การถ่วงหูยาวของชาวดายัค ค่านิยมที่กำลังเลือนหาย

          ดายัค ชื่อชนชาวพื้นเมืองดั้งเดิมของเกาะกาลิมันตันหรือเกาะบอร์เนียว ที่อาศัยอยู่ลึกเข้าไปในป่าทางตอนกลางของเกาะในอาณาเขตของประเทศอินโดนีเซีย อาจพอเป็นที่คุ้นหูเรา ๆ ท่าน ๆ อยู่บ้าง ในฐานะชนเผ่ากินมนุษย์แห่งกาลิมันตัน วิถีโบราณที่ดูดิบเถื่อนในสายตาชาวโลกที่กำลังมลายหายไปพร้อม ๆ กับความเจริญที่เข้าไปถึงยังพื้นที่ชนเผ่าอันห่างไกล แต่ไม่ใช่แค่เพียงการล่ากินชาวเผ่าคู่อริเท่านั้น ค่านิยมดั้งเดิมอันนับเป็นศิลปะและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของชนเผ่าดายัคอย่างการ "ถ่วงหูยาว" ก็กำลังจางหายไปพร้อม ๆ การมาถึงของปัจจุบันสมัยด้วย 

          การสัก ใส่ฟันทอง และการถ่วงหูยาว เป็น  3 ศิลปะบนร่างกายชาวดายัคทำสืบกันมาแต่โบราณ แต่ในปัจจุบันเห็นจะมีเพียงการสักเท่านั้นที่ยังได้รับการสืบทอดต่อ ส่วนการใส่ฟันทอง และการถ่วงหูค่อย ๆ เลือนหายไปตามกาลเวลา โดยเฉพาะการถ่วงหูให้ยาวยานอันนับเป็นวัฒนธรรมที่แปลกตาและมีความเฉพาะตัวที่สุดของชาวดายัคนั้น ในปัจจุบันหาดูในชาวดายัครุ่นใหม่ไม่ได้อีกแล้ว จะมีหลงเหลือให้เห็นแต่ในหญิงชราผู้เฒ่าผู้แก่ที่อายุ 60 ปีขึ้นไปเท่านั้น 




 
          เดิมทีชาวดายัคจะถ่วงหูกันทั้งหญิงและชาย ก่อนที่ต่อมาจะกลายเป็นค่านิยมของผู้หญิงแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยการถ่วงหูนับเป็นสัญลักษณ์ของความงาม การมีฐานะ กินดีอยู่ดี และเป็นการแบ่งแยกชนชั้นของตนออกจากพวกเชลยหรือพวกทาสซึ่งได้มาจากการต่อสู้ชนะชนท้องถิ่นเผ่าอื่น ๆ 

          จุดเริ่มต้นของการถ่วงหูก็คือการเจาะหู ซึ่งจะทำตั้งแต่ยังเป็นเด็กอ่อนอายุเพียงไม่กี่เดือน โดยใส่ต่างหูแบบห่วงที่มาจากทองแดงและถ่วงไว้ด้วยลูกเม็ดปัด เมื่อโตขึ้นจึงเปลี่ยนจากลูกปัดที่ถ่วงออกเป็นการเพิ่มจำนวนห่วงเข้าไปตามอายุของผู้ใส่ เมื่ออายุผ่านพ้นไปอีกหนึ่งปีจำนวนห่วงก็จะเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งวง หากอยากรู้อายุของใครจึงสามารถดูเอาได้จากจำนวนห่วงที่ถ่วงหูเอาไว้ และแน่นอนว่าห่วงทองแดงจำนวนเป็นสิบ ๆ ห่วงนั้นนับว่าหนักไม่ใช่น้อยสำหรับติ่งหูเล็ก ๆ ของมนุษย์ ซึ่งชาวดายัคบอกว่ามันเป็นวัฒนธรรมของการฝึกความอดทนให้คนในเผ่าได้ ยิ่งถ่วงหูได้ยาวนานและยาวยานเท่าไหร่ ก็แสดงว่ามีจิตใจที่เข้มแข็งมากขึ้นเท่านั้น ยิ่งถ่วงไว้นานวันกระทั่งเป็นแรมปี ผ่านล่วงไปปีแล้วปีเล่า ติ่งหูที่ถูกถ่วงรั้งก็ค่อย ๆ ยืด และยาวขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในวัยผู้เฒ่าผู้แก่ขึ้นไป ล้วนแต่มีติ่งหูยาวยานเลยไหล่ลงไปทั้งสิ้น 

          ภาพสตรีสูงวัยชาวดายัคที่มีติ่งหูยาวยานพร้อมกับห่วงทองแดง หรือห่วงโลหะวงใหญ่นับสิบ ๆ วงคล้องห้อยอยู่ กลายเป็นภาพแปลกตาที่นักท่องเที่ยว ซึ่งมีทั้งชาวต่างชาติและชาวอินโดนีเซียเอง ไม่พลาดที่จะต้องถ่ายภาพเอาไว้เมื่อมีโอกาสได้มาท่องเที่ยวเพื่อชมวิถีชีวิตพื้นบ้านแบบชาวดายัค อย่างไรก็ดี วันเวลาที่เปลี่ยนแปลงไปก็ได้นำความเจริญมาสู่วิถีชีวิตของชาวเผ่า ชาวเผ่ารุ่นใหม่มีความคิดความอ่านที่ทันยุคทันสมัยมากขึ้น ซึ่งนั่นหมายถึงค่านิยมแบบสังคมสมัยใหม่ก็ค่อย ๆ แทรกซึมเข้ามาด้วย ชาวดายัครุ่นใหม่จึงปฏิเสธที่จะเจาะถ่วงหูของตนเอง มันไม่ใช่สัญลักษณ์ของความงาม การกินดีอยู่ดี หรือเป็นผู้มีความอดทนอีกต่อไป ไม่มีใครอยากทนเจ็บปวด และไม่ว่าเด็กหรือคนวัยสาวคนไหนก็ไม่อยากมีติ่งหูยาวยาน ทุกคนล้วนอยากจะมีใบหูที่ดูปกติเหมือนกับ "คนอื่น ๆ"  ทั้งนั้น





          ทว่าไม่เพียงแค่วัยหนุ่มสาวเท่านั้นที่เริ่มมองว่าการเจาะถ่วงหูเป็นสัญลักษณ์ของความล้าหลัง ไม่ทันสมัย และเป็นเรื่องน่าอาย ผู้เฒ่าผู้แก่บางคนซึ่งมีใบหูถูกถ่วงยาวยานมานานหลายสิบปี ก็เริ่มมองสิ่งที่ตัวเองเป็นอยู่ว่าล้าหลัง ป่าเถื่อน และจะนำความอับอายมาให้ลูกหลาน จนตัดสินใจเฉือนติ่งหูที่ยาวยานของตัวเองทิ้งไป ทนเจ็บปวดและรักษาบาดแผลอีกไม่เท่าไหร่เพื่อจะได้กลายเป็นคนที่ดูปกติเหมือนคนอื่น ๆ คิดดูแล้วก็น่าเสียดาย เพราะทั้ง ๆ ที่การใส่ต่างหูที่ถ่วงหูให้ยาวยานไว้อย่างยาวนาน อันนับเป็นสัญลักษณ์ของความอดทน แต่สุดท้ายแล้วก็ต้องยอมจำนนต่อค่านิยมจากโลกภายนอกในที่สุด 

          แม้จะเข้าใจดีว่ายุคสมัยที่ผันผ่านย่อมก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงนานาประการขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การเปลี่ยนแปลงบางอย่างดี บางอย่างร้าย บางอย่างก็ไม่อาจตอบได้แน่ชัดว่าดีหรือร้าย แต่ก็เท่ากับยอมละทิ้งอดีตที่ตัวเองเคยเป็นมา และการถ่วงหูยาวของชาวเผ่าดายัคก็กลายเป็นอีกหนึ่งค่านิยมดั้งเดิมของชนเผ่าที่ใกล้จะเลือนหาย มันกำลังจะล้มหายตายจากไปพร้อม ๆ กับผู้เฒ่าผู้แก่รุ่นสุดท้ายที่เหลืออยู่เท่านั้นเอง 


    



ขอขอบคุณภาพประกอบจาก limageodier.comphotography-13.comhistoryislandborne.blogspot.com, pace-amore-mondo.blogspot.com, mfda.web.id




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
การถ่วงหูยาวของชาวดายัค ค่านิยมที่กำลังเลือนหาย โพสต์เมื่อ 1 เมษายน 2556 เวลา 18:12:18 10,267 อ่าน
TOP
x close