เทศกาลสงกรานต์ วันผู้สูงอายุ-วันครอบครัว (ข่าวสด)
"สงกรานต์" ถือเป็นประเพณีที่เก่าแก่ของไทยประเพณีหนึ่งที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ คู่กับประเพณีตรุษ หรือที่เรียกกันรวมๆ ว่าประเพณีตรุษสงกรานต์ ซึ่งหมายถึงประเพณีส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ของไทย ก่อนที่จะปรับเปลี่ยนมาใช้วันที่ 31 ธันวาคม เป็นวันส่งท้ายปีเก่า และวันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ เมื่อพ.ศ.2483 เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก
คำว่าตรุษ เป็นภาษาทมิฬ ใช้ในชนเผ่าหนึ่งทางอินเดียตอนใต้ แปลว่า ตัด หรือขาด คือตัดปี หรือขาดปี หมายถึงการสิ้นปีนั่นเอง ตามปกติการกำหนดวันตรุษหรือวันสิ้นปีจะถือหลักทางจันทรคติ (วิธีนับวันและเดือนโดยถือเอาการเดินของดวงจันทร์เป็นหลัก) คือวันแรม 15 ค่ำ เดือน 4
ส่วนคำว่าสงกรานต์ เป็นภาษาสันสกฤต แปลว่า ก้าวขึ้น หรือการเคลื่อนที่ ย้ายที่ หมายถึง เวลาที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนจากราศีหนึ่งไปสู่อีกราศีหนึ่งทุกๆ เดือน เรียกว่า สงกรานต์เดือน ยกเว้นเมื่อย้ายจากราศีมีนสู่ราศีเมษ ซึ่งเป็นสงกรานต์ปี จะเรียกชื่อพิเศษว่า "มหาสงกรานต์" จึงเป็นวันขึ้นปีใหม่ โดยวิธีนับทางสุริยคติ (วิธีนับวันและเดือนโดยถือกำหนดตำแหน่งดวงอาทิตย์เป็นหลัก)
ดังนั้น การกำหนดนับวันสงกรานต์จึงตกอยู่ในระหว่างวันที่ 13, 14 และ 15 เมษายน
ซึ่งทั้ง 3 วันจะมีชื่อเรียกเฉพาะดังนี้ คือ วันที่ 13 เมษายน เรียกว่า มหาสงกรานต์ หมายถึง การที่ดวงอาทิตย์ก้าวขึ้นสู่ราศีเมษอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ผ่านการเข้าสู่ราศีอื่นๆ แล้วครบ 12 เดือน
วันที่ 14 เมษายน เรียกว่า วันเนา หมายถึง การที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนเข้าอยู่ราศีเมษประจำที่เรียบร้อยแล้ว
วันที่ 15 เมษายน เรียกว่า วันเถลิงศก หรือวันขึ้นศก คือ วันที่เริ่มเปลี่ยนจุลศักราชใหม่ การที่กำหนดให้อยู่ในวันนี้นั้นเพื่อให้แน่ใจได้ว่าดวงอาทิตย์โคจรขาดจากราศีมีนขึ้นอยู่ราศีเมษแน่นอนแล้ว อย่างน้อย 1 องศา
ก่อนถึงวันสงกรานต์นั้น ส่วนใหญ่จะมีการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ เพื่อความเป็นสิริมงคล และต้อนรับชีวิตใหม่ที่จะเริ่มต้นในวันปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง อาทิ การทำความสะอาดบ้านเรือนที่อยู่อาศัย การเตรียมเสื้อผ้าที่จะสวมใส่ไปทำบุญ และผ้าสำหรับไปไหว้ผู้ใหญ่เพื่อรดน้ำ ขอพร
การเตรียมอาหารไปทำบุญ ทั้งของคาว ของหวานที่พิเศษ ได้แก่ การเตรียมขนมที่ถือเป็นสัญลักษณ์ของวันตรุษและวันสงกรานต์ นั่นคือ ข้าวเหนียวแดงสำหรับวันตรุษ และขนมกวนหรือกาละเมสำหรับวันสงกรานต์
และเมื่อถึงวันสงกรานต์ทุกคนก็จะยิ้มแย้มแจ่มใสทำจิตใจให้เบิกบาน เพื่อทำบุญตักบาตรตอนเช้า ทำบุญอัฐิ ซึ่งอาจจะทำตอนไหนก็ได้ เช่น หลังจากพระภิกษุสามเณรฉันเพลแล้ว หรือจะนิมนต์พระมาสวดมนต์ ฉันเพลที่บ้าน แล้วบังสุกุลก็ได้ หรืออาจจะนิมนต์พระไปยังสถานที่เก็บหรือบรรจุอัฐิ หากไม่มีให้เขียนชื่อผู้ที่ล่วงลับไปแล้วลงในกระดาษแผ่นนั้นเสีย เช่นเดียวกับการเผาศพ การสรงน้ำพระ อาจจะสรงน้ำพระภิกษุสามเณร หรือสรงน้ำพระพุทธรูปก็ได้
