x close

เกร็ดน่ารู้ เกี่ยวกับโบราณราชประเพณี



 การสางพระเกศาขึ้น-ลง 1 ครั้ง แล้วหักพระสางทิ้ง

          การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สางพระเกศาพระศพขึ้น 1 ครั้ง ลง 1 ครั้ง แล้วหักพระสางวางไว้ในพาน แสดงถึงว่าเป็นการสาง (หวี) พระเกศาครั้งสุดท้าย พอเป็นพิธี เพื่อแสดงว่าไม่ต้องการความสวยงาม หรือมีความจำเป็นต้องแต่งกายใดๆ อีก

 เศวตฉัตรประกอบพิธีพระศพ

          เศวตฉัตรประกอบพิธีพระศพนั้นจะแตกต่างกันไป ตามพระอิสริยยศที่แตกต่างกัน ในส่วน สัปตปฎลเศวต ฉัตรยอดพระเมรุ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นฉัตรผ้าขาวเจ็ดชั้นระบายขลิบทองสามชั้น หมายถึงการซ้อนผ้าระบายโดยรอบแว่นฉัตรแต่ละชั้น ซ้อนกันสามรอบวงแว่นฉัตร โดยให้ชั้นในสุดยาวกว่าชั้นนอกสุดตามลำดับ ทุกชั้นฉัตรที่ชายระบายชั้นล่างสุดของชั้นฉัตร ห้อยระย้าจำปาทองโดยรอบ

 การประโคมย่ำยามทุก 3 ชั่วโมง

          การสวดพระพิธีธรรมพระอภิธรรม จะมีการประโคมย่ำยามทุก 3 ชั่วโมง มีปี่ กลอง ประโคม ด้วยทำนองที่เศร้าสร้อย ตั้งแต่เวลา 06.00 - 24.00 น.

 สมเด็จพระพี่นางเธอฯ อยู่ในลำดับพระอิสริยยศชั้น "เจ้าฟ้า"

          ภาษาที่ใช้เรียกในการประกอบพิธีพระบรมศพ "พระศพ" จะเรียกแตกต่างกันตามพระอิสริยยศ โดยสมเด็จเจ้าฟ้า จะเรียกว่า "พระศพ" ส่วนพระยศที่สูงกว่า ตั้งแต่พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระบรมราชินี สมเด็จพระบรมราชชนนี สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สมเด็จพระบรมราชกุมารี จะเรียกว่า "พระบรมศพ"

 การบรรจุพระศพลงหีบพระศพแทนพระโกศ

          ตามโบราณราชประเพณีเมื่อพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์เสด็จสวรรคต จะประกอบพิธีบรรจุพระบรมศพ พระศพ ลงในพระโกศ แต่ในรัชกาลปัจจุบันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้เชิญพระบรมศพ และพระศพ ลงหีบพระศพ แทนใส่การใส่พระโกศ ซึ่งสามารถทำได้ตามพระราชอัธยาศัย


พระเมรุ


 รูปแบบพระเมรุ

          "พระเมรุ" เป็นกุฎาคารเรือนยอดประธานมณฑล หันหน้าไปทางทิศตะวันตก เป็นพระเมรุทรงปราสาทจัตุรมุขย่อมุมไม้สิบสอง ปักพระสัปตปฎลเศวตฉัตร จากฐานถึงยอดฉัตรสูง 38.65 เมตร กว้าง 31.80 เมตร ยาว 39.80 เมตร สร้างด้วยไม้ โครงสร้างภายในเป็นเหล็กประดับด้วยผ้าทองย่นตกแต่งด้วยลวดลาย

          สำหรับรูปแบบพระเมรุยอดปราสาท ได้ศึกษาจากการออกแบบพระเมรุมาศของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ สมเด็จกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ โดยยึดเค้าโครงพระเมรุมาศของสมเด็จพระปิตุฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี มาเป็นต้นแบบ โดยแนวคิดหลักได้ยึดถือความเชื่อ เรื่องเขาพระสุเมรุ ตามแบบโบราณราชประเพณี ด้วยการจำลองปราสาท ซึ่งเปรียบเสมือนสถานที่สถิตของเหล่านางฟ้า เทวดา มาเป็นตัวองค์ของพระเมรุ ส่วนยอดพระเมรุ ประกอบด้วย ยอดชั้นเชิงกลอน 5 ชั้น ต่อยอดด้วย ชั้นบัวคลุ่มจนถึงปลายยอดประดับฉัตร 7 ชั้น เอกลักษณ์ของพระเมรุ ที่จะใช้ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ อยู่ที่หน้าบันทั้ง 4 ทิศ เนื่องจากได้อัญเชิญตราพระราชลัญจกร กว ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ มาประดิษฐานที่หน้าบันของพระเมรุทั้ง 4 ด้าน

          องค์พระเมรุทั้งด้านในและด้านนอก ประดับตกแต่งด้วยผ้าทองย่นเกือบทั้งหมด ใช้สีทองเป็นหลักและประกอบด้วยสีอื่นๆ ที่เป็นสีอ่อนหวาน เหมาะกับพระอุปนิสัยและพระจริยาวัตรที่นุ่มนวลสง่างามของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

          ด้านหลังของพระเมรุ จะเห็นอาคารยาวเรียกว่า พระที่นั่งทรงธรรม เป็นอาคารโถงตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของพระเมรุ ใช้เป็นสถานที่สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับทรงธรรมและทรงประกอบพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลในการออกพระเมรุพระศพ รวมทั้งมีที่สำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ คณะองคมนตรี คณะรัฐมนตรี ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน สมาชิกรัฐสภา ตลอดจนคณะทูตานุทูต เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท

          อาคาร 2 หลัง ที่อยู่ด้านข้างทั้งซ้ายและขวาของพระที่นั่งทรงธรรม เรียกว่า ศาลาลูกขุน เป็นอาคารโถงทรงโรง สร้างตรงปลายปีกพระที่นั่งทรงธรรม ทั้งด้านทิศเหนือและทิศใต้ ใช้เป็นที่เข้าเฝ้าฯของข้าราชการ

 หีบพระศพ

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณให้ นายพรเทพ สุริยา เจ้าของร้านสุริยาหีบศพ จัดสร้าง "หีบพระศพ" สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โดยทรงมีพระราชประสงค์ให้ทำหีบพระศพให้คล้ายคลึงกับหีบพระศพของสมเด็จพระศรีนครินทราพระบรมราชชนนี ดังนั้น จึงมีการสร้างหีบพระศพทรงหลุยส์ผสมบุษบกจากแผ่นไม้สักทอง อายุ 100 ปีขนาดใหญ่เพียงแผ่นเดียว ที่นำมาจาก จังหวัดเชียงใหม่ ไม่มีรอยต่อ และใช้หมึกจีน พ่นสีโอ๊กม่วง ขนาดความกว้าง 26 นิ้ว ความยาว 2 .29 เมตร น้ำหนักเกือบ 300 กิโลกรัม ทั้งนี้ สีโอ๊กม่วงนั้น เป็นสีที่เข้มแข็ง น่าเชื่อถือและเหมาะสมกับงาน

          หีบพระศพดังกล่าว ประกบด้วยปุ่มมะค่าทองรอบใบ ลวดลายของหีบพระศพเป็นลายกุหลาบ แสดงถึงความรัก ส่วนด้านขอบล่างเป็นลายหลุยส์ ส่วนฝาด้านบนเป็นบุษบก 3 ชั้น ภายในหีบพระศพใช้ผ้าไหมสีครีมทองประดับตกแต่งและดิ้นชายรอบ ทั้งนี้ การออกแบบและจัดสร้างทั้งหมดใช้เวลา 30 วัน ภายใต้การดูแลของสำนักพระราชวัง

 พระโกศไม้จันทน์

          ในส่วนของ "พระโกศไม้จันทน์" ในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทางสำนักพระราชวัง ได้นำคณะพราหมณ์ทำพิธีบวงสรวงเทพยดาป่าขออนุญาตนำไม้จันทน์หอม จำนวน 3 ต้น ภายในอุทยานแห่งชาติ กุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มาจัดสร้างพระโกศ ที่ออกแบบและจัดสร้างโดย นาวาอากาศเอก อาวุธ เงินชูกลิ่น มีลักษณะเป็นทรง 8 เหลี่ยม ในอัตราส่วน 1:5  ในส่วนของการปรับขยายแบบให้เท่าของจริงเป็นหน้าที่ของ สมชาติ มหัทธนะสิน

          สำหรับจัดสร้างพระโกศ ในสมัยโบราณจะนำไม้จันทน์มาเป็นฝืนในการเผาศพ แต่สำหรับพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ จะถูกนำมาแปรรูปจากท่อนฟืนให้มีลวดลายขึ้นเป็นพระโกศไม้จันทน์ มีการเลื่อยไม้เป็นแผ่นบางๆ ติดแบบทำการฉลุลาย จากนั้นนำมาประกอบติดกับโครงซึ่งโบราณจะใช้โครงไม้ แต่ในปัจจุบันดัดแปลงมาเป็นโครงลวดเหล็ก บุตาข่าย เพื่อความสะดวกในการจัดสร้าง

          ทั้งนี้ "พระโกศไม้จันทน์" จะมีขนาดความสูง 162.5 เซนติเมตร มีความกว้างส่วนฐาน 82 เซนติเมตร จะประกอบด้วยชิ้นส่วนของลวดลายต่างๆ รวมทั้งสิ้น 6,033  ชิ้น ส่วนฐานรองพระโกศเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีฝาปิด ขนาดความยาว 260 เซนติ เมตร กว้าง 140 เซนติเมตร สูง 92 เซนติเมตร ใช้จำนวนชิ้นลายทั้งสิ้น 10,159 ชิ้น ลวดลายที่ใช้ประกอบ มีทั้งสิ้น 35 แบบ อาทิ ลายหน้ากระดาน ลายบัว ลายท้องไม้ บัวคว่ำ บัวหงาย ฯลฯ โดยลายส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะของแนวลายใบเทศ คือ ถ้าเป็นกระจังจะเป็นกระจังทรงใบเทศ ถ้าเป็นกระหนกก็จะเป็นกระหนกลายใบเทศ ซึ่งโดยรวมแล้วลวดลายจะให้อยู่ในลักษณะของลายใบเทศ ซึ่งเป็นลายเครื่องประดับของไทยที่มีความงดงามและใช้กันมาตั้งแต่สมัยโบราณ

          ส่วนของพระโกศที่ค่อนข้างทำยาก คือ ส่วนของบัวถลาหรือบัวคว่ำ ซึ่งอยู่ในส่วนของฝาพระโกศ เพราะมีลักษณะโค้งทำให้ลายต้องลดหลั่นกันลงมา จึงต้องมีการตัดชิ้นไม้ขึ้นมาเพื่อเลื่อย เป็นรูปโค้งแล้วถึงจะมาต่อเป็นแผ่นๆ ให้ได้ความกว้างและขนาดลาย จากนั้นจึงจะนำมาโกรกฉลุ

 การสร้างพระมหาพิชัยราชรถ และเวชยันตราราชรถ

          การสร้างราชรถ จะจำลองราชรถเป็นดั่งเขาพระสุเมรุ คือ จากฐานเป็นนาคซึ่งอยู่ในภพล่างสุดที่เรียกว่า ภพอสูร ครุฑ นาค แล้วถัดขึ้นมาเป็นสวรรค์ชั้นต่างๆ ที่เป็นที่อยู่ของเทวดา ก่อนจะขึ้นไปเป็นบุษบกปราสาทชั้นสูงสุด ซึ่งก็คือ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์

