ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล
หลายคนอาจจะไม่ทันสังเกตว่า ประมาณวันที่ 23 กันยายนของทุกปี "กลางวัน" และ "กลางคืน" มีระยะเวลายาวนานเท่ากัน คือ 12 ชั่วโมง ซึ่งในวันนี้เองยังถือได้ว่าเป็นวันสำคัญสำหรับคนในแถบซีกโลกเหนืออีกด้วย เนื่องจากสัญญาณเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงไปสู่อีกฤดูหนึ่งเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ ปรากฏการณ์ที่โลกของเรามีระยะเวลาของกลางวันและกลางคืนที่เท่ากันนั้น ในทางดาราศาสตร์เรียกว่า "วันอิควินอกซ์" (Equinox) ซึ่งประเทศไทยเรียกว่า "วันศารทวิษุวัต" จะเกิดพร้อมกันทั่วโลก เมื่อตำแหน่งที่ปรากฏของดวงอาทิตย์เคลื่อนผ่านจุดอิควิน็อกซ์ ซึ่งเป็นจุดที่เส้นศูนย์สูตรฟ้าตัดกับเส้นศูนย์สูตรโลก หรือก็คือ ดวงอาทิตย์ตั้งฉากเหนือเส้นศูนย์สูตร ซึ่งจะส่งผลให้ทุกหนแห่งในโลกจะมีกลางวันยาวเท่ากลางคืนหมดเช่นกัน
โดยใน 1 ปีนั้น จะมีวันอิควินอกซ์ 2 วัน คือ...
1. Autumnal Equinox จะเกิดขึ้นในราววันที่ 23 กันยายน ซึ่งจะเป็นวันเปลี่ยนของฤดูร้อนเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง ของซีกโลกเหนือ ภาษาไทยเรียกวันนี้ว่า วันศารทวิษุวัต
2. Vernal Equinox หรือ Spring Equinox จะเกิดขึ้นในราววันที่ 21 มีนาคม ซึ่งจะเป็นวันเปลี่ยนของฤดูหนาวเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิของซีกโลกเหนือ ภาษาไทยเรียกวันนี้ว่า วันวสันตวิษุวัต
อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นวันที่กลางวันยาวเท่ากับกลางคืน แต่ไม่เคยมีวันที่กลางวันและกลางคืนยาวนาน 12 ชั่วโมงอย่างแท้จริง ดังเช่นที่กรุงเทพฯ ในปี 2554 นี้ ดวงอาทิตย์จะขึ้นเวลา 6:10:32 น. และดวงอาทิตย์ตกเวลา 18:10:28 ทั้งนี้ เนื่องมาจากการเคลื่อนที่ของโลกที่หมุนรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรี ทำให้โลกมีทั้งช่วงเวลาที่โคจรห่างจากดวงอาทิตย์เมื่อโคจรไปที่ปลายสุดของวงรี รวมทั้งบางขณะก็หมุนเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้นเมื่อโคจรอยู่ในส่วนแคบของวงรี ประกอบกับความเอียงของแกนโลก จึงอาจทำให้เวลาคลาดเคลื่อนไปได้เช่นกัน
ทั้งนี้ วันดังกล่าวเป็นสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงไปสู่ฤดูกาลใหม่ ซึ่งก็นับได้ว่ามีความสำคัญต่อคนในซีกโลกเหนือเช่นกัน เพราะนอกจากจะมีอากาศที่ดีขึ้น มีทัศนียภาพที่สวยงามขึ้นเนื่องจากใบไม้เปลี่ยนเป็นสีเหลืองทอง สีแดง และสีน้ำตาล ซึ่งเหมาะแก่การท่องเที่ยว และยังเป็นฤดูกาลแห่งการเก็บเกี่ยวพืชพันธุ์ทางการเกษตรอีกด้วย ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ผู้คนในแถบซีกโลกเหนือจะตั้งหน้าตั้งตารอคอยให้เทศกาลนี้เวียนมาถึงอย่างใจจดใจจ่อ
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก