เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก สปริงนิวส์
ชาวนครพนมจับปลาแม่น้ำโขงขนาดยักษ์ หรือที่เรียกกันว่า ปลาคูณ ยาวกว่า 2 เมตร หนัก 70 กิโลกรัม ได้ที่ อ.บ้านแพง เผย เป็นปลาหายาก ไม่มีคนพบกว่า 10 ปีแล้ว
เมื่อวานนี้ (3 มิถุนายน 2556) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ จ.นครพนม พบปลาน้ำโขงขนาดใหญ่ ความยาวประมาณ 2 เมตร น้ำหนักประมาณ 70 กิโลกรัม โดยมีชาวบ้านที่ทำอาชีพประมง จับได้ในพื้นที่ อ.บ้านแพง จ.นครพนม ก่อนนำมาขายให้กับแม่ค้าตลาดปลาน้ำโขง ตลาดสดเทศบาลเมืองนครพนม ทำให้ชาวบ้านที่พบเห็นพากันแตกตื่น เนื่องจากเป็นปลาหายาก ที่ชาวบ้านเรียกว่า ปลาคูณ หรือ ปลาค้าวดำ เป็นปลาน้ำจืดที่ใกล้สูญพันธุ์ ถือว่าเป็นการจับได้ในพื้นที่นครพนม ในรอบกว่า 10 ปี ราคาขายตามท้องตลาดตกประมาณ กิโลกรัมละ 250-300 บาท รวมปลาตัวนี้มีราคาสูงถึงประมาณ 20,000 บาท
ด้านนางลัดดา แก้วดวง อายุ 40 ปี แม่ค้าขายปลาน้ำโขงตลาดสดเทศบาลเมืองนครพนม กล่าวว่า ปกติตนจะรับซื้อปลาน้ำโขงตัวขนาดใหญ่จากชาวประมง อาทิ ปลาแข้ ปลาโจก ปลาอีตู๋ บางทีก็มีปลาบึก มาชำแหละขายตั้งแต่ กิโลกรัมละ 100-300 บาท แล้วแต่ชนิด แต่สำหรับปลาคูณ ตัวนี้ถือว่ามีขนาดใหญ่มาก นับเป็นปลาน้ำโขงอยู่ในตระกูล ปลาค้าว ซึ่งไม่เคยพบมาก่อนในรอบ 10 ปี ตอนแรกตนจะนำมาชำแหละขาย ประมาณกิโลกรัมละ 250 บาท แต่ได้มีเจ้าของร้านอาหารปลาน้ำโขง มารับซื้อไป ในราคา 20,000 บาท เพราะต้องการนำไปปรุงอาหารให้ลูกค้ารับประทาน ตนจึงขายไป
ขณะที่นายประจักษ์ เจริญรัตน์ ประมงจังหวัดนครพนม กล่าวว่า สำหรับปลาที่ชาวบ้านจับได้ตามหลักวิชาการประมงเรียกว่า ปลาค้าวดำ แต่ภาษาชาวบ้าน เรียกว่า ปลาคูณ เป็นปลาน้ำจืดที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำโขง และมีตัวขนาดใหญ่มาก เป็นปลาล่าเนื้อ เหมือนตระกูลปลาบึก บางตัวมีน้ำหนักถึง 100 กิโลกรัม ส่วนใหญ่จะสามารถจับได้ช่วงหน้าฝน เพราะจะขึ้นมาวางไข่ในช่วงน้ำหลาก ส่วนรสชาติก็อร่อยเหมือนปลาน้ำโขงทั่วไป ในส่วนของประมงได้มีการเพาะพันธุ์ นำไปปล่อยลงสู่แม่น้ำโขง เพื่อแก้ปัญหาการสูญพันธุ์แล้ว และสามารถนำไปเลี้ยงเพื่อการบริโภคได้ แต่ในอนาคตจะหายากมากขึ้น เนื่องจากปัจจัยจากความเปลี่ยนแปลงทางระบบนิเวศทำให้ปลาไม่มีแหล่งเพาะพันธุ์ ซึ่งปัจจุบันพบว่า ปลาน้ำโขงหลายชนิดเริ่มสูญพันธุ์ หายากมากขึ้น
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก