8 ปูชนียบุคคลของสังคมไทย...นักคิด นักพัฒนา ผู้ควรค่าแก่การยกย่อง





 
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก นิตยสาร ฅ คน ประจำเดือนพฤศจิกายน

           คำว่า "ปูชนียบุคคล" นั้น เราใช้เรียกบุคคลที่ควรแก่การเคารพ ยกย่อง สรรเสริญ จากคุณงามความดีที่เต็มเปี่ยมไปด้วยจริยธรรมที่บุคคลนั้นได้สร้างมาจวบจนชั่วชีวิต และในโอกาสที่ นิตยสาร ฅ คน ประจำเดือนพฤศจิกายน เป็นฉบับครบรอบ 8 ปี จึงได้ยกย่อง 8 บุคคลของสังคมไทยต่อไปนี้ให้เป็น "ปูชนียบุคคล" ผู้เป็นแบบอย่างที่ดีงามให้แก่คนในสังคม...


 
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ปราชญ์แห่งปวงสงฆ์
 
           ในวัยเพียงแค่ 13 ปี พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ได้บรรพชาเป็นสามเณร ด้วยความที่พ่อแม่เชื่อว่าจะช่วยรักษาอาการท้องเสียเรื้อรังให้หายได้ แต่หลังจากบวชไม่นาน ท่านก็สามารถสอบเปรียญธรรม 9 ประโยคได้ จึงได้อุปสมบทในพระบรมราชานุเคราะห์เป็นนาคหลวง ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนาศาสดาราม ได้รับฉายาว่า "ปยุตฺโต"
 
           ปัจจุบัน พระพรหมคุณาภรณ์ ในวัย 74 ปี จำพรรษาอยู่ที่วัดญาณเวศกวัน จังหวัดนครปฐม โดยตลอด 61 ปีที่ท่านอยู่ในร่มกาสาวพัสตร์ ท่านได้ถ่ายทอดพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าให้แก่พุทธศาสนิกชนทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ซึ่งปรากฏเป็นธรรมกถานับพันรายการ ตลอดจนหนังสือที่ใช้ในการอ้างอิงอีกนับร้อยเล่ม ทำให้สถาบันการศึกษาทั้งในและนอกประเทศถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ และตำแหน่งเชิดชูเกียรติต่าง ๆ ให้อย่างมากมาย อาทิ ตรีปิฎกาจารย์กิตติมศักดิ์ จากนวลันทามหาวิหารประเทศอินเดีย และเมธาจารย์ จากมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งโลก
 
           นอกจากนี้ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ยังได้รับรางวัลการศึกษาเพื่อสันติภาพ จากยูเนสโก ในปี พ.ศ. 2537 และได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2549
 
           สิ่งหนึ่งที่ท่านสอนไว้ก็คือ เรื่อง "อารมณ์" ที่ทำให้มนุษย์มองอะไรได้แตกต่างกัน..."อารมณ์มันแปลว่าสิ่งที่เรารับรู้ เป็นฝ่ายของความรู้มากกว่า มันกลายเป็นว่าเอาคำว่าอารมณ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่จิตรับรู้เนี่ย ไปเป็นเรื่องความรู้สึกไปหมด มันก็สับสน ความจริงเป็นเรื่องของจิตใจ อันนี้พระพุทธศาสนาให้ความสำคัญมาก เรื่องจิตใจนี้เรามีด้านปัญญาก็อย่างที่บอกว่าเรื่องที่รู้นั้น รู้ตามที่มันเป็น เป็นยังไงก็รู้ตรงตามนั้น อยู่ที่หมั่นรู้ หมั่นตามดู แต่ความรู้สึกที่เป็นความรู้ เป็นเนื้อหาของชีวิตจิตใจของเรา ความรู้สึกมันไม่ดี รู้สึกโกรธ ไม่พอใจ รู้สึกเกลียด การรับรู้อาจจะถูกบิดเบือน ความรู้สึกชอบเข้าข้าง ความรู้ก็ถูกบิดเบือนอีก ฉะนั้น ความรู้สึกนี่จะต้องจัดการให้มันบริสุทธิ์สะอาด เป็นต้น ให้มันเป็นความรู้สึกที่เป็นกุศลนั่นเอง..."


 
ศาสตราจารย์ระพี สาคริก ผู้ฝากชีวิตไว้กับแผ่นดิน
 
           ราษฎรอาวุโส วัย 90 ปี ที่หลายคนรู้จักในนาม "บิดาแห่งกล้วยไม้ไทย" ด้วยรางวัลการันตีระดับโลก หากแต่ท่านไม่ได้เป็นเพียงผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุศาสตร์เท่านั้น แต่ยังเป็นทั้งนักวิทยาศาสตร์ นักประวัติศาสตร์ นักเกษตร นักปรัชญา ครู หรือแม้กระทั่งศิลปินที่ท่านเคยสร้างสรรค์ผลงานไว้อย่างมากมาย
 
           ในอดีตที่ผ่านมา ท่านดำรงตำแหน่งสำคัญ และมีบทบาทในแวดวงการเกษตรมากมาย ตั้งแต่การรับราชการประจำกรมกสิกรรม ปูพื้นฐานการวิจัยปรับปรุงพันธุ์ข้าวไทย เป็นผู้บุกเบิกค้นคว้าปรับปรุงพันธุ์ ทำให้กล้วยไม้ไทยกลายเป็นสินค้าส่งออกด้านเกษตรที่สำคัญ ซึ่งผลงานนี้ ทำให้ท่านได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา สาขาเกษตรศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2511 และต่อมาก็ยังได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ นอกจากนี้ ท่านยังเคยดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตลอดจนรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์
 

