เผยผลโหวตฉายา ตำรวจ-นักการเมือง ประจำปี 2555




เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา , พรรคประชาธิปัตย์ , ศาลรัฐธรรมนูญ

         สื่อมวลชนและนักศึกษาจากคณะเศรษฐศาสตร์ พร้อมใจกันเปิดเผยผลโหวต 12 ฉายาตำรวจ และ 8 ฉายาสถาบันทางการเมือง พร้อมยก มีวันนี้เพราะพี่ให้ เป็นวาทะแห่งปี
 
         เป็นธรรมเนียมเสียแล้วสำหรับการตั้งฉายาประจำปีให้แก่บุคคลต่าง ๆ ผู้ซึ่งตกเป็นข่าวอยู่เป็นประจำ เพื่อเป็นสีสันให้แก่ข่าว หรือเพื่อสร้างเอกลักษณ์ให้ง่ายแก่การจดจำของผู้ที่รับข่าวสาร โดยตั้งตั้งฉายาจาก ลักษณะเด่น หรือแม้แต่วีรกรรมต่าง ๆ ทีเคยทำ
 
         โดยล่าสุดในช่วงบ่ายวันนี้ (16 ธันวาคม 2555) นายไพโรจน์ เทศนิยม นายกสมาคมผู้สื่อข่าวและช่างภาพอาชญากรรมแห่งประเทศไทย ได้แถลงข่าว การตั้งฉายาเจ้าหน้าที่ตำรวจ ประจำปี 2555 โดยเหล่าสื่อมวลชน ได้ลงมติตั้งฉายาเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ปฏิบัติงานมาในรอบ 1 ปี มีทั้งหมด 12 ฉายา ด้วยกัน มีรายชื่อดังต่อไปนี้

กรุงเทพโพล ให้นายกฯ สอบผ่าน - ชอบ เฉลิม ปราบยา
    

         1. ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ได้รับฉายา "เหลิม ฉะดะ" เนื่องจาก "ป๋าเหลิม" ได้ใส่เกียร์เดินหน้าปราบปรามปัญหายาเสพติดอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายระดับประเทศ หรือเอเย่นต์รายเล็กรายน้อย ไม่รอดเงื้อมมือ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง จนเป็นที่มาของฉายา  "เหลิม ฉะดะ"
 


         2. พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ  ได้รับฉายาว่า "กวนอู๋ แว้นกระเจิง" เนื่องจากมีความสามารถทั้งเรื่องการรบและการวางแผนบริหารงานคล้าย "เทพเจ้ากวนอู๋" ที่ จนเมื่อมาดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. ก็ได้มีนโยบายชัดเจนในการแก้ไขปัญหาเด็กแว้น จนมีการจับกุมอย่างจริงจัง กลายมาเป็นที่มาของฉายา "กวนอู๋ แว้นกระเจิง"
 
พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ

         3. พล.ต.อ. พงศพัศ พงษ์เจริญ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ได้รับฉายาว่า "จูดี้ อีเว้นท์" เนื่องจากที่ผ่านมา การทำงานของ พล.ต.อ.พงศพัศ มีหลากหลายรูปแบบกิจกรรม มีโครงการออกมาอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย เปรียบเสมือนกับนักจัดอีเว้นมือทอง จนเป็นที่มาของฉายา "จูดี้ อีเว้นท์"
 
         4. พล.ต.ท.จรัมพร สุระมณี ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผช. ผบ.ตร. ได้รับฉายาว่า "จรัมพร ON ทุกเหตุ" จากการทำงานในรอบปีที่ผ่านมา พล.ต.ท.จรัมพร จะได้รับความไว้วางใจในการดูแลงานการตรวจสอบพิสูจน์หลักฐานและเข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุแทบจะทุกเหตุการณ์ ไม่ว่า จะเป็นเรื่องใหญ่หรือเล็ก ทั้งในประเทศและนอกประเทศ จึงเปรียบเสมือนการออนแอร์หรือออกอากาศทางสื่ออยู่เสมอ ๆ จนเป็นที่มาของฉายา  "จรัมพร ON ทุกเหตุ"
 
คำรณวิทย์ เผย ผกก.ไทรงาม ยังไร้ร่องรอย

         5. พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.)  ได้รับฉายาว่า "น.1 พี่ให้มา"ก่อนหน้านี้ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ได้มารักษาการตำแหน่ง ผบช.น. แทน พล..ท.วินัย ทองสอง ระหว่างนั้นได้มีกลุ่มเสื้อเหลืองออกมาชุมนุมทางการเมือง พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ได้เจรจากับม็อบจนสลายการชุมนุม จนเป็นที่พึงพอใจกับรัฐบาล และได้รางวัลตอบแทนมาเป็นผู้บัญชาการตำรวจนครบาล อย่างเต็มตัว จนเป็นทีมาของฉายา "น.1 พี่ให้มา"
 
