ผุดทฤษฎีอีก 2 แสนปีดาวแคระเฉียดระบบสุริยะ ทำดาวหางชนโลก
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล
นักดาราศาสตร์เผยอีก 2-5 แสนปีข้างหน้า ดาวแคระ HIP 85605 อาจเฉียดระบบสุริยะ ทำดาวหางชน-เฉียดโลก
เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2558 เว็บไซต์ยูนิเวิร์สทูเดย์ รายงานว่า นักดาราศาสตร์ชาวเยอรมัน ผุดทฤษฎีดาวแคระโคจรเฉียดระบบสุริยะ ในระยะทาง 0.13-0.65 ปีแสง แม้ไม่กระทบกับวงโคจรของดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ แต่ก็อาจทำให้ดาวหางบริเวณเมฆออร์ตเคลื่อนตัวเฉี่ยวโลกได้
ผู้เสนอทฤษฎีนี้คือ ดอกเตอร์คอริน เบลเลอร์ โจนส์ จากสถาบันดาราศาสตร์แม็กซ์ แพลนค์ ในเยอรมนี ได้เผยความเป็นไปได้ว่า ในอีก 240,000-470,000 ปีข้างหน้า ดาวแคระ HIP 85605 ซึ่งอยู่ห่างจากระบบสุริยะราว 16 ปีแสงตอนนี้ อาจจะเคลื่อนมาใกล้กับระบบสุริยะในระยะเฉียด คือ 0.13-0.65 ปีแสง หรือคิดเป็นระยะทาง 8,000 เท่าของระยะห่างระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์
ดอกเตอร์โจนส์เผยว่า แม้ว่ากาแล็กซีจะประกอบไปด้วยดาวฤกษ์มากมมาย และดาวฤกษ์แต่ละดวงก็อยู่ห่างกันแบบไกลโพ้น แต่ก็มีความเป็นไปได้เล็กน้อยว่าดาวฤกษ์ 2 ดวงอาจจะเฉี่ยวกัน ซึ่งถึงจะเล็กน้อยอย่างมาก แต่ในทางดาราศาสตร์ก็ยังถือว่ามองข้ามไม่ได้
สำหรับผลกระทบของปรากฏการณ์ดาวแคระ HIP 85605 เคลื่อนตัวเฉียดระบบสุริยะนั้น หากเกิดขึ้นจริง จะไม่ส่งผลกระทบใด ๆ ต่อวงโคจรของดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ แต่อาจจะมีผลกระทบต่อการโคจรของบรรดาดาวหางที่อยู่บริเวณเขตเมฆออร์ต (ดาวหางที่อยู่ในระบบสุริยะชั้นนอก) ทำให้ดาวหางเหล่านี้ถูกเหวี่ยงเข้ามายังวงโคจรดาวเคราะห์ชั้นใน และอาจเหวี่ยงมาชนโลกได้
อย่างไรก็ดี ทฤษฎีนี้ยังคงเป็นเพียงสมมติฐานเท่านั้น เพราะจริง ๆ แล้วนักดาราศาสตร์ยังคงไม่รู้อะไรมากนักเกี่ยวกับดาวแคระ HIP 85605 ซึ่งก็จะต้องใช้เวลาศึกษากันต่อไปอีกหลายปีเลยทีเดียว