พอพันธ์ไน ซากแรดไร้นอดึกดำบรรพ์ สายพันธุ์ใหม่ของโลก

พอพันธ์ไน ซากแรดไร้นอดึกดำบรรพ์

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

           พบซากฟอสซิล อาเซราเธียม พอพันธ์ไน แรดไร้นอดึกดำบรรพ์ สายพันธุ์ใหม่ของโลก อายุราว 7.5-6.0 ล้านปีก่อน ที่บ่อทราย จ.นครราชสีมา

           เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2556 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เป็นประธานแถลงข่าวการค้นพบซากดึกดำบรรพ์แรดไทยพันธุ์ใหม่ของโลก คือ อาเซราเธียม พอพันธ์ไน (Aceratherium porpani) เป็นแรดดึกดำบรรพ์ที่ไม่มีนอ โดยพบที่บ่อทรายในบ้านท่าช้าง ต.ท่าช้าง อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา

           สำหรับการค้นพบดังกล่าว เป็นงานวิจัยร่วมระหว่าง ศ.เติ้ง เถา (Prof Dr.Deng Tao) ผู้เชี่ยวชาญด้านแรดวิทยา จากสถาบันบรรพชีวินวิทยาสัตว์มีกระดูกสันหลังและมานุษยวิทยาบรรพกาล กรุงปักกิ่ง จีน กับ ผศ.ประเทือง จินตสกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เฉลิมพระเกียรติ และ น.ส.รัตนาภรณ์ หันตา นักวิจัยมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา โดยทีมวิจัยได้รับซากฟอสซิลดังกล่าวซึ่งเป็นโครงกะโหลกและกรามที่สมบูรณ์จาก รศ.พอพันธ์ วัชจิตพันธ์ อดีตอาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อศึกษาวิจัยตั้งแต่ปี 2550 พร้อมกับตั้งชื่อแรดดึกดำบรรพ์ดังกล่าวตามชื่อผู้มอบฟอสซิล

           ดร.รัตนาภรณ์ หันตา ผู้วิจัยอธิบายว่าใช้เวลา 2 ปีเพื่อวิจัยจนทราบว่าฟอสซิลดังกล่าวเป็นแรดดึกดำบรรพ์พันธุ์ใหม่ของโลก และเป็นแรดไม่มีนอ จึงจัดอยู่ในวงศ์ย่อย อาเซธีริเน สกุล อาเซราธีเรียม เนื่องจากมีลักษณะกะโหลกด้านบนบานเรียบขอบท้ายกะโหลกเป็นแนวตรงเด่นและมีสันกลางกะโหลกแผ่ขยายกว้างกว่าแรดอื่นในสกุลเดียวกันอีก 2 ชนิดคือ อาเซราธีเรียม อินซิสิวัม (A. incisivum) และ อาเซราธีเรียม เดเปเรทิ (A. deperrati) และมีวิวัฒนาการที่ใหม่กว่า คือ มีอายุน้อยกว่า โดยมีชีวิตอยู่เมื่อ 7.5-6.0 ล้านปีก่อน
     
           ลักษณะสันกลางกะโหลกที่แผ่ขยายนี้บอกถึงวิวัฒนาการในการใช้กล้ามเนื้อเคี้ยวน้อยลง ดังนั้นอาหารสำหรับแรดชนิดนี้จึงน่าจะเป็นใบไม้ ไม่ใช่หญ้าเหมือนแรดอื่นที่ต้องใช้กล้ามเนื้อในการเคี้ยวมากกว่า นอกจากนี้ลักษณะไม่มีนอยังเป็นลักษณะโบราณของแรด ส่วนแรดมีนอเป็นลักษณะของวิวัฒนาการภายหลัง เพื่อใช้ต่อสู้หรือเกี้ยวพาราสี

           นอกจากนี้ จากข้อมูลทีมวิจัยลักษณะสัณฐานของแรดบ่งบอกว่าในบริเวณ ต.ท่าช้าง ในปลายสมัยไมโอซีนนั้นเคยมีสภาพเป็นทุ่งหญ้าอยู่ติดกับป่าทึบ มีบึงเล็ก ๆ ให้แรดได้จมปลัก เนื่องจากลักษณะผิวค่อนข้างบาง จึงต้องเคลือบโคลนปกป้องผิว ขนาดของแรดดึกดำบรรพ์ดังกล่าวเทียบเท่ากระซู่ในปัจจุบัน เนื่องจากกระซู่มีนอเล็ก ๆ อาศัยอยู่ในป่าได้ และกระซู่เป็นญาติใกล้ชิดแรดขนยาวโบราณยุคน้ำแข็งที่อพยพจากทางยุโรปลงมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากกระซู่มีขนปกคลุมตามร่างกายเช่นกัน

           ทั้งนี้ การค้นพบครั้งนี้เป็นครั้งแรกของโลก ซึ่งงานวิจัยต่อไปหากค้นพบที่ไหน จะต้องมาเทียบอ้างอิงในทางวิชาการของไทย ขณะเดียวกันการค้นพบที่บ่อทรายริมน้ำมูล ยังพบซากช้าง ฮิปโป ลิง หมู อีกจำนวนมาก อยู่ระหว่างการวิจัยช่วงอายุของซากดึกดำบรรพ์ และในอนาคตจะมีการส่งเสริมการท่องเที่ยวด้านซากดึกดำบรรพ์บริเวณดังกล่าวซึ่งถือว่าเป็น 1 ใน 7 แห่งของโลก




อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
พอพันธ์ไน ซากแรดไร้นอดึกดำบรรพ์ สายพันธุ์ใหม่ของโลก โพสต์เมื่อ 24 กันยายน 2556 เวลา 09:31:20 14,683 อ่าน
TOP
x close