เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
นักวิจัยสหรัฐฯ ชี้ งานวิจัยที่ชี้ว่าโอริโอมีฤทธิ์เป็นสารเสพติดพอ ๆ กับโคเคน เป็นการด่วนสรุป เพราะการทดลองดังกล่าวยังไม่ครอบคลุม และใช้ตัวแปรที่ไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้โดยตรง
จากที่ก่อนหน้านี้ มีผลการวิจัยของนักศึกษาจากวิทยาลัยคอนเนคติคัท ระบุว่า ขนมโอริโออาจะทำให้เกิดอาการเสพติดได้เทียบเท่ากับโคเคน จนสร้างความตื่นตระหนักให้แก่ชาวเน็ตในช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมานั้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2556 เว็บไซต์ไลฟ์ไซแอนท์ ได้รายงานว่า ผลงานวิจัยดังกล่าวไม่อาจะสรุปเป็นเช่นนั้นได้ทั้งหมด
สำหรับงานวิจัยก่อนหน้านี้ ผู้ทดลองได้นำหนูทดลองมาใส่ไว้ในเขาวงกตซึ่งมีทางออก 2 ทาง โดยทางหนึ่งนำทางมันไปสู่ขนมโอริโอ ขณะที่อีกทางหนึ่งนำไปสู่จุดหมายที่มีขนมข้าวพอง และจับตาดูว่าหนูทดลองเหล่านี้จะเลือกไปทางใดมากกว่ากัน ซึ่งจากผลทดลองพบว่า หนูส่วนมากเลือกที่จะวิ่งไปตามเส้นทางที่มีโอริโอรอมันอยู่เบื้องหน้า และพร้อมกันนั้นพวกเขาได้ทำการทดลองในรูปแบบเดียวกันเพื่อนำมาเปรียบเทียบ โดยเปลี่ยนขนมทั้ง 2 ชนิดมาเป็นการให้รางวัลพวกมันด้วยการฉีดโคเคนหรือมอร์ฟีนให้ กับอีกตัวเลือกหนึ่งคือการฉีดน้ำเกลือธรรมดาให้ ซึ่งผลปรากฎว่าหนูทดลองส่วนมากต่างก็เลือกที่จะวิ่งไปหาจุดหมายที่มีสารเสพติดรอพวกมันอยู่
ด้วยเหตุนี้ เมื่อนำมาเปรียบเทียบพฤติกรรมจากทั้ง 2 การทดลอง ซึ่งหนูทดลองจำนวนมากต่างวิ่งไปหาโอริโอมากกว่าข้าวพอง เช่นเดียวกับ ที่วิ่งไปหาโคเคนมากกว่าน้ำเกลือ โดยที่ทั้ง 2 กลุ่ม ใช้เวลาในการวิ่งไปหาสิ่งล่อที่มันพึงพอใจมากกว่าเท่า ๆ กัน ดังนั้นพวกเขาจึงได้ข้อสรุปว่า ขนมโอริโอนั้นก่อให้เกิดอาการเสพติดได้พอ ๆ กับการเสพโคเคนนั่นเอง ซึ่งหากจะดูกันจริง ๆ แล้ว ของล่อทั้ง 2 ชนิดที่ดึงดูดใจหนูทดลองได้มากกว่านี้ ก็ไม่น่าจะนำมาเทียบกันได้โดยตรงเลย ดังนั้นจริง ๆ แล้วการทดลองนี้ไม่น่าจะสามารถบ่งบอกว่า โอริโอจะถูกจัดเป็นสารเสพติดได้
ด้าน อีดิธ ลอนดอน นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส สหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้ใช้วิธีการฉายภาพสมองเพื่อศึกษาระบบประสาทของผู้ที่มีความอยากสิ่งเสพติด ก็ได้เผยในทำนองเดียวกันว่า งานวิจัยชิ้นนี้ไม่สามารถตัดสินได้ว่าโอริโอเสพติดได้มากเท่าโคเคน
นอกจากนี้ กลุ่มนักศึกษาที่ทดลองเรื่องดังกล่าวยังได้ศึกษาการเปลี่ยนแปลง ของโปรตีนที่เรียกว่า c-Fos ซึ่งใช้วัดการทำงานเซลล์สมอง ในส่วนที่เรียกว่า นิวเคลียส แอคคัมเบนส์ (Nucleus Accumbens) ของหนูที่ได้รับโอริโอหรือโคเคนด้วย ซึ่งเซลล์สมองส่วนนี้มีความสำคัญต่อความพึงพอใจและการได้รับแรงเสริมทางบวก รวมถึงความพึงพอใจที่ได้รับจากการเสพสารเสพติดด้วย ซึ่งจากการวิจัยพบว่า สมองส่วนนิวเคลียส แอคคัมเบนส์ของหนูพวกนี้จะมีปฏิกิริยาจากโอริโอมากกว่าโคเคนเสียอีก แต่ถึงอย่างนั้น อีดิธก็คิดว่างานวิจัยนี้ก็ไม่มีส่วนใดที่สามารถโยงได้ว่าขนมหวานโอริโอมีฤทธิ์เป็นสารเสพติดอยู่ดี
แม้ก่อนหน้านี้จะเคยมีงานวิจัยที่กล่าวถึงหนูที่ติดทานอาหารซึ่งมีรสหวานจัดหรือมีไขมันสูง แล้วค่อยถูกป้อนด้วยอาหารสุขภาพจะมีลักษณะการเปลี่ยนแปลงของสมองที่คล้ายกับในกลุ่มผู้ที่พยายามเลิกสิ่งเสพติด แต่ก็ไม่มีสิ่งใดบ่งชี้ว่าอาหารทำให้เกิดการเสพติดได้ ซึ่งในกรณีนี้ กาเบรียล แฮร์ริส ผู้ช่วยศาสตราจารย์สาขาวิทยา ศาสตร์การอาหาร จากมหาวิทยาลัยรัฐนอร์ทแคโรไลนา เคยกล่าวไว้ว่า ในทางชีววิทยา มนุษย์จะตอบสนองต่อรสชาติ รสสัมผัส และสีสันต่าง ๆ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นอาการเสพติด ดังนั้นจึงยังเป็นเรื่องที่ค่อนข้างห่างไกลหากจะกล่าวว่าโอริโอมีฤทธิ์เป็นสารเสพติด