โทรคมนาคมโลก ออกกฎใหม่ คลิกเข้าเน็ตทุกครั้งต้องจ่ายตังค์!

โทรคมนาคมโลก ออกกฎใหม่ คลิกเข้าเน็ตทุกครั้งต้องจ่ายตังค์


           โทรคมนาคมโลก ออกกฎใหม่! คลิกเข้าเน็ต-อ่านข้อมูลทุกครั้ง ต้องจ่ายตังค์ ระบุเป็น 1 ใน 15 ข้อสนธิสัญญา ถ้าไม่ลงนามก็จะถูกบล็อกการเชื่อมต่อเน็ตจาก 179 ประเทศ แต่ทั้งนี้ ยังพอมีทางออก หากแสดงจุดยืนที่ชัดเจน เนื่องจากหากมี 25% ของเสียงทั้งหมดไม่เห็นด้วย จะมีการนำสนธิสัญญาพิจารณาใหม่อีกครั้ง

           วานนี้ (8 ตุลาคม) นางสาวดวงทิพย์ โฉมปรางค์ ผู้บริหาร อินเทอร์เน็ต โซไซตี้ ประเทศไทย (ไอซอก) ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิก ที่เป็นองค์กรอิสระซึ่งดูแลเกี่ยวกับมาตรฐานอินเทอร์เน็ตโลก กล่าวว่า ในปลายเดือนธันวาคมปี 2555 ประเทศสมาชิกของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) ราว 180 ประเทศ จะทำการลงนามสนธิสัญญาการบริหารเครือข่ายโทรคมนาคมของโลก หรืออินเทอร์เน็ต เทเลคอมมูนิเคชั่น เร็กกูเรชั่น (International Telecommunication Regulations : ITRs) ในระหว่างการประชุมด้านโทรคมนาคม ซึ่งทางไอทียูจะจัดขึ้นที่เมืองดูไบ 

           ทั้งนี้ นางสาวดวงทิพย์ กล่าวต่อว่า สำหรับเนื้อหาของสนธิสัญญาที่จะใช้งานอินเทอร์เน็ตนั้น มี 10 ประเทศในเอเชียแปซิปิกที่เสนอความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ในการแก้เนื้อหาในสนธิสัญญาดังกล่าว ส่วนทางประเทศไทยนั้นไม่มีท่าทีหรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว 

           เมื่อถามถึงเนื้อหาของสนธิสัญญาที่ต้องแก้นั้น นางสาวดวงทิพย์ กล่าวว่า จากทั้งหมด 15 ข้อ จะมีเพียง 6 ข้อ ที่ส่งผลกระทบต่อการใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย โดยมีหัวข้อดังนี้... 

           1. ความปลอดภัยทางอินเทอร์เน็ต 

           2. การใช้ทรัพยากรเลขหมายในทางที่ผิด 

           3. การกำหนดนิยามเรื่องบริการโทรคมนาคม  

           4. ระบุตัวตนของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตและประวัติการเข้าใช้งานอินเทอร์เน็ต  

           5. คุณภาพบริการ 

           6. ค่าเชื่อมโยงโครงข่าย

           นอกจากนี้ นางสาวดวงทิพย์ ยังได้ยกตัวอย่างขอบเขตสนธิสัญญาที่แก้ไขว่า หนึ่งในเรื่องที่ทางไอทียูแก้เนื้อหานั่นก็คือ การใช้อินเทอร์เน็ต โพรโตคอล แอดเดรส ซึ่งระบุว่า ประเทศสมาชิกจะต้องหาวิธีการใดวิธีการหนึ่ง เพื่อคิดค่าบริหารจากผู้ให้บริการโทรคมนาคมที่เชื่อมต่อการใช้งานอินเทอร์เน็ตด้วยไอพี แอดเดรส ไม่ว่าจะเป็นความพยายามที่จะจัดเก็บค่าบริการจากการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตทุกครั้ง หรือเก็บเงินทุกครั้งที่เข้าสู่ข้อมูลต่าง ๆ โดยจะเก็บเงินทั้งผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ ซึ่งเป็นการแก้เนื้อหาโดยอิงรูปแบบการเก็บค่าบริการจากรูปแบบการคิดค่าบริการของโทรศัพท์มือถือ

