ประวัติสมเด็จช่วง กับกระแสร้อนแรง บนบัลลังก์ประมุขสงฆ์องค์ที่ 20


 สมเด็จช่วง วัดปากน้ำ
ภาพจาก dmc.tv

          ประวัติสมเด็จช่วง หรือ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช กับกระแสต้านนั่งบัลลังก์สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20

          กำลังเป็นกระแสร้อนแรงในสังคมชาวพุทธที่มีคนจับตามองกันอย่างมากในระยะนี้ สำหรับการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 แทนสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ที่สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2556 เนื่องจากติดเชื้อในกระแสพระโลหิต 

          โดยเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2559 ที่ประชุมลับมหาเถรสมาคม (มส.) เห็นพ้องต้องกันเสนอชื่อ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ หรือ สมเด็จช่วง เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นพระสังฆราชองค์ที่ 20 ซึ่งต่อมาในการประชุมมหาเถรสมาคม เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2559 ก็ได้รับรองรายงานการประชุมลับในครั้งนั้นด้วยมติเอกฉันท์

          ซึ่งหลังจาก มส. มีมติเสนอชื่อ สมเด็จช่วง เป็นสังฆราชองค์ที่ 20 ได้มีพุทธศาสนิกชนบางส่วนออกมาคัดค้านต่อมติดังกล่าว โดยหนึ่งในนั้นคือ นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่รวมตัวกับเครือข่ายปกป้องพระเกียรติสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช และเครือข่ายสตรีปกป้องพระพุทธศาสนา โดยอ้างว่า อยากให้สมเด็จช่วงเคลียร์ตัวเองให้ได้ก่อนในคดีครอบครอง และมีการสะสมรถหรู โดยคดีนี้อยู่ในมือของดีเอสไอตั้งแต่ปี 2556 และล่าสุดเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2559 ดีเอสไอก็ได้แถลงความคืบหน้าในคดีดังกล่าว โดยระบุว่า รถเบนซ์หรูโบราณทะเบีบน ขม 99 ของสมเด็จช่วงใช้เอกสารการจดประกอบปลอม ผิดกฎหมายทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็น นำเข้า-ประกอบรถ-เสียภาษีสรรพสามิต-จดทะเบียน ซึ่งหลังจากนี้จะเข้าสู่กระบวนการสอบสวนว่ามีใครที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับคดีดังกล่าวบ้าง

          และอีกหนึ่งเสียงที่ออกโรงต่อต้านอย่างหนักคือกลุ่มของพระพุทธะอิสระ เจ้าอาสวัดอ้อน้อย จ.นครปฐม โดยให้ความเห็นว่า สมเด็จช่วงมีความเกี่ยวพันกับพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย เนื่องจากเป็นพระอุปัชฌาย์ และยังมีความสัมพันธ์อันดีกับวัดพระธรรมกายที่ถูกพุทธศาสนิกชนบางส่วน ครหาว่าบิดเบือนคำสอนที่แท้จริงจากหลักพระพุทธศาสนา

สมเด็จช่วง วัดปากน้ำ
ภาพจาก watpaknam.org

          อย่างไรก็ดี นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักพระพุทธศาสนา เปิดเผยว่า หลังจากได้รับมติของ มส. ก็จะเสนอข้อมูลให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาตามอำนาจหน้าที่ แต่ต้องหารือเพิ่มเติมกับสำนักพระพุทธศาสนา คณะสงฆ์ และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย ซึ่งตอบไม่ได้ ว่าต้องใช้เวลารวบรวมข้อมูลนานเท่าไร เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน โดยเฉพาะประเด็นที่โดนทักท้วงมา

          ทั้งนี้ทีมงาน kapook.com จะพาไปรู้จักประวัติสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ หรือ สมเด็จช่วง ว่าที่สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 โดยย่อ

ประวัติสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ ป.ธ.9)

          สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ มีนามเดิมว่า ช่วง นามสกุล สุดประเสริฐ เกิดเมื่อวันพุธที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2468 ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 10 ปีฉลู บ้านเลขที่ 32 ต.ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ เป็นบุตรของนายมิ่ง และนางสำเภา สุดประเสริฐ มีพี่น้อง 4 คน

          ในปี พ.ศ. 2475 นายมิ่ง สุดประเสริฐ ได้ถึงแก่กรรม นางสำเภา ซึ่งมีลูกเล็ก ๆ หลายคน ต้องรับภาระครอบครัวอย่างหนัก ต่อมานายคต เจริญผล ได้เข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระและสมรสกับนางสำเภา มีบุตร-ธิดาด้วยกัน เจ้าพระคุณสมเด็จฯ จึงมีน้องร่วมอุทรมารดาอีก 4 คน

สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ กับการเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์

          ขณะที่สมเด็จช่วง มีอายุได้ 7 ขวบ นายมิ่ง ผู้เป็นบิดาได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคลักปิดลักเปิดอย่างรุนแรง เลือดไหลไม่หยุด ญาติจึงให้สมเด็จช่วง และพี่ชายบรรพชาเป็นสามเณรหน้าไฟตามประเพณี หลังจากเสร็จพิธีกรรมทางศาสนาแล้ว พี่ชายได้ลาสิกขาบท แต่เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ยังคงบรรพชาเป็นสามเณรอยู่ระยะหนึ่งจึงได้ลาสิกขา

          หลังจากนั้นชีวิตของ สมเด็จช่วง ก็เริ่มผูกพันกับวัดในละแวกบ้าน คือ วัดสังฆราชาและวัดลาดกระบัง เมื่ออายุได้ 14 ปี จึงได้บรรพชาอีกครั้ง ที่วัดสังฆราชา เขตลาดกระบัง กทม. โดยมี พระครูศีลาภิรัต (ทอง) วัดลาดกระบัง กทม. เป็นพระอุปัชฌาย์ และได้ศึกษาและสอบนักธรรมชั้นตรี และชั้นโทได้ในนามวัดสังฆราชา ระหว่างนั้นได้ทราบกิตติคุณของหลวงพ่อวัดปากน้ำ หลวงพ่อเลี้ยงพระภิกษุสามเณร มีผู้นำอาหารมาถวายทุกวัน ไม่ต้องออกบิณฑบาต เกิดความรู้สึกอยากจะมาศึกษาต่ออยู่ภายใต้ร่มบารมีธรรม ของหลวงพ่อวัดปากน้ำ ในปี พ.ศ. 2484 จึงได้ย้ายมาอยู่วัดปากน้ำ โดยพระแจ่มวัดสังฆราชา เป็นผู้นำมาฝากกับ หลวงพ่อวัดปากน้ำ และนายสี พี่ชายตามมาส่ง

          จากนั้น สมเด็จช่วง เข้ารับการอุปสมบทเมื่อวันศุกร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2488 ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 6 ปีระกา ที่พัทธสีมาวัดปากน้ำ เขตภาษีเจริญ กทม. นามฉายา “วรปุญฺโญ” โดยพระครูบริหารบรมธาตุ (ป่วน เกสโร) วัดนางชี เป็นพระอุปัชฌาย์ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงพ่อวัดปากน้ำ เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ ที่ พระครูสมณธรรมสมาทาน เป็นกรรมวาจาจารย์ ด้วยความเป็นผู้ขยันและตั้งใจศึกษาเล่าเรียน เจ้าพระคุณสมเด็จฯ สอบได้โดยลำดับถึง ป.ธ.7 หลวงพ่อวัดปากน้ำนำไปฝากเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (กิตฺติโสภณมหาเถร) เพื่อให้ศึกษา ป.ธ.8, 9 ในสำนักเรียนวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม หลังจากสำเร็จการศึกษา ป.ธ.9 แล้ว หลวงพ่อวัดปากน้ำได้ไปรับ สมเด็จช่วง กลับมาช่วยงานที่วัดปากน้ำ เพื่อสานต่องานและโครงการที่หลวงพ่อริเริ่มไว้ จวบจนถึงปัจจุบัน

สมเด็จช่วง วัดปากน้ำ
ภาพจาก วัดปากน้ำ

วิทยฐานะ ของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์

          พ.ศ. 2480 สำเร็จการศึกษาชั้นประถมปีที่ 4 โรงเรียนประชาบาล วัดสังฆราชา เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร
          พ.ศ. 2484 นักธรรมชั้นโท วัดสังฆราชา เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร
          พ.ศ. 2490 นักธรรมชั้นเอก สำนักเรียนวัดปากน้ำ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร
          พ.ศ. 2492 เปรียญธรรม 7 ประโยค สำนักเรียนวัดปากน้ำ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร
          พ.ศ. 2497 เปรียญธรรม 9 ประโยค สำนักเรียนวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร
          พ.ศ. 2492-2508 เป็นผู้ทรงจำและสวดพระปาฏิโมกข์ ณ วัดเบญจมบิตร และวัดปากน้ำ

สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์กับสมณศักดิ์ที่ได้รับ

          พ.ศ. 2499 ได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระศรีวิสุทธิโมลี
          พ.ศ. 2505 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชเวที
          พ.ศ. 2510 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระเทพวรเวที
          พ.ศ. 2516 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมธีรราชมหามุนี
          พ.ศ. 2530 ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์ขึ้นเป็นพระราชาคณะ เจ้าคณะรอง ชั้นหิรัญบัฏ ที่ พระธรรมปัญญาบดี
          พ.ศ. 2538 ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏที่สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์

เกียรติคุณของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์
 
          พ.ศ. 2532 ได้รับถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
          พ.ศ. 2543 ได้รับถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัย ประเทศศรีลังกา
          พ.ศ. 2546 ได้รับถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากสังฆสภาอินเดีย ประเทศอินเดีย
          พ.ศ. 2551 ได้รับถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
          พ.ศ. 2553 ได้รับถวายปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาภาษาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เกาะติดข่าว แต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช ทั้งหมดคลิกเลย


ขอบคุณข้อมูลจาก
- watpaknam.org
- เฟซบุ๊ก หลวงปู่พุทธะอิสระ (Buddha Isara)
   



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ประวัติสมเด็จช่วง กับกระแสร้อนแรง บนบัลลังก์ประมุขสงฆ์องค์ที่ 20 อัปเดตล่าสุด 19 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา 11:57:59 68,436 อ่าน
TOP
x close