วันสุนทรภู่ 26 มิถุนายน 2567 ประวัติกวีเอกของไทย

          วันสุนทรภู่ 26 มิถุนายน ของทุกปี มาอ่าน ประวัติสุนทรภู่ หรือ พระสุนทรโวหาร กวีเอก 4 แผ่นดินของไทย พร้อมผลงานมากมาย ทั้ง นิราศ นิทาน บทเห่กล่อม สุภาษิต เสภา บทละคร อาทิ นิราศเมืองแกลง นิราศภูเขาทอง นิราศอิเหนา นิทานเรื่องพระอภัยมณี สุภาษิตสอนหญิง บทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน เป็นต้น

 วันสุนทรภู่ 26 มิถุนายน 2567

          ถ้าเอ่ยชื่อ "สุนทรภู่" เชื่อว่าน้อยคนนักที่จะไม่รู้จักกวีชาวไทยที่มีชื่อเสียงก้องโลก โดยเฉพาะกลอนนิทานเรื่อง "พระอภัยมณี" จนได้รับยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ด้านงานวรรณกรรม หรือ "มหากวีแห่งรัตนโกสินทร์" หรือ "เชกสเปียร์แห่งประเทศไทย" และคงเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า "วันที่ 26 มิถุนายน" ของทุกปี คือ "วันสุนทรภู่" ซึ่งมักจะมีการจัดนิทรรศการ ประกวดแต่งคำกลอน เพื่อแสดงถึงการรำลึกถึง เพราะฉะนั้น วันนี้กระปุกดอทคอมจึงไม่พลาด ขอพาไปเปิดประวัติ "วันสุนทรภู่" ให้มากขึ้นค่ะ...

ประวัติสุนทรภู่


          สุนทรภู่ กวีสำคัญสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เกิดวันจันทร์ เดือน 8 ขึ้น 1 ค่ำ ปีมะเมีย จุลศักราช 1148 เวลา 2 โมงเช้า หรือตรงกับวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2329 เวลา 08.00 น. นั่นเอง ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ณ บริเวณด้านเหนือของพระราชวังหลัง (บริเวณสถานีรถไฟบางกอกน้อยปัจจุบัน) 

          บิดาของท่านเป็นชาวกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ชื่อพ่อพลับ ส่วนมารดาเป็นชาวเมืองฉะเชิงเทรา ชื่อแม่ช้อย สันนิษฐานว่ามารดาเป็นข้าหลวงอยู่ในพระราชวังหลัง เชื่อว่าหลังจากสุนทรภู่เกิดได้ไม่นาน บิดามารดาก็หย่าร้างกัน บิดาออกไปบวชอยู่ที่วัดป่ากร่ำ ตำบลบ้านกร่ำ อำเภอแกลง อันเป็นภูมิลำเนาเดิม ส่วนมารดาได้เข้าไปอยู่ในพระราชวังหลัง ถวายตัวเป็นนางนมของพระองค์เจ้าหญิงจงกล พระธิดาในเจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ ดังนั้น สุนทรภู่จึงได้อยู่ในพระราชวังหลังกับมารดา และได้ถวายตัวเป็นข้าในกรมพระราชวังหลัง ซึ่งสุนทรภู่ยังมีน้องสาวต่างบิดาอีกสองคน ชื่อฉิมและนิ่ม  

          "สุนทรภู่" ได้รับการศึกษาในพระราชวังหลังและที่วัดชีปะขาว (วัดศรีสุดาราม) ต่อมาได้เข้ารับราชการเป็นเสมียนนายระวางกรมพระคลังสวน ในกรมพระคลังสวน แต่ไม่ชอบทำงานอื่นนอกจากแต่งบทกลอน ซึ่งสามารถแต่งได้ดีตั้งแต่ยังรุ่นหนุ่ม เพราะตั้งแต่เยาว์วัยสุนทรภู่มีนิสัยรักแต่งกลอนยิ่งกว่างานอื่น ครั้งรุ่นหนุ่มก็ไปเป็นครูสอนหนังสืออยู่ที่วัดศรีสุดาราม ในคลองบางกอกน้อย ได้แต่งกลอนสุภาษิตและกลอนนิทานขึ้นไว้ เมื่ออายุราว 20 ปี

