สรุปประเด็นข่าวโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
ในระยะที่ผ่านมาเกิดปัญหาโจรผู้ร้ายลักลอบติดตั้งเครื่องสกริมเมอร์ไว้กับตู้เอทีเอ็ม เพื่อโจรกรรมข้อมูลไปใช้ในการปลอมแปลงบัตรเอทีเอ็มและบัตรเครดิต นำไปกดเงินสดออกจากบัญชีของประชาชนจำนวนมาก แม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะพยายามหาทางแก้ไขและป้องกัน แต่ก็ยังทำได้อย่างยากลำบาก อย่างไรก็ตาม วันนี้กระปุกดอทคอมมีวิธีการป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อมาฝากกันค่ะ...
คนร้ายที่มีพฤติการณ์ในการลักลอบโจรกรรมข้อมูลบัตรเอทีเอ็มและบัตรเครดิต มักจะทำงานกันเป็นขบวนการ มีเครือข่ายอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก โดยมีทั้งในกลุ่มประเทศเอเชียและยุโรป ซึ่งมีมากที่สุดคือในประเทศมาเลเซีย ทั้งนี้ คนร้ายจะนำเครื่องสกริมเมอร์มาติดตั้งไว้ตามตู้เอทีเอ็มต่างๆ เพื่อดูดข้อมูลจากบัตรแล้วนำข้อมูลนั้นไปปลอมแปลงบัตรใบใหม่ แล้วนำไปใช้ในการกดเงินสด ขณะที่บัตรเครดิตจะมีปัญหามากกว่าบัตรเอทีเอ็ม เพราะนอกจากคนร้ายจะนำไปใช้ในการกดเงินสดแล้วก็จะนำไปใช้รูดซื้อสินค้าด้วย
ขณะเดียวกัน ผู้ใช้บริการตู้เอทีเอ็มจะต้องระมัดระวัง ก่อนใช้บริการทุกครั้งจะต้องสังเกตให้รอบคอบว่าตู้เอทีเอ็มที่เลือกใช้มีสิ่งแปลกปลอมหรือไม่ และทุกครั้งที่จะกดระหัสบัตรก็ให้ใช้มือบัง สังเกตให้ดีว่ามีใครจ้องมองดูอยู่หรือไม่ ส่วนกรณีบัตรเครดิตก็ต้องระวังทุกครั้งที่นำไปใช้ต้องสังเกตอย่างใกล้ชิด หากนำบัตรไปใช้รูดซื้อสินค้าก็ต้องสังเกตไม่ให้คลาดสายตา
สำหรับการกดรหัสบัตรเอทีเอ็มนั้น ข้อมูลจะมี 2 ชุด อยู่ตรงแถบแม่เหล็ก ดังนั้น ลูกค้าที่ใช้บริการต้องระมัดระวังรหัส 4 ตัว เวลากดบัตรต้องใช้มือซ้ายบังเพื่อป้องกันการแอบดู หรือการแอบดูโดยกล้องวงจรปิด ถ้าเขาไม่รู้รหัสก็ทำอะไรไม่ได้ แต่ถ้าไม่แน่ใจว่ามีคนแอบดูหรือไม่ก็เปลี่ยนรหัสบ่อยๆ ส่วนการใช้กล้องเล็กนั้น มิจฉาชีพจะติดเหนือเครื่องเป็นรูเล็กๆ เท่าปลายเข็ม ถ้าเอามือบังก็จะมองไม่เห็น
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าคนร้ายพัฒนารูปแบบและวิธีการอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระทำความผิดให้ได้ทำให้ป้องกันได้ยาก ส่วนวิธีการสังเกตว่าเครื่องเอทีเอ็มเครื่องไหนติดตั้งเครื่องป้องกันการดูดข้อมูลแล้วหรือไม่นั้น ให้สังเกตไฟกะพริบ หากเห็นมีไฟสีเขียวกะพริบตรงช่องเสียบบัตรก็แสดงว่า เครื่องเอทีเอ็มดังกล่าวได้ติดตั้งเครื่องป้องกันไว้แล้ว ทั้งนี้ ผู้ถือบัตรขอให้สบายใจได้ว่า