x close

เทคนิคการกินอย่างไร ให้ห่างมะเร็ง

บาร์บีคิว


          แหม ไปทะเลทั้งที ขาดเมนูบาร์บีคิวไปได้อย่างไร เพราะมันทั้งสนุก แถมยังอร่อยเหมาะกับบรรยากาศชิลๆ ริมชายหาดเป็นที่สุด แต่อย่ามัวเพลินไปกับความอร่อยของมันนะ เพราะในความอร่อยนี้แหละแฝงไปด้วยภัยร้ายอย่างมะเร็ง! ที่คุณจะต้องขยาด หากใครอยากกินของย่างให้ห่างมะเร็งแบบนี้ ก็ต้องรีบมาอ่านเทคนิคเด็ดๆ ที่ 24-7 นำมาฝากซะแล้วล่ะ


          1. ก่อนอื่นต้องทำความสะอาดตะแกรงที่ใช้ย่างก่อน เพื่อป้องกันสาร Carcinogen (สารก่อมะเร็ง) โดยขูดเอาเศษเนื้อที่ ไหม้เกรียมที่เหลือติดจากการปิ้งครั้งก่อนๆ ออกให้หมดด้วยแปรงขัด จากนั้นก็ทำความสะอาดด้วยน้ำอุ่นที่ผสมน้ำยาทำความสะอาด แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด


          2. เช็ดตะแกรงให้สะอาด แล้วใช้กระดาษชำระชุบน้ำมันพืชทาบนตะแกรงให้ทั่ว เพื่อป้องกันเนื้อติดตะแกรง


          3. สำหรับการเตรียมเนื้อ ควรหมักด้วยสมุนไพร เครื่องเทศ ไวน์ น้ำปลา หรือน้ำมะนาวก่อน เพราะนอกจากจะช่วยเพิ่มรสชาติและความนุ่มแล้ว ยังสามารถช่วยลดสารก่อมะเร็งที่เรียกว่า Heterocyclic Amines (HCAs) อีกด้วย (สารตัวนี้จะพบก็ต่อเมื่อปรุงอาหารด้วยการปิ้งหรือย่างในความร้อนสูง)


          4. ควรเก็บเนื้อหมักไว้ในตู้เย็น เพื่อป้องกันแบคทีเรียที่ปนมากับอากาศ เมื่อจะนำมาย่างจึงค่อยทำการละลายน้ำแข็งด้วยการย้ายเนื้อจากช่องฟรีซลงมาไว้ที่ช่องปรกติหรือจะใช้ไมโครเวฟช่วยด้วยก็ได้ แต่ไม่ควรนำมาวางทิ้งไว้เฉยๆ ที่อุณหภูมิห้อง


          5. วอร์มเตาปิ้งก่อนการใช้งานสัก 5-10 นาที เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ถ้าเป็นเตาถ่านก็ให้สังเกตจากสีของขี้เถ้าว่าเป็นสีขาวหรือยัง ถ้าใช่ก็เริ่มลงมือย่างได้เลย


          6. ควรเตรียมเนื้อที่จะใช้ย่างให้อยู่ในรูปของปีกผีเสี้อ โดยใช้มีดกรีดลงไปตรงกลางชิ้นเนื้อให้ลึกพอสมควร แต่ระวังอย่า ให้เนื้อขาดออกจากกัน แล้วจึงนำไปย่าง เมื่อเนื้อถูกความร้อนจะแบะออกคล้ายๆ กับปีกของผีเสื้อ วิธีนี้จะช่วยป้องกันไม่ให้เนื้อข้างนอกไหม้ก่อนที่เนื้อข้างในจะสุก


          7. ในกรณีที่ใช้เตาถ่าน ควรหลีกเลี่ยงการให้เนื้อสัมผัสกับเปลวไฟโดยตรง คุณสามารถช่วยลดปริมาณของเปลวไฟได้ด้วยการใช้เนื้อที่ไม่มีมันหรือเลาะเอามันออกเสียก่อน หลีกเลี่ยงการวางเนื้อในตำแหน่งที่ตรงกับถ่านไฟ หรือจะใช้วิธีวางเนื้อลงบนแผ่นอะลูมิเนียมฟอยล์ก่อนนำไปย่างก็ได้ แต่ถ้าหากคุณเลือกใช้วิธีพรมน้ำ ให้ยกเนื้อขึ้นก่อนทำการพรม รอให้น้ำระเหยออกให้หมด จึงค่อยวางเนื้อกลับไปไว้ที่เดิม การทำอย่างนี้จะช่วยหลีกเลี่ยงไม่ให้เนื้อสัมผัสกับเขม่าควันได้โดยตรง


          8. กลับเนื้ออย่างน้อย 1 ครั้ง จะช่วยให้เนื้อสุกสม่ำเสมอกัน สำหรับเนื้อที่มีไขมันมากจะใช้เวลาปิ้งนานกว่าเนื้อที่มีไขมันน้อย (เนื้อปลาจะสุกเร็วกว่าเนื้อไก่และเนื้อหมู) แต่ถ้าจะให้ดียิ่งขึ้นควรใช้เทอร์โมมิเตอร์วัดด้วยเพื่อความแน่ใจ โดยจิ้มเข้าไปในเนื้อ (ระวังอย่าให้โดนช่วงที่เป็นกระดูก) ซึ่งเนื้อแต่ละชนิดจะมีอุณหภูมิที่สุกแตกต่างกัน เช่น หากเป็นเนื้อวัว เนื้อลูกวัว เนื้อหมู หรือเนื้อแกะจะสุกที่ 170 ๐F แต่ถ้าอยากได้แบบ Medium Rare ก็จะอยู่ที่ 160 ๐F สำหรับเนื้อเป็ดหรือเนื้อไก่ถ้าเป็นเนื้อช่วงอกจะสุกที่ 170 ๐F แต่ถ้าเป็นเนื้อช่วงตัวและต้นขาต้อง 180 ๐F เท่านั้น



ข้อมูลจาก
 
ภาพประกอบทางอินเทอร์เน็ต

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เทคนิคการกินอย่างไร ให้ห่างมะเร็ง อัปเดตล่าสุด 29 พฤษภาคม 2551 เวลา 09:01:23 50,663 อ่าน
TOP