ขอขอบคุณภาพประกอบจาก yankodesign.com
เครื่องบินหลายรุ่นหลายลำ ยึดหลักการทรงตัวบนอากาศของนกมาออกแบบเป็นอากาศยานสำหรับเดินทางไกลในฟากฟ้า เช่นเดียวกับการออกแบบเครื่องบิน Lockheed Stratoliner โดยนาย วิลเลียม บราวน์ ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากนกปากแอ่นหางลาย (Bar Tailed Godwit) นกนักบินอพยพระยะไกล ที่บินจากอลาสก้ามายังออสเตรเลีย ซึ่งมีระยะทางไกลถึง 7,256 ไมล์ ได้โดยไม่หยุดพัก แถมยังมีจุดเด่นที่อาศัยการขับเคลื่อนระบบไฮโดรเจนรักษ์โลกและดีไซน์ที่แปลกตากว่าเครื่องบินทั่ว ๆ ไปอีกด้วย
บราวน์ กล่าวว่า เครื่องบิน Lockheed Stratoliner ของเขานี้ ถูกออกแบบมาให้สามารถบินได้ไปที่ใดของโลกก็ได้ แถมชั่วโมงการบินก็ยาวนานไม่ต้องหยุดแวะพักเพื่อเติมน้ำมันให้เสียเวลา แม้รูปร่างต้นแบบที่เขาออกแบบไว้จะดูประหลาดและแปลกล้ำหน้ากว่าเครื่องบินที่เคยเห็นกันที่คุ้นตาไปเสียหน่อยหน่อย ด้วยปีกที่มีขนาดใหญ่กว่าเครื่องบินทั่ว ๆ ไป ซึ่งบราวน์บอกว่า จะช่วยประคองให้มันยกตัวร่อนอยู่กลางอากาศได้สูงขึ้น และบินออกไปได้เหมือนกับนกที่ร่อนอยู่กลางอากาศ
ส่วนการทำงานก็ทำงานด้วยระบบ "ไครโอเจนิค ไฮโดรเจน เทอร์โบแฟน" (Cryogenic Hydrogen Turbofan) หรือเครื่องยนต์ไฮโดรเจน ซึ่งมีทั้งหมด 4 ตัว ก็จะทำให้มันบินขับเคลื่อนไปได้ได้โดยไม่ต้องการเผาผลาญเชื้อเพลิง รวมถึงทำงานได้ในสภาพพลังงานต่ำด้วย ซึ่งนับเป็นการประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยิ่ง
นอกจากหลักการทำงานของเครื่องยนต์รักษ์โลกที่น่าสนใจแล้ว ดีไซน์ของเครื่องบินลำนี้ก็ยังไม่เหมือนใครอีกด้วย โดยเฉพาะส่วนหัวที่งุ้มลงเหมือนกับเครื่องบินคองคอร์ด และส่วนหางสองแฉกเหมือนกับเครื่องบินรบนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการพิสูจน์ว่าเครื่องบินดีไซน์แปลกตานี้จะสามารถบินได้จริงหรือไม่ รวมถึงยังไม่มีโครงการแน่ชัดว่าจะสร้างเครื่องบิน Lockheed Stratoliner นี้ขึ้นมาจริง แต่อย่างน้อยหวังว่าด้วยการทำงานแบบเครื่องยนต์รักษ์โลกและการออกแบบที่เป็นการเป็นแนวทางใหม่ให้กับวงการอากาศยานจะเป็นแรงขับให้มีการพัฒนาเครื่องบินที่มีประสิทธิภาพดียิ่ง ๆ ขึ้น