           ทุกวันนี้ แม้ศาสตราจารย์ระพี จะมีอายุถึง 90 ปีแล้ว แต่ท่านก็ยังคงตื่นตีสามมานั่งทำงานทุกวัน บางวันก็ยังต้องลงพื้นที่ไปอยู่กับชาวบ้าน บางวันก็มาสอนหนังสือ ไม่เคยมีวันหยุด และไม่เคยรู้สึกเหนื่อย เพราะบอกตัวเองเสมอว่า "เปลี่ยนความเหนื่อยให้เป็นความสุขสิ"
 
           "เมื่อไม่มีผมแล้ว ผมไม่ห่วงว่าจะมีคนสืบทอดหรือไม่ แต่ให้ทำไปเถอะ ทำไปแล้วจะมีคนสานต่อเอง มีน้อยแต่ขอให้มันมี ข้าวเมล็ดเดียวที่ตกพื้น มันสามารถกลายเป็นข้าวทั้งประเทศและทั้งโลกได้ และต้องเห็นประชาชนเป็นครูเรา เดินตามถนนต้องรู้จักกระดากบ้าง อย่าทำชั่ว ถ้าทำชั่วเขาจะดูถูกเรา ถ้าเราทำตัวไม่ดีเด็กก็จะไม่ยกมือไหว้ แล้วเวลาไหว้ใครไหว้เรา เราอย่าไปหลง ผมพูดเสมอว่า คนยกมือไหว้ข้างหน้ามันไม่แน่ แต่คนยกมือไหว้ข้างหลังนี่สิของจริง" ศาสตราจารย์ระพี ย้ำชัดถึงคุณค่าของการทำความดี


 
ศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริก อาจารย์ผู้มาก่อนกาลเวลา
 
           เพราะเป็นอาจารย์สอนวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในยุคที่นักศึกษารวมตัวกันเคลื่อนไหวประท้วงระบบเผด็จการ ทำให้ ศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริก (ปัจจุบันอายุ 85 ปี) ได้สัมผัสกับชีวิตในยุคคาบเกี่ยวของสังคมไทยอย่างเสียไม่ได้ และมีบทบาทในฐานะรักษาการอธิบดี คณะรัฐศาสตร์ แทน อาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์ ที่เดินทางออกนอกประเทศในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 แน่นอนว่า ศาสตราจารย์เสน่ห์ ต้องเผชิญกับแรงกดดันรอบด้าน ทั้งจากทหาร และนักศึกษา แต่ท่านก็เลือกที่จะนิ่ง เพื่อเป็นหลักให้คนธรรมศาสตร์
 
          หลังจากผ่านการทำงานรับใช้สังคมมาทั้งชีวิตจนกระทั่งเกษียณอายุราชการ ศาสตราจารย์เสน่ห์ ยังได้รับรางวัลนักสิทธิมนุษยชนดีเด่น และได้ดำรงตำแหน่งประธาน กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นคนแรก ซึ่งท่านก็หัวเราะแล้วบอกอย่างงง ๆ ว่า "เขาให้ผมยังไงก็ไม่รู้"
 
          อย่างไรก็ตาม หากย้อนไปในช่วงที่ท่านยังทำงานอยู่ ก็คงจะเห็นว่า ศาสตราจารย์เสน่ห์ เป็นผู้หนึ่งที่มีส่วนวางรากฐานด้านสิทธิมนุษยชนให้กับสังคมไทย เพราะสมัยก่อนนักวิชาการทั้งหลายจะไม่ค่อยรู้จักชนบท ไม่ค่อยสนใจ แต่ท่านเลือกที่จะลงพื้นที่ไปศึกษาวิจัยความเป็นชนบท นำมาซึ่งการก่อตั้งมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา เพื่อทำการวิจัยและพัฒนาชุมชนตามชื่อมูลนิธิ จากการลงพื้นที่ด้วยความทุ่มเท ทำให้ท่านได้พบปราชญ์ท้องถิ่นมากมาย และมีแนวคิดว่า ชนบทจะต้องมีการรวมตัวกัน เพื่อสร้างพลังและเครือข่าย จะได้ไม่เป็นจุดอ่อน
 
          "ผมรู้ว่าปัญหาสิทธิมนุษยชนนั้นอยู่ที่ชนบท เพราะคนไปเบียดเบียนเรื่องทรัพยากร เรื่องที่ดิน เรื่องแหล่งน้ำ แต่ก่อนชนบทอยู่ตามลำพัง แต่การรวมตัวก็รวมแบบประเพณี แล้วผมไปจุดประกาย เขาควรมีองค์กรถาวร มีความคิดอ่านในการปกป้องตัวเอง รักษาสิทธิ อันนี้เป็นจุดสำคัญ ถ้าไม่รวมกลุ่ม ไม่มีทาง สิทธิมนุษยชนต้องไปอย่างนี้ ไม่ใช่รอคนมาปกป้อง ผมพูดได้เลยว่า เรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นชีวิตจิตใจของผมเลย" อดีตนักสิทธิมนุษยชนดีเด่น ย้ำหนักแน่น
 
          นอกจากนี้ท่านยังย้ำด้วยว่า ชีวิตของคนเราไม่ใช่แค่เราคนเดียวจะมีความปลอดภัย ความผาสุก แต่จะพัฒนาก้าวหน้าได้ต้องอาศัยสภาพแวดล้อมด้วย..."ทั้งคน ทั้งธรรมชาติ อันนี้เป็นความสำนึกที่มีความสำคัญ ไม่ใช่คนกับคนอย่างเดียว ผมมักจะพูดว่า ธรรมชาติคู่กับคน สัตว์ ถ้าเราเข้าใจความสัมพันธ์ ผมคิดว่าโลกจะได้รู้อะไรมากกว่า สันติมากกว่า" ศาสตราจารย์เสน่ห์ ทิ้งแง่คิดไว้ในตอนท้าย



 
พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร ตำรวจตงฉิน-ศิลปินแห่งชาติ
 
          จากความคิดสมัยเด็กที่อยากจะแก้แค้นตำรวจที่เคยจับขังคุก 1 คืน อย่างไร้เหตุผล ทำให้ พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร มุ่งมั่นจะเป็นตำรวจให้จงได้ และท่านก็สามารถเข้ารับราชการที่กรมตำรวจได้สมดังใจ ก่อนจะได้ลัดฟ้าไปทำงานที่สำนักงานองค์กรสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซีโต้) และเลือกกลับมาประจำการที่สถานีภูธรในภาคอีสาน เพราะอยากจะรู้ว่า "อะไรทำให้คนอีสานเป็นคอมมิวนิสต์" (ในช่วง พ.ศ. 2503 บ้านเมืองกำลังเผชิญปัญหาคอมมิวนิสต์) การไปประจำที่ภูธรครั้งนั้น ทำให้นายตำรวจจากเมืองกรุงได้ปะทะกับผู้ก่อการร้ายเป็นครั้งแรก และเป็นดั่งรอยต่อสำคัญทางความคิดว่า จะอยู่ต่อ หรือจะลาออกจากอาชีพผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ เพื่อไปทำงานอื่นซึ่งมีคนทาบทามเข้ามาแล้วc
 
          "...แต่ผมไม่ไป ผมตัดสินใจอยู่ต่อ แล้วผมก็อยู่เรื่อยมาจนกระทั่งเกษียณ" นายตำรวจ ผู้ซึ่งได้ทุนไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา บอก และหลังจากนั้นท่านก็ถูกย้ายไปประจำตามภาคต่าง ๆ แม้กระทั่งถูกส่งตัวไปเรียนที่เอฟบีไอ พอกลับมาก็ได้ไปช่วยฝึกชาวบ้านรบกับคอมมิวนิสต์ เพื่อให้ชาวบ้านรู้จักพัฒนาตัวเอง ในครั้งหนึ่ง ท่านมีโอกาสได้เข้าเฝ้าฯ พระเจ้าอยู่หัว โดยไม่ได้คาดฝัน ซึ่งในหลวงก็รับสั่งให้ตามเสด็จฯ ทำให้ พล.ต.อ.วสิษฐ ได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นนายตำรวจราชสำนักประจำ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 จนถึง พ.ศ. 2524 เป็นระยะเวลา 12 ปีเต็ม
 

          สิ่งหนึ่งที่นายตำรวจตงฉินได้จากการปฏิบัติหน้าที่ตามเสด็จฯ ในหลวง ก็คือ "ธรรมะ" ซึ่งเป็นสิ่งที่ พล.ต.อ.วสิษฐ ศึกษาและปฏิบัติตามพระองค์ท่านจนติดเป็นนิสัย พล.ต.อ. บอกว่า ธรรมะทำให้เราสามารถจะมองชีวิตในความเป็นจริง คนเรามักตะเกียกตะกายหาสิ่งที่ตัวเองนึกว่าเป็นความสุข ทั้ง ๆ ที่สิ่งที่หานี้คือทุกข์ ได้มาชั่วครู่ชั่วยาม
 
          นอกจากเป็นนายตำรวจตงฉิน ผู้ยึดในหลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์แล้ว อีกด้านหนึ่งของชีวิต พล.ต.อ.วสิษฐ ก็ยังเป็นนักเขียนที่สร้างสรรค์ผลงานมาตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาในรั้วจามจุรี โดยเฉพาะงานเขียนนวนิยายที่เกี่ยวข้องกับตำรวจ เป็นงานเขียนประจำของท่านไปแล้ว ซึ่งจากผลงานของท่านก็ทำให้ท่านได้รับการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ มาตั้งแต่ปี 2541 และแม้จะย่างเข้าสู่วัย 83 ปี แต่ท่านก็ยังมีความคิดจะเขียนนวนิยายอีกสักเล่ม
 
          ในฐานะที่เป็นอดีตตำรวจ และเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมือง พล.ต.อ.วสิษฐ ยอมรับว่า รู้สึกหนักใจที่สังคมไทยกำลังเกิดปัญหาซึ่งแทรกซึมอย่างฝังลึก เพราะคุณธรรมของสังคมไทยอ่อนลง หันไปหาวัตถุนิยมกันมากขึ้น ความเห็นแก่ตัวมากขึ้นกว่าสมัยก่อน ความเกรงอกเกรงใจก็น้อยลง
 
          "เราเหมือนกับสอนลูกสอนหลานเรื่องของการให้เสรีภาพ สอนให้รู้จักสิทธิ แต่ลืมสอนเรื่องหน้าที่ เดี๋ยวนี้ผมรู้สึกว่าการอบรมเรื่องหน้าที่น้อยลง แล้วคนตื่นตัวมากเรื่องการสงวนสิทธิ ป้องกันสิทธิ แต่ถึงตอนทำหน้าที่ไม่ทำ กับปัญหาที่เกิดขึ้น ถ้าจะให้ตอบ ผมก็ต้องบอก แก้ที่ตัวเอง" นายตำรวจตงฉิน สะท้อนภาพสังคมไทยในปัจจุบันอย่างเป็นห่วง


 
นายแพทย์อมร นนทสุต ผู้วางรากฐานสาธารณสุขภาคประชาชน
 
          นายแพทย์อมร นนทสุต เป็นบุคคลสำคัญของวงการสาธารณสุขไทย ผู้ปลุกชาวบ้านให้ลุกตื่นจากความ "โง่-จน-เจ็บ" สิ่งนี้คงจะไม่เกิดขึ้น หาก นายแพทย์อมร ไม่ได้ป่วยด้วยโรควัณโรคปอดในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต ทำให้ท่านต้องเบนเข็มจากการเป็นแพทย์ในโรงพยาบาลมาเป็นข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขแทน และนี่คือจุดเริ่มต้นของการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับชาวบ้านในพื้นที่ห่างไกล
 
          ภาพของเด็ก ๆ และชาวบ้านในพื้นที่ห่างไกลที่มีก้อนเนื้อก้อนโตอยู่ที่ลำคอ จากอาการขาดสารไอโอดีน อาจเป็นภาพที่ผู้คนเมื่อ 60 กว่าปีก่อนชินชา แต่แล้วโครงการเกลืออนามัยก็ผุดขึ้นพร้อมกับความตั้งใจจริงของ นายแพทย์อมร นนทสุต ที่เป็นบุคคลสำคัญในการผลักดันแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ จนสถิติผู้ป่วยลดลงอย่างชัดเจน และค่อย ๆ หมดลงไปในที่สุดในหลาย ๆ พื้นที่ จากความพยายามผสมไอโอดีนลงในอาหารชนิดต่าง ๆ แล้วนำแจกจ่ายไปให้ประชาชนในแดนไกล

 
          นอกจากเรื่องการแก้ปัญหาโรคคอพอกแล้ว นายแพทย์อมร ยังเห็นว่าประชาชนในชนบทเข้าถึงการรับการบริการด้านสาธารณสุขได้ยากยิ่ง หลายพื้นที่ไร้ซึ่งแพทย์ พยาบาล และโรงพยาบาลใกล้เคียง นายแพทย์อมร จึงได้ดึงชาวบ้านเข้ามาเป็นอาสาสมัครในนาม อสม. หรือ อาสาสมัครสาธารณสุข และให้ความรู้เรื่องการรักษาพยาบาลเบื้องต้นกับโรคง่าย ๆ จะได้เป็นกำลังสำคัญในการดูแลเพื่อนบ้านได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น ซึ่งการเริ่มต้นจากภาคประชาชน จากคนในชุมชนนี่เอง คือหัวใจสำคัญของคำว่า "สาธารณสุขมูลฐาน" และจะช่วยการสาธารณสุขได้พัฒนาอย่างแท้จริง แม้จะต้องสู้กับแรงต้านในสมัยนั้น เพราะมองว่าสิ่งนี้จะทำให้เกิดหมอเถื่อนขึ้น แต่ในที่สุดแนวคิด อสม. ก็ได้รับการยอมรับ แม้แต่องค์การอนามัยโลกยังพาคณะผู้แทนจากประเทศต่าง ๆ มาดูงานด้าน อสม. ถึงเมืองไทยเลยทีเดียว
 
          เรื่อง "หลักประกันสุขภาพ" ก็เช่นกัน หมออมร คือคนที่ริเริ่มแนวคิดนี้ให้เกิดขึ้นในเมืองไทย จากโครงการบัตรสุขภาพใบละ 500 บาทต่อปีที่จะช่วยให้คนมีสิทธิ์เข้าถึงการรักษาพยาบาลของรัฐได้เท่าเทียมกันมากขึ้น และทำให้คำว่า "สุขภาพดีถ้วนหน้า" เป็นเป้าหมายสำคัญของสาธารณสุขไทย
 
          "แนวคิดที่ผมยึดถือในการทำงานเสมอคือ ต้องเชื่อว่าชาวบ้านเขาทำได้ อันนี้สำคัญมาก อย่าดูถูกเขาเป็นอันขาด อย่าไปนึกว่าเราใหญ่กว่าเขา เรามีความรู้เยอะแยะอะไรแบบนี้จะไปไม่รอด ถ้าทำงานกับสังคมอย่าไปถือว่าตัวเองเหนือกว่า ชาวบ้านเขาก็เป็นครูเราได้" นพ.อมร เผยแนวคิด
 
