เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก Pantip.com
หลายคนที่ได้ดูรายการจับเข่าคุย ทางช่อง 3 ของคุณสรยุทธ สุทัศนจินดา เมื่อวันจันทร์ ที่ 19 และ 26 พฤษภาคม ที่ผ่านมา คงจะน้ำตาไหลและรู้ซึ้งถึงความหมายคำว่า "พ่อ" มากขึ้น
ทั้งนี้เพราะคุณวอลเตอร์ ลี และ คุณนก แขกรับเชิญรายการได้นำเรื่องราวชีวิตที่พวกเขาต่อสู้เพื่อน้องไซ ลูกคนที่ 3 ที่มีปัญหาตั้งแต่กำเนิด มาถ่ายทอดความรู้สึกผ่านรายการ
คุณวอลเตอร์ ลี พ่อผู้ไม่เคยรู้เลยว่าลูกชายที่กำลังเกิดมานั้นจะพิการ เพราะช่วงที่คุณนก ภรรยาตั้งครรภ์นั้นได้ไป ultra sound ดูแล้ว และเขาก็มีร่างกายปกติดี แต่แล้ว ณ วันที่น้องคลอดออกมามันทำให้เขาต้องอึ้งไม่คาดคิดว่าลูกชายจะมีแขนแค่ข้างเดียว ส่วนขาก็ไม่มี
คุณนกเองก็โทษตนเองว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้น้องเกิดมาแบบนี้ ทำไมตัวเองไม่รู้ว่าน้องมีปัญหาในขณะที่อยู่ในครรภ์
อย่างไรก็ตาม ณ เวลานั้น สิ่งเดียวที่คุณวอลเตอร์ ลี ทำให้ดีที่สุดคือคอยให้กำลังใจภรรยา และจับมือภรรยาเดินต่อสู้เพื่อน้องไซ ลูกชายตัวน้อยของพวกเขาต่อไป
คุณวอลเตอร์ ลี พยายามทำทุกสิ่งทุกอย่างที่พ่อคนหนึ่งจะทำให้ลูกตัวเองกลับมาเดินได้ โดยเขายืนยันว่าน้องจะต้องได้รับโอกาสไม่ต่างจากเด็กธรรมดา "อย่างน้อย ... น้องจะต้องลุกยืนเองได้" ... ด้านคุณนก ก็บอกกับตัวเองว่า เราโชคดีแล้ว ... ที่น้องยังมีสมองที่โอเค เราโชคดีแล้ว ... ที่พ่อน้องยังเป็นแบบนี้ เราโชคดีแล้ว
"และถึงวันนี้ยังบอกตัวเองเสมอว่า ยังต้องเดินต่อไปอีกไกล เราหยุดไม่ได้แล้ว"
ตลอดปีที่ผ่านมาคุณวอลเตอร์ ลี ได้เสาะหาผู้ช่วยเหลือจากกลุ่มและองค์กรต่างๆ ทั่วโลก ทั้งปรึกษาหารือกันผ่านอินเตอร์เน็ตจากทวีปหนึ่งสู่อีกทวีปหนึ่ง คุยกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษากระดูกและกล้ามเนื้อของเด็กถึงกรณีของน้องไซ และโอกาสที่เขาจะยืนได้ เดินได้ ครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ก็ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือเขาถูกบอกให้เพียงอดทน รอ และเฝ้าดู แม้หลายคนจะบอกกับเขาว่า "ไม่เป็นไรหรอก เพราะอย่างน้อยที่สุด สมองของน้องไซก็เป็นปกติดี" แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการ
"ลูกยืนได้และเดินได้" คือสิ่งที่เขาปรารถนามากที่สุดต่างหาก
