เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์ รุมค้านนายกฯ คนนอก ไม่ต้องเป็น ส.ส.


กมธ.ยกร่างฯ เสนอให้นายกฯ ไม่ต้องเป็น ส.ส. โดยมาจากคนนอก
กมธ.ยกร่างฯ เสนอให้นายกฯ ไม่ต้องเป็น ส.ส. โดยมาจากคนนอก

สรุปประเด็นข่าวโดยกระปุกดอทคอม

            พรรคเพื่อไทย และประชาธิปัตย์ ค้าน กมธ.ยกร่างฯ เสนอให้นายกฯ ไม่ต้องเป็น ส.ส. โดยมาจากคนนอกก็ได้ หวั่น ยึดโยงประชาชนไม่ได้ ทำกระบวนการประชาธิปไตยไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุลเท่าที่ควร
 
            สืบเนื่องจากคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญมีข้อสรุปเรื่องที่มาของนายกรัฐมนตรีให้มาจากการเสนอชื่อของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส. หรือสังกัดพรรคการเมือง เพื่อเปิดช่องไว้กรณีเกิดวิกฤตการเมือง และใช้ระบบการเลือกตั้งแบบประเทศเยอรมนี โดยให้มี ส.ส.เขต 250 คน และ ส.ส.ระบบรายชื่อ 200 คนนั้น ประเด็นดังกล่าวถูกพูดถึงในวงกว้าง โดยเฉพาะสมาชิกพรรคการเมืองที่ออกมาแสดงความคิดเห็นคัดค้าน

            โดยเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2557 นายนพดล ปัทมะ แกนนำพรรคเพื่อไทย แสดงความเห็นว่า การเปิดให้คนนอกเป็นนายกฯ อาจทำให้การตรวจสอบทางการเมืองอ่อนด้อยลง อีกทั้งนายกฯ จะมีความรับผิดชอบต่อพรรคการเมือง สภาผู้แทนฯ และประเทศน้อยลง เพราะมาเพียงคนเดียว ไม่ได้เป็นทั้ง ส.ส. และสมาชิกพรรคการเมือง เช่นนี้แล้วจะทำให้กระบวนการประชาธิปไตยไม่มีการตรวจสอบและถ่วงดุลเท่าที่ควร

            ส่วนข้อเสนอที่ให้นายกรัฐมนตรีต้องส่งรายชื่อรัฐมนตรีให้ ส.ว. ดูคุณสมบัติก่อนเป็นรัฐมนตรีนั้น นายนพดล ชี้ว่า แทบไม่มีประเทศใดที่นายกฯ จะเสนอชื่อรัฐมนตรีให้ ส.ว. ตรวจสอบก่อน เพราะนายกฯ และ ครม.เป็นตำแหน่งที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ และไม่เหมาะนักที่จะให้ ส.ว. เป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้งรัฐมนตรี แต่ถ้าเป็นการอภิปรายถึงความเหมาะสม แต่ไม่มีอำนาจอนุมัติ ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง

            ด้าน นายอำนวย คลังผา อดีต ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า หากนายกฯ มาจาก ส.ส. ก็จะมองเห็นปัญหาของประชาชนได้มากกว่า เพราะได้ลงพื้นที่หาเสียง มีความใกล้ชิดและคลุกคลีกับประชาชนจริง ๆ จึงไม่เห็นด้วยถ้าจะให้คนนอก ที่ไม่ใช่ ส.ส. มาเป็นนายกฯ ได้ และที่ผ่านมา ตนก็ไม่เห็นมีปัญหาอะไรกับการที่นายกฯ เป็น ส.ส. และมาจากการโหวตของสภา

            ขณะที่ นายราเมศ รัตนเชวง รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ก็แสดงความไม่เห็นด้วยเช่นกันที่นายกฯ ไม่ต้องเป็น ส.ส.  เพราะอำนาจนิติบัญญัติและบริหารต้องยึดโยงผูกพันกัน ส.ส. ก็ต้องยึดโยงประชาชนมากกว่า ดังนั้นถ้าต้องการให้ระบบพรรคการเมืองเข้มแข็ง ก็ต้องไม่ส่งเสริมให้พรรคการเมืองอ่อนแอ ความเชื่อมั่นของสถาบันการเมืองหากได้คะแนนเสียงมากก็ถือเป็นหลักการอยู่แล้ว หากจะบอกว่าป้องกันการเสนอนายกฯ ม.7 ก็ตอบโจทย์ไม่ได้

            ส่วนกรณีที่นำระบบเลือกตั้งแบบประเทศเยอรมนีมาใช้ โดยให้มี ส.ส.เขต 250 คน และ ส.ส.ระบบรายชื่อ 200 คนนั้น นายราเมศ ระบุว่า ก็ไม่ทราบว่าใช้ฐานความคิดมาจากความเป็นจริงให้มากที่สุดหรือไม่ เพราะจำนวนประชาชน และ ส.ส.ต้องสมดุลกัน คนเป็น ส.ส. ต้องดูแลประชาชน ส่วนการเลือกตั้งจะเป็นแบบไหน หลายฝ่ายก็ยังสับสนกันอยู่ว่าจะเอาอย่างไร กมธ. กับ สปช. จะอุดช่องโหว่อย่างไร เชื่อว่าระบอบทักษิณและพรรคเพื่อไทยจะใช้ช่องโหว่จากเงื่อนไขกติกาตรงนี้ และไม่เห็นด้วยที่ ส.ส.ไม่ต้องสังกัดพรรคการเมือง ตามระบอบประชาธิปไตยพรรคการมืองถือว่าสำคัญมาก ฉะนั้นต้องส่งเสริมให้เกิดความเข้มแข็ง หาก ส.ส.อิสระแยกจากพรรคการเมือง เป็นห่วงนักธุกิจเข้ามาครอบงำ ซึ่งเกิดมาแล้วในระบบทักษิณ

            ขณะที่ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงระบบเลือกตั้งแบบผสมว่า เป็นความตั้งใจของ กมธ.ยกร่างฯ ที่ประสงค์ เจตนาดี ให้คนที่มีความสามารถ มีคุณภาพเข้ามาร่วมผูกขาดการแข่งขันด้วย แต่ไปเอาโจทย์จากคราวที่แล้วมา ซึ่งแนวคิดแบบนี้มีทั้งข้อดีด้านบวกและด้านลบ มีได้ มีเสีย เพราะการจะลงสมัคร ส.ส.แบบอิสระ ลงเดี่ยวหรือลงในนามกลุ่ม ต้องดูว่าคุณสมบัติของกลุ่มนั้นเป็นอย่างไร


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์ รุมค้านนายกฯ คนนอก ไม่ต้องเป็น ส.ส. อัปเดตล่าสุด 27 ธันวาคม 2557 เวลา 14:02:06 11,890 อ่าน
TOP
x close