          จากวันที่โรงพยาบาลเป็นสิ่งที่ฟังดูห่างไกลของชาวบ้าน หมออมร คือบุคคลที่ผลักดันจนกระทั่งทุกวันนี้มีโรงพยาบาลชุมชนครบทุกอำเภอ มีสถานีอนามัยครบทุกตำบล และมี อสม. ครบทุกหมู่บ้าน ผลงานทั้งหลายทั้งปวงนี้ ทำให้คุณหมอในวัย 84 ปี ได้รับรางวัลจากองค์การอนามัยโลก และเงินอีกจำนวนหนึ่งที่นำมาใช้จัดตั้งมูลนิธิแสงสิทธิการ (เพื่อคุณภาพชีวิต) ที่สนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมทางสาธารณสุขต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน



 
ยายยิ้ม จันทร์พร ในรอยยิ้มที่ยิ่งใหญ่
 
          ทันทีที่เรื่องราวของ ยายยิ้ม จันทร์พร หญิงชราวัย 85 ปี ที่อาศัยอยู่กลางป่ากลางเขาเพียงลำพังเป็นที่รับรู้กันในสังคม คำถามชวนสงสัยมากมายก็เกิดขึ้น โดยเฉพาะคำถามที่ว่า ยายยิ้ม สามารถอยู่ในป่าเขาเช่นนั้นได้อย่างไร เพราะใช่ว่าลูก ๆ จะไม่สนใจไยดียายยิ้ม หากแต่ยายยิ้มเองต่างหากที่เป็นคนเลือกจะขออาศัยอยู่กับวิมานไม้ริมน้ำกลางป่า ณ ตำบลบ้านท่าหนอง จังหวัดพิษณุโลก แม้ลูก ๆ จะร้องขอให้แม่ออกจากป่าอยู่กับตัวเองหลายต่อหลายครั้งแล้วก็ตาม
 
          ชีวิตในป่าอาจไม่ใช่ชีวิตที่สบายนัก บางครั้งก็ต้องอด ๆ อยาก ๆ แต่รอยยิ้มของยายยิ้มก็ไม่เคยจางหาย แม้จะเงียบเหงา แต่ก็เป็นชีวิตที่เปี่ยมไปด้วยความสุข และไม่ใช่ว่า ยายยิ้ม จะใช้ชีวิตไปวัน ๆ อย่างเรื่อยเปื่อย เพราะทุกวัน ยายยิ้ม จะเดินเข้าไปถางหญ้า ตัดไม้ไผ่มาสร้างฝาย เพื่อดูแลป่า รักษาน้ำ ช่วยเหลือสัตว์หลายชนิดให้มีน้ำกินในหน้าแล้ง สิ่งเหล่านี้ยายยิ้มมองว่าเป็นการตอบแทนบุญคุณของธรรมชาติ จากทุก ๆ วัน กลายมาเป็นทุก ๆ เดือน และทุก ๆ ปี ตั้งแต่นั้นมา ยายยิ้ม ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของป่าผืนนี้ไปเสียแล้ว
 
          ยายยิ้มคิดฝันว่าจะค่อย ๆ ทำฝายไปเรื่อย ๆ ให้ได้สัก 12 ฝาย แต่ด้วยกำลังวังชาที่เสื่อมถอยลงตามอายุ ทำให้ยายยิ้มทำได้ทีละน้อย แต่เมื่อฝายเริ่มเสร็จสิ้น แม่เฒ่าคนนี้ก็จะยิ้มดีใจด้วยสีหน้าชื่นบาน กระทั่งเรื่องราวของยายได้รับการบอกต่อกันผ่านรายการคนค้นฅน ลูกหลานผู้รักธรรมชาติทั้งหลายจึงอาสาขึ้นมาช่วยยายยิ้มสร้างฝายจนสำเร็จเสร็จสิ้นถึง 16 ฝาย และยังช่วยซ่อมแซมบ้านเก่า ๆ ของยายยิ้มให้กันลมกันฝนได้มากขึ้น เพื่อให้แม่เฒ่าได้ใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างมีความสุข
 
          "ชีวิตเกิดมาต้องให้บ้างหนา อย่าเอาแต่รับนะลูก" ยายยิ้ม บอกอย่างนี้ จึงไม่แปลกใจเลยว่า นอกจาก ยายยิ้ม จะ "ให้" กับธรรมชาติแล้ว ยายยังหมั่นทำบุญสุนทานเสมอ ทุกวันพระ ยายยิ้มจะตื่นแต่เช้าตรู่ลุกขึ้นมาหุงข้าว และทำกับข้าวง่าย ๆ ก่อนจะเดินฝ่าดงหินแหลมคมออกมาจากป่าเป็นระยะทางกว่า 8 กิโลเมตร เพื่อมาทำบุญ แล้วจะขออาศัยนอนที่วัดเพื่อถือศีลอุโบสถ 1 คืน ก่อนจะเดินทางกลับกระท่อมในวันรุ่งขึ้น ยายยิ้มทำเช่นนี้มาเป็นเวลากว่า 20 ปี แม้ฝนจะตก แดดจะออก ก็ไม่มีอุปสรรคใดจะมาขวางไม่ให้ยายยิ้มออกมาทำบุญที่วัดได้เลย แต่หากวันพระใดไม่เห็นยายยิ้ม ชาวบ้านจะรู้กันว่าต้องขึ้นไปเยี่ยมแกบนเขา เพราะเคยเจอเหตุการณ์ที่ยายยิ้มนอนป่วยด้วยโรคชราอยู่ จึงต้องรีบพาตัวยายลงมาให้หมอรักษา

 
          และในวันหนึ่ง ยายยิ้มก็คงจำยอมต้องจากบ้านหลังนี้ไปพักใหญ่ เพราะลูก ๆ หลาน ๆ ขอร้องให้ยายออกจากป่ามารักษาต้อเนื้อ และต้อกระจก ที่ทำให้ยายมองเห็นไม่ชัด จึงจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัด และพักรักษาตัวนาน 3 เดือน หลังจากก่อนหน้านี้ ยายยิ้ม ผัดผ่อนมาตลอด เพราะเป็นห่วงงาน แต่ตอนนี้ฝายที่แกตั้งใจไว้ได้ทำสำเร็จเสร็จสิ้นแล้ว ยายยิ้ม จึงยอมรักษาตัว เพื่อไม่ให้อาการแย่ไปกว่าเก่า แต่ถึงกระนั้น ยายยิ้ม ก็ยังอดห่วงฝายไม่ได้ ตั้งใจจะให้ลูกชายขึ้นมาดูต้นไม้ที่แกปลูกไว้ และดูฝายสัปดาห์ละครั้ง
 
          ถึงวันนี้เกือบ 30 ปี ชีวิตสันโดษสมถะเรียบง่ายของยายยิ้ม กลายเป็นแรงจูงใจให้ผู้โหยหาความสงบมุ่งทำความดีเหมือนเช่นที่ยายเป็นอยู่


 
อาจารย์รตยา จันทร์เทียร ทำงานเพื่องาน
 
          ดูจะเป็นเรื่องแปลกไม่น้อยสำหรับเมื่อเกือบ 60 ปีก่อน ที่ผู้หญิงคนหนึ่ง อย่าง "อาจารย์รตยา จันทร์เทียร" จะเลือกเรียนคณะสถาปัตย์ฯ และจบออกมาเป็นครูในคณะช่างก่อสร้างวิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ (ชื่อขณะนั้น) ก่อนจะสอบชิงทุนฟูลไบรท์ไปศึกษาต่อสถาปัตยกรรมเขตร้อนที่ PRATT INSTITUTE นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา และกลับมาทำงานที่การเคหะแห่งชาติ สั่งสมประสบการณ์จนไต่เต้าขึ้นเป็นผู้ว่าการเคหะแห่งชาติในปี พ.ศ. 2531 และถือว่าเป็นสตรีคนแรกที่ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดขององค์กรนี้
 
          "ทำงานเพื่องาน ความจริงไม่ได้ทำเพื่อจะเป็นผู้ว่าการฯ เราทำเต็มความสามารถ ตอนมาอยู่การเคหะฯ ก็บอกน้อง ๆ ว่า หลักสำคัญ คือ ถ้า "ทำงานเพื่องาน" เราจะไม่เดือดร้อนเลย ไม่ว่านายจะมองเห็นไม่เห็น เราจะมีความสุข เมื่องานสำเร็จ เราทำได้ บรรลุแล้ว แล้วส่วนที่ว่าใครเขาจะเห็น ใครเขาจะยกย่องอันนั้นไม่ค่อยถือเป็นสาระสำคัญ" อาจารย์รตยา บอกถึงแนวคิดในการทำงาน
 
          นอกจากทำงานคลุกคลีกับชุมชนเมืองตามสายอาชีพอย่างจริงจังแล้ว อีกสิ่งที่อาจารย์รตยาทำคู่ขนานกันไปก็คือการสนใจด้านสิ่งแวดล้อม โดยในปี 2503 อาจารย์ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกสมาคมศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อมได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการคัดค้านการสร้างเขื่อนน้ำโจนในพื้นที่ทุ่งใหญ่นเรศวรอันเป็นปรากฏการณ์ของสังคมไทยที่ทุกภาคส่วนมีน้ำเสียงไปในทิศทางเดียวกัน และจากการที่อาจารย์แสดงให้เห็นว่า ทุ่งใหญ่นเรศวรนี้ไม่ใช่ทุ่งโล่ง ๆ แต่เป็นเหมือนมดลูกของป่าที่มีสรรพชีวิตอาศัยอยู่มากมาย ในที่สุด รัฐบาลในสมัยนั้นก็ต้องชะลอโครงการไว้ และการเคลื่อนไหวคัดค้านครั้งนี้ทำให้อาจารย์ได้รู้จักชื่อ "สืบ นาคะเสถียร" เป็นครั้งแรก
 
          ในปี 2533 อาจารย์รตยา ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร หลังจาก สืบ นาคะเสถียร ตัดสินใจฆ่าตัวตายเพื่อรักษาผืนป่า เดิมทีอาจารย์ไม่ได้คิดจะรับตำแหน่งนี้ แต่อาจารย์ปริญญา นุตาลัย ซึ่งเป็นเพื่อนกันได้ชักชวนโดยยืนกรานขอให้อาจารย์รตยารับไว้ ด้วยคำพูดที่ว่า "อาจารย์รตยา เขาให้อาจารย์เป็นประธาน อาจารย์ต้องรับนะ ปัดโธ่! คุณสืบเสียสละทั้งชีวิตเลยนะ แล้วอาจารย์รตยานี่เป็นแค่ประธานทำไมจะเป็นไม่ได้"...คำพูดนี้ทำให้อาจารย์ไม่บ่ายเบี่ยง และรับเป็นประธานมูลนิธิฯ มาตลอดจนกระทั่งปัจจุบันนี้เป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว
 
          สิ่งที่เป็นรูปธรรมนับจากวันนั้นในมุมมองของอาจารย์รตยาก็คือ ปริมาณสัตว์ป่าที่เพิ่มขึ้น ขณะที่งานด้านชุมชนก็เป็นสิ่งที่อาจารย์ต้องเข้าไปดูแลทำความเข้าใจกับชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในป่ามาก่อนเช่นกัน ถือเป็นความสำคัญอย่างต่อเนื่องในการขับเคลื่อนของมูลนิธิด้วยต้องการให้คนอยู่กับป่าได้ และช่วยดูแลรักษาป่าไปในตัว
 
          ทุกวันนี้อาจารย์รตยา ผู้ได้รับสมญาว่า "นางสิงห์เฝ้าป่า" ยังทำหน้าที่ของตนเองอย่างสม่ำเสมอ แม้วัยจะล่วงเลยไปถึง 81 ปีแล้ว แต่ท่านก็ยืนยันว่าสุขภาพยังแข็งแรงดีอยู่ไม่ต่างจากยี่สิบปีก่อน และไม่มีสิ่งใดน่าเป็นห่วง แต่สิ่งที่ทำให้ท่านเป็นห่วงมาก ๆ กลับเป็นอนาคตของผืนป่าในเมืองไทย...
 
          "ป่าเมืองไทยวันนี้เหลือจำกัดจริง ๆ ถ้าอยากรู้ว่าจำกัดแค่ไหน ทุกคนวันนี้มีเฟซบุ๊ก มีไอแพด ลองเปิดดูได้ว่ามันเหลือเท่าไรแล้ว แล้วทางที่ดีที่สุดวันนี้ก็คือ ทำอะไรทั้งหลายขอให้หลบป่า ไม่ใช่เข้าไปใช้ในป่า ไม่ว่าจะเป็นโครงการถนน หรืออ่างเก็บน้ำ นี่คือการรักษาที่สำคัญที่สุดก็คือรักษาของเดิม อย่าไปรังแกเขา"
อาจารย์นักอนุรักษ์ฝากไว้ด้วยหัวใจที่ยังคงเป็นห่วง



 
อาจารย์สุดจิต นิมิตกุล ชีวิตการงาน ข้าราชการสุดจิต
 
          ตลอดระยะเวลาการรับราชการ 39 ปี และอีก 10 ปี กับการช่วยราชการ เขาคือข้าราชการที่ห่างไกลคำว่า "เช้าชามเย็นชาม" อย่างแท้จริง แม้ผ่านวันเวลามาจวบจนอายุ 70 ปีแล้ว แต่ภาพจากวันวานยังทำให้ "อาจารย์สุดจิต นิมิตกุล" อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทยผู้นี้มุ่งมั่นทำงานรับใช้หัวใจตัวเองและแผ่นดินเกิด กระทั่งได้รับการยกย่องว่าเป็นข้าราชการต้นแบบ ซึ่งทำคุณประโยชน์ให้กับแผ่นดิน
 
          ในวัยหนุ่มอาจารย์สุดจิตได้เรียนรู้งานจาก "นายพจน์ สารสิน" ผู้ซึ่งเปรียบเหมือนคนต้นแบบของอาจารย์ และได้ใช้ฝีมือที่มีอยู่อย่างเต็มที่ไต่เต้าในแวดวงราชการจนกระทั่งดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี ในปี 2534 ท่านบอกด้วยน้ำเสียงจริงจังว่า ไม่เคยใช้เส้นสายเลยแม้แต่ครั้งเดียว เพราะมั่นใจว่าตัวเองสามารถเติบโตตามช่องทางของตัวเองได้ เราต้องยืนหยัดในสิ่งที่เราเชื่อ งานที่ทำไม่เคยมีเช้าชามเย็นชาม ทุกคนรู้ดีว่าเขาเป็นคนยังไง ทำงานทุกตำแหน่ง มาก่อนเวลางาน จนได้รับการยกย่อง
 
          "ตัวผมไม่ใช่ผู้ว่าฯ ที่ชาวบ้านจะต้องมากราบกรานด้วยยศตำแหน่ง ผมคิดว่าความจริงใจคือสิ่งสำคัญ อะไรที่เราจะช่วยชาวบ้านได้เราพร้อมทุกโอกาส สำหรับผมไม่มีคำว่าเสาร์-อาทิตย์ ไม่มีกลางค่ำกลางคืน ชาวบ้านเข้ามาหาได้ตลอดเวลา ในพจนานุกรมของผมไม่มีคำว่าแพ้ คือจะถูกย้ายไปไหนก็ทำงานเต็มที่เหมือนเดิม" อดีตผู้ว่าฯ เมืองอุทัยธานี พูดอย่างหนักแน่น
 
          และสิ่งหนึ่งที่ทำให้ อาจารย์สุดจิต ภูมิใจที่สุดในช่วงชีวิตการทำงานก็คือ การผลักดัน "ห้วยขาแข้ง" ให้เป็นมรดกโลกได้สำเร็จ แม้จะต้องเผชิญปัญหาขัดแย้งจากการผลักดันประชาชนที่อยู่ในเขตรุกป่าให้ออกมาด้านนอก แต่โครงการ "นุ่งผ้าขะม้าเฝ้าเพชร" ซึ่งเป็นโครงการจัดระเบียบให้คนอยู่กับป่าในเขตกันชนได้ก็เป็นจุดเริ่มต้นสลายความขัดแย้งนั้น และยังได้รับการยกย่องจากต่างประเทศว่าเป็นแผนที่ดีที่สุดที่ช่วยจัดการให้คนกับป่าอยู่ด้วยกันอย่างพึ่งพาอาศัย แน่นอนว่าเรื่องนี้ทำให้อาจารย์ได้รับการยอมรับในฐานะผู้ที่สามารถเปลี่ยนชาวบ้านผู้ทำลายให้กลายมาเป็นผู้เฝ้าดูแลหวงแหนผืนป่าสำคัญของประเทศไทยได้สำเร็จ
 
          หลังจากนั้นไม่นาน อาจารย์สุดจิต ก็ย้ายมาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ที่นี่ท่านได้มีส่วนในโครงการ "อันดามันไนเซชัน" ด้วยการสร้างเครือข่ายเข้ามาร่วมมือในการดูแลรักษาบำบัดน้ำก่อนปล่อยลงทะเล ซึ่งด้วยแผนนี้นี่เอง ปัญหาน้ำเสียจึงหมดไปจากอันดามัน และเมื่อวางรากฐานแก้ปัญหาที่ภูเก็ตจนเป็นรูปเป็นร่างแล้ว อาจารย์สุดจิต จึงได้ย้ายไปเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี และมีส่วนผลักดันให้เขาใหญ่กลายเป็นมรดกโลกอีกแห่ง ทำให้ท่านพูดขำ ๆ ว่า "ผมโชคดีมากที่ไปเป็นผู้ว่าฯ ที่ไหน ที่นั่นก็ได้ถูกเลือกให้เป็นมรดกโลก อาจจะเป็นเพราะผมเป็นนักแก้ปัญหาเก่ง (หัวเราะ)"
 
          เป็นที่รู้กันดีในหมู่ลูกน้องว่า ผู้ว่าฯ สุดจิต มุ่งมั่นทำงานเป็นเลิศ และไม่ถือตัว ชาวบ้านจึงมักจะเห็นภาพพ่อเมืองร่างเล็กลงมาคลุกคลีกับชาวบ้านอย่างไม่ถือยศศักดิ์ และยิ้มแย้มเป็นมิตรเข้าถึงได้ทุกเวลา นอกจากนี้ท่านยังเป็นคนอดออม เมื่อหลายสิบปีก่อนเคยอาศัยอยู่บ้านหลังเล็กอย่างไร ปัจจุบันนี้ บ้านหลังนั้นก็ยังคงเหมือนเดิม อาจารย์สุดจิต ตั้งใจทำทุกหน้าที่บนพื้นฐานของการปลูกสร้างเมล็ดพันธุ์แห่งคุณความดี ไม่ว่าจะด้วยการช่วยราชการ สร้างประโยชน์ให้กับบ้านเมือง และอีกมากมายตราบเท่าที่ชายร่างเล็กหน้าตาเบิกบานจะทำได้
 
          "มีคนถามผมว่าเกษียณแล้วทำไมไม่ไปพักผ่อนหาความสุขใส่ตัว ก็ความสุขสำหรับผมนี่ไงคือการรับราชการ และการได้ช่วยราชการนี่แหละที่ทำให้มีความสุข ผมคิดแค่ว่ามีแรงอยู่ก็ทำเถอะ ทำด้วยใจ อย่าได้หวังอะไรตอบแทน ผมก็อยากจะฝากให้ทุกคนทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดแล้วบ้านเมืองก็จะเรียบร้อย" อาจารย์สุดจิต ให้ข้อคิดทิ้งท้าย
 
          ในสังคมปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงด้านความคิดบางประการไป อาจทำให้หลายคนเข้าใจไปว่า "คุณงามความดี" ไม่ใช่สิ่งสำคัญลำดับต้น ๆ เท่ากับ "เงินทองของนอกกาย" แต่จากเรื่องราวของ 8 ปูชนียบุคคลที่นิตยสาร ค ฅน นำเสนอนี้ คงจะช่วยให้คนมองเห็นคุณค่าของ "ความดี" ได้ชัดเจนขึ้น และรับรู้ว่า "ความดีไม่ได้หายไปไหน" ความดียังคงมีอยู่ในสังคมไทยทุกชั่วอายุคน และในอนาคตก็จะเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนที่จะช่วยรังสรรค์ "ความดี" ให้คงอยู่ในสังคมไทยตามแบบอย่างข้าราชการผู้รักษาความดีทั้ง 8 ท่านนี้ ตราบนานเท่านาน...
 




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

นิตยสาร ฅ คน ปีที่ 8 ฉบับที่ 1 (84) พฤศจิกายน 2555


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
8 ปูชนียบุคคลของสังคมไทย...นักคิด นักพัฒนา ผู้ควรค่าแก่การยกย่อง โพสต์เมื่อ 24 มกราคม 2556 เวลา 11:08:50 157,624 อ่าน
TOP
x close