นักวิทย์เปิดเว็บคำนวณวันอุกกาบาตชนโลก (ไอเอ็นเอ็น)
นักดาราศาสตร์ สหรัฐ เปิดเว็บไซต์ อิมแพ็ค เอิร์ธ คำนวณ มหันตภัย วันอุกกาบาต พุ่งเข้าชนโลก
นักวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเพอร์ดู รัฐอินเดียนน่า สหรัฐอเมริกา ร่วมกับ วิทยาลัยอิมพีเรียล ในกรุงลอนดอนของอังกฤษ พัฒนาเว็บไซต์ที่ชื่อ อิมแพ็ค เอิร์ธ ขึ้นมาเอาไว้ใช้คำนวณว่า ถ้าหากอุกกาบาตตกลงมา จะเกิดผลกระทบอะไรขึ้นบ้าง เว็บไซต์ดังกล่าวอยู่ในรูปแบบมีปฏิสัมพันธ์ และมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ชัดเจน เพียงพอสำหรับให้ กระทรวงกลาโหม และสำนักงานอวกาศนาซ่าใช้งาน แต่ก็เหมาะกับนักเรียนนักศึกษา ที่ต้องการศึกษาหาความรู้
เจย์ เมลอช นักวิจัยเจ้าของโครงการ กล่าวว่า ทุกวันมีอุกกาบาต และดาวหางตกลงมายังโลก มากกว่า 100 ตัน ปีหนึ่ง ๆ จะมีชิ้นส่วนที่แตกแล้วบางชิ้นใหญ่เท่ารถเก๋งทั้งคัน ตกลงมาหลายครั้ง แต่ส่วนใหญ่จะเผาไหม้เมื่อเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลก เครื่องมือนี้ จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจสำหรับคนบนโลก
เหตุการณ์อุกกาบาตขนาดยักษ์มาเยือนโลก เฉลี่ยเกิดขึ้น ศตวรรษละครั้ง เมื่อ 65 ล้านปีก่อน อุกกาบาตที่ชื่อ ชิกซูลับ กว้าง 14 ก.ม. ตกลงมาล้างเผ่าพันธุ์ ไดโนเสาร์ เป็นสิ่งเกิดขึ้นได้น้อยมาก แต่อุกกาบาตลูกย่อม ๆ มีโอกาสตกลงมาบ่อย ๆ ในอนาคตใกล้ที่สุด คือ อุกกาบาตชื่อ อะโฟฟิส คาดว่า จะมาเฉี่ยวโลก ในปี 2579 หรือ อีก 26 ปีข้างหน้า มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 500 เมตร และเว็บไซอิมแพ็ก เอิร์ธ จะคำนวณให้รู้ว่า จะเกิดอะไรขึ้นถ้ามันตกลงมา
สำหรับการใช้งาน ขั้นแรกจะต้องป้อนขนาดอุกกาบาต หรือเส้นผ่าศูนย์กลางของมัน ตามด้วยความหนาแน่น ความเร็ว องศาการพุ่งชน และตำแหน่งที่ตกลงมาบนโลก จากนั้นเว็บไซต์จะประเมินผลที่เกิดขึ้น รวมถึงคลื่นแรงระเบิดในบรรยากาศ แรงสั่นสะเทือนของแผ่นดิน ขนาดของสึนามิ ความรุนแรง ความเสียหายและขนาดของหลุม รวมถึงโอกาสรอดของผู้ที่อยู่ใกล้เคียงด้วย
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก Impact Earth