อึ้ง! แจ๋ว ต่างด้าว เงินเดือนเกินหมื่น (ไทยโพสต์)
เผยอาชีพ 'แจ๋ว' รายได้ถีบตัวสูงขึ้นเท่าตัว แต่คนไทยเมิน นายหน้าจัดหาแรงงานสบโอกาสเปิดเฟซบุ๊กลงรูปแรงงานพร้อมประวัติให้นายจ้างติดต่อ เผยผลพวงจากนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ทำคนต่างด้าว 3 สัญชาติทะลักเข้าเมืองหวังทำงานเป็นคนใช้ในบ้าน อัตราค่าจ้างกว่าหมื่นบาท สูงกว่านักศึกษา ป.ตรีจบใหม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากสถานการณ์ตลาดแรงงานไทยขาดแคลนตำแหน่งแม่บ้านและพี่เลี้ยงเด็ก เนื่องจากแรงงานไทยไม่นิยมทำงานแม่บ้าน จึงทำให้มีอาชีพนายหน้าจัดหาแรงงานต่างด้าวให้กับนายจ้างเกิดขึ้นมากมาย จนล่าสุดพบว่า นายหน้ารายหนึ่งเปิดให้บริการจัดหาคนงานต่างด้าวผ่านทางเว็บไซต์ชื่อดังอย่างเฟซบุ๊กชื่อ Maid & Nanny Service เพื่อเป็นสื่อกลางระหว่างนายจ้างกับแรงงาน
โดยพบว่า นายหน้าจัดหาแรงงานรายนี้ใช้ชื่อนามว่า "จอย" รับจัดหาแม่บ้าน พี่เลี้ยงเด็กและผู้ดูแลผู้สูงอายุ ที่เป็นชาวพม่า ลาว และเขมร โดยมีการโพสต์รูปภาพแรงงานพร้อมข้อมูลประวัติส่วนตัวอย่างละเอียด อาทิ ชื่อ อายุ สัญชาติ ประวัติการทำงาน ประวัติส่วนตัว และความสามารถต่าง ๆ เป็นต้น พร้อมอัตราค่าจ้างที่แตกต่างกันตามความสามารถ ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่า ตำแหน่งแม่บ้านในปัจจุบันนี้ไม่มีราคา 4,500-5,000 บาทอีกต่อไปแล้ว โดยเปิดเผยข้อมูลเพื่อให้นายจ้างได้เลือกและรับไปทำงานต่อไป
ในเฟซบุ๊กดังกล่าวระบุว่า ปัจจุบันได้มีการขึ้นค่าจ้างแรงงานไปถึงราคา 6,000-12,000 บาทแล้ว ซึ่งมีการแจ้งอัตราค่าจ้างแรงงานตามหน้าที่และระดับความสามารถของแรงงาน เช่น
1. พูดไม่ได้ ฟังไม่ออก ทำงานไม่เป็น รีดผ้าไม่เป็น ไม่มีเอกสาร ราคา 5,500-6,000 บาท (ซึ่ง 5,500 นั้นหายากมาก ยกเว้นว่าบ้านเจ้านายอยู่ในพื้นที่ที่แรงงานอยากอยู่จริง ๆ
2. พอทำงานเป็น ยังรีดผ้าไม่เป็น พูดไม่ได้ พอฟังออกนิดหน่อย ไม่มีเอกสาร ราคา 6,000-6,500 บาท
3. ทำงานบ้านเป็น พูดได้ฟังออก ทำกับข้าวไม่เป็น รีดผ้าเป็นแต่ไม่เก่ง บ้านเจ้านายวัยทำงาน ไม่มีเด็ก อาจจะมีสุนัขตัวสองตัว ไม่มีผู้สูงอายุ ราคา 7,000-7,500 บาท
4. ทำงานบ้านเป็น พูดได้ฟังออก ทำกับข้าวเป็น รีดผ้าได้ ราคา 9,000-12,000 บาท
5. เลี้ยงเด็กอ่อนอย่างเดียว ราคา 9,000-12,000 บาท
6. งานบ้านและพี่เลี้ยงเด็กยังไม่ไปโรงเรียน ราคา 8,000-9,000 บาท
7. งานบ้านและพี่เลี้ยงที่ไปโรงเรียนแล้ว ราคา 7,500-8,500 บาท
8. งานบ้านอย่างเดียว ไม่มีเด็ก/คนแก่/สัตว์เลี้ยง ราคา 7,000-7,500 บาท ราคาค่าจ้างแรงงานสำหรับผู้ที่จะมาดูแลผู้สูงอายุอย่างเดียวมีอัตราค่าจ้างสูงถึง 15,000 บาทเลยทีเดียว
นางสาวจอย นายหน้าจัดหางาน และผู้เปิดเฟซบุ๊กชื่อ Maid & Nanny Service ไม่ขอเปิดเผยชื่อนาม-สกุล กล่าวว่า ในปัจจุบันแรงงานแม่บ้านและพี่เลี้ยงเด็กส่วนใหญ่จะมาจากประเทศเพื่อนบ้าน หรือที่เรียกกันว่าแรงงานต่างด้าว เพราะแรงงานคนไทยส่วนมากเลือกที่จะไปทำงานในโรงงานหรือไม่ก็ไปทำงานอื่น ๆ ที่ให้ค่าจ้างสูงกว่าอาชีพดังกล่าว โดยพวกเขาให้เหตุผลว่าต้องการความมีอิสระในชีวิตที่มากกว่าอาชีพแม่บ้าน ที่ในแต่ละวันต้องอยู่ดูแลเจ้านายตลอดเวลา ซึ่งตรงกันข้ามกับการทำงานในโรงงานที่มีเวลาเข้า-ออกงานที่แน่นอน จึงทำให้มีเวลาว่างหลังเลิกงานในการทำธุระส่วนตัวอย่างอิสระมากกว่า ในขณะที่แรงงานต่างด้าวนั้นไม่มีทางเลือกมากเท่ากับคนไทย เพราะในบริษัทหรือโรงงานบางแห่งไม่รับแรงงานต่างด้าว เนื่องจากไม่อยากคอยกังวลในเรื่องกฎหมายแรงงานที่ยุ่งยาก และขั้นตอนในการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวที่ซับซ้อน
"ในอนาคตมีแนวโน้มความต้องการใช้แรงงานแม่บ้านต่างด้าวมากขึ้น เพราะมีอัตราค่าจ้างที่ต่ำกว่าแรงงานแม่บ้านชาวไทย อย่างไรก็ตาม แรงงานแม่บ้านชาวต่างด้าวก็ยังถือว่าสูงพอสมควรเมื่อเทียบกับในอดีต ทั้งนี้ เพราะได้รับประโยชน์จากนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท อีกทั้งยังได้รับการคุ้มครองในเรื่องประกันสังคมจากกฎหมายแรงงานของไทยอีกด้วย
อัตราค่าจ้างแรงงานแม่บ้านชาวต่างด้าวของทางบริษัท Maid & Nanny Service นั้นขึ้นอยู่กับประสบการณ์ ความรู้ความสามารถ (เช่น รีดผ้า เลี้ยงเด็ก ดูแลคนแก่ การทำอาหาร จ่ายตลาด พูดภาษาไทยได้ ฯลฯ) ความมีไหวพริบในเรื่องต่าง ๆ ซึ่งจะทราบได้จากการสัมภาษณ์ เป็นต้น
นางสาวจอยกล่าวอีกว่า สำหรับบริษัท Maid & Nanny Service ของตนนั้น ทุกครั้งที่มีการรับแรงงานเข้ามาใหม่ ทางบริษัทได้พาไปขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวตามกฎหมายทุกคน โดยแรงงานต่างด้าวที่บริษัทจะรับเข้ามาจะต้องมีเอกสารอย่างครบถ้วนเสมอ เพื่อง่ายต่อการตรวจสอบหากเกิดอะไรขึ้นในภายหลัง ในแต่ละเดือนจะมีแรงงานต่างด้าวผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้า-ออก โดยมีทั้งผู้ที่เข้ามาใหม่และผู้ที่นายจ้างรับไปทำงานแล้ว จึงไม่สามารถบอกได้ว่ามีแรงงานอยู่ในสังกัดของตนกี่คน เพราะในแต่ละเดือนจะมีตัวเลขที่ไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับความต้องการใช้แรงงานของนายจ้างในแต่ละเดือน
"โดยส่วนใหญ่แล้วแรงงานที่ติดต่อเข้ามาในบริษัทจะเป็นแรงงานสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา แต่ทั้งนี้ก็ยังมีแรงงานไทยอยู่บ้างนิดหน่อย แต่ก็มีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ ทุกเดือน เนื่องจากแรงงานไทยส่วนมากเลือกไปทำงานตามโรงงานมากกว่า"
นางสาวจอยกล่าวต่อว่า การป้องกันลูกจ้างโดนนายจ้างทารุณกรรมหรือทำร้ายร่างกาย ควรจะเริ่มจากบริษัทจัดหาแรงงานที่จะต้องตรวจสอบอย่างละเอียด ทั้งประวัติแรงงานและนายจ้างด้วย การสอบสัมภาษณ์อย่างเข้มข้นก่อนตกลงตอบรับเข้าเริ่มงาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นเรื่องที่บริษัทของเราให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก บริษัทจึงได้มีมาตรการตรวจสอบที่เข้มข้นมากมายเพื่อคุณภาพของแรงงานที่นายจ้างจะได้ไป และคุณภาพของนายจ้างที่แรงงานจะเข้าไปทำงานให้นั่นเอง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก