คสช. แจ้งจับ พ.อ. คชาชาต บุญดี เอี่ยว "หมอหยอง-จิรวงศ์" ผู้ต้องหาคดีอาญามาตรา 112 ปมเรียกรับผลประโยชน์ "ซีพีออลล์-คิงเพาเวอร์" พบพิรุธทุจริตก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ เรียกค่าโต๊ะจีน 5 แสนถึง 1 ล้านบาท เร่งล่าตัวเซียนพระงาบหัวคิวค่าก่อสร้างรูปหล่อบูรพกษัตริย์ สอบขยายผล
ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าคดีแอบอ้างเบื้องสูงเพื่อหาผลประโยชน์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งได้จับกุมผู้ต้องหาครั้งแรก 3 คนคือ นายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ หรือ "หมอหยอง" นายจิรวงศ์ วัฒนเทวาศิลป์ เลขานุการคนสนิทของหมอหยอง พ.ต.ต. ปรากรม วารุณประภา อดีต สว.กก.1 บก.ปอท. หรือ "สารวัตรเอี๊ยด" ที่เสียชีวิตขณะคุมขังที่เรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต (พัน.ร.มทบ.11), จากนั้นตำรวจได้ขยายผลจับกุม นายศุกร์โข ตามเสรี หรือ "เค" คนสนิทของ พ.ต.ต. ปรากรม ในข้อหาครอบครองอาวุธปืน และกระสุน ต่อมาสืบสวนยังพบชื่อนายตำรวจใหญ่ทั้งยศ พันเอก และพลตรี กว่า 50 นายเข้าไปพัวพันกับแก๊งหมอหยอง นอกจากนี้ทางตำรวจยังได้ขยายผลตรวจสอบการทุจริต จัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ จ.ประจวบคีรีขันธ์
ล่าสุดเมื่อวานนี้ (8 พฤศจิกายน 2558) มีรายงานข่าวแจ้งว่า ขณะนี้ชุดคลี่คลายคดี 112 อยู่ระหว่างขั้นตอนการสอบปากคำพยานเพื่อหาความเชื่อมโยงเกี่ยวกับบุคคลอื่น ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด โดยพบว่านายสุริยันผู้ต้องหาคนสำคัญได้ให้การพาดพิงถึงนายทหาร 2 นาย ยศ "พลตรี" และ "พันเอก" ว่ามีส่วนพัวพันเรื่องดังกล่าว ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ขยายผลสืบสวน แต่ปรากฏว่านายทหารยศ "พันเอก" ได้เดินทางออกนอกประเทศไปแล้ว
ทั้งนี้พบความเชื่อมโยงว่านายทหาร 2 นายมีความสนิทสนมกับนายสุริยัน, พ.ต.ต. ปรากรม และนายจิรวงศ์ด้วย นอกจากนี้มีรายงานจากแหล่งข่าวในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ว่า เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 7 พฤศจิกายน 2558 พล.ต. วิจารณ์ จดแตง ผอ.ส่วนกฎหมายและสิทธิมนุษยชน กอ.รมน. และหัวหน้าฝ่ายกฎหมายหน่วยเฉพาะกิจการข่าว คสช. ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษนายสุริยัน และพวกเพิ่มเติมอีก 2 คดีคือ
1. คดีที่ 113/2558 กล่าวโทษนายสุริยัน, นายจิรวงศ์ และพ.อ. คชาชาต บุญดี หรือ "โจ้" ในฐานความผิดมาตรา 112 และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในพฤติการณ์ที่ทำให้ผู้อื่นเชื่อว่ามีตำแหน่งหรือหน้าที่ ทั้งที่ตนมิได้มีตำแหน่งหรือหน้าที่นั้น เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย สำหรับตนเองหรือผู้อื่นหรือในความผิดฐานอื่นที่พบภายหลัง โดยนายสุริยันและพวกมีพฤติการณ์แอบอ้างเบื้องสูงในการขอสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมสำคัญที่ได้จัดขึ้นไปแล้ว เหตุเกิดที่กรมทหารราบที่ 11 และบริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) แขวงสีลม เขตบางรัก เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2558-6 สิงหาคม 2558
2. คดีที่ 114/2558 กล่าวโทษ นายสุริยัน, นายจิรวงศ์ และ พ.อ. คชาชาต ในฐานความผิดเดียวกันเหตุเกิดบริษัท คิง เพาเวอร์ จำกัด แขวงพญาไท เขตราชเทวี เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2558
ซึ่งรายงานข่าวระบุว่า ในช่วงที่มีการจัดเตรียมกิจกรรมสำคัญ ได้มีการนำเสื้อกิจกรรมหลายหมื่นตัวไปส่งที่ค่ายทหารแห่งหนึ่ง โดย พลตรี และ พันเอก ได้เกณฑ์กำลังทหารเข้าจัดการบรรจุหีบห่อ ขณะเดียวกันแนวทางสืบสวนยังพบอีกว่าเสื้อที่ใช้ในกิจกรรมสำคัญนั้น มีต้นทุนการผลิตเพียงตัวละ 140 บาท แต่กลับแจ้งในราคาตัวละ 280 บาทให้กับภาคเอกชนได้รับทราบ