และแล้ววันหนึ่งฝันของคุณ วอลเตอร์ ลี ก็เป็นจริง เมื่อมีคู่สามีภรรยาผู้มีใจเมตตา ได้แนะนำ ศาสตราจารย์คาร์ลสเทน (Carsten) แห่งมหาวิทยาลัยไฮเดลเบิร์ก ประเทศเยอรมนี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษากระดูกและกล้ามเนื้อเด็กให้รู้จัก เขาจึงเดินทางไปประเทศเยอรมนีทันทีเพื่อปรึกษาปัญหาของน้องไซ ทั้งนี้ศาสตราจารย์คาร์ลสเทน และทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า ด้วยวิธีการรักษาของเขา เขามั่นใจถึง 80% ว่าน้องไซจะต้องยืนและเดินได้แน่นอน
หลังจากนั้นคุณวอลเตอร์ ลีก็ปรึกษากับภรรยา เพราะนี่เป็นการตัดสินใจครั้งใหญ่ของครอบครัวเรา และยังต้องคำนึงถึงการใช้เงินก้อนโตอีกด้วย ในการรักษานี้คุณนกต้องเดินทางไปอยู่กับน้องไซที่เยอรมนีตลอดการรักษา แต่ปัญหาของครอบครัวขณะนั้นคือ ... ในช่วงเวลาที่คุณนกต้องจากบ้านไป ใครจะเป็นคนดูแลน้องวี และน้องมิกลูกๆ อีก 2 คนที่เมืองไทย แต่ในที่สุดพวกเขาก็ตัดสินใจว่าจะเดินหน้าต่อ จะรักษาต่อไปน้องไซไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม
วันนี้น้องไซ ก็ได้รับการทำกายภาพบำบัด และรักษาจากผู้เชี่ยวชาญแล้ว คุณวอลเตอร์ ลี และคุณนกหวังว่าในอนาคตอันใกล้นี้ลูกชายของพวกเขาจะสามารถยืนได้และเดินได้
ทีมงานกระปุกดอทคอม ขอเป็นกำลังให้ คุณวอลเตอร์ ลี และครอบครัวมีกำลังใจต่อสู้ต่อไป และขอให้น้องไซ ยืนและเดินได้เร็วๆ ค่ะ
หากใครที่กำลังมีปัญหา หรือท้อแท้ในชีวิตก็อยากให้อ่านเรื่องราวของคุณวอลเตอร์ ลี เป็นข้อคิด เพื่อที่จะมีกำลังใจต่อไป
โลกไม่เคยที่จะหยุดหมุน เพื่อรอให้เราเสียใจกับเรื่องราวต่างๆ เลย เมื่อไหร่ที่เรากำลังทุกข์ใจ หรือเสียใจนั้น โลกไม่ได้หยุดนิ่งด้วย แต่มันยังหมุนไปเรื่อยๆ เหตุการณ์ต่างๆ ก็ยังคงดำเนินไป อยากให้ทุกคนมีหวัง มีกำลังใจ แม้โอกาสที่หวังไว้จะมีโอกาสน้อยนิดที่จะเป็นจริง แต่หากเราไม่หยุดนิ่ง หมุนไปตามเรื่อยๆ หาทางสู้ ไม่ท้อถอยเราก็จะทำสิ่งนั้นได้สำเร็จ สู้ๆ ค่ะ ^-^
อย่างไรก็ตาม สำหรับเจตนาของคุณวอลเตอร์ ลี ที่มากออกรายการในครั้งนี้ เพื่อเป็นกรณีศึกษาสำหรับผู้เกี่ยวข้อง หรือผู้ที่กำลังประสบปัญหาอยู่จะได้มีแนวทางต่อไป และก่อนที่คุณวอลเตอร์ ลี จะมาออกรายการถ่ายทอดเรื่องราวดังกล่าวนี้ เขาได้เขียนเมล์ฉบับหนึ่งขึ้นมา และส่งเป็น Forward mail ถ่ายทอดให้กับเพื่อนๆ และคนรู้จัก ทั้งนี้เพื่ออยากให้กรณีของเขา และครอบครัว เป็นกรณีศึกษาสำหรับคนอื่นๆ และให้คนที่กำลังมีปัญหา หรือท้อแท้ได้อ่านเพื่อเป็นกำลังใจให้กับตัวเองต่อไป
โดย ในใจความ Forward mail ระบุดังนี้
สวัสดีครับ
.
นี่ไม่ใช่อีเมล์ขยะ แต่กรุณาอ่านดูก่อนแล้วส่งต่อไปยังทุกๆ คนที่คุณรู้จัก
หากคุณเป็นพ่อเป็นแม่ และ/หรือ เป็นผู้นำ หัวหน้า และ/หรือ เป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย (ผมเองเป็นทั้งหมดดังที่กล่าวมาครับ) ข้อมูลนี้น่าจะเป็นสิ่งที่น่าสนใจสำหรับคุณ
ตัวผมชื่อ วอลเตอร์ ลี (Walter Lee) ผมอยู่เมืองไทยมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1989 เป็น CEO ของบริษัทเวนเจอร์เท็ค มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ภรรยาของผมชื่อคุณนก เรามีลูกแสนน่ารักด้วยกัน 3 คน คือ น้องวี น้องมิก และน้องไซ
ครอบครัวของเราอยู่กรุงเทพฯ
น้องไซ ลูกคนสุดท้องตอนนี้อายุ 15 เดือนแล้ว (ผมมักจะเรียกเขาว่า ศาสตราจารย์ตัวน้อยของผม) เขาเป็นเด็กที่ร่าเริงมาก ตอนที่เขาเกิดมานั้น เขามาพร้อมกับแขนข้างซ้ายที่สมบูรณ์ 1 ข้าง แขนขวาครึ่งแขน ไม่มีขาขวา แต่มีขาซ้ายที่ผิดรูปกับเท้าซ้ายที่มีนิ้วเท้าเพียง 3 นิ้ว ซึ่งไม่ได้อยู่ในตำแหน่งที่ตรงกับข้อต่อ นอกจากนั้นแล้ว เขาก็น่ารักเหมือนเด็กทารกทั่วไป
เขาทำให้ครอบครัวเรารวมทั้งทางโรงพยาบาล (ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในโรงพยาบาลชั้นนำในเรื่องนี้ของโลกเลยทีเดียว) ต้องประหลาดใจอย่างมาก ในวันที่เขาเกิดมาในเช้าของวันที่ 30 กันยายน 2006 (ครับ เราตรวจอันตราซาวนด์แล้ว ตอนที่อายุครรภ์ของนกเข้าสัปดาห์ที่ 18 และตอนนั้นก็ไม่พบสิ่งผิดปกติ)
3 เดือนแรกหลังจากที่น้องไซเกิดมา เป็นช่วงที่ดึงครอบครัวเราเข้ามารวมตัวกัน น้องวีอายุ 3 ขวบ น้องมิจอายุขวบเดียว และแม่นก ซึ่งยังไม่อยากจะเชื่อว่าตัวเองอุ้มท้องน้องไซถึง 9 เดือน อยู่ภายใต้ความดูแลและคำแนะนำของคุณหมออย่างใกล้ชิด จะไม่รู้เลยถึงความผิดปกตินี้ ภรรยาผมร้องไห้เกือบตลอดเวลาที่ดูแลลูกๆ ทั้ง 3 คน
ทั้งหมดที่ผมต้องการคือ ให้ครอบครัวของผมมีความสุข
ผมจะไม่เสียเวลามาช็อคและโศกเศร้าอีกต่อไป
ผมรู้ดีว่านี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น ผมจะต้องปลุกจิตวิญญาณของตัวเอง เพื่อเริ่มเดินสู่เส้นทางแห่งการค้นพบ เข้าไปสู่มิติที่ผมไม่เคยมองเห็นมาก่อนในชีวิตนี้ ซึ่งน้องไซเป็นคนนำมาสู่ผู้ชายแก่ๆ คนนี้
ก่อนอื่น ผมมีสิ่งที่จะต้องทำให้สำเร็จอยู่ 3 ประการ คือ
1. ผมต้องฟื้นฟูจิตใจของนกกลับมา เพราะโอกาสแห่งความสำเร็จจะริบหรี่ลง หากปราศจากเธอ
2. ผมต้องแน่ใจว่าน้องไซลูกน้อยของผมจะเป็นเด็กร่าเริงและมีความสุข ความสดใสร่าเริงจะนำมาซึ่งการมองโลกในแง่ดี ถ้าปราศจากการมองโลกในแง่ดีแล้ว การบำบัดรักษาใดๆ สำหรับน้องไซก็คงมีโอกาสสำเร็จน้อยลง
3. ผมต้องแน่ใจว่า น้องไซไม่รู้สึกสูญเสียสิ่งใดก็ตามที่เขามีสิทธิ์ที่ได้รับ ได้ประสบถ้าเขาเกิดมาพร้อมแขนขาครบสมบูรณ์
