่ในสารพิเศษนี้อีก 2 สัปดาห์ ก็จะได้หนูโปร่งแสงสำหรับใช้ในการศึกษา