x close

ตีกลองทวนความจำ 36 ปี 14 ตุลา 2516 รำลึก วันมหาวิปโยค


ตีกลองทวนความจำ 36 ปี 14 ตุลา 2516 รำลึก วันมหาวิปโยค (มติชน)

          "สิบสี่ตุลา วันยิ่งใหญ่ของไทยทั้งชาติ เลือดไทยต้องไหลสาดอาบพื้นธรณี เพื่อสิทธิเสรี สู้เพื่อน้องพี่ ชีพนี้ยอมพลี สดุดีวีรกรรมของ..วีรชน" เสียงเพลงที่สร้างความฮึกเหิมจากวงกรรมาชนเมื่อ 36 ปีก่อน ดูเหมือนจะลอยมากระทบหูในห้วงแห่งความทรงจำของใครหลายคนที่เคยร่วมในเหตุการณ์

          จึงเป็นธรรมดาที่เรื่องราวของ 14 ตุลา 2516 ยังคงฝังอยู่ในใจและเป็นจุดเริ่มต้นอะไรหลายๆ อย่าง ในด้านการสร้างสรรค์สังคมและผลักดันความเป็นประชาธิปไตยในการเมืองไทย ของคนที่เคยผ่านเหตุการณ์

          ผ่านมาแล้วถึง 36 ปี เสียงหลายเสียงจากคนเคยผ่านเหตุการณ์เริ่มดังขึ้น เชิงท้อแท้ที่ว่าคนรุ่นใหม่ไม่มีใครรับรู้ถึงประวัติศาสตร์วันมหาวิปโยคที่ผ่านมา เจตนารมณ์ของวีรชนเหล่านั้นคงจะมลายหายสูญ ไร้ความหมาย เท็จจริงอย่างไรมีความเห็นของคนเคยผ่านเหตุการณ์ในล้อมกรอบข้างล่างให้รับรู้

          แต่สำหรับ ณ วินาที ขอแปลงกายเป็นจอมอนิเตอร์ขนาดยักษ์ ย้อนภาพในอดีตของเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นใหม่ คนรุ่นกลาง คนรุ่นเก่า หรือคนที่เคยผ่านเหตุการณ์มาแล้ว ให้ได้รับรู้ร่วมกันอีกครั้ง

          จับภาพไปจุดเริ่มคือวันที่ 5 ตุลาคม เวลา 16.00 น. สมาชิกกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญประมาณ 10 คน อาทิ นายธีรยุทธ บุญมี, นายประสาร มฤคพิทักษ์, นายประพันธ์ศักดิ์ กมลเพชร, นายธัญญา ชุนชฎาธาร ได้แถลงข่าวเป็นครั้งแรกถึงโครงการรณรงค์เรียกร้องรัฐธรรมนูญ บริเวณสนามหญ้าอนุสาวรีย์ทหารอาสา โดยเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งร่างรัฐธรรมนูญ และประกาศใช้โดยเร็วที่สุดด้วยสันติวิธี โดยได้นำรายชื่อผู้ลงนามเรียกร้องรัฐธรรมนูญ 100 คนแรก ซึ่งอยู่ในแวดวงต่างๆ มาเปิดเผยด้วย 

          วันที่ 6 ตุลาคม เวลา 14.00 น. ตำรวจสันติบาลและนครบาล เข้าจับกุมกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญทันที 11 คน ประกอบด้วยอาจารย์ นิสิตนักศึกษา นักหนังสือพิมพ์ และนักการเมือง ถูกแจ้งข้อหา "มั่วสุมและมีการชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน" ตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 4

          วันที่ 7 ตุลาคม ช่วงเที่ยง ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) ได้เรียกประชุมคณะกรรมการบริหาร และออกแถลงการณ์คัดค้านการจับกุม ช่วงบ่าย เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุม นายก้องเกียรติ คงคา นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ปีที่ 3 มหาวิทยาลัยรามคำแหง เพิ่มอีกคน