หากถูกโจรกรรมข้อมูลจากบัตรเอทีเอ็มหรือบัตรเครดิตไป ความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมดทางธนาคารจะเป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนกลุ่มมิจฉาชีพที่หลอกลวงทางโทรศัพท์ให้ไปกดเงินที่เอทีเอ็ม ซึ่งไม่มีใครสามารถสั่งให้เราทำการใดที่ตู้เอทีเอ็มได้ ธนาคารทุกธนาคารไม่มีนโยบายสั่งการให้ลูกค้าไปทำธุรกรรมใดๆ ที่ตู้เอทีเอ็ม
สำหรับการเตรียมพร้อมก่อนกดเอทีเอ็ม เรามีข้อแนะนำ สรุปได้ดังนี้
เดี๋ยวนี้นอกจากต้องระวังตัวจะถูกแอบดูรหัสเอทีเอ็มในขณะกดเงินแล้ว ยังต้องระวังตัวเองไม่ให้ถูกทำร้ายในขณะที่คุณกำลังกดเงินด้วย เหมือนกรณีของชายผู้โชคร้ายรายหนึ่งที่กลายเป็นข่าวหน้าหนึ่งหลังเขาถูกโจรเอทีเอ็มซะน่วม เพราะไม่ยอมบอกรหัสกดเงินแต่โดยดี แล้วคุณล่ะมีวิธีป้องกันตัวยังไงหากจะไปใช้บริการตู้เอทีเอ็ม
หากต้องการกดเงินจากตู้เอทีเอ็ม ควรเลือกตู้ที่อยู่ในสถานที่สว่าง เป็นย่านที่ผู้คนสัญจรไปมา โดยหลีกเลี่ยงจุดที่คิดว่าเป็นจุดเสี่ยงหรือจุดอับที่อาจก่อให้เกิดเหตุร้ายได้
เปลี่ยนเวลากดเอทีเอ็ม จากเวลามืดค่ำเป็นเวลากลางวันก็จะช่วยลดความเสี่ยงได้มากขึ้น แต่หากจำเป็นต้องกดเงินในเวลากลางคืน ควรหาใครสักคนมาเป็นเพื่อนด้วยก็ดี
ควรสังเกตสภาพแวดล้อมรอบๆ ตู้เอทีเอ็มที่คุณจะใช้บริการ หากพบคนที่มีพฤติกรรมน่าสงสัยก็ควรรอดูท่าทีของเขาว่ากำลังเฝ้ามองคุณอยู่หรือเปล่า ถ้าใช่จริงๆ ควรเปลี่ยนไปใช้ตู้เอทีเอ็มที่ปลอดภัยกว่า เพื่อสวัสดิภาพของตัวคุณเอง
หากต้องการทำธุรกรรมผ่านตู้เอทีเอ็มที่ใช้เวลามากกว่าการถอนเงิน เช่น โอนเงิน ควรเตรียมข้อมูลไปให้พร้อม จะได้ไม่ต้องใช้เวลาอยู่หน้าตู้นานๆ หรือเมื่อกดเงินได้แล้ว ไม่ต้องยืนรีรอนับเงินหน้าตู้ เพราะจะเป็นจุดสนใจของคนที่ผ่านไปมาได้ รวมถึงเป็นช่องโหว่ให้พวกมิจฉาชีพฉวยโอกาสกับคุณได้
อย่าชะล่าใจกดเงินที่ตู้เอทีเอ็มตู้เดียวเป็นประจำ โดยเฉพาะในช่วงเงินเดือนออก เผื่อว่าพวกมิจฉาชีพจะคอยจับตาดูความเคลื่อนไหวของคุณอยู่
ระวังคนร้ายในคราบคนดี อาจทำทีมาตีสนิทในระหว่างที่คุณกดเอทีเอ็ม เช่น ขอความช่วยเหลือในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ก่อนจะยกพรรคพวกมารุมทำร้ายแล้วปล้นเงินของคุณไปดื้อๆ
หากคุณโชคร้ายประสบเหตุ ควรแจ้งตำรวจทันที อย่าปล่อยทิ้งไว้ อย่างน้อยๆ ตำรวจจะได้เพิ่มความกวดขันดูแลในจุดเสี่ยงเหล่านี้ให้มากขึ้น
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
หนังสือLisa ฉบับวันพุธที่ 11 กุมภาพันธ์ 2552
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก หนังสือพิมพ์คมชัดลึก