x close

เปิดใจ อลินา มิรอง ทนายความฝ่ายไทย สู้คดีเขาพระวิหาร





เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ครอบครัวข่าว 3


          ถือว่าได้รับความสนใจไม่น้อย สำหรับทนายความฝ่ายไทย ที่ขึ้นสู้ศึกคดีเขาพระวิหาร ณ ศาลโลกที่กรุงเฮก และหนึ่งในทีมทนายที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากคือ อลินามิรอง ทนายความสาวชาวโรมาเนีย ซึ่งว่าความให้กับประเทศไทย และเมื่อวันที่ 23 เมษายน อลินาได้ออกมาเปิดใจผ่านรายการ เจาะข่าวเด่น เกี่ยวกับคดีปราสาทเขาพระวิหาร และเรื่องอื่น ๆ อีกด้วย

          พิธีกรเริ่มต้นด้วยการถามว่า อลินารู้หรือเปล่าว่าเธอเองมีชื่อเสียงอย่างมากในเมืองไทย อลินาตอบว่า  เธอเองไม่ได้คาดหวังว่าจะมีคนชื่นชอบเธอมากขนาดนี้ เธอเองก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน เธอคิดว่าประเด็นเรื่องการเมืองหรือการต่อสู้ในศาลโลกอาจจะไม่ค่อยมีคนสนใจมาก เพราะค่อนข้างน่าเบื่อสำหรับคนที่ไม่ได้เกี่ยวข้อง นี่ไม่ใช้ครั้งแรกที่เธอมาเมืองไทย ก่อนหน้านี้เธอเคยมาเมืองไทยแล้ว และไปเที่ยวตลาดมาก่อน แต่ไม่มีใครสนใจ แต่ตอนนี้ เธอเข้าใจแล้วว่าเธอเองเริ่มมีชื่อเสียง มีคนทักทายเธอเป็นจำนวนมาก

           จากนั้นเมื่อบอกว่า เหตุผลที่อลินาเริ่มมีชื่อเสียงในเมืองไทยนั้น อาจเป็นเพราะการนำเสนอต่อศาล โดยเฉพาะเรื่องของแผนที่ใหญ่ (The Big Map) ที่เธอนำเสนอไปมีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก อลินาก็ตอบว่า นี่อาจเป็นสิ่งที่ผู้คนสนใจ แต่สิ่งที่สำคัญคือ เธอต้องทำให้ผู้พิพากษาสนใจ แผนที่เป็นเพียงการให้ข้อมูลเสริมเท่านั้น ข้อมูลที่สำคัญกว่ามาจากทนายทั้ง 3 คน ได้แก้ ศ.เปลเลย์ ศ.ครอวฟอร์ด และ ศ.แมคเลย์ แผนที่เองเป็นเพียงส่วนเสริม ส่วนเหตุที่แผนที่ไม่ใช่ส่วนสำคัญของการไต่สวนในครั้งนี้ เพราะแผนที่ไม่ใช่ข้อโต้แย้งทางกฎหมาย มันเป็นเพียงหลักฐานที่แสดงว่าปราสาทอยู่ที่ไหน เขตแดนอยู่ที่ไหน ซึ่งเป็นหลักฐานที่โน้มน้าวให้ศาลเห็นว่า จุดยืนของเรามีเหตุผล สิ่งที่เราทำ ทำให้เห็นความแตกต่างของแผนที่ที่กัมพูชาให้มา และบ่งชี้ถึงความหมายที่แท้จริงตามแผนที่ที่ฉบับนี้ได้แสดงเอาไว้ เมื่อเธอได้มาเจอกับ Map Sheet 3 ซึ่งเธอเห็นว่า น่าจะมีประโยชน์กับทางฝ่ายไทย เธอจึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจ และชี้แจงว่าแผนที่นี้ มีที่มาที่ไปอย่างไร

          เมื่อถามว่า แผนที่ที่อลินานำมาเสนอนั้น พบโดยบังเอิญหรือเปล่า เธอบอกว่า ทางการไทยเห็นแผนที่นี้นานแล้ว แต่ไม่มีเวลาที่จะทุ่มเทให้กับการศึกษาแผนที่ฉบับนี้ และท่านทูตวีรชัยก็นำแผนที่นี้มาให้ดู และเธอจึงเริ่มเข้าใจ ว่าแผนที่นี้คืออะไร มีที่มาอย่างไร เธอทำงานกับแผนที่นี้ประมาณ 2 ปี โดยต้องหาข้อมูลและไปสถานที่จริง เพื่อยืนยันว่าสมมุติฐานของไทยว่ามีความน่าเชื่อถือ และเธอยังไปที่ศาลโลก 2 - 3 ครั้ง ไปดูในส่วนของแผนที่ใหญ่ที่เปิดเผยได้อีกด้วย