          วันที่ 8 ตุลาคม ตอนเช้า มีการโปรยใบปลิวและปิดโปสเตอร์โจมตีรัฐบาล ว่าเป็นเผด็จการในตัวเมืองเชียงใหม่ ขณะที่ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีโปสเตอร์โจมตีรัฐบาลอย่างรุนแรงปิดทั่วบริเวณ และเรียกร้องให้นักศึกษาไปชุมนุมกันที่หอประชุมใหญ่ เพื่อไปเยี่ยมผู้ถูกจับกุม วันเดียวกัน พล.ต.ต.ชัย สุวรรณศร ผู้บังคับการตำรวจสันติบาล ออกหมายจับนายไขแสง สุกใส อดีต ส.ส.นครพนม ในข้อหาอยู่เบื้องหลังกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ

          ต่อมาในตอนบ่าย จอมพลประภาส ชี้แจงในที่ประชุมกระทรวงมหาดไทย ว่ามีคอมมิวนิสต์จากต่างประเทศเข้ามาแทรกแซงการเคลื่อนไหวของนิสิต นักศึกษา และเย็นวันเดียวกัน องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) ได้ชุมนุมประท้วงที่ลานโพธิ์ให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้งหมด

          วันที่ 9 ตุลาคม บรรยากาศภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการประกาศงดสอบ และชักชวนให้ไปชุมนุมที่ลานโพธิ์แทนพร้อมประณามการกระทำของรัฐบาล นักศึกษาหลายสถาบันเริ่มชุมนุม อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 205 คน ทำจดหมายเปิดผนึกถึงจอมพลถนอม เรียกร้องให้ปล่อยผู้ต้องหาทั้ง 13 คน โดยด่วน สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยออกแถลงการณ์ของรัฐบาล ระบุว่าบุคคลทั้ง 13 คนที่ถูกตำรวจจับมีแผนล้มล้างรัฐบาล เป็นภัยต่อความสงบสุขของประชาชน

          วันที่ 10 ตุลาคม นักเรียน นักเรียนอาชีวะ นิสิต นักศึกษาในกรุงเทพฯ จากหลายสถาบันเริ่มทยอยกันมาชุมนุมที่ลานโพธิ์ และย้ายไปที่สนามฟุตบอล พอถึงเที่ยงคืนมีบุคคลลึกลับนำใบปลิวเถื่อนโจมตีกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญไปโปรยรอบสนามฟุตบอลธรรมศาสตร์

          วันที่ 11 ตุลาคม นิสิต นักศึกษา และประชาชนจากทั่วกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียงทยอยมายังสนามฟุตบอล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตลอดทั้งวัน จนเต็มแน่น จอมพลถนอม กิตติขจร สั่งให้ทหาร 3 เหล่าทัพ เตรียมพร้อมเพื่อรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นจากการชุมนุม 

          วันที่ 12 ตุลาคม ประชาชนหลั่งไหลไปรวมตัวที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการผลัดเปลี่ยนกันขึ้นอภิปรายบนเวทีของผู้นำนักศึกษา คลื่นมนุษย์เบียดเสียดกันกว่า 2 แสนคน วิทยุกรมประชาสัมพันธ์ประกาศเตือนพ่อแม่ผู้ปกครองมิให้ปล่อยลูกหลานมาร่วมชุมนุม ศูนย์นิสิตฯ ออกแถลงการณ์ยืนยันให้รัฐบาลปล่อยตัว 13 ผู้ต้องหาโดยไม่มีเงื่อนไข 

          วันที่ 13 ตุลาคม ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยเริ่มเคลื่อนไหว แบ่งหน้าที่ในการปฏิบัติงานออกเป็น 3 ชุด โดยชุดที่ 1 ไปเจรจากับรัฐบาล ชุดที่ 2 ไปขอเข้าเฝ้าฯพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระตำหนักจิตรลดาฯ ชุดที่ 3 ทำหน้าที่ในการควบคุมการเคลื่อนไหวขบวนของนักเรียน นิสิต นักศึกษา

          นายกสโมสรจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรรมการศูนย์ฯ อีก 2 คน เข้าพบ จอมพลประภาส จารุเสถียร ที่สวนรื่นฤดี เพื่อขอทราบการตัดสินใจของรัฐบาลเกี่ยวกับข้อเสนอให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้ง 13 คน ระหว่างเวลา 16.20-17.20 น. ตัวแทนศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯ 9 คน ได้เข้าเฝ้าฯพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งกรรมการศูนย์ฯ ได้ตกลงว่าจะอัญเชิญพระบรมราโชวาทแจ้งให้ฝูงชนทราบ