           นางสาวดวงทิพย์ กล่าวต่อว่า สำหรับผลกระทบในการแก้ไขสนธิสัญญาในครั้งนี้คือ เมื่อไหร่ที่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตและคลิกเข้าไปยังเนื้อหาต่าง ๆ ผู้ใช้งานก็จะถูกเก็บค่าบริการ ซึ่งเป็นผลเสียกับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม รวมทั้งผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวที่โปรโมทสินค้าและห้องพักทางอินเทอร์เน็ตเพราะต้องแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้น เช่นเดียวกับสถาบันการศึกษา ที่จะต้องจ่ายค่าบริหารจากการนำเสนอข้อมูลบนเว็บไซต์ ขณะที่นักเรียน-นักศึกษา ก็จะต้องจ่ายค่าบริการจากการคลิกดูเนื้อหา 

           พร้อมกันนี้ นางสาวดวงทิพย์ ยังกล่าวอีกว่า เนื้อหาของสนธิสัญญานั้น ได้เปลี่ยนเป็นบังคับใช้ แทนที่จะเลือกยอมรับเฉพาะกฎเกณฑ์ที่เหมาะสมกับประเทศตัวเอง โดยให้ทำการลงนามในสนธิสัญญาซึ่งเป็นการผูกมัดการใช้งานทั้ง ๆ ที่ไม่เหมาะสมกับประเทศของตนเอง

           อย่างไรก็ดี เมื่อถามว่าเนื้อหาของสนธิสัญญาที่แก้นั้น ไม่เหมาะสมกับประเทศไทย และประเทศไทยมีทางออกอย่างไรบ้าง ด้านนางสาวดวงทิพย์ กล่าวว่า เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ผู้ที่มีอำนาจลงนามในสนธิสัญญา จะต้องแสดงออกถึงจุดยืนที่ชัดเจนต่อเนื้อที่ในสนธิสัญญา เนื่องจากระหว่างวันที่ 3-14 ธันวาคม 2555 เป็นเวลาที่อยู่ในกระบวนการต่อรองสนธิสัญญา หากมี 25% ของประเทศที่เป็นสมาชิกไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาของสนธิสัญญา ต้องนำสนธิสัญญาที่แก้ไขมาพิจารณาใหม่ แต่หากเห็นด้วยทั้งหมด 100% ก็จะบังคับใช้ทันทีสิ้นปีนี้ ดังนั้น ประเทศไทยควรแสดงจุดยืนในเรื่องนี้ แต่ทั้งนี้ หากประเทศไทยไม่ลงนามในสนธิสัญญา ก็จะถูกบล็อกการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตจากอีก 179 ประเทศ ที่เป็นสมาชิกไอทียู  

           ขณะที่ ดร.มนู อรดีดลเชษฐ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมธุรกิจคอมพิวเตอร์ (เอทีซีไอ) กล่าวว่า หากประเทศไทยต้องจ่ายเงินในการคลิกเข้าดูข้อมูลและเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตทุกครั้งคงแย่ และจะทำให้เกิดการชะงักในการใช้งานอินเทอร์เน็ตของทุกคน และที่สำคัญไม่รู้ว่าใครจะต้องเป็นคนที่คิดค่าบริการในการคลิกเข้าดูข้อมูลในแต่ละครั้ง 

           ส่วนทางด้าน นายบุญรักษ์ สรัคคานนท์ กรรมการสมาคมธุรกิจคอมพิวเตอร์ (เอทีซีไอ) กล่าวว่า หากประเทศไทยต้องเข้าสู่การจ่ายเงินทุกครั้งที่เข้าดูเนื้อหาออนไลน์และจ่ายเงินทุกครั้งที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต การแจกแท็บเล็ตให้กับนักเรียนชั้น ป.1 นั้น จะเกิดปัญหาตามมาแน่นอน เพราะใครจะเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องค่าใช้จ่ายดังกล่าว ส่วนผู้ประกอบการธุรกิจก็คงจะแบกภาระเรื่องนี้ไม่ไหว และแน่นอนก็จะส่งผลกระทบในวงกว้าง โดยเฉพาะประชาชนชาวไทยทุกคนที่ใช้อินเทอร์เน็ต ซึ่งตอนนี้มีอยู่ที่ 24 ล้านคน 


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก 



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โทรคมนาคมโลก ออกกฎใหม่ คลิกเข้าเน็ตทุกครั้งต้องจ่ายตังค์! โพสต์เมื่อ 9 ตุลาคม 2555 เวลา 10:02:19 4,157 อ่าน
TOP
x close