          ราชรถขนาดใหญ่ มีด้วยกัน 2 องค์คือ พระมหาพิชัยราชรถ และเวชยันตรราชรถ ซึ่งมีความคล้ายคลึงกันมาก แต่จะต่างกันตรงที่กระจังด้านล่างสุด หากเป็นเวชยันตรราชรถ กระจังจะพลิ้วไปตามน้ำ ส่วนพระมหาพิชัยราชรถ กระจังก็จะทวนน้ำ ส่วนสาเหตุต้องมีราชรถถึง 2 องค์ สันนิษฐานว่าหลังจากงานพระราชพิธีครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 1 พระพี่นางทั้งสองพระองค์ของพระองค์สิ้นพระชนม์ในเวลาไล่เลี่ยกัน จึงมีราชรถถึง 2 องค์ ตั้งแต่นั้นมา (เป็นเพียงข้อสันนิษฐาน ยังไม่มีหลักฐานใดปรากฎ)

          "พระมหาพิชัยราชรถ" ราชรถองค์สำคัญในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เพื่อการพระบรมศพพระปฐมบรมมหาราชชนก เมื่อปี 2338 พระมหาพิชัยราชรถ เป็นราชรถขนาดใหญ่ คือมีขนาดสูง 1,120 เซนติเมตร ยาว 1,530 เซนติเมตร ใช้คนฉุดชักทั้งหมด 216 คน

          มาจนถึงวันนี้ "พระมหาพิชัยราชรถ" มีอายุรวมถึง 213 ปี จึงทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ทำให้ต้องมีการซ่อแซมเพื่อให้ใช้ได้เป็นระยะ ดังเช่นการบูรณะในปี 2539 ในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี โดยกรมศิลปากร ได้บูรณะซ่อมแซมเสริมความมั่นคงโดยทำให้น้ำหนักเบา เพื่อความสะดวกในการเคลื่อนย้ายพระมหาพิชัยราชรถเข้าขบวนพระราชพิธี แต่รักษาความงดงามทางศิลปกรรมเดิมไว้อย่างครบถ้วน

          สำหรับการบูรณะ "พระมหาพิชัยราชรถ" เพื่อใช้ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ มีผู้รับผิดชอบคือ กรมสรรพาวุธทหารบก โดย พ.อ.ศักดา ศิริรัตน์ ผู้อำนวยการกองโรงงานช่างแสง ศูนย์อุตสาหการสรรพาวุธ นำคณะทหารช่างกว่า 30 นาย เข้ามาถอดอุปกรณ์ช่วงล่างของราชรถอย่างละเอียดพิถีพิถัน ซึ่งครั้งนี้จะใช้ราชรถ 2 องค์ คือ "พระมหาพิชัยราชรถ" และ "เวชยันตรราชรถ" ราชรถน้อย ซึ่งจำลองมาจากสวรรค์ชั้นไพชยนต์ซึ่งเป็นวิมานของพระอินทร์  มีลักษณะคล้ายคลึงราชรถองค์ใหญ่คือมีส่วนตัวรถที่แกะสลักลงรักปิดทองประดับกระจก คานที่ยื่นออกมาเป็นรูปนาคราช บนราชรถมีบุษบกตั้งอยู่เช่นกันแต่มีขนาดเล็กกว่า

 เศวตฉัตร 7 ชั้น กางกั้นพระโกศ

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทาน เศวตฉัตร 7 ชั้น กางกั้นพระโกศ

          ในองค์พระเศวตฉัตรองค์นี้ประกอบด้วยความงามด้านประณีตศิลป์ พร้อมด้วยความหมายของ "ฉัตร" ซึ่งเป็นเครื่องแสดงพระเกียรติยศและเครื่องสูงที่สำคัญยิ่ง รวมถึงฉัตรประเภทต่าง ๆ ที่รายล้อมรอบพระเมรุ มณฑลพิธี ตลอดจนในริ้วขบวนแห่ ฯลฯ

          "ฉัตร" มาจากภาษาสันสกฤตแปลว่า "ร่ม" เป็นเครื่องสูงชนิดหนึ่ง ใช้ตั้งประดิษฐานในอาคารหรือเชิญถือในขบวนแห่ โดยถือชูขึ้นข้างบนซึ่งการถือชูตั้งขึ้นข้างบนจะเป็นไปในแนวดิ่งจึงเรียกว่า เครื่องสูง ในการนำมาใช้ของบุคคลธรรมดาก็จะถือร่มชั้นเดียว แต่เมื่อมียศสูงขึ้น ก็จะมีการซ้อนชั้นร่มขึ้น และการซ้อนชั้นนั้น มีความหมายบอกถึง ชั้นของพระเกียรติยศ