          เวลา 20.00 น. สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ประกาศว่ารัฐบาลยอมรับข้อเสนอของศูนย์ฯ ปล่อยผู้ถูกจับกุมทั้ง 13 คน และจอมพลประภาส ได้ให้คำรับรองว่าจะร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายในเดือนตุลาคม 2517 

          ที่สะพานมัฆวาฬฯ เวลา 21.00 น. นายสมบัติ ธำรงธัญญวงศ์ เลขาธิการศูนย์ฯ ขึ้นไปแจ้งให้ผู้ร่วมชุมนุมทราบว่า กรรมการบริหารศูนย์ฯ ได้เซ็นสัญญากับรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว และกำลังนำพระบรมราโชวาทฯ มาแจ้งให้ทราบ ผู้ร่วมชุมนุมต่างแสดงความยินดี

          เวลา 22.00 น. กรมประชาสัมพันธ์ ออกแถลงการณ์ ว่าบัดนี้ได้มีบุคคลที่มิใช่นักศึกษา ถือโอกาสอภิปรายโจมตีรัฐบาลและยุยงส่งเสริมให้เกิดความวุ่นวายต่อไป

          ส่วนทางด้านลานพระบรมรูปทรงม้า นายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการของศูนย์ฯ ได้แถลงจากรถบัญชาการขอให้กรรมการศูนย์ฯ รีบเดินทางมาพบฝ่ายปฏิบัติการโดยด่วน เพื่อชี้แจงให้ผู้ชุมนุมได้ทราบ เพราะสถานการณ์เริ่มเลวร้ายลง ไม่มีใครเชื่อข่าวการตกลงยอมรับเงื่อนไขกับรัฐบาล จนกว่าจะได้ทราบจากปากผู้แทนของรัฐบาล หรือคณะกรรมการศูนย์ฯเอง

          ปรากฏว่าในเวลา 23.30 น. นายพีรพล ตริยะเกษม นายก อมธ. และนายเสกสรรค์ ได้รับข่าวการตั้งกำลังประชิดของฝ่ายทหารตำรวจ รวมทั้งข่าวที่จะใช้รถถังปราบปรามผู้เดินขบวนที่จะเข้าไปใกล้สวนพุดตาน ในที่สุดนายเสกสรรค์ตัดสินใจสั่งเคลื่อนขบวนจากลานพระบรมรูปทรงม้าไปยังสวนจิตรลดาฯ ในเวลา 24.00 น.

          วันที่ 14 ตุลาคม เวลาประมาณ 01.00 น. ส่วนหน้าของขบวนนักศึกษาเคลื่อนผ่านประตูทางด้านทิศตะวันตกของสวนจิตรลดาฯ แล้วเผชิญหน้ากับแถวปิดกั้นของตำรวจปราบจลาจล จึงไม่สามารถเคลื่อนขบวนต่อไปได้

          เมื่อคณะกรรมการศูนย์ฯ มาถึงหลังแนวปิดกั้นของตำรวจ เลขาธิการและกรรมการของศูนย์ฯ ได้ผลัดขึ้นไปพูดผ่านเครื่องขยายเสียงโจมตีนายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ว่ามีเจตนาไม่บริสุทธิ์ และมีคอมมิวนิสต์สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ขอให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนสลายตัวกลับไป เพราะคณะกรรมการศูนย์ฯ ได้ตกลงกับรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว

          เวลา 02.45 น. นายธีรยุทธ บุญมี เข้าไปพบกับนายเสกสรรค์ ปรับความเข้าใจกันแล้วช่วยกันประกาศผ่านไมโครโฟนเพื่อให้ผู้ชุมนุมคลายความสงสัยลง กระทั่งเวลา 04.45 น. พ.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร นายตำรวจประจำสำนักพระราชวัง นายธีรยุทธ นายเสกสรรค์ ออกจากพระราชวังสวนจิตรลดาฯ ตรงไปยังรถบัญชาการ ช่วยกันประกาศให้ผู้ชุมนุมได้เข้าใจถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและความสำเร็จในการเจรจากับรัฐบาล

