เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ, อาร์เอสยูนิวส์ (RSU News)
พศ. ชี้ กิจกรรมแชร์ธรรมะลุ้นพระทองคำ 10 ล้าน ของวัดธรรมกาย เป็นเรื่องเล็กน้อย อย่าจ้องจับผิด ขณะที่นักวิชาการระบุ เข้าข่ายการพนัน ซัดเป็นการใช้กลไกการตลาดเคลือบธรรมะ เพิ่มกิเลสให้ชาวบ้าน
วันนี้ (3 กรกฎาคม 2556) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊ก พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ด้านการศึกษาและการเผยแผ่ ได้โพสต์ข้อความเชิญชวนให้แฟนเพจได้ร่วมสนุกด้วยการกดไลค์ กดแชร์ แฟนเพจนี้ พร้อมทั้งกรอกชื่อ อีเมล หรือเบอร์โทรศัพท์ เพื่อเป็นหลักฐานในการลุ้นรับรางวัลเป็นพระทองคำหนัก 10 บาท โดยหมดเขตการแชร์ วันจันทร์ที่ 22 กรกฎาคม เวลา 23.00 น. และจะประกาศชื่อผู้โชคดีในวันที่ 23 กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันเข้าพรรษา ซึ่งขณะนี้มีสมาชิกกดไลค์แฟนเพจถึง 2,489,507 คนเลยทีเดียว (ข้อมูลวันที่ 3 กรกฎาคม)
นอกจากนี้ ยังมีแฟนเพจได้นำข้อคิดดี ๆ จากภาพหลักธรรมดังกล่าวไปแก้ปัญหาชีวิต จึงมีกุศลจิตศรัทธาถวายพระพุทธชินราชทองคำแท้ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ขนาดสูง 20.5 เซนติเมตร หนัก 10 บาท 1 องค์ ให้พระอาจารย์ เพื่อมอบให้เป็นสิริมงคลและเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำตระกูลแก่ผู้ที่ช่วยกันแชร์ธรรมะให้กว้างขวางออกไป
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนาหูถึงความไม่เหมาะสม และกิจกรรมดังกล่าวก็ไม่ใช่กิจของสงฆ์ อีกทั้งบางคนยังเอาไปเปรียบเทียบกับกิจกรรมแจกทองของเครื่องดื่มชาเขียวบางยี่ห้อ บ้างก็ระบุว่า การแชร์ธรรมะนั้นต้องเป็นไปด้วยศรัทธาของผู้อ่าน ไม่ใช่เพื่อชิงรางวัลเช่นนี้
อย่างไรก็ดี ทางด้าน นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร เนื่องจากปัจจุบันมีหลายหน่วยงาน หลายสถานที่ ต่างก็ใช้วิธีนี้เพื่อดึงดูดและกระตุ้นให้คนสนใจเข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งในกรณีนี้ก็เหมือนประชาสัมพันธ์ให้คนหันมาสนใจธรรมะ ส่วนคนที่มองว่าเป็นการโฆษณาวัด เพื่อหวังผลประโยชน์อะไรบางอย่างนั้น ก็เพราะวัดแห่งนี้มีภาพลักษณ์ที่คนนอกมักมองว่าเลวอยู่ก่อนแล้ว
ผอ.พศ. กล่าวต่อไปว่า ทุกวันนี้ก็มีแต่เรื่องที่ทำให้ศาสนาเสื่อมเสีย จึงอยากให้ทุกคนช่วยมองเป็นความผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่าไปตั้งแง่โดยจ้องจับผิดลูกเดียว และอยากให้เปิดใจดูบ้าง เพราะเรื่องแบบนี้เป็นเรื่องของความเชื่อ ความศรัทธาของแต่ละคน ซึ่งความคิดเห็นก็มักจะมี 2 ด้านเสมอ ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ในบางเรื่องจึงควรมีการอนุโลมกันได้บ้าง
ทาง นายนพรัตน์ กล่าวต่อไปว่า ตนเคยไปสำรวจตามวัดต่าง ๆ ก็พบว่ามีวัดหลายแห่งที่จัดฝึกอบรมให้เด็กในช่วงวันหยุด วันปิดเทอม ก็มีการแจกลูกอม ดินสอ ยางลบ เครื่องเขียน ให้กับนักเรียนที่ตอบคำถามธรรมะได้ ตนจึงมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่ใช่ความผิดอะไร จึงไม่สามารถดำเนินการเอาผิดในเบื้องต้นได้ แต่หากจะมองว่ามีความผิดฐานเข้าข่ายการพนัน ก็คงต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของตำรวจต่อไป ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับเจตนาที่แท้จริงของวัดนั้นด้วยว่ามีวัตถุประสงค์ที่จะจัดกิจกรรมพร้อมแจกของรางวัลไปเพื่ออะไร เพื่อเผยแผ่ธรรมะจริง ๆ หรือเพื่อการโฆษณาวัดเพื่อหารายได้เพียงอย่างเดียว
ขณะที่ ร.ต.อ.ดร.วิเชียร ตันศิริคงคล คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ในฐานะผู้ศึกษาวิจัยเรื่องบ่อนการพนัน กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า การลุ้นรับพระทองคำหนัก 10 บาท ของวัดธรรมกายนั้น ตามกฎหมายแล้วถือว่าเข้าข่ายการพนันอย่างชัดเจน เนื่องจากวิธีการดังกล่าวถือว่าเป็นการพนันชนิดหนึ่ง คือการเสี่ยงโชค ซึ่งผู้ที่จะร่วมเกมจะต้องกดส่งต่อข้อความไปเรื่อย ๆ เพื่อเพิ่มโอกาสในการสุ่มจับได้ชื่อของตนเอง ทำให้ทางผู้จัดกิจกรรม นั่นก็คือวัดแห่งนี้ สามารถที่จะขยายฐานลูกค้าที่จะเข้ามาติดตามความเคลื่อนไหวของเว็บไซต์หรือหน้าเพจของวัดอยู่ตลอดเวลา นับว่าเป็นการเพิ่มยอดลูกค้าอีกทางหนึ่งที่ได้ผลสูง เนื่องจากผู้ที่กดแชร์เอาไว้จะต้องคอยมอนิเตอร์หรือจับตาเฝ้าดูตลอดเวลา ว่าจะมีการประกาศผลได้ชื่อตนหรือไม่ไปโดยปริยาย
ดร.วิเชียร กล่าวอีกว่า วิธีนี้ถือว่าเป็นกลไกการตลอดเคลือบธรรมะได้อย่างแยบยล เพื่อให้ผู้ที่ศรัทธาและผู้มีกิเลสอยากได้พระทองคำเข้ามาติดตามกิจกรรมอื่น ๆ ต่อเนื่องไปด้วย และต่อมาก็จะมีการซึมซับสิ่งที่ลัทธินี้ต้องการจะเผยแผ่ออกไป อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้สามารถเอาผิดได้ในเรื่องข้อกฎหมายที่กำหนดไว้ว่า ผู้ที่จะจัดให้มีการเสี่ยงโชคไม่ว่าในลักษณะใด ทั้งโลกจริงหรือโลกเสมือน จะต้องขออนุญาตจากกระทรวงมหาดไทยให้ถูกต้องเสียก่อน
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก