x close

วันสถาปนาลูกเสือแห่งชาติ 1 ก.ค. วันสำคัญของไทย


          วันสถาปนาลูกเสือแห่งชาติ 1 กรกฎาคม ของทุกปี วันสำคัญของไทย มาอ่านประวัติ ความสำคัญ และการกำหนดวันสถาปนาลูกเสือแห่งชาติกันเลย


วันสถาปนาลูกเสือแห่งชาติ


ประวัติวันลูกเสือโลก ถือกำเนิดขึ้นตั้งแต่เมื่อใด


          ท่านลอร์ดบาเดน เพาเวลล์ (บี.พี.) เป็นผู้ก่อตั้งกิจการลูกเสือครั้งแรกที่ประเทศอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ. 2450 โดยมีจุดประสงค์เพื่อเตรียมคนไว้เป็นทหาร และฝึกให้คนบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคม หลังจากนั้นกิจการลูกเสือก็เริ่มแพร่ขยายเข้าไปในยุโรป ที่ไม่มีพระราชบัญญัติเกณฑ์ทหาร กระทั่งแพร่ขยายเข้าไปในประเทศสหรัฐอเมริกา และได้ตั้งกองลูกเสือขึ้นเป็นประเทศที่ 2 
 
         
เมื่อกิจการลูกเสือแพร่หลายขึ้นในปี พ.ศ. 2451 ท่านลอร์ดบาเดน เพาเวลล์ จึงได้แต่งหนังสือฝึกอบรมลูกเสือขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์ในการเรียนการสอน โดยหนังสือเล่มดังกล่าวมีชื่อว่า "Scouting For Boys" และคำว่า "Scout" ซึ่งใช้เรียกแทน "ลูกเสือ" มีความหมายตามตัวอักษร คือ

          S : Sincerity หมายถึง ความจริงใจ มีน้ำใสใจจริงต่อกัน
          C : Courtesy หมายถึง ความสุภาพอ่อนโยน เป็นผู้มีมารยาทดี
          O : Obedience หมายถึง การเชื่อฟัง อ่อนน้อมถ่อมตน อยู่ในโอวาท
          U : Unity หมายถึง ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน รู้รักสามัคคี
          T : Thrifty หมายถึง ความมัธยัสถ์ ใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด

ลอร์ดบาเดน เพาเวลล์ บิดาแห่งลูกเสือโลก

ลอร์ดบาเดน เพาเวลล์ บิดาแห่งลูกเสือโลก
ภาพจาก : Olga Popova/shutterstock.com


จุดเริ่มต้นของกิจการลูกเสือในประเทศไทย


         
สำหรับในประเทศไทย กิจการลูกเสือเริ่มต้นขึ้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนากองเสือป่าขึ้นก่อนเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2454 เพื่อฝึกอบรมข้าราชการพลเรือนให้เรียนรู้วิชาการด้านทหาร เพื่อเป็นกำลังสำรองในยามเกิดศึกสงคราม และเพื่อบำเพ็ญประโยชน์ต่อประชาชนในยามสงบ เช่น ช่วยปราบปรามโจรผู้ร้าย เป็นต้น นอกจากนี้ยังทรงเห็นว่าลูกเสือจะช่วยให้คนไทยรู้จักรักชาติ มีมนุษยธรรม มีความเสียสละ สามัคคี และมีความกตัญญู

          กระทั่งอีก 2 เดือนถัดมา เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่ากิจการเสือป่าเจริญก้าวหน้ามั่นคงดีแล้ว พระองค์จึงมีพระบรมราชโองการจัดตั้งกองลูกเสือขึ้นในวันที่ 1 กรกฎาคม ซึ่งถือเป็นประเทศที่ 3 ของโลกที่จัดตั้งกองลูกเสือขึ้นต่อจากประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกา โดยผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นลูกเสือไทยคนแรกคือ "นายชัพน์ บุนนาค"

          จากนั้นนานาชาติในยุโรปจึงจัดตั้งกองลูกเสือของตนเองขึ้นบ้าง ทำให้ลูกเสือกลายเป็นองค์การสากล และมีความสัมพันธ์กันทั่วโลก โดยถือว่าลูกเสือทั่วโลกเป็นพี่น้องกันหมด


รัชกาลที่ 6
 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบิดาแห่งการลูกเสือไทย
ภาพจาก : vajirafoundation


ลูกเสือกองแรกของไทย


          ลูกเสือกองแรกของไทยก่อตั้งขึ้นที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง เรียกว่า "ลูกเสือกรุงเทพฯ ที่ 1" ก่อนที่จะขยายตัวไปจัดตั้งตามโรงเรียนและสถานที่ต่าง ๆ โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานคติพจน์ เพื่อให้เด็กที่จะเข้าประจำการในกองลูกเสือได้ปฏิญาณตนว่า "เสียชีพอย่าเสียสัตย์"

          ในสมัยนั้นกิจการลูกเสือไทยเลื่องลือไปยังนานาชาติว่า "พระเจ้าแผ่นดินสยามทรงใฝ่พระราชหฤทัยในกิจการลูกเสือเป็นอย่างยิ่ง" ถึงกับทำให้กองลูกเสือที่ 8 ของประเทศอังกฤษ ได้มีหนังสือขอพระราชทานนามลูกเสือกองนี้ว่า "กองลูกเสือในพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยาม" ซึ่งพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้ตามความประสงค์ และลูกเสือกองนี้ได้ติดเครื่องหมายช้างเผือกที่แขนเสื้อทั้งสองข้าง ซึ่งยังปรากฏอยู่ตราบเท่าทุกวันนี้

          หลังจากทรงสถาปนากิจการลูกเสือขึ้นมาแล้ว ได้โปรดเกล้าฯ ให้ตราข้อบังคับลักษณะการปกครองลูกเสือ และตั้งสภากรรมการจัดการลูกเสือแห่งชาติขึ้น โดยพระองค์ทรงดำรงตำแหน่งสภานายก ต่อมาทุกครั้งที่พระองค์เสด็จฯ ไปยังจังหวัดใดก็ตาม ก็จะโปรดเกล้าฯ ให้กระทำพิธีเข้าประจำกองลูกเสือประจำจังหวัดนั้น ๆ ให้ด้วย

วันสถาปนาลูกเสือ
ภาพจาก : Sunti / shutterstock.com

          หลังจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้ทรงฟื้นฟูกิจการลูกเสืออีกครั้ง โดยในปี พ.ศ. 2470 พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้มีการชุมนุมลูกเสือแห่งชาติขึ้นเป็นครั้งแรกในบริเวณพระราชอุทยานสราญรมย์ และจัดให้อบรมลูกเสือหลายรุ่น กระทั่งรุ่นสุดท้ายในปี พ.ศ. 2475 ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้น กิจการลูกเสือจึงได้รับการปรับปรุงใหม่ โดยรัฐบาลได้จัดตั้งหน่วยยุวชนทหาร และรับเด็กที่เคยเป็นลูกเสือมาแล้วมาฝึกวิชาทหาร ส่วนกิจการลูกเสือก็ขยายให้กว้างขวางขึ้น โดยมีการจัดตั้งกองลูกเสือเหล่าเสนาและลูกเสือเหล่าสมุทรเสนาขึ้น เพื่อฝึกร่วมกับยุวชนทหาร ทำให้กิจการลูกเสือซบเซาลงบ้างในยุคนี้

          ในปี พ.ศ. 2490 กิจการลูกเสือกลับมาฟื้นฟูอีกครั้ง หลังจากทางราชการได้จัดชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ และส่งเจ้าหน้าที่ในกองลูกเสือไปรับการฝึกอบรมวิชาลูกเสือตามมาตรฐานสากลและตามแบบนานาประเทศ กระทั่งมีพระราชบัญญัติลูกเสือบังคับใช้ โดยคณะกรรมการลูกเสือแห่งชาติเป็นผู้บริหาร

          วัตถุประสงค์ของขบวนการลูกเสือได้รับการปรับปรุงและเน้นให้เห็นชัดเจนรัดกุมยิ่งขึ้น มีความว่า "คณะลูกเสือแห่งชาติมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาลูกเสือทั้งทางกาย สติปัญญา จิตใจ และศีลธรรม ให้เป็นพลเมืองดี มีความรับผิดชอบ สร้างสรรค์สังคมให้มีความเจริญก้าวหน้า เพื่อความสุขและความมั่นคงของประเทศชาติ"

วันสถาปนาลูกเสือ
ภาพจาก : Herwin Bahar / shutterstock.com

การกำหนดวันสถาปนาลูกเสือแห่งชาติ


         
เพื่อเป็นการระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงก่อตั้งกิจการลูกเสือไทยให้พัฒนารุ่งเรือง มาจวบจนทุกวันนี้ ทางราชการจึงกำหนดให้ทุกวันที่ 1 กรกฎาคม ของทุกปี เป็น "วันคล้ายวันสถาปนาคณะลูกเสือแห่งชาติ" หรือ "วันลูกเสือ"