           เมื่อถามว่า เธอรู้สึกอย่างไรกับทนายความจากไทย โดยเฉพาะท่านทูตวีรชัย อลินาตอบว่า นี่คือทีมที่เธอทำงานด้วยแล้วตื่นเต้นที่สุด ทุกคนเป็นมิตร และท่านทูตวีรชัยก็มีแนวทางในการต่อสู้คดีอยู่แล้ว เธอรู้ว่ายังมีคนอีกมากมายที่ทำงานเบื้องหลังและเธอไม่ได้เจอ แต่พวกเขาก็สำคัญเสมอ



          เมื่อถามว่า เธอรู้หรือไม่ว่าทำไมในอดีต คนไทยถึงไม่ให้ความสำคัญกับแผนที่ใหญ่สักเท่าไหร่ เธอตอบว่า แผนที่นี้มีความสำคัญกับผู้พิพากษาเพียงอย่างเดียว มันไม่ใช่แผนที่ใหม่ระหว่างทั้ง 2 รัฐ ศาลอาจไม่จำเป็นต้องสืบค้นลงไปเพิ่มก็ได้ อีกทั้งแผนที่ยังไม่ได้ชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศ และแผนที่นี้ก็เป็นแผนที่ที่เขียนด้วยมือ อาจจะไม่มีความแม่นยำก็ได้ นั่นจึงเป็นสาเหตุที่คนไม่สนใจ

          เมื่อถามว่า เธอเองมาเมืองไทยครั้งแรกเมื่อ 4 ปีก่อน เพื่อที่จะทำรายงานคดีในเรื่องการปักปันเขตแดน เธอเริ่มคดีนี้ตั้งแต่เมื่อไหร่ อลินากล่าวว่า จริง ๆ เธอเริ่มทำคดีนี้มานานแล้ว และนี่เป็นครั้งแรกที่เธอทำงานในฐานะผู้ช่วยของศาสตราจารย์เปเลต์ เธอได้ข้อมูลและนำมาพูดคุยกับทีม และลงไปที่ อ.กันทรลักษณ์ เพื่อหาข้อมูลจริง ๆ

          เมื่อถามว่า การที่เธอมาทำคดีนี้ เธอก็ต้องมีความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ระหว่างไทยและกัมพูชาพอสมควร เธอคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องเขตแดน อลินากล่าวว่า เรื่องนี้มี 2 ประเด็น เรื่องประวัติศาสตร์ถือเป็นสิ่งที่น่าสนใจที่จะศึกษา ทั้งการล่าอาณานิคมของฝรั่งเศสและสิ่งที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 19 และ 20 แต่เรื่องเขตแดนเป็นสิ่งที่ทั้งสองประเทศสามารถตกลงกันได้ และพัฒนาความสัมพันธ์กันได้ดียิ่งขึ้น

          เมื่อถามว่า เธอเองลังเลที่จะมาร่วมกับทีมไทยไหม เธอตอบว่า เธอไม่ได้ลังเลเลย เพราะนี่คือสิ่งที่เธอชอบ เพราะคำพิพากษาในปี 2505 คือเคสศึกษาที่นักศึกษากฎหมายต้องเรียน เธอจึงตื่นเต้นที่จะได้กลับมาทำคดีนี้อีกครั้ง และการได้ทำงานร่วมกับทนายทั้ง 3 คนที่สำคัญที่สุดในกฎหมายระหว่างประเทศ นี่จึงเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นมาก

       เมื่อถามว่า คนที่ทำงานในลักษณะนี้มักจะเป็นผู้ชาย เธอประสบปัญหาอะไรบ้างหรือเปล่า อลินาตอบว่า สำหรับเธอ คดีนี้เปรียบเสมือนการศึกษามากกว่า ในสายการทำงานนี้ ผู้หญิงมักจะไม่ค่อยก้าวหน้าเท่าไหร่ แต่ไม่ว่าจะทำคดีไหน เธอก็ต้องทำงานหนักเสมอ เพราะมีคนไม่มากที่เข้ามาถึงจุดนี้ และส่วนหนึ่งก็เป็นเรื่องของโชค และการได้รับการสนับสนุนด้วย หากทำงานหนักแต่ไม่ได้รับการสนับสนุน คุณก็ไม่สามารถทำอะไรได้

