กรมอุตุฯ คาดฤดูหนาวปีนี้มาช้ากว่าปกติ เริ่มปลาย ต.ค. - หนาวกว่าปีที่แล้ว !

          กรมอุตุนิยมวิทยา คาดหมายลักษณะอากาศช่วงฤดูหนาวของประเทศไทย พ.ศ. 2567 เริ่มปลายเดือนตุลาคม มาช้ากว่าปกติเล็กน้อย และจะหนาวกว่าปีที่แล้ว

กรมอุตุ คาดฤดูหนาวปีนี้มาช้ากว่าปกติ
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล

          วันที่ 2 ตุลาคม 2567 มีรายงานว่า ศูนย์ภูมิอากาศ กองพัฒนาอุตุนิยมวิทยา กรมอุตุนิยมวิทยา เผยแพร่ข้อมูล การคาดหมายลักษณะอากาศช่วงฤดูหนาวของประเทศไทย พ.ศ. 2567 โดยมีรายละเอียดดังนี้

 
          การคาดหมายลักษณะอากาศช่วงฤดูหนาวของประเทศไทย : ประมาณปลายสัปดาห์ที่สามของเดือนตุลาคม 2567 ถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2568

กรมอุตุ คาดฤดูหนาวปีนี้มาช้ากว่าปกติ
ภาพจาก กรมอุตุนิยมวิทยา


ฤดูหนาวของประเทศไทยปีนี้ คาดว่า :



          - บริเวณประเทศไทยตอนบน จะเริ่มประมาณปลายสัปดาห์ที่สามของเดือนตุลาคม 2567 ซึ่งจะช้ากว่าค่าเฉลี่ยปกติเล็กน้อย และจะสิ้นสุดประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2568

          - อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยบริเวณประเทศไทยตอนบนประมาณ 20-21 ํซ. ซึ่งจะสูงกว่าค่าปกติประมาณ 1 ํซ. (ค่าปกติ 19.9 ํซ.) และจะมีอากาศหนาวเย็นมากกว่าปีที่ผ่านมา (อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยปีที่ผ่านมา 21.6 ํซ.) สำหรับอุณหภูมิต่ำที่สุดประมาณ 6-8 ํซ. ส่วนมากจะอยู่ตอนบนของทั้งภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนอุณหภูมิต่ำที่สุดบริเวณกรุงเทพมหานคร 16-18 ํซ. และปริมณฑล 14-16 ํซ.

          - ช่วงเวลาที่มีอากาศหนาวเย็นที่สุด ประมาณต้นเดือนธันวาคม 2567 ถึงเดือนมกราคม 2568

          - สำหรับยอดดอยและยอดภู รวมทั้งเทือกเขาจะมียากาศหนาวถึงหนาวจัด และมีน้ำค้างแข็งเกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง

          - ส่วนภาคใต้ จะมีอากาศเย็นบางแห่งในบางช่วงส่วนมากตอนบนของภาค แต่ยังคงมีฝนตกชุกหนาแน่นต่อไป โดยเฉพาะทางฝั่งตะวันออกในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม กับมีฝนตกหนักหลายพื้นที่และหนักมากในบางแห่ง ซึ่งจะทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากรวมทั้งน้ำล้นตลิ่งได้ในหลายพื้นที่ สำหรับคลื่นลมในทะเลอ่าวไทยจะมีกำลังแรงเป็นระยะ ๆ ในบางช่วงมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ส่วนทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 1-2 เมตร

          - เดือนพฤศจิกายนและธันวาคม จะมีหย่อมความกดอากาศต่ำ และมีโอกาสสูงที่จะพัฒนาตัวเป็นพายุหมุนเขตร้อน แล้วเคลื่อนตัวเข้ามาใกล้หรือเคลื่อนผ่านอ่าวไทยและภาคได้ ซึ่งจะทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนตกชุกหนาแน่น รวมทั้งคลื่นลมจะมีกำลังแรง และอาจมีคลื่นพายุซัดฝั่ง ความสูงของคลื่นประมาณ 4-5 เมตร

ข้อควรระวัง :


          1. เดือนตุลาคม บริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคใต้ตอนบนจะยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง ประกอบกับจะมีน้ำเหนือไหลบ่าลงมา และในบางช่วงจะมีน้ำทะเลหนุนสูง น้ำล้นตลิ่งได้ในบางพื้นที่ ซึ่งส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำล้นตลิ่งได้ในบางพื้นที่

          2. เดือนธันวาคมและมกราคม บริเวณยอดดอยและยอดภูมักจะเกิดน้ำค้างแข็งขึ้นได้ กับจะมีหมอกหนเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงควรระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุจากการใช้ยวดยานพาหนะไว้ด้วย

          3. เดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ อาจมีคลื่นกระแสลมตะวันตก เคลื่อนตัวจากประเทศเมียนมาผ่านประเทศไทยตอนบน ซึ่งจะทำให้ช่วงดังกล่าวเกิดฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และอาจมีลูกเห็บตกได้ในบางพื้นที่

          4. เดือนพฤศจิกายนและธันวาคม มักมีหย่อมความกดอากาศต่ำ และมีโอกาสสูงที่จะพัฒนาตัวเป็นพายุหมุนเขตร้อน แล้วเคลื่อนตัวเข้ามาใกล้หรือเคลื่อนผ่านอ่าวไทยและภาคใต้ ซึ่งจะทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนตกชุกหนาแน่น รวมทั้งคลื่นลมจะมีกำลังแรง และอาจมีคลื่นพายุซัดฝั่ง ความสูงของคลื่นประมาณ 4-5 เมตร

          หมายเหตุ : การคาดหมายนี้เป็นการคาดหมายระยะนานโดยใช้วิธีทางสถิติ และวิเคราะห์จากแบบจำลองภูมิอากาศ โดยการคาดหมายนี้จะมีการปรับปรุงในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนตุลาคม 2567

          สำหรับรายละเอียดประกาศฉบับเต็ม สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ ศูนย์ภูมิอากาศ กองพัฒนาอุตุนิยมวิทยา กรมอุตุนิยมวิทยา



กรมอุตุ คาดฤดูหนาวปีนี้มาช้ากว่าปกติ
ภาพจาก กรมอุตุนิยมวิทยา

กรมอุตุ คาดฤดูหนาวปีนี้มาช้ากว่าปกติ
ภาพจาก กรมอุตุนิยมวิทยา

กรมอุตุ คาดฤดูหนาวปีนี้มาช้ากว่าปกติ
ภาพจาก กรมอุตุนิยมวิทยา

ขอบคุณข้อมูลจาก กรมอุตุนิยมวิทยา

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กรมอุตุฯ คาดฤดูหนาวปีนี้มาช้ากว่าปกติ เริ่มปลาย ต.ค. - หนาวกว่าปีที่แล้ว ! โพสต์เมื่อ 2 ตุลาคม 2567 เวลา 18:27:50 12,177 อ่าน
TOP
x close