การปล่อยนก ปล่อยปลา เป็นการทำบุญทำทานอีกรูปแบบหนึ่ง โดยปล่อยให้ไปสู่อิสระ การรดน้ำผู้ใหญ่ หรือการรดน้ำขอพร เป็นการแสดงความเคารพต่อผู้ใหญ่ของครอบครัว หรือผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ การรดน้ำผู้ใหญ่อาจจะรดน้ำหรือรดเฉพาะที่ฝ่ามือก็ได้ ดังนั้น จึงควรมีผ้านุ่งห่มไปมอบให้ด้วย เพื่อจะได้ผลัดเปลี่ยนหลังจากเสร็จสิ้นพิธีแล้ว
การเล่นรดน้ำ หลังจากเสร็จพิธีการต่างๆ แล้วเป็นการเล่นรดน้ำเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างญาติมิตร โดยการใช้น้ำสะอาดผสมน้ำอบหรือน้ำหอม หรือจะใช้น้ำอบก็ได้ รดกันเบาๆ ด้วยความสุภาพ การเล่นรื่นเริงต่างๆ สุดแล้วแต่ความนิยมของท้องถิ่นนั้น
ประเพณีปฏิบัติเหล่านี้อาจจะมีความแตกต่างกันออกไปบ้างตามแต่ละท้องถิ่น การจะยึดถือปฏิบัติอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและความต้องการของชุมชนเป็นสำคัญ
เทศกาลสงกรานต์นอกจากจะเป็นวันขึ้นปีใหม่ของคนไทยแล้ว ยังถือเป็นวันสำคัญของคนไทยอีก คือ วันผู้สูงอายุแห่งชาติและวันครอบครัว
วันผู้สูงอายุแห่งชาติ คือ วันสำหรับผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป คณะรัฐมนตรีได้ลงมติเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2525 อนุมัติให้วันที่ 13 เมษายน ของทุกปีเป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติ โดยได้กำหนดนโยบายเกี่ยวกับผู้สูงอายุทั้งด้านสุขภาพอนามัย การศึกษา สังคมวัฒนธรรม ความมั่นคงทางรายได้ การทำงาน และด้านสวัสดิการสังคม นอกจากนี้ ยังให้มีการจัดกิจกรรมสำหรับผู้สูงอายุทุกปี อาทิ การกราบขอพรและการมอบของขวัญให้แก่ผู้สูงอายุ เป็นต้น
วันครอบครัว จะตรงกับวันที่ 14 เมษายนของทุกปี เป็นวันที่ต้องการให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของครอบครัวให้มากขึ้น ดังนั้น เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2532 คณะรัฐมนตรี ซึ่งมีพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีมติเห็นชอบและอนุมัติให้วันที่ 14 เมษายนของทุกปีเป็นวันแห่งครอบ ครัว ซึ่งตรงกับวันสงกรานต์ของไทย ด้วยเหตุผลว่าในวันนี้เป็นวันที่สมาชิกในครอบครัวมีโอกาสพบปะกันได้โดยสะดวก
จะเห็นได้ว่าเทศกาลสงกรานต์เป็นประเพณีที่ได้ยึดถือปฏิบัติกันมาเนิ่นนาน ที่มีความงดงาม อ่อนโยน เอื้ออาทร และเต็มไปด้วยบรรยากาศของความกตัญญู ความเคารพซึ่งกันและกัน ซึ่งทุกคนจะหาโอกาสกลับบ้านไปหาพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ รดน้ำขอพรเพื่อความเป็นสิริมงคลในการเริ่มต้นปีใหม่ เป็นกำลังใจกันและกันในการดำรงชีวิต
เป็นวันแห่งการแสดงความกตัญญู โดยการปรนนิบัติต่อพ่อแม่ ผู้มีพระคุณที่มีชีวิตอยู่ และทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว และยังเป็นวันที่ครอบครัวได้อยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา ได้ทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน เพื่อสานสัมพันธ์กันภายในครอบครัว
เป็นความงดงามที่บ่งบอกถึงคุณลักษณะของความเป็นไทยได้อย่างแท้จริง....
นางสงกรานต์ ทรงนามว่า "โคราคะเทวี" ทรงพาหุรัด ทัดดอกปีบ อาภรณ์แก้วมุกดาหาร ภักษาหารน้ำมัน พระหัตถ์ขวาทรงพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า เสด็จไสยาสน์หลับเนตรมาเหนือหลังพยัคฆะ (มีเสือเป็นพาหนะ)
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
ภาพประกอบจาก Glitter.kapook.com