          พ.ต.อ.วสิษฐ อัญเชิญพระบรมราโชวาทอ่านให้ที่ชุมนุมฟัง จากนั้นฝูงชนก็เริ่มแยกย้ายกันออกจากที่ชุมนุม ในเวลาประมาณ 06.00 น. แต่แล้วกลับถูกกั้นโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณ 250 คน จนเมื่อเวลาประมาณ 06.30 น. เกิดการขว้างปาและประจันหน้ากันรุนแรงขึ้น ในที่สุดตำรวจหน่วยปราบปรามภายใต้การบัญชาการของ พล.ต.ท.มนต์ชัย พันธุ์คงชื่น ก็ได้ใช้ไม้กระบองและโล่เข้าตีและดันผู้เดินขบวนให้ถอยร่นไป 

          ขณะเดียวกันตำรวจกองปราบในแนวหลังได้รับคำสั่งให้ยิงแก๊สน้ำตาจนฝูงชนแตกหนี ผู้ร่วมชุมนุมจำนวนมากถูกดัน ถูกตี และสำลักแก๊สน้ำตาจนตกน้ำ ต่างวิ่งหนีเอาชีวิตรอด บางคนต่อสู้โดยใช้มือเปล่า ไม้ ก้อนหิน และขวดเท่าที่จะหยิบฉวยได้ตามพื้นถนน

          วันที่ 15 ตุลาคม เวลา 07.00 น. ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า นักเรียนอาชีวะและนักศึกษาได้ใช้รถเสบียงบรรทุกไม้จำนวนมากมาแจกให้กับนักเรียน นักศึกษาต่อสู้กับตำรวจ ขณะที่ตำรวจที่สังเกตการณ์อยู่ได้พยายามยิงแก๊สน้ำตาเพื่อให้ฝูงชนแตกกระจายแต่ก็ถูกตอบโต้ด้วยไม้และก้อนหิน นักเรียน นิสิต นักศึกษาที่ทราบข่าวการปะทะที่สวนจิตรลดาฯ ได้เริ่มทยอยเข้าไปรวมกันในธรรมศาสตร์จำนวนมาก

          เวลาประมาณ 08.30 น. นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน เคลื่อนจากลานพระบรมรูปทรงม้า ตรงไปยังกองบัญชาการตำรวจนครบาลผ่านฟ้า เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ มีการขว้างปาไม้และก้อนหินเข้าไปยัง บช.น. และมีรถกระจายเสียงของนักศึกษาประกาศให้ไปรวมตัวกันที่ธรรมศาสตร์ 

          ส่วนที่หน้ากรมประชาสัมพันธ์ ก็มีนักศึกษาประชาชนชุมนุมกันหลายพันคน และได้เข้ายึดกรมประชาสัมพันธ์และสำนักงานคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติราชการ (ก.ต.ป.)

          เวลา 09.30 น. สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ของจอมพลถนอม บิดเบือนว่ามีนักเรียนและผู้แต่งกายคล้ายทหารก่อวินาศกรรม บุกเข้าไปในสวนจิตรลดาฯ และสถานที่ราชการ โดยมุ่งหมายที่จะลบล้างเปลี่ยนแปลงการปกครอง ระหว่างนั้นเอง พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร ในฐานะหัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการปราบปรามจลาจล พร้อมกับทหารและตำรวจ ก็ได้ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ 2 ลำ บินตรวจการณ์และรายงานข่าวบิดเบือนว่าในธรรมศาสตร์มีการซ่องสุมอาวุธและผู้คน และการจลาจลครั้งนี้เป็นไปตามแผนของคอมมิวนิสต์ นอกจากนี้ยังมีการยิงปืนเอ็ม 16 และระเบิดแก๊สน้ำตาลงใส่ประชาชนในธรรมศาสตร์ตลอดทั้งวัน