         6. พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย  รองผู้บัญชาการสำนักงานกำลังพล โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  ได้รับฉายาว่า "โฆษก สับขาหลอก" เนื่องจาก พล.ต.ต.ปิยะทำหน้าที่เป็น "โฆษกประจำ ตร." เพื่อเป็นกระบอกเสียงประชาสัมพันธ์ให้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คอยให้ข่าวกับสื่อมวลชน แต่เพราะมีการให้ข่าวตรงบางครั้ง และไม่ตรงตามความเป็นจริง ทั้งที่เป็นเรื่องเดียวกัน จนเป็นที่มาของฉายา "โฆษก สับขาหลอก"
 
         7. พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล โฆษกองบัญชาการตำรวจนครบาล  ได้รับฉายา "โฆษก ย่ำราตรี" เนื่องจากที่ผ่านมา หลังการได้รับตำแหน่งดูแลงานด้านโฆษก และชุดเฉพาะกิจในการตรวจสถานบริการ  พล.ต.ต.อดุลย์ ได้ออกตรวจตราสถานบริการยามค่ำคืนอย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์ จนเป็นทีมาของฉายา  "โฆษก ย่ำราตรี"
 
         8. พล.ต.ต.ประยนต์ ลาเสือ ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล  ได้รับฉายาว่า "ไทเกอร์ เขี้ยวหลุด" พล.ต.ต.ประยนต์ ลาเสือ หรือในวงการจะรู้จักในนาม "บ๊าย บาย ไทเกอร์" นักสืบรุ่นปรมาจารย์ ที่ในอดีตใครได้ยินชื่อนี้ทั้ง "โจร ขโมย นักเลง มือปืน" ต้องหลีกทางให้เป็นแถว แต่ต้องมาตกม้าตายกับการที่ย้ายมาดำรงตำแหน่ง "ผบก.สส.บช.น." เพราะไม่สามารถจับคดีใหญ่ได้ จนเป็นที่มาของฉายา "ไทเกอร์ เขี้ยวหลุด"
 
         9. พล.ต.ต.รณศิลป์ ภู่สาระ ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวนสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ได้รับฉายาว่า "สืบจนเด้ง" พล.ต.ต.รณศิลป์ ก่อนมาดำรงตำแหน่ง ผบก.สส.สตม. เคยดำรงตำแหน่ง ผบก.สส.บช.น. และโชว์ฝีมือไม้ลายมือปิดคดีในนครบาลจนนับไม่ถ้วน แต่เมื่อ "ผู้ใหญ่ไม่ปลื้ม" เลยโดนย้ายไปเป็น ผบก.สส.สตม. จนเป็นที่มาของฉายา "สืบจนเด้ง"
 
         10. พล.ต.ต. รณพงษ์ ทรายแก้ว ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ฉายาว่า "ผู้การล้างคุก" ขณะที่ดำรงตำแหน่ง ผู้บังคับการจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ดำเนินการเข้าตรวจค้นยาเสพติดภายในเรือนจำอย่างต่อเนื่อง จนสร้างความสะเทือนให้กับเรือนจำจนต้องมีการเปลี่ยนตัว ผู้อำนวยการเรือนจำ จนถึงการติดตามสืบสวนจับกุมผู้คุมที่มีส่วนเกี่ยวข้องสร้างความสะเทือนให้กับวงการเรือนจำอย่างมาก จนเป็นที่มาของฉายา "ผู้การล้างคุก"
 
         11. พล.ต.ต.เอกภพ ประสิทธิ์วัฒนชัย  ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี ได้รับฉายาว่า "ผู้การโรโบคอป" จากการทำงานในพื้นที่จังหวัด ปัตตานี ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงจนเข้าใจปัญหาและรู้ลึกถึงขบวนการการก่อการร้าย จนเป็นที่หมายหัวของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบถึงกับวางแผนลงมือสังหารหลายครั้ง จนได้รับบาดเจ็บ ตามเนื้อตัวมีแต่การดามเหล็ก และก็รอดชีวิตมาทุกครั้ง เปรียบเสมือนตำรวจเหล็กโรโบคอป จนเป็นที่มาของฉายา "ผู้การโรโบคอป"
 
         12. พล.ต.ต.ธนายุตม์ วุฒิจรัสธำรงค์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนนทบุรี ได้รับฉายาว่า "โอ๋ คัมแบ๊ก" ผู้ซึ่งมีชื่อเดิมว่า "ฤทธิรงค์ เทพจันดา" หรือ "โอ๋ สืบ6" ที่ยุคสมัยหนึ่งเคยมีปัญหาทางการเมือง ทำให้ตนเองต้องถูกไล่ออกจากราชการ และต้องลำบากวิ่งเต้น ขึ้นโรงขึ้นศาล จนสามารถกับมารับราชการแบบเงียบ ๆ ก่อนเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล เพราะไม่อยากเป็นประเด็นในสังคม จนกระทั่งกลับมาผงาดในยุค"คนเสื้อแดง" ได้มาเป็น "ผบก.จว.นนทบุรี" จนเป็นที่มาของฉายา "โอ๋ คัมแบ๊ก"
 