          ต่อมาสุนทรภู่ลอบรักกับนางข้าหลวงในวังหลังคนหนึ่ง ชื่อแม่จัน ซึ่งเป็นบุตรหลานผู้มีตระกูล จึงถูกกรมพระราชวังหลังกริ้วจนถึงให้โบยและจำคุกคนทั้งสอง แต่เมื่อกรมพระราชวังหลังเสด็จทิวงคตในปี พ.ศ. 2349 จึงมีการอภัยโทษแก่ผู้ถูกลงโทษทั้งหมดถวายเป็นพระราชกุศล หลังจากสุนทรภู่ออกจากคุก เขากับแม่จันก็เดินทางไปหาบิดาที่อำเภอแกลง จังหวัดระยอง และมีบุตรด้วยกัน 1 คน ชื่อ "พ่อพัด" ได้อยู่ในความอุปการะของเจ้าครอกทองอยู่ ส่วนสุนทรภู่กับแม่จันก็มีเรื่องระหองระแหงกันเสมอ จนภายหลังก็เลิกรากันไป 

          หลังจากนั้น สุนทรภู่ ก็เดินทางเข้าพระราชวังหลัง และมีโอกาสได้ติดตามพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ในฐานะมหาดเล็ก ตามเสด็จไปในงานพิธีมาฆบูชา ที่อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2350 และเขาก็ได้แต่ง "นิราศพระบาท" พรรณนาเหตุการณ์ในการเดินทางคราวนี้ด้วย และหลังจาก "นิราศพระบาท" ก็ไม่ปรากฏผลงานใด ๆ ของสุนทรภู่อีกเลย 

          จนกระทั่งเข้ารับราชการในปี พ.ศ. 2359 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 สุนทรภู่ได้เข้ารับราชการในกรมพระอาลักษณ์ และเป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จนแต่งตั้งให้เป็นกวีที่ปรึกษาและคอยรับใช้ใกล้ชิด เนื่องจากเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงแต่งกลอนบทละครในเรื่อง "รามเกียรติ์" ติดขัดไม่มีผู้ใดต่อกลอนได้ต้องพระราชหฤทัย จึงโปรดให้สุนทรภู่ทดลองแต่ง ปรากฏว่าแต่งได้ดีเป็นที่พอพระราชหฤทัย จึงทรงพระกรุณาฯ เลื่อนให้เป็น "ขุนสุนทรโวหาร"

          ต่อมาในราว พ.ศ. 2364 สุนทรภู่ต้องติดคุกเพราะเมาสุราอาละวาดและทำร้ายท่านผู้ใหญ่ แต่ติดอยู่ไม่นานก็พ้นโทษ เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงติดขัดบทพระราชนิพนธ์เรื่อง "สังข์ทอง" ไม่มีใครแต่งได้ต้องพระราชหฤทัย ทรงให้สุนทรภู่ทดลองแต่งก็เป็นที่พอพระราชหฤทัย ภายหลังพ้นโทษ สุนทรภู่ได้เป็นพระอาจารย์ถวายอักษรสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอาภรณ์ พระราชโอรสในรัชกาลที่ 2 และเชื่อกันว่าสุนทรภู่แต่งเรื่อง "สวัสดิรักษา" ในระหว่างเวลานี้ ซึ่งในระหว่างรับราชการอยู่นี้ สุนทรภู่แต่งงานใหม่กับแม่นิ่ม มีบุตรด้วยกัน 1 คน ชื่อ "พ่อตาบ"

          "สุนทรภู่" รับราชการอยู่เพียง 8 ปี เมื่อถึงปี พ.ศ. 2367 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคต หลังจากนั้นสุนทรภู่ก็ออกบวชที่วัดราชบูรณะ (วัดเลียบ) อยู่เป็นเวลา 18 ปี ระหว่างนั้นได้ย้ายไปอยู่วัดต่าง ๆ หลายแห่ง ได้แก่ วัดเลียบ, วัดแจ้ง, วัดโพธิ์, วัดมหาธาตุ และวัดเทพธิดาราม ซึ่งผลจากการที่ภิกษุภู่เดินทางธุดงค์ไปที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ปรากฏผลงานเป็นนิราศเรื่องต่าง ๆ มากมาย งานเขียนชิ้นสุดท้ายที่ภิกษุภู่แต่งไว้ก่อนลาสิกขา คือ "รำพันพิลาป" โดยแต่งขณะจำพรรษาอยู่ที่วัดเทพธิดาราม พ.ศ. 2385 

          ทั้งนี้ ระหว่างที่ออกเดินทางธุดงค์ ภิกษุภู่ได้รับการอุปการะจากพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ จนพระองค์ประชวรสิ้นพระชนม์ สุนทรภู่จึงลาสิกขา รวมอายุพรรษาที่บวชได้ประมาณ 10 พรรษา สุนทรภู่ออกมาตกระกำลำบากอยู่พักหนึ่งจึงกลับเข้าไปบวชอีกครั้ง แต่อยู่ได้เพียง 2 พรรษาก็ลาสิกขา และถวายตัวอยู่กับเจ้าฟ้าน้อย หรือสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ พระราชวังเดิม รวมทั้งได้รับอุปการะจากกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพอีกด้วย 

          ในสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ครองราชย์ ทรงสถาปนาเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ เป็นพระบาทสมเด็จพระปิ่นกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับอยู่วังหน้า (พระบวรราชวัง) สุนทรภู่จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "พระสุนทรโวหาร" ตำแหน่งเจ้ากรมพระอาลักษณ์ฝ่ายบวรราชวัง ในปี พ.ศ. 2394 และรับราชการต่อมาได้ 4 ปี ก็ถึงแก่มรณกรรมใน พ.ศ. 2398 รวมอายุได้ 70 ปี ในเขตพระราชวังเดิม ใกล้หอนั่งของพระยามนเฑียรบาล (บัว) ที่เรียกชื่อกันว่า "ห้องสุนทรภู่" 

          สำหรับทายาทของสุนทรภู่นั้น เชื่อกันว่าสุนทรภู่มีบุตรชาย 3 คน คือ "พ่อพัด" เกิดจากภรรยาคนแรกคือแม่จัน, "พ่อตาบ" เกิดจากภรรยาคนที่สองคือแม่นิ่ม และ "พ่อนิล" เกิดจากภรรยาที่ชื่อแม่ม่วง นอกจากนี้ ปรากฏชื่อบุตรบุญธรรมอีก 2 คน ชื่อ "พ่อกลั่น" และ "พ่อชุบ" อย่างไรก็ตาม ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ทรงตราพระราชบัญญัตินามสกุลขึ้น และตระกูลของสุนทรภู่ได้ใช้นามสกุลต่อมาว่า "ภู่เรือหงส์"

 


ผลงานของสุนทรภู่


          หนังสือบทกลอนของสุนทรภู่มีอยู่มาก เท่าที่ปรากฏเรื่องที่ยังมีฉบับอยู่ในปัจจุบันนี้คือ...

ประเภทนิราศ

          
          นิราศเมืองแกลง (พ.ศ. 2349) - แต่งเมื่อหลังพ้นโทษจากคุก และเดินทางไปหาพ่อที่เมืองแกลง 

          - นิราศพระบาท (พ.ศ. 2350) - แต่งหลังกลับจากเมืองแกลง และต้องตามเสด็จพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ไปนมัสการรอยพระพุทธบาทที่จังหวัดสระบุรี ในวันมาฆบูชา 

          - นิราศภูเขาทอง (ประมาณ พ.ศ. 2371) - แต่งโดยสมมุติว่า เณรหนูพัด เป็นผู้แต่งไปนมัสการพระเจดีย์ภูเขาทอง ที่จังหวัดอยุธยา 

          - นิราศสุพรรณ (ประมาณ พ.ศ. 2374) - แต่งเมื่อครั้งยังบวชอยู่ และไปค้นหายาอายุวัฒนะที่จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นผลงานเรื่องเดียวของสุนทรภู่ที่แต่งเป็นโคลง 

          - นิราศวัดเจ้าฟ้า (ประมาณ พ.ศ. 2375) - แต่งเมื่อครั้งยังบวชอยู่ และไปค้นหายาอายุวัฒนะตามลายแทงที่วัดเจ้าฟ้าอากาศ (ไม่ปรากฏว่าที่จริงคือวัดใด) ที่จังหวัดอยุธยา 

          - นิราศอิเหนา (ไม่ปรากฏ, คาดว่าเป็นสมัยรัชกาลที่ 3) แต่งเป็นเนื้อเรื่องอิเหนารำพันถึงนางบุษบา 

          - รำพันพิลาป (พ.ศ. 2385) - แต่งเมื่อครั้งจำพรรษาอยู่ที่วัดเทพธิดาราม แล้วเกิดฝันร้ายว่าชะตาขาด จึงบันทึกความฝันพร้อมรำพันความอาภัพของตัวไว้เป็น "รำพันพิลาป" จากนั้นจึงลาสิกขา

          - นิราศพระประธม (พ.ศ. 2385) - เชื่อว่าแต่งเมื่อหลังจากลาสิกขาและเข้ารับราชการในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ไปนมัสการพระประธมเจดีย์ (หรือพระปฐมเจดีย์) ที่เมืองนครชัยศรี 

          - นิราศเมืองเพชร (พ.ศ. 2388) - แต่งเมื่อเข้ารับราชการในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เชื่อว่าไปธุระราชการอย่างใดอย่างหนึ่ง นิราศเรื่องนี้มีฉบับค้นพบเนื้อหาเพิ่มเติม ซึ่ง อ.ล้อม เพ็งแก้ว เชื่อว่าบรรพบุรุษฝ่ายมารดาของสุนทรภู่เป็นชาวเมืองเพชร

ประเภทนิทาน


          เรื่องโคบุตร, เรื่องพระอภัยมณี, เรื่องพระไชยสุริยา, เรื่องลักษณวงศ์, เรื่องสิงหไกรภพ

ประเภทสุภาษิต


          - สวัสดิรักษา คาดว่าประพันธ์ในสมัยรัชกาลที่ 2 ขณะเป็นพระอาจารย์ถวายอักษรแด่เจ้าฟ้าอาภรณ์

          - สุภาษิตสอนหญิง เป็นหนึ่งในผลงานซึ่งยังเป็นที่เคลือบแคลงว่า สุนทรภู่เป็นผู้ประพันธ์จริงหรือไม่

          - เพลงยาวถวายโอวาท คาดว่าประพันธ์ในสมัยรัชกาลที่ 3 ขณะเป็นพระอาจารย์ถวายอักษรแด่เจ้าฟ้ากลางและเจ้าฟ้าปิ๋ว

ประเภทบทละคร


          - เรื่องอภัยณุรา ซึ่งเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 เพื่อถวายพระองค์เจ้าดวงประภา พระธิดาในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

ประเภทบทเสภา


          - เรื่องขุนช้างขุนแผน (ตอนกำเนิดพลายงาม)

          - เรื่องพระราชพงศาวดาร

ประเภทบทเห่กล่อม


          แต่งขึ้นสำหรับใช้ขับกล่อมหม่อมเจ้าในพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ กับพระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เท่าที่พบมี 4 เรื่อง คือ เห่จับระบำ, เห่เรื่องพระอภัยมณี, เห่เรื่องโคบุตร และเห่เรื่องกากี

ตัวอย่างวรรคทองที่มีชื่อเสียงของสุนทรภู่


          ด้วยความที่สุนทรภู่เป็นศิลปินเอกที่มีผลงานทางวรรณกรรม วรรณคดีมากมาย ทำให้ผลงานหลาย ๆ เรื่องของสุนทรภู่ ถูกนำไปเป็นบทเรียนให้เด็กไทยได้ศึกษา จึงทำให้มีหลาย ๆ บทประพันธ์ที่คุ้นหู หรือ "วรรคทอง" ยกตัวอย่างเช่น

บางตอนจาก นิราศอิเหนา


จะหักอื่นขืนหักก็จักได้
หักอาลัยนี้ไม่หลุดสุดจะหัก
สารพัดตัดขาดประหลาดนัก
แต่ตัดรักนี้ไม่ขาดประหลาดใจ

บางตอนจาก พระอภัยมณี


บัดเดี๋ยวดังหงั่งเหง่งวังเวงแว่ว
สะดุ้งแล้วเหลียวแลชะแง้หา
เห็นโยคีขี่รุ้งพุ่งออกมา
ประคองพาขึ้นไปจนบนบรรพต

แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์
มันแสนสุดลึกล้ำเหลือกำหนด
ถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด 
ก็ไม่คดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน

(พระฤาษีสอนสุดสาคร)


***********************

แม้นใครรักรักมั่งชังชังตอบ
ให้รอบคอบคิดอ่านนะหลานหนา
รู้สิ่งไรไม่สู้รู้วิชา
รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี

(พระฤาษีสอนสุดสาคร)


***********************


อันนินทากาเลเหมือนเทน้ำ
ไม่ชอกช้ำเหมือนเอามีดมากรีดหิน
แค่องค์พระปฏิมายังราคิน
คนเดินดินหรือจะสิ้นคนนินทา


***********************


เขาย่อมเปรียบเทียบความว่ายามรัก     
แต่น้ำผักต้มขมชมว่าหวาน
ครั้นรักจางห่างเหินไปเนิ่นนาน
แต่น้ำตาลว่าเปรี้ยวไม่เหลียวแล


***********************


ถึงม้วยดินสิ้นฟ้ามหาสมุทร
ไม่สิ้นสุดความรักสมัครสมาน
แม้เกิดในใต้ฟ้าสุธาธาร
ขอพบพานพิศวาสไม่คลาดคลา

แม้เนื้อเย็นเป็นห้วงมหรรณพ
พี่ขอพบศรีสวัสดิ์เป็นมัจฉา
แม้เป็นบัวตัวพี่เป็นภุมรา
เชยผกาโกสุมประทุมทอง

แม้เป็นถ้ำอำไพใคร่เป็นหงส์
จะร่อนลงสิงสู่เป็นคู่สอง
ขอติดตามทรามสงวนนวลละออง
เป็นคู่ครองพิศวาสทุกชาติไป

(ตอน พระอภัยมณีเกี้ยวนางละเวง ได้ถูกนำไปดัดแปลงเล็กน้อยกลายเป็นเพลง "คำมั่นสัญญา")

บางตอนจาก เพลงยาวถวายโอวาท


อันความคิดวิทยาเหมือนอาวุธ 
ประเสริฐสุดซ่อนใส่เสียในฝัก 
สงวนคมสมนึกใครฮึกฮัก 
จึงค่อยชักเชือดฟันให้บรรลัย


***********************


อันอ้อยตาลหวานลิ้นแล้วสิ้นซาก
แต่ลมปากหวานหูไม่รู้หาย
แม้นเจ็บอื่นหมื่นแสนจะแคลนคลาย
เจ็บจนตายเพราะเหน็บให้เจ็บใจ

บางตอนจาก สุภาษิตสอนหญิง


มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท
อย่าให้ขาดสิ่งของต้องประสงค์
จงมักน้อยกินน้อยค่อยบรรจง
อย่าจ่ายลงให้มากจะยากนาน


***********************

จะพูดจาปราศรัยกับใครนั้น
อย่าตะคั้นตะคอกให้เคืองหู
ไม่ควรพูดอื้ออึ้งขึ้นมึงกู
คนจะหลู่ล่วงลามไม่ขามใจ


***********************

เป็นมนุษย์สุดนิยมเพียงลมปาก
จะได้ยากโหยหิวเพราะชิวหา
แม้นพูดดีมีคนเขาเมตตา
จะพูดจาพิเคราะห์ให้เหมาะความ


***********************

รู้วิชาก็ให้รู้เป็นครูเขา
จึงจะเบาแรงตนช่วยขวนขวาย
มีข้าไทใช้สอยค่อยสบาย
ตัวเป็นนายโง่เง่าบ่าวไม่เกรง

บางตอนจาก ขุนช้างขุนแผน ตอนกำเนิดพลายงาม


แม่รักลูก ลูกก็รู้ อยู่ว่ารัก
ใครอื่นสัก หมื่นแสน ไม่แม้นเหมือน
จะกินนอนวอนว่า เมตตาเตือน
จะจากเรือน ร้างแม่ ก็แต่กาย


***********************


ลูกผู้ชายลายมือนั้นคือยศ
เจ้าจงอุตส่าห์ทำสม่ำเสมียน 

(ขุนแผนสอนพลายงาม)

บางตอนจาก นิราศภูเขาทอง


ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์
มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต
แม้พูดชั่วตัวตายทำลายมิตร
จะชอบผิดในมนุษย์เพราะพูดจาฯ


***********************

ถึงโรงเหล้าเตากลั่นควันโขมง
มีคันโพงผูกสายไว้ปลายเสา
โอ้บาปกรรมน้ำนรกเจียวอกเรา
ให้มัวเมาเหมือนหนึ่งบ้าเป็นน่าอาย

ทำบุญบวชกรวดน้ำขอสำเร็จ
สรรเพชญโพธิญาณประมาณหมาย
ถึงสุราพารอดไม่วอดวาย
ไม่ใกล้กรายแกล้งเมินก็เกินไป

ไม่เมาเหล้าแล้วแต่เรายังเมารัก
สุดจะหักห้ามจิตคิดไฉน
ถึงเมาเหล้าเช้าสายก็หายไป
แต่เมาใจนี้ประจำทุกค่ำคืนฯ

บางตอนจาก นิราศพระบาท


เจ้าของตาลรักหวานขึ้นปีนต้น
เพราะดั้นด้นอยากลิ้มชิมรสหวาน
ครั้นได้รสสดสาวจากจาวตาล
ย่อมซาบซ่านหวานซึ้งตรึงถึงทรวง

ไหนจะยอมให้เจ้าหล่นลงเจ็บอก
เพราะอยากวกขึ้นลิ้นชิมของหวง
อันรสตาลหวานละม้ายคล้ายพุ่มพวง
พี่เจ็บทรวงช้ำอกเหมือนตกตาล... 