          จากนั้น อลินาเองก็ยังเล่าให้ฟังว่า เธอเองไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องแผนที่หรืออะไร แต่ในฐานะของทนาย เธอต้องมีความเข้าใจในแผนที่ที่เธอนำไปเสนอต่อศาล เพื่ออธิบายถึงปัญหา สิ่งสำคัญของการเป็นทนายคือการเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ เพื่อนำไปบอกผู้พิพากษา เพราะผู้พิพากษาไม่เชี่ยวชาญเรื่องแผนที่



          เมื่อถามว่า อลินาไม่ได้ทำคดีให้ไทยอย่างเดียว ยังมีคดีอื่นที่เธอได้ทำ เธอตอบว่า เธอทำงานในฐานะผู้ช่วยของ ศ.เปลเลต์ เขาเองค่อนข้างยุ่ง เธอจึงต้องศึกษาเนื้อหาและสรุปข้อมูลเบื้องต้นให้เขาฟัง และนำมาคุยกัน และนี่เป็นครั้งแรกที่เธอเสนอต่อหน้าศาลโลก ตอนนั้นเธอเองก็ตื่นเต้นมาก 10 นาทีแรกค่อนข้างลำบาก เหมือนเสียงจะหายไปเลย แต่หลังจากนั้นใช้เวลา 5 นาที ก็สื่อสารกับผู้พิพากษาได้ เธอเองพยายามพูดให้เข้าใจง่ายที่สุด แต่สคริปต์ของเธอก็ผ่านการปรึกษากับทีมมาแล้ว การขึ้นให้การต่อศาลในวันที่ 2 ก็ต้องมีการปรับบ้าง เพราะทางกัมพูชาเองไม่เดินตามประเด็นที่ให้ไว้ในครั้งแรก ครั้งที่ 2 ก็ต้องตอบคำถามไป สิ่งที่ท้าทายที่สุดในการทำคดีนี้คือ มีคำตัดสินเมื่อ 50 ปีก่อน และคำตัดสินครั้งนี้น่าจะต่างไป อีกทั้งยังเป็นเรื่องท้าทาย ที่ต้องขจัดความเชื่อที่มีมาก่อน

        เมื่อถามว่า ในฐานะผู้ช่วยของศาสตราจารย์เปเลต์ เธอเองคงยุ่งไม่น้อย เลยอยากรู้ว่าในเวลาว่างเธอทำอะไร อลินาตอบว่า ในเวลาว่าง เธอต้องใช้เวลาในการทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกให้เสร็จ แต่สิ่งที่เธอชอบจริง ๆ คือ การที่เธอได้ออกไปเดินเล่นสูดอากาศ ปีนเขา เดินตามชายหาด

          เมื่อถามถึงเรื่องแผนการในอนาคตของอลินา เธอตอบว่า สิ่งที่ต้องทำก่อนคือ จบปริญญาเอก แล้วกลับไปสอนหนังสือ เพราะการสอนหนังสือเป็นส่วนสำคัญของอนาคตของเธอเหมือนกัน

          เมื่อถามว่า ยังมีช่วงเวลาประมาณ 5 – 6 เดือนกว่าที่จะมีคำตัดสินออกมา เลยอยากรู้ว่าตอนนี้เธอทำอะไรบ้าง อลินาตอบว่า  ตอนนี้งานของเธอก็เสร็จไม่มากก็น้อย ตอนนี้ไม่มีอะไรต้องทำมากแล้ว นอกเหนือจากการเตรียมเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณะ และรอคำตัดสินที่จะออกมา

          หากมีคะแนนความพอใจเต็ม 10 อลินาจะให้คะแนนตัวเองเท่าไหร่ เธอตอบว่า เธอเองไม่ต้องการที่จะให้คะแนนตัวเอง แต่เธอเธอมีความสุขมากที่ได้ทำคดีนี้ ศ.เปลเลต์บอกว่าเธอค่อนข้างเครียดกับในตอนแรก แต่หลังจากขึ้นเสนอแล้ว เธอก็ดูมีความสุขขึ้นมาก ก่อนที่จะทิ้งท้ายว่า เธออยากกลับมาที่เมืองไทยอีกครั้ง มาที่อยุธยา สุโขทัย และเกาะกูด


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก









เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิดใจ อลินา มิรอง ทนายความฝ่ายไทย สู้คดีเขาพระวิหาร อัปเดตล่าสุด 24 ตุลาคม 2556 เวลา 15:13:11 2,495 อ่าน
TOP