คดีรถดับเพลิง-เรือดับเพลิง กทม. ย้อนรอยปมทุจริต 6.6 พันล้าน


คดีรถดับเพลิง-เรือดับเพลิง กทม.


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ไทยพีบีเอส

            ย้อนรอย คดีรถดับเพลิง การฮั้วประมูลจัดซื้อรถและเรือดับเพลิง ของ กทม. ด้วยงบประมาณ 6.6 พันล้านบาท พร้อมคำพิพากษาคดีรถดับเพลิง สาเหตุที่ศาลฎีกา สั่งจำคุก 2 นักการเมือง คือ นายประชา มาลีนนท์ และ พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ

            สืบเนื่องจากคดีทุจริตจัดซื้อรถและเรือดับเพลิงของกรุงเทพมหานคร (กทม.) มูลค่า 6,687,489,000 บาท ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2556 ให้จำคุก นายประชา มาลีนนท์ อดีต รมช.มหาดไทย เป็นเวลา 12 ปี ขณะที่ พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ อดีต ผอ.สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. ถูกพิพากษาจำคุก 10 ปี ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ฮั้วประมูลนั้น

            แต่เนื่องจากคดีดังกล่าว ยืดเยื้อมานานกว่า 10 ปี ดังนั้นผู้ที่เพิ่งติดตามข่าวในภายหลังอาจไม่ทราบเบื้องลึก เบื้องหลังว่า เหตุการณ์ดังกล่าวได้เริ่มขึ้นเมื่อใด และใครเกี่ยวข้องในคดีนี้บ้าง เพื่อไขความกระจ่างในเรื่องนี้ กระปุกดอทคอมจึงนำลำดับเหตุการณ์คดีฮั้วประมูลจัดซื้อรถและเรือดับเพลิง กทม. 6.6 พันล้าน มาฝากค่ะ
           
            เมื่อปี 2546 นายสมัคร สุนทรเวช ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าฯ กทม. ได้ดำเนินโครงการจัดซื้อรถและเรือดับเพลิงขึ้น โดยโอกาสให้เปิดบริษัทต่าง ๆ ยื่นซองประมูลราคา โดยวันที่ 28 พฤษภาคม 2546 บริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเซียลฟาย์ซอย์ ประเทศออสเตรีย ได้มีหนังสือถึง นายโภคิน พลกุล เพื่อเสนอราคารถดับเพลิง

            จากนั้น ในวันที่ 22 กรกฎาคม 2546 นายประชา มาลีนนท์ ซึ่งเป็น รมช.มหาดไทย ในขณะนั้น ได้ให้ยืนเรื่องให้ กทม. พิจารณา โดยวันที่ 4 มีนาคม 2547 นายสมัคร มีหนังสือถึง นายโภคิน ขออนุมัติโครงการดังกล่าว เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ โดยตั้งเงินงบประมาณ 7,847,660,150 บาท ดำเนินการแบบรัฐต่อรัฐ ซึ่งภายหลังลดงบประมาณเหลือ 6,687,489,000 บาท

            วันที่ 22 มิถุนายน 2547 ครม. มีมติอนุมัติในหลักการดังกล่าว พร้อมตั้งเงื่อนไขว่า การใช้งบในส่วนนี้ต้องเป็นส่วนที่นำเข้าจากต่างประเทศ และให้นำเข้าเฉพาะส่วนที่จำเป็น เช่น ไม่สามารถผลิตได้เองในประเทศไทย และวันที่ 30 กรกฎาคม 2547 รมว.มหาดไทยกับเอกอัครราชทูตออสเตรีย จึงร่วมลงนามข้อตกลงความเข้าใจ (เอโอยู) ระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลออสเตรีย

            ต่อมา วันที่ 4 สิงหาคม 2547 พล.ต.อ.อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ ผอ.สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มีหนังสือเรียนถึงกรมการค้าต่างประเทศ ให้ดำเนินการทำการค้าต่างตอบแทน (เคาน์เตอร์เทรด) โดยด่วน จากนั้นในวันที่ 27 สิงหาคม 2547 นายสมัครได้เซ็นสัญญาลงนามซื้อขายเรือและรถดับเพลิง ก่อนจะสิ้นสุดการดำรงตำแหน่งรักษาการผู้ว่าฯ กทม. ในวันที่ 29 สิงหาคม 2547 เป็นเวลา 2 วัน

            ซึ่งในวันเดียวกัน นายโภคิน พลกุล รมว.มหาดไทย ได้อนุมัติการจัดซื้อเรือและรถดับเพลิงด้วยวิธีพิเศษ ขณะที่ กทม. และบริษัท สไตเออร์ ได้ร่วมลงนามในเอโอยู โดยกำหนดให้ กทม. ต้องเปิดแอลซี (Letter of Credit) ภายใน 30 วัน นับแต่มีการลงนามซื้อขาย กระทั่งวันที่ 29 สิงหาคม 2547 นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน จึงได้รับการเลือกตั้งเป็น ผู้ว่าฯ กทม. ต่อจากนายสมัคร

            จากนั้น วันที่ 23 กันยายน 2547 นายอภิรักษ์ ได้ขอขยายเวลาการเปิดแอลซีออกไปอีก 1 เดือน และวันที่ 27 กันยายน 2547 นายอภิรักษ์ ได้มีหนังสือแจ้งไปยังธนาคารกรุงไทยให้ระงับการเปิดแอลซี โดยต่อมาเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2547 นายอภิรักษ์มีหนังสือเรียน นายโภคิน ให้พิจารณาทบทวนการจัดซื้อ

            ทว่า ในวันที่ 7 ตุลาคม 2547 นายสมศักดิ์ คุณเงิน เลขานุการ รมว.มหาดไทย มีหนังสือแจ้ง กทม. ให้ดำเนินการเปิดแอลซีเพื่อไม่ให้ผิดสัญญา แม้ว่าในวันที่ 12 ตุลาคม 2547 นายอภิรักษ์ มีหนังสือถึง นายโภคิน เพื่อขอให้ทบทวนอีกครั้ง แต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2547 นายโภคิน มีหนังสือสั่งการ ผู้ว่าฯ กทม. ว่าสัญญาการค้าต่างตอบแทนถูกต้องแล้ว ดังนั้น ในวันที่ 10 มกราคม 2548 นายอภิรักษ์ จึงมอบหมายให้ นายนิยม กรรณสูต ผู้อำนวยการ สำนักป้องกันฯ เป็นผู้รับมอบอํานาจในการเปิดแอลซี

            นอกจากนี้ ในปี 2549 หลังมีการส่งมอบรถและเรือดับเพลิงมาเก็บไว้ที่ท่าเรือแหลมฉบัง จากนั้นไม่นานได้มีการร้องเรียนให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) โอนคดีไปให้ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) สอบสวน เมื่อ คตส. หมดอายุในวันที่ 30 มิถุนายน 2551 ก็มีการโอนคดีไปให้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สอบสวนต่อ กระทั่งมีมติชี้มูลความผิดเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2551 โดยมีผู้ตกเป็นจำเลยที่ถูกกล่าวหา 6 คน ดังนี้

            1. นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าฯ กทม.

            2. นายสมัคร สุนทรเวช อดีตผู้ว่าฯ กทม.

            3. นายโภคิน พลกุล อดีต รมว.กระทรวงมหาดไทย

            4. นายประชา มาลีนนท์ อดีต รมช.กระทรวงมหาดไทย

            5.นายวัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.กระทรวงพาณิชย์

            6. พล.ต.ต.อธิรักษ์ ตันชูเกียรติ อดีต ผอ.สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม.

            7. บริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเชียล ฟาห์รซอยก์ จำกัด คู่สัญญา จากออสเตรีย

            หลังจากประมาณ 2 ปี ทาง ป.ป.ช. จึงส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และศาลได้ประทับรับฟ้องในเดือนสิงหาคม 2554 ก่อนนัดพิจารณาคดีเรื่อยมา จนเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2556 ศาลฎีกา ไต่สวนพยานนัดสุดท้าย และได้ให้คู่ความยื่นคำแถลงปิดคดีไปเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2556 ก่อนจะนำมาสู่การพิพากษาคดี เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2556

            โดยในท้ายที่สุด ศาลได้สั่งจำคุก นายประชา เป็นเวลา 12 ปี ฐานเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัท สไตเออร์ฯ ขณะที่ พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ถูกสั่งจำคุกเป็นเวลา 10 ปี เนื่องจากร่วมกับนายประชา เร่งรัดให้โครงการดังกล่าวเดินหน้าโดยไม่ชอบ

            ส่วน นายสมัคร แม้เป็นผู้เริ่มโครงการดังกล่าว แต่ไม่ได้อยู่ดำเนินการจนสิ้นสุดโครงการ ศาลจึงยกฟ้อง ขณะที่ นายโภคิน ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า ได้รับตำแหน่ง รมว.มหาดไทย หลังผ่านขั้นตอนเสนอจัดซื้อไปแล้ว จึงไม่มีส่วนผลักดันโครงการดังกล่าว ส่วนนายวัฒนา ศาลยกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่า การนำสินค้าต่างตอบแทน คือ ไก่ต้มสุกไปแลกกับรถและเรือดับเพลิงของ กทม. เป็นความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ไม่เกี่ยวกับรัฐมนตรี

            ด้าน นายอภิรักษ์ ศาลยกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่า เป็น ผู้ว่าฯ กทม. สืบต่อจาก นายสมัคร ดังนั้น การเปิดแอลซีเป็นสิ่งที่ต้องทำอยู่แล้ว หากไม่เปิดแอลซี กทม. จะได้รับความเสียหายมากกว่า และที่ผ่านมานายอภิรักษ์ก็พยายามยับยั้งการเปิดแอลซีแล้ว ส่วนบริษัท สไตเออร์ ศาลได้สั่งจำหน่ายคดีชั่วคราว

            อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2556 ศาลฎีกาได้เลื่อนอ่านคำพิพากษามาแล้วครั้งหนึ่ง เนื่องจาก นายประชา ไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง และในการอ่านคำพิพากษา เมื่อวันที่ 10 กันยายน ศาลฎีกาเห็นว่า นายประชา มีเจตนาหลบเลี่ยง จึงมีคำสั่งให้ออกหมายจับ และปรับเงินประกัน 2 ล้านบาท ซึ่งคงต้องจับตามองกันต่อไปว่า คดีฮั้วประมูลครั้งประวัติศาสตร์นี้ จะมีความคืบหน้าอย่างไรต่อไป



อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
คดีรถดับเพลิง-เรือดับเพลิง กทม. ย้อนรอยปมทุจริต 6.6 พันล้าน โพสต์เมื่อ 12 กันยายน 2556 เวลา 15:41:48 49,324 อ่าน
TOP
x close