          ในส่วน "สัปตปฎลเศวต" ฉัตรยอดพระเมรุ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นฉัตรผ้าขาวเจ็ดชั้น ระบายขลิบทองสามชั้น หมายถึง การซ้อนผ้าระบายโดยรอบแว่นฉัตรแต่ละชั้น ซ้อนกันสามรอบวงแว่นฉัตร โดยให้ชั้นในสุดยาวกว่าชั้นนอกสุดตามลำดับ ทุกชั้นฉัตรที่ชายระบายชั้นล่างสุดของชั้นฉัตร ห้อยระย้าจำปาทองโดยรอบ

          "สัปตปฎล" หมายถึงฉัตรเจ็ดชั้น "เศวตฉัตร" คือฉัตรผ้าขาว เป็นเครื่องประกอบแสดงฐานานุศักดิ์และตามที่กล่าวมาฉัตรเจ็ดชั้นขึ้นไปจะมีระบายสามชั้น สัปตปฎล ครั้งนี้จึงเป็น "ฉัตรเจ็ดชั้นขลิบทองชายระบายสามชั้น"

 การบรรเลงดนตรีไทยในงานพระศพ

          การบรรเลงดนตรีไทยในงานพระราชพิธี ถือว่าเป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศขององค์พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ และเป็นส่วนหนึ่งในของงานพระราชพิธีที่บรรเลงตามขั้นตอนของงานพระราชพิธี คู่กับวงประโคมของงานเครื่องสูง สำนักพระราชวัง

          เดิมการประโคมดนตรีที่เป็นลักษณะประโคมย่ำยาม มีเฉพาะของงานเครื่องสูงสำนักพระราชวังเท่านั้น ประกอบด้วยวงแตรสังข์และวงปี่ไฉนกลองชนะ มีการประโคมย่ำยามทุก 3 ชั่วโมง

          ในการประโคมงานพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ กรมศิลปากรได้รับมอบหมายให้เข้าร่วมในการประโคมย่ำยามด้วย ดังนั้น จึงมี ๒ หน่วยงานเข้าร่วมประโคม คือ วงประโคมของงานเครื่องสูง สำนักพระราชวัง (วงแตรสังข์และวงปี่ไฉนกลองชนะ) และวงปี่พาทย์นางหงส์ ของกลุ่มดุริยางค์ไทย สำนักการสังคีต กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม

การประโคมย่ำยาม มีขั้นตอนเรียงลำดับ ดังนี้

          วงประโคมลำดับที่ 1 คือ วงแตรสังข์ ประกอบด้วยเครื่องดนตรี สังข์ แตรงอน แตรฝรั่ง ประโคม "เพลงสำหรับบท" จบแล้ว วงประโคมวงที่ 2 จึงเริ่มขึ้น

          วงประโคมลำดับที่ 2 คือ วงปี่ไฉนกลองชนะ (หรือเรียกว่า วงเปิงพรวด) ประกอบด้วยเครื่องดนตรี ปี่ไฉน กลองชนะ เปิงมาง "ประโคมเพลงพญาโศกลอยลม" จบแล้ว วงประโคมวงที่ 3 จึงเริ่มขึ้น

          วงประโคมลำดับที่ 3 คือ วงปี่พาทย์นางหงส์ ประกอบด้วย ปี่ชวา ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก ตะโพน กลองทัด ฉิ่ง "ประโคมเพลงชุดนางหงส์"

          เมื่อประโคม ครบทั้ง 3 วงแล้ว ถือว่าเสร็จการประโคมย่ำยาม 1 ครั้ง


ร่วมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ 



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก หนังสือพิมพ์มติชน





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เกร็ดน่ารู้ เกี่ยวกับโบราณราชประเพณี อัปเดตล่าสุด 14 พฤศจิกายน 2551 เวลา 16:37:46 33,777 อ่าน
TOP