          เหตุการณ์บานปลายลุกลามออกไปอย่างที่ไม่มีใครคาดคิด ทหารและตำรวจออกปราบฝูงชนโดยใช้ทั้งอาวุธปืน รถถัง และเฮลิคอปเตอร์ มีการต่อสู้ปะทะกันตลอดถนนราชดำเนิน ตั้งแต่ผ่านฟ้าถึงสนามหลวง โดยเฉพาะที่หน้ากรมประชาสัมพันธ์ กรมสรรพากร กองสลากกินแบ่ง โรงแรมรัตนโกสินทร์ ตึก ก.ต.ป. กองบัญชาการตำรวจนครบาลผ่านฟ้า รวมทั้งบริเวณสถานีตำรวจชนะสงคราม และย่านบางลำภู มีการเผาทำลายสถานที่ราชการต่างๆ ศพวีรชนที่สละชีวิตหลายคนถูกแห่เพื่อเป็นการประจานความทารุณของทหารตำรวจและชักชวนให้ประชาชนไปร่วมต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ส่วนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นักศึกษาก็ลำเลียงผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บไปโรงพยาบาลศิริราชทางเรือตลอดเวลา

          รัฐบาลมีคำสั่งไม่ให้ประชาชนออกนอกบ้านในเวลากลางคืน การปราบปรามนักศึกษาประชาชนก็ยังดำเนินต่อไป กระทั่งเวลา 18.30 น. สถานีวิทยุกรมประชาสัมพันธ์และสถานีโทรทัศน์ทุกสถานี ถ่ายทอดแถลงการณ์การลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของจอมพลถนอม กิตติขจร

          ในเวลา 19.15 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีกระแสพระราชดำรัสทางวิทยุและโทรทัศน์ ขอให้ทุกฝ่ายระงับเหตุแห่งความรุนแรง

          อย่างไรก็ตาม ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก็ยังคงมีประชาชนมาชุมนุมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และยังคงมีตำรวจทหารยิงทำร้ายประชาชนอยู่ในบางบริเวณ

          ท่ามกลางความสับสน เมื่อถึงเวลา 23.30 น. นายสัญญา ธรรมศักดิ์ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ได้ปราศรัยทางโทรทัศน์ ขอให้ทุกฝ่ายคืนสู่ความสงบ และประกาศจะใช้รัฐธรรมนูญภายใน 6 เดือน

          ตลอดคืนนั้นยังคงมีเสียงปืนดังขึ้น ท้องฟ้าเหนือถนนราชดำเนินเป็นสีแดง ควันปืนพวยพุ่งเป็นหย่อมๆ การต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยดำเนินไปตลอดคืน

          เปิดใจ "สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ" รองประธานกรรมการมูลนิธิ 14 ตุลา

          คนลืมเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 กันหรือยัง?

          ผมคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา เหตุการณ์ผ่านมา 36 ปีแล้วเด็กรุ่นใหม่ก็ไม่ค่อยรู้แล้ว เขาเรียกรวมกันเป็น 16 ตุลา ไปแล้ว แต่แปลกนะ ช่วงปีสองปีนี้งาน 24 มิถุนา กลับคึกคักกว่า ผมว่าสถานการณ์บ้านเมืองมันไม่ค่อยเป็นประชาธิปไตย เลยทำให้คนรู้สึกว่าต้องกลับไปฟื้นเจตนารมณ์ของคณะราษฎร 

          ปัจจุบันคนให้ความสนใจการจัดงาน 14 ตุลาแค่ไหน?

          เมื่อ 3-4 ปีก่อน ก็พอสมควร โดยทั่วไปนอกจากจัดงานประจำแล้ว จะมีปาฐกถาทางประวัติศาสตร์บ้าง เชิงความรู้บ้าง เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชน อย่างปีนี้ก็เชิญ อาจารย์กุลดา เกตุบุญชู จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ มาเป็นปาฐก พอดีอาจารย์ทำวิจัยเรื่องประวัติศาสตร์ 14 ตุลา 

          จริง ๆ ก็มีปัญหาเหมือนกับสังคมไทยทั่วไป เราแบ่งกันเป็นเสื้อแดงกับเสื้อเหลือง ในมูลนิธิส่วนมากไม่แดง (หัวเราะ) อย่างปีนี้ทางมูลนิธิจัดงาน 14 ตุลา ตอนเช้า ตอนเย็นทางกลุ่ม 24 มิถุนา ก็มีการจัดชุมนุมที่สนามหลวง 

          การจัดงาน 14 ตุลา จะให้คนย้อนกลับมาตระหนักถึงการสมานฉันท์

          ผมว่าไม่หรอก เพราะว่าคนเดือนตุลาวันนี้ก็ไม่สมานฉันท์กันแล้ว การเรียกร้องให้สมานฉันท์อยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง เป็นการเรียกร้องที่เลื่อนลอย เป็นไปไม่ได้ครับ 