นกเลิกร้องไห้หลังจากที่เคยร้องไห้ทุกวันในช่วง 3 เดือนแรก นกเข้มแข็งขึ้นมาก และเธอก็รู้ดีว่าหนทางเดียวที่จะช่วยบำบัดรักษาน้องไซ ก็คือต้องเยียวยารักษาพวกเราก่อน เราปรึกษาพูดคุยกันมาก แล้วเราก็เพียรพาน้องไซออกเที่ยวนอกบ้านบ่อยๆ ไม่ใช่เพราะเราอยากไปเที่ยวชมเมือง แต่เราต้องการเคยชินกับปฏิกิริยาของคนภายนอกเมื่อมองมายังครอบครัวของเรา ไม่ว่าจะ สงสัย ประหลาดใจ เห็นใจ หรือรู้สึกปนๆ กัน
การได้ออกไปด้วยกันบ่อยๆ และพูดคุยกันอยู่เสมอๆ ถึงเรื่องนี้ เป็นวิธีรักษาที่ดีมาก และเราก็มีความสุขที่จะพูดว่าพวกเราเข้มแข็งขึ้น และค่อยๆ ก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน ผมคิดว่าผมบรรลุความประสงค์ข้อแรกแล้ว
น้องไซเป็นเด็กที่สนุกสนานและมีเรื่องให้เราประหลาดใจอยู่เสมอ เขาเรียนรู้ที่จะหยิบคว้าสิ่งต่างๆ เขาคลานไปทุกที่ที่เขาต้องการ เขากลิ้งม้วนตัวเหมือนลูกบอล ว่ายน้ำโดยปราศจากความกลัว ทานอาหารได้สารพัด หัดพูดด้วยเสียงน่ารักตามประสาทารก เล่นกอดรัดฟัดเหวี่ยงกับพี่ชายของเขา คลานขึ้นบันไดด้วยตัวของเขาเอง นี่ก็เป็นสิ่งที่ทำให้ผมคิดว่าผมบรรลุความปรารถนาข้อที่ 2 แล้วเช่นกัน
ตลอดปีที่ผ่านมาเราเดินทางไปยังโรงพยาบาลมากมายหลายแห่งทั่วโลก เสาะหาผู้ช่วยเหลือจากกลุ่มและองค์กรต่างๆ ปรึกษาหารือกันผ่านอินเตอร์เน็ตจากทวีปหนึ่งสู่อีกทวีปหนึ่ง คุยกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษากระดูกและกล้ามเนื้อของเด็กถึงกรณีของน้องไซ และโอกาสที่เขาจะยืนได้ เดินได้ ครั้งแล้วครั้งเล่าผมถูกบอกให้เพียงอดทน รอ และเฝ้าดู เขาจะไม่เป็นไรหรอก เพราะอย่างน้อยที่สุด สมองของน้องไซก็เป็นปกติดี นั่นไม่เพียงพอสำหรับผมหรอก!!
ผมก็รู้อยู่ว่าน้องไซสามารถไปไหนมาไหนด้วยรถเข็น แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่ผมต้องการ ผมต้องการให้เขามีทางเลือกที่จะยืนและเดินได้ เมื่อเขาต้องการ ความปรารถนานี้ของผมจึงนำผมไปสู่การตามหาหนทางที่จะค้นพบวิธีสำหรับน้องไซ
ในประเทศไทยมีผู้พิการมากกว่า 2 ล้านคน ส่วนมากไม่สามารถแม้แต่จะเป็นส่วนหนึ่งในกระแสหลักของสังคม แน่นอนว่าพวกเขาไม่ได้เลือกที่จะเป็นเช่นนั้น ผมว่านะ ผู้พิการส่วนมากจะหลบเลี่ยงการเข้าสังคม นั่นเป็นเพราะสังคมหลบเลี่ยงพวกเขา ถือเป็นความโชคร้าย บางครั้งก็ด้วยความไม่รู้
มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษากระดูกและกล้ามเนื้อเด็กอยู่ท่านหนึ่ง คือ ศาสตราจารย์คาร์ลสเทน (Carsten) แห่งมหาวิทยาลัยไฮเดลเบิร์ก ผมรู้จักท่านโดยการแนะนำของคู่สามีภรรยาผู้มีใจเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ ผมจึงเดินทางไปประเทศเยอรมนีเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ศาสตราจารย์คาร์ลสเทน และทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญบอกกับผมว่า ด้วยวิธีการรักษาของเขา เขามั่นใจถึง 80 % ว่าน้องไซจะต้องยืนและเดินได้แน่ พวกเขาพาผมดูการทำงานของเขา พร้อมกับวินิจฉัยอาการของน้องไซ ว่าเขาควรจะทำอะไร เมื่อไหร่ และอย่างไรในการรักษาน้องไซ สำหรับอนาคตอันใกล้ (ได้แก่ 7 ทรีตเม้นท์ใน 5 ปี เพื่อผลที่แม่นยำของทรีตเม้นท์แต่ละครั้ง น้องไซจะต้องอยู่ที่นั่นเป็นเวลา 4 6 สัปดาห์) ผมฟังแล้วรู้สึกตื้นตันใจมากและกลับมามีความหวังใหม่อีกครั้ง นี่แหละ คือสิ่งที่ผมเสาะหามาตลอด 12 เดือนที่ผ่านมา
