เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ศูนย์ศึกษานโยบายสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ
Hate Speech เป็นศัพท์อีกหนึ่งคำที่เราได้ยินกันบ่อยในช่วงที่มีประเด็นร้อนทางการเมือง และเชื่อว่าหลายคนอาจจะยังไม่ทราบหรือไม่เข้าใจว่า Hate Speech คืออะไร กระปุกดอทคอมเลยขอนำเสนอคลิปดี ๆ "Hate Speech เบื้องต้นสำหรับคนไทย" ที่ hatespeech thai สมาชิกเว็บไซต์ยูทูบดอทคอม ได้โพสต์ไว้ ให้เป็นความรู้กัน โดยคลิปนี้สร้างสรรค์โดย ศูนย์ศึกษานโยบายสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Hate Speech คืออะไร?
สำหรับ Hate Speech ถ้าแปลเป็นไทยก็คือ "วาจาที่สร้างความเกลียดชัง" เป็นปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทยขณะนี้ ที่มีการแบ่งพรรคแบ่งพวก โดยแต่ละฝ่ายต่างก็ประดิษฐ์ถ้อยคำสร้างวาทกรรมแรง ๆ ออกมาโจมตีอีกฝ่ายเพื่อสร้างความเกลียดชังในสังคม อย่างที่เราคุ้นหูกันดีก็เช่นคำว่า "อำมาตย์", "ไพร่", "สลิ่ม", "วิปริตทางเพศ" ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม Hate Speech ไม่ได้จำกัดว่าต้องถ้อยคำเท่านั้น แต่อาจมาในลักษณะที่เป็นภาพวาด ภาพเคลื่อนไหว คลิปวิดีโอ หรือการสื่อสารในรูปแบบอื่น ๆ ที่เป็นการแสดงออกถึงความเกลียดชังแบบแบ่งแยก อย่างภาพวาด บทกลอนเสียดสีฝ่ายต่าง ๆ ที่แชร์กันในเฟซบุ๊กก็ถือเป็น Hate Speech ด้วยเหมือนกัน
สิ่งที่จัดว่าเป็น Hate Speech นั้น จะต้องเป็นการแสดงความเกลียดชังต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคลอย่างชัดเจน มีการพุ่งเป้าแสดงความเกลียดชังในสิ่งที่เป็นอัตลักษณ์ร่วมของกลุ่ม อย่างเช่น เชื้อชาติ ศาสนา สีผิว สถานที่เกิด ที่อยู่อาศัย อุดมการทางการเมือง อาชีพ ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายเพื่อการแบ่งแยกทางสังคม และขจัดคนอีกกลุ่มออกไป ไม่ว่าจะด้วยการขับไล่ไม่ให้มีที่ยืนในสังคม หรือการคุกคาม ข่มขู่ ใช้ความรุนแรง ฯลฯ
ทั้งนี้ Hate Speech จะแบ่งออกได้เป็น 3 ระดับ ตามความรุนแรงจากน้อยที่สุดไปมากที่สุด คือ
ระดับที่ 1 การตั้งใจแบ่งแยก กีดกัน สร้างความเป็นเขา-เราต่อกลุ่มเป้าหมาย เช่น เรียกผู้ชุมนุมคนเสื้อส้มว่า พวกควายส้ม
ระดับที่ 2 มีการยั่วยุให้เกิดความเกลียดชังต่อกลุ่มเป้าหมาย เช่น ผู้นับถือศาสนาพุทธที่วัดแห่งหนึ่งว่า พวกเปรตห่มขาวเป็นมารสังคม
ระดับที่ 3 มีการยั่วยุให้เกิดการใช้ความรุนแรงต่อกลุ่มเป้าหมาย เช่น คำพูดที่ว่าฆ่าคนกลุ่มนี้ไม่บาป เพราะเป็นการช่วยเหลือประเทศชาติ
การจะแก้ปัญหา Hate Speech ให้ได้นั้น ต้องใช้วิธีการต่างกันในแต่ละระดับ เริ่มตั้งแต่ใช้วิธีการให้การศึกษา การสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นในสังคม ไปจนถึงการใช้บทลงโทษตามกฎหมาย
แล้วทำไมเราถึงต้องให้ความสนใจกับ Hate Speech ด้วยล่ะ?
หลายคนอาจมองว่า Hate Speech ก็แค่สิ่งที่ใช้โจมตีกล่าวร้ายอีกฝ่าย ดูไม่ใช่เรื่องที่ต้องใส่ใจมากนัก แต่ถ้ามองให้ลึก ๆ Hate Speech ก็อาจส่งผลกระทบมหาศาลได้อยู่เหมือนกัน เพราะ Hate Speech อาจเป็นการยั่วยุให้เกิดผลร้ายต่อผู้ใดผู้หนึ่งได้เลยในระดับทันที เช่น หากมีผู้ปลุกระดมให้คนลุกขึ้นมาทำร้ายฝ่ายตรงข้าม ก็ถือเป็นอาชญากรรม หรือหากมีผู้ใช้ Hate Speech ปลุกเร้าฝูงชนที่ขาดสติ ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งที่ตึงเครียด ก็อาจนำไปสู่การใช้ความรุนแรงเข้มข้นกว้างขวางจนเกิดสงครามกลางเมืองได้อย่างน่าตกใจ
นอกจากนี้ หากปล่อยให้มี Hate Speech เกิดขึ้น คำพูดเหล่านี้ก็จะถูกส่งต่อไปยังรุ่นหลัง ทำให้คนรุ่นหลังถูกปลูกฝังมาแบบเข้าใจผิด จนทำให้ความมีคุณธรรมในสังคมหยาบกระด้าง ในอนาคต คนเราอาจให้ความเคารพซึ่งกันและกันน้อยลง เกิดความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ และเกิดอคติขึ้นในสังคม ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลใจไม่น้อยเลย
เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจะจัดการกับ Hate Speech อย่างไร?
แน่นอนว่า ในส่วนของสื่อมวลชนก็ต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคอยกำกับดูแล ขณะที่ชาวบ้านอย่างเรา ๆ ก็ต้องรู้เท่าทันสื่อ เปิดรับข้อมูลข่าวสารให้รอบด้าน และมีวิจารณญาณ โดยต้องรู้ว่าสื่อใดมีจุดยืนทางการเมืองอย่างไร
สำหรับโลกออนไลน์ ที่ซึ่งเผยแพร่และแชร์ Hate Speech ต่าง ๆ ได้รวดเร็วที่สุด ชาวเน็ตก็จะต้องไม่ช่วยกันบ่มเพาะความเกลียดชังที่จะทำให้เกิดความรุนแรงตามมา ง่าย ๆ ก็คือ การไม่กดไลค์ หรือคอมเม้นท์แบบเห็นด้วยต่อ Hate Speech นั้น และไม่ควรแชร์ หรือฟอร์เวิร์ด เพื่อส่งต่อความเกลียดชัง ที่สำคัญก็คือ ต้องคิดก่อนโพสต์ และหากจะตอบโต้กลับให้ตอบโต้ด้วยข้อเท็จจริงและเหตุผล เนื้อหาที่สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ไร้อคติ อย่าตอบโต้กันด้วยอารมณ์ เพื่อช่วยกันลดความเกลียดชัง
เห็นไหมว่า พวกเราทุกคนสามารถเป็นได้ทั้งผู้เผยแพร่ Hate Speech ขยายวงความเกลียดชัง อันเป็นผลให้เกิดความรุนแรงในสังคมตามมาได้ แต่หากเราเลือกที่จะ "หยุด" ไม่ส่งต่อการบ่มเพาะความเกลียดชังนั้น เราก็สามารถสร้างสังคมที่น่าอยู่ได้ด้วยสองมือของเราเช่นเดียวกัน
คลิป Hate speech เบื้องต้นสำหรับคนไทย (ฉบับเต็ม) โพสต์โดยคุณ ศูนย์ศึกษานโยบายสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