ย้อนรอยโศกนาฏกรรม พระนางเรือล่ม



พระนางเรือล่ม 
สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี หรือ พระนางเรือร่ม


ขอขอบคุณภาพประกอบจาก  ธนาคารกสิกรไทย , วิกิพีเดีย

          "พระนางเรือล่ม" คำนี้คงเป็นที่คุ้นเคยสำหรับชาวนนทบุรีมาแต่ช้านาน เนื่องจากเป็นเรื่องเล่าที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เกี่ยวกับการเสด็จทิวงคตของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวีพระอัครมเหสีพระองค์แรกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่เสด็จทิวงคตด้วยอุบัติเหตุ พระประเทียบล่ม ที่ตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ซึ่งขณะนั้นสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ กำลังตั้งพระครรภ์เจ้าฟ้าได้ 5 เดือน 

          เรื่องดังกล่าว ถือว่าเป็นโศกนาฏกรรมครั้งยิ่งใหญ่ในช่วงเวลานั้น เพราะเป็นการสูญเสียทั้งพระมเหสี และพระธิดาของรัชกาลที่ 5 พร้อม ๆ กัน ... วันนี้กระปุกดอทคอมขอย้อนรอยนำประวัติ "พระนางเรือล่ม" พร้อมนำเหตุการณ์ในวันที่พระองค์เสด็จทิวงคต มาเล่าให้ฟังกันอีกครั้ง

 ประวัติ พระนางเรือล่ม (10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2403 - 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2423) 

          สมเด็จพระนางเรือล่ม มีพระนามว่า สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี มีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ประสูติเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2403 ทรงเป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชสมภพแต่สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา ลำดับที่ 50 ในจำนวนทั้งหมด 82 พระองค์ 

          สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ทรงรับราชการสนองพระเดชพระคุณเป็นพระภรรยาเจ้าในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยพระขนิษฐาอีก 2 พระองค์  ได้แก่ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา (สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) และ พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี (สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง)


พระนางเรือล่ม
สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี
และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์

          ครั้นเมื่อสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี พระชนมายุได้ 19 พรรษา ทรงมีพระราชธิดาพระองค์แรก ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรรณาภรณ์ เพชรรัตน์ และเสด็จทิวงคตพร้อมกันกับ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ที่ขณะนั้นทรงพระครรภ์ได้ 5 เดือน เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2423 

 เหตุการณ์โศกนาฏกรรมพระนางเรือล่ม   

พระนางเรือล่ม

พระนางเรือล่ม
เรือพระพันปีหลวง พยายามแล่นเซงเรือของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ

พระนางเรือล่ม
เรือพระพันปีหลวง เข้าปะทะเรือของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ


          เป็นเรื่องเศร้าที่เล่าขานต่อกันมายาวนาน สำหรับเหตุการณ์วันที่เกิดโศกนาฏกรรมดังกล่าว ซึ่งชาวบ้านเล่ากันต่อ ๆ ว่า สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ พร้อมด้วย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ พระราชธิดา และเจ้าฟ้าในครรภ์ ทรงตามเสด็จฯ แปรพระราชฐานไปพระราชวังบางปะอิน เมื่อเสด็จมาถึง ตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทุบรี เรือพระพันปีหลวง ได้แล่นเซงเรือของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ ประกอบกับนายท้ายเรือของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ เมาเหล้าขาดสติ จึงไม่สามารถควบคุมเรือได้ จึงเป็นเหตุให้เรือล่ม 

          ทั้งนี้ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ ทรงว่ายน้ำได้ แต่เพราะความที่ทรงห่วงพระราชธิดา จึงทรงว่ายเข้าไปช่วย แต่ก็ต้องสิ้นพระชนม์ พร้อมกับพระพี่เลี้ยงอีก 1 คน ทั้งหมด 4 ศพ ซึ่งศพจมอยู่ใต้ท้องเรือ โดยที่ไม่มีใครกล้าเข้าไปช่วย เพราะติดอยู่ที่กฎมณเฑียรบาลว่า ห้ามผู้ใดแตะต้องพระวรกายพระมเหสี มิฉะนั้นจะถูกประหารทั้งโคตร

          นอกจากนี้ ก่อนเกิดเหตุการณ์โศกนาฏกรรมขึ้น สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ ได้ทรงพระสุบินว่า พระธิดาของพระองค์ตกลงไปในน้ำ ด้วยความตกพระทัยจึงรีบคว้าพระธิดาจนตกลงไปในน้ำด้วยกัน แล้วได้ตื่นจากบรรทม ท่านก็ทรงครุ่นคิดถึงการเสด็จฯ ไปพระราชวังบางปะอิน แต่ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงชะตากรรมได้ 

          การสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ ในครั้งนั้น มีเสียงร่ำลือในวังหลวงอย่างหนาหูว่า เป็นแผนการจงใจที่จะทำให้เกิดอุบัติเหตุ เนื่องจากความอิจฉาริษยาของบรรดามเหสี และสนมนางในที่คิดหาหนทางกำจัด นอกจากนี้ ยังมีเรื่องเล่าอันน่าพิศวงเกี่ยวกับอาถรรพ์ของดวงพระวิญญาณตามมาด้วย 

          โดยชาวบ้านเล่ากันว่า ขณะที่เจ้าหน้าที่กำลังงมค้นหาพระศพในวันที่เรือพระประเทียบล่ม แต่หาอย่างไรก็หาไม่พบ จนชาวบ้านแถมนั้นทนเห็นเหตุการณ์นั้นไม่ไหว จึงลงมาช่วย แต่ไม่ว่าจะค้นหาอย่างไรก็ไม่พบ ถึงขนาดทำพิธีกรรมทางไสยศาสตร์แต่ก็ยังไม่พบพระศพ จนต้องเชิญหลวงจีนท่านหนึ่งนามว่า "สกเห็ง" โดยท่านสกเห็งได้เสกถ้วยน้ำชาให้ลอยไปตามกระแสน้ำ พอถ้วยจมลงจุดใดก็ให้ชาวบ้านและทหารช่วยกันงมหา ซึ่งในที่สุดก็สามารถหาพระศพจนพบ โดยลักษณะของพระศพนั้น สร้างความเศร้าสลดให้กับผู้พบเห็นเป็นอย่างมาก เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ ได้โอบกอดพระธิดาไว้แนบอก ส่วนสถานที่ที่พบพระศพนั้นก็คือใต้ซากเรือพระประเทียบนั้นเอง 

          ทั้งนี้ โศกนาฏกรรมดังกล่าวได้เกิดขึ้นหน้าวัดกู้ กลางลำน้ำเจ้าพระยา จ.นนทบุรี ชาวบ้านละแวกนั้นจึงร่วมใจตั้งศาลพระนางเรือล่มขึ้น เพื่อเป็นอนุสรณ์ว่า ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ที่แห่งนี้เคยเป็นสถานที่กู้พระศพของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ โดยชาวบ้านได้เรียกสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ ว่า "พระนางเรือล่ม" มานับแต่นั้นเป็นต้นมา

 เรื่องเล่าดวงวิญญาณ พระนางเรือล่ม  

          ถึงแม้ว่าเหตุการณ์อันสุดเศร้าจะผ่านมานานมากแล้ว แต่ก็ยังมีผู้กล่าวขานถึงดวงวิญญาณของพระนางเรือล่มอยู่บ่อยครั้ง และมีเรื่องแปลก ๆ มาเล่าต่อ ๆ กันมาให้ได้ฟังเสมอ 

          โดยคนในสมัยนั้นได้เล่าว่า หลายครั้งจะมีฝูงจระเข้ว่ายน้ำมาคำนับที่หน้าศาลอยู่เป็นประจำ ทั้งที่ปกติจระเข้มักว่ายอยู่ใต้น้ำ แต่เมื่อว่ายน้ำผ่านหน้าศาลทีไร จระเข้ทุกตัวเป็นต้องลอยตัวขึ้นเพื่อมาคำนับทุกครั้ง นอกจากนี้ ยังเคยเกิดเหตุการณ์แปลก ๆ ขึ้นกับคนต่างถิ่น ที่ไม่เคยรู้จักเรื่องราวของพระองค์ท่านมาก่อน โดยบางคนได้เดินทางมายังวัดกู้ ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยมา ซึ่งเขาบอกว่า ฝันเห็นผู้หญิงท่านหนึ่งบอกว่าให้เดินทางมาวัดกู้แล้วจะมีโชค พอมาถึงก็เป็นอันตกตะลึงเนื่องจากหญิงในฝัน กับผู้หญิงในรูปปั้นหน้าตาเหมือนกันไม่มีผิดเพี้ยน 

          อย่างไรก็ดี เรื่องอาถรรพ์ดังกล่าว ก็ยังมีคนบางคนที่ไม่เชื่อ และลบลู่ความศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ ซึ่งเมื่อคนดังกล่าวพูดจาดูหมิ่น ก็เกิดอาการแปลก ๆ จู่ ๆ ก็วิ่งไปท่าน้ำ และกระโดดน้ำตาย บางคนก็ไปสาบาน บอกว่าถ้าผิดจริงขอให้จมน้ำตาย ซึ่งก็ได้จมน้ำตายจริง ๆ 

 อนุสรณ์สถาน พระนางเรือล่ม   

          หลังจากที่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ เสด็จทิวงคตแล้วนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้สร้างอนุสรณ์สถานขึ้นหลายแห่งเพื่อระลึกถึงสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ โดยแต่ละแห่งนั้น เป็นสถานที่ที่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์เคยตามเสด็จฯ และทรงโปรดปรานเป็นพิเศษ ได้แก่...

    อนุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ ณ น้ำตกพริ้ว จังหวัดจันทบุรี 

          โดยภายในอนุสาวรีย์ได้บรรจุพระสรีรางคารของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ เอาไว้ด้วย โดยมีคำจารึกจากพระราชดำริของรัชกาลที่ 5 ที่ว่า...

"ทำเป็นรูปอื่นอาจไม่คงทนถาวร เพราะตั้งอยู่กลางป่าเขาลำเนาไพร อันไม่มีผู้ดูแล 
ฉะนั้น เมื่อปิรามิดของอียิปต์ยืนยงคงทนอยู่ได้ฉันใด ปิรามิดน้อยนี้ก็จะยืนยงคงทนอยู่เช่นกัน 
ณ ท่ามกลางป่าเขาและเสียงไหลรินของธารพลิ้ว"

ที่ระลึกถึงความรักแห่งสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี อัครมเหสี ซึ่งเสด็จทิวงคตแล้ว ด้วยเธอได้มาถึงที่นี่ เมื่อ จุลศักราช ๑๒๓๖ โดยความยินดีชอบใจมาก 

อนุสาวรีย์นี้สร้างขึ้นโดย จุฬาลงกรณ์ บรมราช ผู้เป็นพระราชสามี

    อนุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ในสวนสราญรมย์ 

          เดิมนั้นเป็นพระราชอุทยานของพระราชวังสราญรมย์ พระราชวังที่รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น สำหรับตัวอนุสาวรีย์นั้น สร้างขึ้นเมื่อ พุทธศักราช 2426 ณ บริเวณที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ เคยทรงพระสำราญเมื่อครั้งยังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ ตัวอนุสาวรีย์ทำด้วยหินอ่อนสีขาว มียอดเป็นปรางค์เป็นที่บรรจุพระอัฐิ และมีคำจารึกแสดงความทุกข์โทมนัส ของพระองค์บนแผ่นหินอ่อน ไว้ว่า

ระฦกแห่ง สมเด็จพระนางเจ้า สุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี แล สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์โสภางค์ทัศนิยลักษณ์ อรรควรราชกุมารี

อนุสาวรีย์นี้สร้างขึ้นโดย

พระราชโองการแห่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ใน
จุลศักราช ๑๒๔๒

     อนุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ  ที่พระราชวังบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 

          โดยหลังจากที่รัชกาลที่ 5 ได้มีพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชทานเพลิงศพสมเด็จพระนางเจ้าฯ และพระราชธิดาแล้ว ก็ได้ทรงโปรดฯ ให้สร้างอนุสาวรีย์หินอ่อนขึ้น เพื่อเป็นที่รำลึกถึงด้วยความอาลัยรัก พร้อมทั้งจารึกคำไว้อาลัยที่ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นด้วยพระองค์เอง ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษไว้ที่อนุสาวรีย์นั้นด้วย โดยมีข้อความดังนี้...

ที่ระลึกถึงความรัก แห่ง สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวีอรรคมเหสี 
อันเสด็จทิวงคตแล้ว ซึ่งเธอเคยมาอยู่ในสวนนี้ 
โดยความสุขสบาย และเป็นที่เบิกบานใจ พร้อมด้วยผู้ซึ่งเป็นที่รัก และที่สนิทอย่างยิ่งของเธอ 

อนุสาวรีย์นี้สร้างขึ้น โดย จุฬาลงกรณ์ บรมราช

ผู้เป็นสามี อันได้รับความเศร้าโศกเพราะความทุกข์
อันแรงกล้าในเวลานั้นแทบจะถึงแก่ชีวิต
ถึงกระนั้นก็ยังมิได้หักหาย

จุลศักราช ๑๒๔๓

To The Beloved Memory Of Herlate And Lamented Majesty Sunanda Kumariratana Queen Consort Who Went To Spend Her Most Pleasant And Happiest Hours In This Garden Amidst Those Loving Ones And Dearest To Her

This Memorial Is Erected By Chulalonkorn Rex.

Her Beleaved Husband Whose
Suffering From So Crued And Endurance
Through Those Hours Made Death
Seemed So Near And Yet Preperable

          นอกจากนี้ รัชกาลที่ 5 ยังมีการนำพระนามของพระองค์ไปตั้งเป็นชื่อสถานที่ต่าง ๆ เพื่อเป็นการระลึกถึงพระองค์ด้วย เช่น ตึกสุนันทาลัย โรงเรียนราชินี สวนสุนันทา ณ พระราชวังดุสิต รวมถึง มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา 


ขอขอบคุณข้อมูลจาก 



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ย้อนรอยโศกนาฏกรรม พระนางเรือล่ม โพสต์เมื่อ 14 พฤษภาคม 2555 เวลา 17:26:44 164,720 อ่าน
TOP
x close