ที่มาของวันสุนทรภู่


          องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ซึ่งเป็นผู้ที่มีหน้าที่ส่งเสริมและเผยแพร่ผลงานด้านวัฒนธรรมของประเทศสมาชิกต่าง ๆ ทั่วโลก ด้วยการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมระดับโลก ในวาระครบรอบ 100 ปีขึ้นไป เป็นประจำทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์คือ เพื่อเผยแพร่เกียรติคุณและผลงานของผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมระดับโลกให้ปรากฏแก่มวลสมาชิกทั่วโลก และเพื่อเชิญชวนให้ประเทศสมาชิกมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองร่วมกับประเทศที่มีผู้ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ 

          ในการนี้ รัฐบาลไทยโดยคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ กระทรวงศึกษาธิการ จะเป็นผู้สืบค้นบรรพบุรุษไทยผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม เพื่อให้ยูเนสโกประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติ และได้ประกาศยกย่อง "สุนทรภู่" ให้เป็นบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมระดับโลก โดยในวาระครบรอบ 200 ปีเกิด เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2529

          ต่อมาในปี พ.ศ. 2530 นายเสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้ดำเนินการจัดตั้งสถาบันสุนทรภู่ขึ้น เพื่อสนับสนุนการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับชีวิตและงานของสุนทรภู่ ให้แพร่หลายในหมู่เยาวชนและประชาชนชาวไทยมากยิ่งขึ้น ดังนั้น ทางรัฐบาลจึงได้กำหนดให้ วันที่ 26 มิถุนายน ของทุกปี เป็น "วันสุนทรภู่" ซึ่งนับแต่นั้น เมื่อถึงวันสุนทรภู่ จะมีการจัดงานรำลึกถึงสุนทรภู่ตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น ที่พิพิธภัณฑ์สุนทรภู่ "วัดเทพธิดาราม" และที่จังหวัดระยอง มีการจัดกิจกรรมเชิดชูเกียรติคุณและส่งเสริมศิลปะการประพันธ์บทกวีจากองค์กรต่าง ๆ โดยทั่วไป
 

          ทั้งนี้ ผลงานของสุนทรภู่ยังเป็นที่นิยมในสังคมไทยอย่างต่อเนื่องตลอดมาไม่ขาดสาย และมีการนำไปดัดแปลงเป็นสื่อต่าง ๆ เช่น หนังสือการ์ตูน ภาพยนตร์ เพลง รวมถึงละคร มีการก่อสร้างอนุสาวรีย์สุนทรภู่ ไว้ที่ตำบลบ้านกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นบ้านเกิดของบิดาของสุนทรภู่ และเป็นกำเนิดผลงานนิราศเรื่องแรกของท่านคือ นิราศเมืองแกลง

กิจกรรมที่ควรปฏิบัติ ในวันสุนทรภู่


          1. มีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับประวัติชีวิตและผลงาน
          2. มีการแสดงผลงานประเภทนิทานของสุนทรภู่
          3. มีการประกวด แข่งขัน ประชันสักวา ตอบคำถามเกี่ยวกับประวัติชีวิต และผลงานของสุนทรภู่


เช็ก ปฏิทิน 2567 ทั้ง วันหยุดราชการ วันหยุดธนาคาร วันพระ และวันสำคัญต่าง ๆ

อ่านบทความวันสำคัญอื่น ๆ

- เกร็ดความรู้ รับวันสุนทรภู่ แท้ที่จริงคือคนกรุงเทพฯ ไม่ใช่คนระยอง พร้อมเผยทำไมคนเข้าใจผิด

- เรียงความสุนทรภู่ ตัวอย่างเรียงความเรื่องสุนทรภู่

- วันภาษาไทยแห่งชาติ 2566 ตรงกับวันเสาร์ที่ 29 กรกฎาคม

- พระอภัยมณี ประวัติพระอภัยมณี ผลงานสุนทรภู่

- นิราศภูเขาทอง ผลงานสุนทรภู่


ขอบคุณข้อมูลจาก : finearts.go.th, momchaowochoro.blogspot, m-culture.go.th


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วันสุนทรภู่ 26 มิถุนายน 2567 ประวัติกวีเอกของไทย อัปเดตล่าสุด 14 มิถุนายน 2567 เวลา 14:58:24 5,226,506 อ่าน
TOP
x close