ผมบอกคุณหมอว่าผมต้องกลับเมืองไทยเพื่อไปปรึกษากับภรรยาก่อน เพราะนี่เป็นการตัดสินใจครั้งใหญ่ของครอบครัวเรา และยังต้องคำนึงถึงการใช้เงินก้อนโตอีกด้วย ในการรักษานี้นกต้องเดินทางไปอยู่กับน้องไซที่เยอรมนีตลอดการรักษาของเขา แล้วในช่วงเวลาที่เธอต้องจากบ้านไปล่ะ ใครจะเป็นคนดูแลลูกๆ อีก 2 คนน้องวี และน้องมิกที่เมืองไทย และในที่สุดเราก็ตัดสินใจว่าจะเดินหน้าต่อ จะรักษาน้องไซไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม
ผมนึกถึงผู้พิการนับล้านคนในประเทศไทย
นี่จะเป็นสิ่งที่พัฒนาความเป็นอยู่ของคนในชาติให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และยกระดับคุณค่าของคนขึ้นอย่างเห็นได้ชัด นี่จะเป็นการนำความรู้ทางการแพทย์ซึ่งเยอรมนีได้ก้าวล้ำเราไปหลายปีมายังที่นี่ ที่ประเทศไทย
หากผมสามารถจ่ายค่ารักษาให้แก่วิธีการนี้เพื่อรักษาเด็ก 1 คน แล้วทำไมขั้นตอนการรักษา ตลอดจนรายละเอียดข้อมูลที่มีคุณค่าจะไม่ถูกเผยแพร่ต่อไปล่ะ เพื่อประโยชน์แก่ผู้พิการนับแสนในประเทศไทย ที่สามารถใช้วิธีการนี้ได้ ส่วนผู้ที่ไม่มีค่าใช้จ่ายมากพอที่จะใช้วัตถุดิบสุดยอดอย่างที่ใช้ในเยอรมนีได้ ก็อาจจะใช้ไม้หรือไม้ไผ่ที่เรามีอยู่แล้วที่นี่ สิ่งสำคัญก็คือ ความเข้าใจและการได้เรียนรู้วิธีรักษานี้
(กรณีของน้องไซซึ่งถือเป็น 1 ในล้าน เพราะการเจริญเติบโตของแขนขาของเขาเป็นแบบเดาสุ่มและข้อต่อก็ไม่เข้าที่อีกด้วย ซึ่งเราจะรักษาได้ง่ายกว่ามาก ถ้าแขนขาช่วงบนหรือช่วงล่างของเขามีข้อต่อเข้าที่) หลักการก็คือ หากแพทย์ในเยอรมนีมีความมั่นใจถึง 80% ในการรักษาน้องไซ ฉะนั้น หากในกรณีที่อาการน้อยกว่าน้องไซ ก็ยิ่งมีโอกาสที่จะรักษาให้หาได้มากขึ้น
ผมไม่รู้ว่าจะนำเอกสารเกี่ยวกับการรักษา ที่เป็นประโยชน์นี้ไปใช้ในขั้นตอนการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นข้อมูลอ้างอิงในอนาคตอย่างไร ผมจึงเขียนข้อความนี้ขึ้นมา เพื่อชักชวนให้ทุกท่านเข้ามามีส่วนร่วมกับผมในการที่จะช่วยเหลือผู้พิการนับล้าน.ให้พวกเขาได้มีโอกาสที่พวกเขาเคยไม่ได้รับ
หากคุณหรือองค์กรของคุณผู้มีส่วนร่วมหรือเกี่ยวข้องกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สถาบันทางการแพทย์ จะสามารถเรียนรู้ขั้นตอนการบำบัดรักษาน้องไซ (ซึ่งจะเริ่มในเดือนมีนาคม 2551) หรือใช้ข้อมูลนี้เพื่อการช่วยเหลือผู้พิการ ได้โปรดติดต่อผม
คุณสามารถติดต่อผมได้ที่ walterlee@ventuna.com
บุญรักษาครับ
วอลเตอร์ ลี และครอบครัว
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ที่มา : รายการจับเข่าคุย ทางช่อง 3