เปิดตำนาน ราโชมอน นิยายสุดคลาสสิกแห่งแดนซามูไร




เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม 
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก suchmovingpictures.blogspot.com, pwttas.wordpress.comYoutube.com โพสต์โดย janusfilmsnyc

          เรียกได้ว่าเป็นภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์แห่งปีที่รวบรวมนักแสดงสุดยอดฝีมือไว้มากมายเลยทีเดียว สำหรับ "อุโมงค์ผาเมือง" ฝีมือการกำกับของ ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล ที่หยิบเอาเค้าโครงมาจากนิยายเก่าแก่ร้อยปีเรื่อง "ราโชมอน" ของนักประพันธ์ชาวญี่ปุ่นมาดัดแปลง จนสร้างเป็นเรื่องราวคดีฆาตกรรมพิศวงที่ลึกลับและชวนให้ติดตามเป็นอย่างยิ่ง

           งานนี้ ก็เลยทำให้หลายคนอยากรู้แล้วสิว่า เรื่องราวของ "ราโชมอน" เป็นอย่างไร เพราะฉะนั้น วันนี้ เราลองไปรู้จักต้นตำรับเดิมอย่าง "ราโชมอน" กันก่อนดีกว่า

          สำหรับเรื่อง "ราโชมอน" ( Rashomon) นั้น เป็นเรื่องสั้นเก่าแก่ของประเทศญี่ปุ่น ประพันธ์เมื่อปี ค.ศ.1915 โดย อะกุตะงะวะ ริวโนะซุเกะ นักเขียนชื่อดังสมัยเมจิที่นำเอานิทานโบราณที่เล่าสืบต่อกันมาปากต่อปากเป็นโครงเรื่องหลัก และสอดแทรกคำสอนทางศาสนาลงไปในเรื่องดังกล่าว ซึ่งคำว่า "ราโชมอน" หมายถึง "ประตูผี" และเป็นชื่อประตูเมืองเกียวโตในสมัยก่อนที่ถูกใช้เป็นที่ทิ้งศพของผู้ยากไร้ และเป็นแหล่งซ่องสุมของพวกมิจฉาชีพ  

          เมื่อพูดถึงชื่อ "ราโชมอน" ถือว่ามีบทบาทสำคัญอย่างมากในเรื่องสั้นเรื่องนี้ เพราะเป็นสถานที่ที่ทำให้ตัวละครได้เข้ามานั่งผิงไฟหลบฝน ก่อนที่จะมีคนเปิดประเด็นชวนพูดคุยถึงคดีฆาตกรรมที่แต่ละคนได้ไปพบเห็นมาเหมือนกันเมื่อตอนกลางวัน แต่แล้วความจริงที่ควรจะมีเพียงหนึ่งจากเหตุฆาตกรรมเดียวกัน กลับกลายเป็นว่ามีถึงสามเรื่อง จนนำไปสู่การสนทนา เพื่อถกหาความจริง ซึ่งการเล่าเรื่องของตัวละครแต่ละคนก็แสดงให้เห็นถึงบทบาท หน้าที่ รวมทั้งจิตใต้สำนึกของตัวละครที่มีฐานะทางสังคมแตกต่างกันได้เป็นอย่างดี








          ต่อมาในช่วงปี ค.ศ.1950 ผู้กำกับชื่อดัง "อากิระ คุโรซาว่า" ได้สร้างภาพยนตร์เรื่อง "ราโชมอน" ขึ้น โดยโครงหลักของเรื่องอยู่ที่การสอบสวนเหล่าพยานผู้เห็นเหตุการณ์ฆ่าข่มขืนหญิงสาวนางหนึ่ง แต่ทว่า พยานแต่ละคน รวมทั้งผู้ต้องหากลับเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง จึงนำไปสู่การค้นหาความจริงของคดีพิศวงคที่เกิดขึ้นต่อไป 

          และด้วยวิธีการเล่าเรื่อง การลำดับภาพ ที่แปลกใหม่กว่าภาพยนตร์ในยุคเดียวกัน ก็ทำให้ "ราโชมอน" ฝีมือของ "อากิระ คุโรซาว่า" ถูกยกให้เป็นภาพยนตร์คลาสสิกที่สุดเรื่องหนึ่งของประเทศญี่ปุ่น และกลายเป็นภาพยนตร์ที่สร้างชื่อ "คุโรซาว่า" ให้โด่งดังไปทั่ววงการแผ่นฟิล์ม จนได้รับรางวัลมาแล้วมากมาย ทั้งรางวัล Golden Lion จากเทศกาลภาพยนตร์ที่เมืองเวนิช เมื่อปี 1951 รวมทั้งรางวัลภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม ในงาน Academy Awards ครั้งที่ 24 เมื่อปี ค.ศ.1952 ขณะที่ตัว "อากิระ คุโรซาว่า" เองก็ได้รับรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมจาก National Board of Review USA เมื่อปี 1951 เช่นกัน 

          สำหรับในประเทศไทย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้นำเรื่อง "ราโชมอน" มาดัดแปลงเป็นบทละครเวที เพื่อให้นิสิตคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รุ่น 4 และรุ่น 5 นำไปแสดงบนเวที ณ หอประชุม AUA เมื่อปี พ.ศ.2514 ก่อนที่จะมีนิสิตนักศึกษาคณะอื่น ๆ นำ "ราโชมอน" ไปแสดงละครเวทีเช่นกัน และก็เป็นละครเวทีอีกหนึ่งเรื่องที่ได้รับความนิยม จนถูกนำไปสร้างเป็นละครเวทีให้เห็นเรื่อย ๆ มาจนถึงปัจจุบัน 

          อย่างไรก็ตาม แม้ว่า "ราโชมอน" จะเป็นเรื่องสั้นที่มีอายุเกือบร้อยปีเข้าไปแล้ว แต่ก็ยังเป็นบทประพันธ์ร่วมสมัยที่ไม่ตกยุค เพราะเนื้อหาของ "ราโชมอน" สามารถสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นจริงว่าทุกสิ่งมีหลายด้าน ขึ้นอยู่กับมุมมอง และความคิดเบื้องลึกในจิตใจมนุษย์ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง  



ราโชมอน




อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก



 
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิดตำนาน ราโชมอน นิยายสุดคลาสสิกแห่งแดนซามูไร อัปเดตล่าสุด 8 กันยายน 2554 เวลา 11:55:45 70,171 อ่าน
TOP
x close