x close

ชวนนท์ แจง 16 นโยบายรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ล้มเหลว 100%



ชวนนท์
 

          ชวนนท์ชำแหละนโยบายของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ครบ 1 ปี ชี้ 16 นโยบายล้มเหลวเกือบ 100% ทั้งเรื่องไม่สมานฉันท์ ค่าครองชีพ น้ำมันแพง ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ไฟใต้ลุกโชน  เทพไท จี้สารภาพบาปว่าสิ่งไหนทำไม่ได้ให้บอกประชาชนด้วย

          วานนี้ (5 สิงหาคม) นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ครบรอบ 1 ปี ว่าพบ 16 นโยบายที่มีการล้มเหลว ประกอบด้วย

          1. รัฐบาลประกาศสร้างความสมานฉันท์ในชาติ ซึ่งสอบตก เพราะ 1 ปีที่ผ่านมาไม่มีความปรองดองสมานฉันท์ แต่กลับเพิ่มและสร้างความขัดแย้ง

          2. จะกำหนดให้นโยบายแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ แต่จำนวนการจัดการยาเสพติดและการจับกุมที่ได้เฉลี่ยทั้งปีของรัฐบาล น้อยกว่าปีสุดท้ายของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่มีตัวเลขที่ดีกว่า

          3. จะป้องกันและปราบปรามทุจริตคอรัปชั่น สอบไม่ผ่าน ตรงกันข้ามกลับเปิดโอกาสให้มีการทุจริตคอรัปชั่นได้ง่ายขึ้น เนื่องจาก ครม.ไม่รับข้อเสนอของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในเรื่องการเปิดราคากลางการประมูลงานของรัฐบาล รวมทั้งกู้ 3.5 แสนล้านเพื่อป้องกันน้ำท่วม ก็เสนอให้ยกเลิกการจัดซื้อของสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อเปิดโอกาสให้การประมูลวิธีพิเศษ เปิดให้ฮั้วประมูลง่าย

          4. แก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ข้อนี้ตกโดยไม่ต้องพูดถึง เพราะความรุนแรงเกิดขึ้นต่อเนื่องและรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม  

          5. เร่งฟื้นฟูความสัมพันธ์และพัฒนาความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านฯ มีการยกสิทธิการจัดประชุมคณะกรรมการมรดกโลกให้กัมพูชาในปี 2556 เพียงผู้เดียว ทำให้มีสิทธิสูงที่จะได้รับการยอมรับในแผนบริหารจัดการโดยรอบปราสาทพระวิหาร กัมพูชาพอใจรัฐบาลชุดนี้ เพราะยกประโยชน์ยกแผ่นดินให้กัมพูชา

          6. ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและผู้ประกอบการจากภาวะเงินเฟ้อและราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์โกหกประชาชน โดยอ้างจะยกเลิกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน แต่ไม่เคยยกเลิก ขณะนี้เก็บเงินมากกว่ารัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ ทำให้ราคาน้ำมันสูงขึ้นกว่ารัฐบาลชุดที่แล้ว

          7. การยกระดับการใช้ชีวิตของประชาชน เพิ่มรายได้รายวัน 300 บาท และเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท ขณะนี้ค่าแรง 300 บาท ได้เพียง 7 จังหวัด และ 15,000 บาทไม่ได้ปฏิบัติจริงในภาคเอกชน

          8. ปรับลดภาษีนิติบุคคลให้เหลือร้อยละ 23 ในปี 2555 และลดลงร้อยละ 20 ในปี 2556 นโยบายนี้ทำสำเร็จ แต่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้บริษัทเอกชนรายใหญ่ที่เสียภาษีรายได้นิติบุคคลลดลง ทำให้รัฐเสียประโยชน์และขาดรายได้

          9. ส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุนสนับสนุนสินเชื่อรายย่อย โดยกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดละ 100 ล้านบาท หลายจังหวัดกลับใช้เงื่อนไขนี้ในการจัดตั้งชุมชนคนเสื้อแดง ซึ่งปัญหานี้สร้างความแตกแยกให้สังคมชนบทหรือไม่

          10. การยกระดับเกษตรกรให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนดัชนีราคาสินค้าเกษตร เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง รัฐบาลสอบตกทุกตัว เพราะราคาตกลง

          11. ส่งเสริมให้มีการจัดการน้ำอย่างบูรณาการด้วยการสร้างระบบชลประทาน ข้อนี้ตอบได้ด้วยการกู้เงิน 3.5 แสนล้าน แต่ขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้า เพราะรอผู้รับเหมา หรือหาช่องทางทุจริตหรืออะไรกันแน่

          12. เพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวในปี 2555 เป็นมหัศจรรย์ไทยแลนด์ มิราเคิล ไทยแลนด์เยียร์ เป็นเพียงคำพูดสวยหรู

          13. สนับสนุนงานศิลปหัตถกรรม ส่งเสริมมูลนิธิศิลปาชีพ บริหารโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ก็ยังไม่เห็นความคืบหน้า ชี้ล้มเหลวเกือบ 100%

          14. พัฒนาระบบประกันสุขภาพ 30 บาทรักษาทุกโรค มีรายงานจากนักวิชาการว่า โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ทำให้งบประมาณไม่เพียงพอ และทำลายระบบการรักษาของประเทศในเรื่องคุณภาพ รวมถึงการจ่ายยาที่ไม่ได้มาตรฐาน

          15. จัดหาแท็บเล็ต ที่อ้างว่าจะทำให้เสร็จในปีการศึกษาที่ 1 ปี 2554 ในปี 2555 นี้ ก็ยังไม่แน่ว่าจะสามารถแจกจ่ายให้นักเรียนได้จริงหรือไม่ เพราะมีปัญหาการทุจริต เครื่องไม่ได้มาตรฐานและอีกมากมาย

          16. เร่งรัดผลักดันปฏิรูปการเมืองโดยประชาชนมีส่วนร่วม ซึ่งรัฐบาลต้องเปลี่ยนเป็นประชาชนคนเสื้อแดงเท่านั้น เพราะรัฐบาลเร่งรัดแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม และปฏิเสธข้อเสนอของ คอป.และสถาบันพระปกเกล้า ในการจัดตั้งเวทีสานเสวนา แต่เลือกที่ทำกันในวงแคบของรัฐบาลเท่านั้น

          ทั้งนี้ นายชวนนท์ สรุปว่า จาก 16 ข้อที่กล่าวมา รัฐบาลสอบผ่านเพียงข้อเดียว คือ ข้อ 8 ซึ่งมีผลสำเร็จเพียง 6.25% แต่มีนโยบายล้มเหลวถึง 93.75% ขณะที่นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการแถลงผลงานครบ 1 ปีของรัฐบาล ปลายเดือนสิงหาคม ว่าเป็นสิทธิ์และหน้าที่รัฐบาล แต่อยากแนะนำหากไม่มีผลงานมากมายพอที่จะรวมเล่ม ก็ควรจะมีภาคผนวกแถลงผลงานที่ล้มเหลวไม่สามารถที่จะปฏิบัติให้ประสบความสำเร็จได้ และควรจะยอมรับความจริงและสารภาพบาปต่อประชาชนด้วยการแยกผลงานออกเป็นผลงานโบว์แดง กับโบว์ดำ เพื่อให้ประชาชนแยกแยะและเปรียบเทียบได้ชัดเจน
 
 
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ชวนนท์ แจง 16 นโยบายรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ล้มเหลว 100% โพสต์เมื่อ 6 สิงหาคม 2555 เวลา 12:10:17 8,667 อ่าน
TOP