ขอขอบคุณภาพประกอบจาก กระทรวงการต่างประเทศ, urios.org,
ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คนไทยจำนวนมากต่างใจจดใจจ่อลุ้นระทึกกับคำตัดสินของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลโลก ว่าจะมีคำพิพากษาในคดีพื้นที่ทับซ้อนเขาพระวิหารออกมาอย่างไร ซึ่งในที่สุดแล้ว ศาลโลกก็ระบุให้ไทยกับกัมพูชาไปเจรจาหารือเรื่องพื้นที่กันเอง ภายใต้การดูแลขององค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก
ทั้งนี้ แม้ว่าศาลโลกจะทำหน้าที่ในคดีดังกล่าวเสร็จสิ้นไปแล้ว แต่เชื่อว่าหลาย ๆ คนยังเกิดความสงสัยอยู่ว่า เหตุใดคดีข้อพิพาทระหว่างประเทศเช่นนี้ต้องถูกยกมาพิจารณาในศาลโลก แล้วศาลโลกคืออะไร มีอำนาจหน้าที่แค่ไหน วันนี้กระปุกดอทคอมก็มีสาระน่ารู้เกี่ยวกับ ศาลโลก มาฝากเพื่อน ๆ กันค่ะ
ศาลโลก หรือ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice : ICJ) เป็นองค์กรหลักหนึ่งในหกองค์กรหลักของสหประชาชาติ ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2489 ตั้งอยู่ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ จัดตั้งขึ้นโดยกฎบัตรประชาชาติ และมีเขตอำนาจและหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ
หลักการของศาลโลก
เน้น "หลักความยินยอม" คือ ขึ้นอยู่กับความยินยอมของคู่กรณี หากคู่กรณีไม่ยอมขึ้นศาล ศาลก็ไม่สามารถพิจารณาคดีได้
ทั้งนี้ ศาลโลกจะตัดสินคดีพิพาทระหว่างรัฐบาลของรัฐภาคีที่เป็นสมาชิกของ UN และเป็นประเทศที่ยอมรับอำนาจของศาลโลก ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ทั้งหมด 62 ประเทศ จากสมาชิก UN รวม 188 ประเทศ นอกจากนี้ยังรวมถึงสวิตเซอร์แลนด์ ที่มิได้เป็นสมาชิกของ UN แต่ยอมรับอำนาจของศาลโลก
ภาพประกอบจาก FRANK VAN BEEK / UN PHOTO / AFP
องค์ประกอบของศาลโลก
ศาลโลกประกอบด้วยคณะผู้พิพากษาต่างสัญชาติกันจำนวน 15 คน ที่ได้รับการคัดเลือกจากสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติและคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 9 ปี คณะผู้พิพากษาเหล่านี้ถือเป็นตัวแทนของสหประชาชาติ (UN) มิได้เป็นตัวแทนของรัฐบาลประเทศที่ตนถือสัญชาติอยู่
หน้าที่หลักของศาลโลก มี 2 ประการ คือ
1. ตัดสินคดีพิพาทระหว่างรัฐบาลของรัฐภาคีที่เป็นสมาชิกของ UN และเป็นประเทศที่ยอมรับอำนาจของศาลโลก ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ทั้งหมด 62 ประเทศ จากสมาชิก UN รวม 188 ประเทศ นอกจากนี้ยังรวมถึงสวิตเซอร์แลนด์ ที่มิได้เป็นสมาชิกของ UN แต่ยอมรับอำนาจของศาลโลก
2. วินิจฉัย ตีความ และให้คำปรึกษา ในประเด็นปัญหาข้อกฎหมายแก่องค์กรระหว่างประเทศที่ยอมรับอำนาจของศาลโลก
ภาพประกอบโดย BAS CZERWINSKI / ANP / AFP
1. รัฐคู่ความทำความตกลงกันให้นำกรณีพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่างกันขึ้นสู่การพิจารณาตัดสินโดยศาลโลก
2. รัฐภาคีเป็นสมาชิกของสนธิสัญญา อนุสัญญา หรือความตกลงต่าง ๆ ซึ่งมีข้อบัญญัติไว้ว่าหากรัฐภาคีมีข้อสงสัยหรือข้อพิพาทระหว่างกัน ต้องให้ศาลโลกเป็นผู้วินิจฉัย ตีความ หรือตัดสิน