          ถ้ามองจากทรรศนะผม มันเกิดขึ้นไม่ได้ ผมย้ำตรงนี้ว่าถ้าไม่มีความเป็นธรรม หมายถึงว่าเฉพาะฝ่ายหนึ่งถูกเล่นงานอยู่ตลอด การสมานฉันท์ชนิดที่คนหนึ่งขี่คออีกคนหนึ่งอยู่ สมานฉันท์มันเกิดขึ้นไม่ได้ ฉะนั้น การสมานฉันท์ต้องควบคู่ไปกับการให้ความเป็นธรรม

          มูลนิธิ 14 ตุลา ได้งบประมาณในการจัดงานปีนี้

          ไม่มีครับ เพราะว่ามูลนิธิเป็นอิสระ นอกจากตอนที่สร้างอนุสรณ์สถานที่รัฐบาลบริจาคเงินมา แต่เงินเริ่มต้นเป็นเงินของศูนย์นิสิตตั้งแต่สมัย 14 ตุลา ปัจจุบันจึงเป็นเพื่อนฝูงช่วยเหลือกัน ปีนี้เราจะมีงานใหญ่ มีการออกหนังสือ "สมุดภาพ 14 ตุลา" เป็นสมุดภาพที่รวบรวมเหตุการณ์ ก่อน 14 ตุลา และ 14 ตุลา รวบรวมจากหนังสือ หนังสือพิมพ์ร่วมสมัย จากช่างภาพ มาพิมพ์เป็นเล่ม เพื่อหารายได้สมทบทุนมูลนิธิ พิมพ์มา 1,000 เล่ม เล่มละ 1,000 บาท ซึ่งหลังจากวันงานแล้วยังจะมีวางขายตามร้านหนังสือทั่วไป

          ยังคงจะมีงานต่อ ๆ ไปทุกปี

          คิดว่ามันคงเป็นอย่างนี้ งาน 14 ตุลา งานเสรีไทย ก็คงมีคนกลุ่มหนึ่งที่ให้ความสนใจ แต่จะให้เป็นกระแสคนทั้งสังคม คงยาก นอกจากว่ารัฐจะจัดมาเป็นโครงการใหญ่ของรัฐ 

          ลืม-ไม่ลืม ภาพประวัติศาสตร์เหตุการณ์ "สิบสี่ตุลา"

          - ภารดี ทิพเสนา

          อายุ 21 ปี นักศึกษา มศว ปี 4 

          "เห็นด้วยที่มีการจัดงานรำลึก แต่ในช่วงนี้สภาพสังคม การเมือง ที่ยุ่งเหยิงอาจจะทำให้เราไม่ได้ให้ความสนใจ เพราะรู้สึกว่าปัญหาการเมืองทุกวันนี้มันน่ารำคาญ ถ้าเราเอามาคิดก็ทุกข์ใจเปล่า เพราะเราทำอะไรกับมันไม่ได้ ฉะนั้นเลิกคิดดีกว่า ถ้าจะจัดงานควรเน้นให้เห็นถึงข้อดี-ข้อเสีย ของเหตุการณ์ 14 ตุลา เพื่อให้เห็นว่านี่เป็นเรื่องในอดีตที่ควรนำมาใช้เป็นบทเรียน ประยุกต์ใช้กับปัจจุบัน 

          "ที่สำคัญที่สุด คือ แต่ละคนมีความรักชาติ แต่ไม่ควรให้ความรักชาตินั้นย้อนกลับมาทำลายชาติ"

          - สุนิสา จันนา

          อายุ 22 ปี มหาวิทยาลัยบูรพา คณะพาณิชยศาสตร์ฯ

          "รู้จัก 14 ตุลาค่ะ เพราะเป็นเหตุการณ์สำคัญ เป็นวันที่เกิดเหตุการณ์ไม่สงบของบ้านเมือง มีผู้คนล้มตายเยอะแยะ มันเป็นประวัติศาสตร์ที่คนไทยควรจะระลึกถึงว่าบ้านเรามีการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งไม่น่าจะเกิดขึ้น และเห็นด้วยว่าควรจะจัดงาน ไม่ใช่เพื่อย้อนอดีต แต่เป็นการรำลึกถึงการสูญเสียที่ร้ายแรง ว่าที่เกิดขึ้นเป็นเพราะอะไร คิดว่าคนสนใจ อย่างที่เคยเห็นเทปแล้วรู้สึกสลดใจมาก"