          โดยในวันนี้บรรดาลูกเสือไทยจะจัดกิจกรรมที่เป็นการระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน รวมทั้งนำพวงมาลาไปถวายบังคมที่พระบรมรูป สถานพระบรมราชานุสรณ์ และจัดให้มีการสวนสนามในโรงเรียน หรือสถานที่ต่าง ๆ เช่น สนามศุภชลาศัย หรือสนามกีฬาแห่งชาติ ที่ทุก ๆ ปีจะมีเหล่าลูกเสือจำนวนกว่าหมื่นคนมาร่วมเดินสวนสนาม เพื่อแสดงความเคารพและกล่าวทบทวนคำปฏิญาณต่อองค์พระประมุขคณะลูกเสือแห่งชาติ เพื่อประกาศความเป็นลูกเสืออย่างแท้จริง

ประเภทของลูกเสือไทย


          - ลูกเสือสำรอง : อายุ 8-11 ขวบ เทียบชั้นเรียน ป.1-4 มีคติพจน์คือ ทำดีที่สุด (DO YOUR BEST)

          - ลูกเสือสามัญ : อายุ 12-13 ปี เทียบชั้นเรียน ป.5-6 มีคติพจน์คือ จงเตรียมพร้อม (BE PREPARED)

          - ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ : อายุ 15-17 ปี เทียบชั้นเรียน ม.1-3 มีคติพจน์คือ มองไกล (LOOK WIDE)

          - ลูกเสือวิสามัญ : อายุ 17-23 ปี เทียบชั้นเรียน ม.4-6 มีคติพจน์คือ บริการ (SERVICE)

          - 
ลูกเสือชาวบ้าน : อายุ 15-18 ปี มีคติพจน์คือ เสียชีพอย่าเสียสัตย์

          - ส่วนผู้หญิงให้เรียกว่า "เนตรนารี" และแบ่งประเภทเหมือนลูกเสือ


คำปฏิญาณของลูกเสือ


          "ด้วยเกียรติของข้า ข้าสัญญาว่า

          - ข้อ 1 ข้าจะจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์
          - ข้อ 2 ข้าจะช่วยเหลือผู้อื่นทุกเมื่อ
          - ข้อ 3 ข้าจะปฏิบัติตามกฎของลูกเสือ

วันสถาปนาลูกเสือ
ภาพจาก chatgunner / shutterstock.com

กฎของลูกเสือ มีทั้งหมด 10 ข้อคือ


          - ข้อ 1 ลูกเสือมีเกียรติเชื่อถือได้
          - ข้อ 2 ลูกเสือมีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์
          - ข้อ 3 ลูกเสือมีหน้าที่กระทำตนให้เป็นประโยชน์และช่วยเหลือผู้อื่นทุกเมื่อ
          - ข้อ 4 ลูกเสือเป็นมิตรของคนทุกคนและเป็นพี่น้องกับลูกเสือทั่วโลก
          - ข้อ 5 ลูกเสือเป็นผู้สุภาพเรียบร้อย
          - ข้อ 6 ลูกเสือมีความเมตตากรุณาต่อสัตว์
          - ข้อ 7 ลูกเสือเชื่อฟังคำสั่งของบิดามารดาและผู้บังคับบัญชาด้วยความเคารพ
          - ข้อ 8 ลูกเสือมีใจร่าเริงและไม่ย่อท้อต่อความลำบาก
          - ข้อ 9 ลูกเสือเป็นผู้มัธยัสถ์
          - ข้อ 10 ลูกเสือประพฤติชอบด้วยกาย วาจา ใจ

ราชสดุดีเพลงลูกเสือ


          ข้าลูกเสือเชื้อไทยใจเคารพ
          ขอน้อมนบบาทบงสุ์พระทรงศรี
          พระบาทมงกุฎเกล้าฯ จอมเมาลี
          ทรงปรานีก่อเกื้อลูกเสือมา
          ทรงอุตส่าห์อบรมบ่มนิสัย
          ให้มีใจรักชาติศาสนา
          ทรงสั่งสอนสรรพกิจวิทยา
          เป็นอาภาผ่องพุทธิ์วุฒิไกร
          ดังดวงจันทราทิตย์ประสิทธิ์แสง
          กระจ่างแจ้งแจ่มภพสบสมัย
          พระคุณนี้จะสถิตสนิทใน
          ดวงหทัยทวยราษฎร์ไม่คลาดเอย

เช็ก ปฏิทิน 2567 ทั้ง วันหยุดราชการ วันหยุดธนาคาร วันพระ และวันสำคัญต่าง ๆ

บทความสำคัญอื่น ๆ ที่น่าสนใจ


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วันสถาปนาลูกเสือแห่งชาติ 1 ก.ค. วันสำคัญของไทย อัปเดตล่าสุด 22 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 15:57:22 368,173 อ่าน
TOP