         ไม่เพียงแค่ฝั่งสื่อมวลชนที่ออกมาโหวตเลือกฉายาให้แก่เหล่านายตำรวจเท่านั้น แต่ทางด้าน สมาคมรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็ได้ออกมาเผยผลโหวตฉายา ของ 14 สถาบันการเมือง ผ่านทางเครือข่ายสังคมออนไลน์ ด้วยเช่นกัน โดยนายนพพล อัคฮาด นิสิตปริญญาโท สาขารัฐศาสตร์การปกครอง ในฐานะประธานดำเนินงานโครงการตั้งฉายาสถาบันทางการเมือง ประจำปี 2555 ได้เปิดเผยโผฉายา พร้อมที่มาของฉายา ดังนี้
 


         1. รัฐบาล ได้รับฉายา "ละครคนจน" เนื่องจากนโยบายของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้พยายามสร้างความพึงพอใจให้กับประชาชนที่เป็นคนจนส่วนใหญ่ของประเทศ ไม่ว่าจะนโยบายค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท ขจัดความยากจนให้หมดภายใน 4 ปี ฯลฯ ถือว่าแสดงได้สมบทบาทและถูกใจผู้ชม
 

         2. รัฐสภา ได้รับฉายาว่า "ซอมบี้สไตล์"เนื่องจากสมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่ในรอบปีที่ผ่านมามุ่งทำงานรับใช้ตามที่เจ้านายต้องการเหมือนเป็นซอมบี้ในลัทธิวูดู มากกว่าจะใช้สิทธิแสดงความคิดเห็นส่วนบุคคล
 


          3. สถาบันตุลาการ ได้รับฉายาว่า "ตบเด็ก"เพราะขยายขอบเขตอำนาจของจนเกรงจะกระทบหลักการแบ่งแยกอำนาจ โดยเฉพาะกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องวินิจฉัยรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคหนึ่ง
 
พรรคเพื่อไทย

         4. พรรคเพื่อไทย ได้รับฉายาว่า "แดงป๊อด"เนื่องจากแกนนำฝ่ายบริหารพรรคเพื่อไทยเกิดอาการไม่กล้า ทำให้นโยบายที่พรรคเพื่อไทยเคยทำสัญญาไว้ ทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ม. 112 ล้วนแต่ไม่สำเร็จ ทำให้กลุ่มผู้สนับสนุนพรรคเริ่มคลางแคลงใจว่าเจ้าของพรรคเพื่อไทยเป็นแดงแปร๊ดหรือแค่แดงป๊อด
 


         5. พรรคประชาธิปัตย์ ไดรับฉายาว่า "หล่อติดหล่ม"เพราะในช่วงปีที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์ยังติดหล่มอยู่กับความขัดแย้ง การสลายชุมนุมชายชุดดำ คดีความและรัฐธรรมนูญฉบับรัฐประหาร
 
         6. องค์กรอิสระ ได้รับฉายาว่า "ไส้ติ่งแตก"เพราะช่วงปีที่ผ่านมาองค์กรอิสระ อาทิ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้สร้างความปั้นป่วนวุ่นวายให้กับการบริหารประเทศของรัฐบาล นอกจากจะไม่มีประโยชน์แล้วยังก่อให้เกิดความเจ็บปวด ไม่ต่างกับไส้ติ่งที่มีอยู่ในร่างกาย
 

         7. กองทัพ ได้รับฉายาว่า "เล่นเพื่อน"เนื่องจากการแต่งตั้ง พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต เป็น รมว.กลาโหม จัดทัพแถวทหารคืนความเป็นธรรมให้กับพวกของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีสะท้อนให้เห็นถึงการเล่นพรรคเล่นพวกภายในกองทัพ
 
ตำรวจ

         8. สถาบันตำรวจ ได้รับฉายาว่า "โผอิมพอร์ต"เนื่องจากบัญชีการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจแทบทุกตำแหน่งต้องได้รับไฟเขียวจาก พ.ต.ท.ทักษิณที่อยู่ในต่างประเทศทุกครั้ง

กลุ่มกรีน ยื่นสอบ คำรณวิทย์ บินให้ ทักษิณ ติดยศ

         นอกจากนี้ ยังได้เลือกวาทะ "มีวันนี้เพราะพี่ให้" ของพล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง  ผบช.น.เป็นวาทะแห่งปี เพราะเป็นวาทะที่สะท้อนวัฒนธรรมองค์กรของสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้อย่างตรงไปตรงมา และชี้ให้เห็นว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่มีโครงสร้างในลักษณะอุปถัมภ์
 
 
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เผยผลโหวตฉายา ตำรวจ-นักการเมือง ประจำปี 2555 โพสต์เมื่อ 16 ธันวาคม 2555 เวลา 15:17:08 4,909 อ่าน
TOP
x close