          - สิทธิดา จิตทักษะ

          คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ

          "เคยได้ยินค่ะ เหตุการณ์ 14 ตุลา แต่ไม่ค่อยได้สนใจมากนัก แต่ก็เห็นว่าการปราบปรามของผู้มีอำนาจในยุคนั้นรุนแรงมาก ที่ผ่านมามีเพื่อนนักศึกษาออกไปร่วมเรียกร้องประชาธิปไตย แต่ไม่ได้รับการตอบรับจากผู้ใหญ่เท่าที่ควร ไม่ให้ความสำคัญกับเด็กที่ไปเข้าร่วม อย่าลืมว่าเด็กคืออนาคตของชาติ ปัจจุบันเด็กไม่ค่อยสนใจการเมืองอยู่แล้ว เมื่อไม่ให้ความสำคัญกับพวกเขา จึงไม่ค่อยมีนิสิต นักศึกษา เข้าร่วมในเรื่องการเมืองในปัจจุบัน

รำลึก 14 ตุลา 2552

          - ที่ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา 16 สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนินกลาง

          เวลา 07.00-09.00 น. พิธีตักบาตรพระสงฆ์จำนวน 37 รูป ด้านหน้าอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ตัวแทนองค์กรประชาธิปไตยวางพวงมาลา บริเวณลานอนุสรณ์สถาน พิธีกรรมทางศาสนา 3 ศาสนา พุทธ/คริสต์/อิสลาม

          เวลา 09.00-09.30 น. ตีกลองสะบัดชัยประกาศตุลาธรรมตุลาชัยเป็นอาณัติสัญญาณ เริ่มพิธีกล่าวสดุดีวีรชนประชาธิปไตย 

          เวลา 09.59-10.15 น. บทกวีรำลึก 36 ปี 14 ตุลา โดย จิระนันท์ พิตรปรีชา จบแล้วตีกลองสะบัดชัย ประกาศตุลาธรรมตุลาชัยเป็นอาณัติสัญญาณลา สิ้นสุดพิธีการรำลึก 

          - ที่ห้องประชุม 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว

          เวลา 10.45-11.45 น. ปาฐกถาเรื่อง "ความขัดแย้งทางการเมืองของไทย: ข้ามไปให้พ้นพลวัตภายใน" โดย ดร.กุลลดา เกษบุญชู-มี้ด

          เวลา 11.45-11.55 น. นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน ประธานมูลนิธิ 14 ตุลา มอบโล่รางวัลพิราบขาวแก่ปาฐก 

          เวลา 11.55-12.00 น. ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง กล่าวปัจฉิมกถา

          เวลา 13.30-15.00 น. แถลงเปิดตัวหนังสือ "สมุดภาพแห่งความทรงจำ จารึกประวัติศาสตร์ 14 ตุลา" โดย นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ 

          เวลา 15.00-17.30 น. เสวนา "5 ทศวรรษ ขบวนการนักศึกษา-ประชาชน เอเชีย บทเรียนจากการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยในต่างแดน" ศึกษากรณีประเทศในเอเชีย : จากพม่า อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เกาหลีใต้ จีน เนปาล ปาเลสไตน์ และติมอร์ตะวันออก โดย บุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ อดีตเลขาธิการสมาพันธ์นักศึกษาแห่งเอเชีย (ASA) ให้ความเห็นโดย ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา, เมธา มาสขาว ฯลฯ

          เวลา 18.00-21.00 น. "ดนตรีเดือนตุลา" เนื่องในโอกาสครบรอบ 36 ปี 14 ตุลาคม ที่ห้องประชุมชั้นใต้ดิน อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา




ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ตีกลองทวนความจำ 36 ปี 14 ตุลา 2516 รำลึก วันมหาวิปโยค อัปเดตล่าสุด 14 ตุลาคม 2552 เวลา 11:45:10 37,094 อ่าน
TOP