การวินิจฉัย ตีความ และพิจารณาคดีของศาลโลกนั้น ใช้กฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ และหลักกฎหมายที่เป็นที่ยอมรับของชาติที่มีอารยธรรมเป็นหลัก ส่วนระเบียบวิธีพิจารณาคดีของศาลโลกก็คล้ายคลึงกับศาลทั่วไป โดยคู่พิพาทแต่ละฝ่ายต่างมีผู้แทนของรัฐและทนายความ เมื่อศาลโลกตัดสินคดีความใดแล้วต้องถือว่าเป็นอันยุติ ไม่มีการอุทธรณ์หรือฎีกาแต่อย่างใด
และหากคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตามคำตัดสินของศาลโลก คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งสามารถร้องเรียนไปยังคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติให้พิจารณาดำเนินการต่อไปได้ บางครั้ง UN อาจเรียกร้องให้ประเทศสมาชิก UN ทำการคว่ำบาตรประเทศที่ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโลก ซึ่งจะได้ผลมากน้อยเพียงใดย่อมขึ้นกับความร่วมมือของประเทศสมาชิกอื่น ๆ ด้วย
คดีแบบไหนถึงขึ้นศาลโลกได้
คดีใด ๆ ที่เป็นข้อพิพาทระหว่างประเทศ 2 ประเทศขึ้นไป (Contentious Case) เช่น ข้อพิพาทเรื่องดินแดนอาณาเขต การละเมิดอำนาจอธิปไตย ปัญหาสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ หรือแม้แต่กรณีที่เกี่ยวข้องกับเอกชนที่รัฐเป็นผู้ฟ้องแทน ฯลฯ ทั้งนี้ประเทศที่เกี่ยวข้องจะต้องยินยอมรับอำนาจศาลให้เป็นผู้พิจารณาตัดสินก่อนเท่านั้น ศาลจึงจะมีอำนาจพิจารณาตัดสินคดีนั้นได้ ศาลโลกมีหน้าที่พิจารณาคดีเฉพาะเรื่องที่เป็นประเด็นระหว่างประเทศเท่านั้น
นอกจากนี้ศาลโลกยังมีอำนาจวินิจฉัยเพื่อให้ความเห็นเกี่ยวกับประเด็นปัญหาในทางกฎหมายระหว่างประเทศ (Advisory Opinion) ในสามกรณีหลัก คือ
กรณีแรก ตามที่สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ หรือ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ร้องขอ
กรณีที่สอง ตามที่องค์กรอื่นภายใต้สหประชาชาติหรือองค์การชำนัญพิเศษแห่งองค์การสหประชาชาติร้องขอโดยได้รับการอนุมัติจากสมัชชาใหญ่
กรณีที่สาม ตามที่ได้มีการให้อำนาจวินิจฉัยปัญหาไว้โดยสนธิสัญญา
ประเทศไทยกับการขึ้นศาลโลก
ที่ผ่านมา ประเทศไทยเคยขึ้นศาลโลกแล้ว 2 ครั้ง ซึ่งทั้ง 2 ครั้ง เป็นกรณีพิพาทกับประเทศกัมพูชา ในประเด็นเขาพระวิหาร คือ
ครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2502 จากข้อพิพาทเรื่องปราสาทพระวิหาร เนื่องจากไทยและกัมพูชาถือแผนที่ปักปันเขตแดนตามแนวสันปันน้ำของเทือกเขาพนมดงรักคนละฉบับ ทำให้เกิดปัญหาพื้นที่ทับซ้อนของทั้งสองฝ่ายในบริเวณที่เป็นที่ตั้งของตัวปราสาท จึงต้องนำเรื่องนี้ไปชี้ขาด ณ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ซึ่งในที่สุดแล้ว เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2505 ศาลได้ตัดสินให้ตัวปราสาทพระวิหารตกเป็นของกัมพูชา ด้วยคะแนนเสียง 9 ต่อ 3 ท่ามกลางความไม่พอใจของฝ่ายไทย ซึ่งเห็นว่าศาลโลกตัดสินคดีนี้อย่างไม่ยุติธรรม
จากนั้น ในปี 2556 ไทยกับกัมพูชาได้ขึ้นศาลโลกอีกครั้ง เพื่อให้ช่วยชี้ขาดปัญหาเรื่องเขตแดนและพื้นที่ทับซ้อนซึ่งคาราคาซังเป็นปัญหามานานร่วม 50 ปี กระทั่งในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2556 ศาลโลกได้พิพากษาให้ไทยกับกัมพูชาไปเจรจาตกลงเรื่องเขตแดนกันเอง เพื่อร่วมกันรักษามรดกโลกไว้
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
l3nr.org ,