เปิดการทดลองที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เมื่อจับทารกกับลูกลิงชิมแปนซีมาเลี้ยงด้วยกัน เพื่อทดสอบว่าเมื่อนำลูกสัตว์มาเลี้ยงแบบลูกคนผลจะเป็นอย่างไร ลองมาดูกัน
เว็บไซต์รวมสารพันเรื่องน่ารู้อย่าง viralnova นำเสนอการทดลองที่เกิดขึ้นในปี 1931 โดยนักจิตวิทยาชาวอเมริกัน วินธรอป ไนล์ส เคลล็อกก์ ร่วมด้วย นางเลลลา ภรรยาของเขา เมื่อทั้งคู่ได้เลี้ยงดูทารกชายวัย 10 เดือน ร่วมกับ "กัว" ลูกลิงชิมแปนซีเพศเมีย อายุ 7 เดือน เพื่อหาคำตอบว่าหากเลี้ยงดูลูกสัตว์ที่มีความใกล้เคียงมนุษย์มากที่สุดอย่างชิมแปนซีไว้ภายใต้สภาพแวดล้อมเดียวกับที่เลี้ยงดูทารกมนุษย์ แล้วผลจะเป็นอย่างไร โดยทารกที่อยู่ในการทดลองดังกล่าวนั้น ก็คือ "โดนัลด์" ลูกชายแท้ ๆ ของทั้งคู่นั่นเอง
การทดลองนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องเด็กที่เติบโตขึ้นมากับหมาป่าในอินเดีย เด็กรายนี้มีพฤติกรรมเหมือนสัตว์และมีสติปัญญาต่ำ ซึ่งเคลล็อกก์เชื่อว่าน่าจะเกิดจากการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมตั้งแต่วัยเยาว์ แต่ถ้ากลับกัน หากนำลูกสัตว์มาเลี้ยงแบบลูกคนบ้าง จะได้ผลเป็นอย่างไร ?
เคลล็อกก์ได้ทำการทดลองดูการตอบสนอง การเรียนรู้ และพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของโดนัลด์และกัวเอาไว้ อาทิ ทดสอบการถือสิ่งของ ระยะเวลาของปฏิกิริยาตอบสนองที่มีเมื่อรู้สึกตกใจ ทดสอบการแก้ปัญหาเมื่อพบสิ่งกีดขวาง การจั๊กจี้ ปฏิกิริยาเมื่อกินน้ำแข็งเป็นครั้งแรก ฯลฯ
ผลที่ออกมาดูเหมือนว่ากัวจะเรียนรู้ได้ไวกว่ามนุษย์ผู้พี่ ชิมแปนซีน้อยทำได้ดีกว่าในการทดลองเรื่องการใช้ช้อน แก้ว และการสนองต่อคำสั่งง่าย ๆ แต่มีความเป็นอิสระในตัวเองน้อยกว่าในแง่การปฏิสัมพันธ์ กัวเกาะติดเคลล็อกก์อยู่บ่อยครั้ง ชอบออดอ้อนและชอบที่จะได้รับการเอ็นดู
ปฏิกิริยาเมื่อได้กินน้ำแข็งเป็นครั้งแรก
การทดสอบเรื่องสิ่งกีดขวาง กัวโผเข้าหาป๊ะป๋าทันทีที่เห็น
การตอบสนองเมื่อถูกจั๊กจี้
ชิมแปนซีแสดงพฤติกรรมแบบมนุษย์ได้เร็วกว่าทารกน้อย
เคลล็อกก์ตั้งเป้าจะทำการทดลองและติดตามพัฒนาการไปเป็นเวลา 5 ปี แต่ในที่สุดก็ตัดสินใจยุติการทดลองลงหลังผ่านไปได้ 9 เดือน เมื่อพบว่าลูกชายของเขาเริ่มเลียนแบบพฤติกรรมน้องสาวต่างสปีชีส์ เช่น เริ่มทำเสียงเลียนแบบชิมแปนซีเวลาขออาหาร ผลการทดลองเท่าที่ได้จากช่วงระยะเวลา 9 เดือน จึงสามารถสรุปคร่าว ๆ ว่า ลูกชิมแปนซีเรียนรู้พฤติกรรมมนุษย์ได้รวดเร็วในระดับพึงพอใจและติดพ่อแม่มากกว่า ในขณะที่ลูกคนกลับมีพฤติกรรมเลียนแบบชิมแปนซีไปเสียอย่างนั้น
แต่ก็น่าเศร้าที่ชิมแปนซีน้อยมีชีวิตอยู่ต่อได้อีกไม่นาน กัวตายลงราว 1 ปีหลังจากนั้นด้วยอาการปอดบวม แต่อย่างไรก็ตามผลการทดลองที่เธอได้ทิ้งไว้กลายเป็นก้าวสำคัญในการศึกษาทฤษฎีทางชีววิทยาและจิตวิทยา
ส่วนเคลล็อกก์และภรรยา ได้เขียนหนังสือ The Ape and The Child บอกเล่าสิ่งพวกตนได้ทำและค้นพบในการทดลองครั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถหาอ่านเพิ่มเติมได้ และลองชมคลิปบางส่วนของการทดลองได้ด้านล่างนี้
world_id:555be10d38217adf02000000
ภาพจาก madsciencemuseum.com