สำหรับการตรวจสอบความผิดปกติในการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เบื้องต้นพบว่านอกจากการก่อสร้างรูปปั้นทั้ง 7 พระองค์แล้ว ยังพบพฤติกรรมส่อเจตนาทุจริตในการจัดกิจกรรมพิเศษ เปิดตัวอุทยานราชภักดิ์ด้วย ซึ่งทางชุดคลี่คลายคดีกำลังรวบรวมข้อมูลและพยานหลักฐานต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องจำหน่ายโต๊ะจีนที่เปิดขายราคาที่นั่งละ 500,000 บาท หากเป็นโต๊ะวีไอพีราคาที่นั่งละ 1 ล้านบาท
ด้านแหล่งข่าวนายทหารระดับสูงจากกองทัพบก เปิดเผยว่า ภายหลังจากชุดคลี่คลายคดีหมิ่นสถาบันเบื้องสูงพบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับความผิดปกติในการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ ที่กองทัพบกดำเนินการจัดสร้างตั้งแต่ พฤศจิกายน 2557 นั้น ทาง พล.อ. ธีรชัย นาควานิช ผบ.ทบ. ยังไม่มีการสั่งการใด ๆ เป็นพิเศษในเรื่องดังกล่าว ขณะที่ทางตำรวจก็ยังไม่ได้ประสานขอข้อมูลมาแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันโครงการดังกล่าวถือว่ายังไม่ได้อยู่ในความดูแลของกองทัพบก แต่อยู่ในความดูแลของมูลนิธิอุทยานราชภักดิ์ โดยมี พล.อ. อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และอดีต ผบ.ทบ. เป็นประธานมูลนิธิ เพราะทางมูลนิธิ ยังไม่ได้ส่งมอบอุทยาน ให้กับกองทัพบกเป็นผู้ดูแลเนื่องจากจัดสร้างยังไม่เสร็จสมบูรณ์
มีรายงานข่าวเพิ่มเติมว่า ในการสร้างอุทยานราชภักดิ์ซึ่งมีการตรวจสอบไปบางส่วนแล้วนั้น เจ้าหน้าที่พบความไม่ชอบมาพากล หลังขยายผลตรวจสอบผู้ที่จัดสร้างรูปหล่อรัชกาลที่ 1 มีบริษัทพุทธปฏิมา พรหมรังสี จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 52/25 ถนนพุทธมณฑลสาย 3 เขตทวีวัฒนา กทม. เป็นผู้รับดำเนินการ โดยเจ้าหน้าที่ได้สอบปากคำนางรุ่งทิพย์ ทองศรี เจ้าของบริษัท ทราบว่าได้รับการติดต่อจากเซียนพระชื่อดังให้จัดสร้างรูปหล่อรัชกาลที่ 1 เป็นเงิน 43 ล้านบาท ทางกรมกิจการพลเรือน กองทัพบก เป็นผู้จ่ายให้ 5 งวด และเซียนพระได้ค่านายหน้าประมาณ 4.7 ล้านบาท
ส่วนรูปหล่อพ่อขุนรามคำแหงพบว่า ผู้ที่ได้รับการจัดสร้างรูปหล่อคือ บริษัท ช.ประติมากรรม อินดัสตรี จำกัด ตั้งอยู่ที่ 30/3 หมู่ 6 ต.วังเย็น อ.เมือง จ.นครปฐม มีนายชำนาญ ประติมากรรม เป็นเจ้าของ ให้การว่า เซียนพระคนดังกล่าวเรียกไปรับงานจากกรมกิจการพลเรือน กองทัพบก ด้วยราคา 43 ล้านบาท รวมทั้งพานพุ่มอีก 10.8 ล้านบาท แบ่งจ่าย 5 งวด เซียนพระได้ส่วนแบ่ง 10 เปอร์เซ็นต์ แต่ครั้งนี้ พ.อ. คชาชาต ขอเงินช่วย 300,000 บาท
ขณะเดียวกันรูปหล่อพระนารายณ์บริษัท ร็อคคลา ไฟน์ อาร์ท จำกัด เลขที่ 143 หมู่ 12 ต.ท่าวุ้ง อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี ของ น.ส.กมลนันท์ สังเกต เป็นผู้รับจัดสร้างในราคา 45.5 ล้านบาท เซียนพระได้ 10 เปอร์เซ็นต์ กรมกิจการพลเรือน กองทัพบก เป็นผู้ว่าจ้างแบ่งจ่ายเป็น 5 งวด รูปหล่อพระเจ้าตากสิน หจก.ประติมาไฟน์อาร์ท เลขที่ 89 หมู่ที่ 12 กม.58 ถนนกาญจนาภิเษก ต.คูบางหลวง อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี ของนายเอนก หงษ์มณี เป็นผู้จัดสร้างในราคา 44 ล้านบาท เซียนพระได้ 10 เปอร์เซ็นต์
รูปหล่อรัชกาลที่5 ที่บริษัท โผนประติมากรรมสากล จำกัด ของนายเครน กัญชศิลป์ รับเป็นคนดำเนินในราคา 42 ล้านบาท ส่วนรูปหล่อสมเด็จพระนเรศวรฯ และรัชกาลที่ 4 บริษัท เอเชีย ไฟน์อาร์ท จำกัด เลขที่ 59/1 ต.บ้านม้า อ.บางปะหัน จ.พระนครศรีอยุธยา รับงานไปทำ แต่รูปหล่อทั้ง 2 พระองค์นี้ เซียนพระไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยว ทั้งนี้คณะทำงานสืบสวนสอบสวนในคดีดังกล่าวกำลังพยายามรวบรวมหาพยานหลักฐานทุกอย่างที่เกี่ยวข้องรวมทั้งจะเรียกตัวเซียนพระคนนี้มาสอบสวนหาที่มาที่ไป และมีใครบ้างที่เกี่ยวข้องกับการกินเปอร์เซ็นต์การจัดสร้างรูปหล่อบูรพกษัตริย์แห่งสยาม
ภาพจาก เฟซบุ๊ก กูต้องได้ 100 ล้าน จากทักษิณแน่ๆ
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
,