x close

เปิดใจ วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ : ตัวตน กับ การเมืองไทย (ตอนที่ 1)


เปิดใจ วีรพัฒน์ ปริยวงศ์


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

            วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระ เจ้าของนานาทัศนะทางกฎหมาย-การเมือง ที่ถูกเหมาเป็น “นักวิชาการเสื้อแดง” ฟังมุมมองจากตัวจริง วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ ที่หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อน
           
            วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ เป็นนักกฎหมายอิสระที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การเมืองไทยมานานแล้ว แต่ เริ่มเป็นที่จับตามองจากสังคมไทยมากขึ้น ในช่วงที่ความขัดแย้งการเมืองทวีความรุนแรง โดยวีรพัฒน์ได้ร่วมแสดงความเห็น ผ่านรายการเรื่องเด่นเย็นนี้ ช่อง 3 ไม่ว่าจะเป็นประเด็น “ทางออกประเทศไทย” ที่ออกอากาศเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2556 หรือ “การเมืองหลังเลือกตั้ง” ที่ออกอากาศเมื่อวันที่ 3-4 กุมภาพันธ์ 2557 รวมถึงผ่านพื้นที่สื่อทั้งไทยและเทศอีกมากมาย ซึ่งแต่ละครั้ง มักเป็นความเห็นต่างไปจากแนวทางของ กปปส. หรือฝ่ายต่อต้านรัฐบาล จนทำให้ วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ ถูกเหมารวมว่าเป็นคนเสื้อแดง

            และวันนี้ กระปุกดอทคอม ได้สัมภาษณ์พูดคุยกับคุณวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ เพื่อให้เข้าใจถึงตัวตน และมุมมองความคิดของเขาเกี่ยวกับการเมืองไทยกันค่ะ




อะไรคือบทบาทของนักวิชาการอิสระ ?

            สื่อมวลชนชอบเรียกผมว่า “นักวิชาการอิสระ” แต่ผมไม่เคยขอให้เรียก ผมจะบอกเสมอว่า ไม่ต้องเรียกผมว่า “นักวิชาการ” หรือ “อาจารย์” แต่ถ้าต้องมีคำเรียก ก็เรียกว่า “นักกฎหมายอิสระ” คือคนเราทุกคนสามารถแสดงความเห็นได้ อาจเป็นเรื่องทั่วไป หรืออาศัยความรู้เฉพาะสาขา ผมเรียนกฎหมายมาในมหาวิทยาลัยรัฐ ผมไม่ได้จ่ายเงินเองทั้งหมด แต่มีเงินภาษีอาการประชาชนช่วยสนับสนุน ดังนั้นก็เกิดความสำนึกในหน้าที่ว่าแม้อาจจบมามีเงินเดือนดี ไปทำงานเอกชนได้ แต่ถ้าขณะเดียวกันหากนำความรู้วิชาที่เรียนมาช่วยแสดงความเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ในเรื่องเหตุบ้านการเมือง ก็น่าจะเป็นบทบาทหนึ่งที่ทำได้

            ส่วนคำว่า “นักกฎหมายอิสระ” ผมย้ำมาตลอดว่าผมแสดงความเห็นที่เป็นอิสระในนามตัวเอง ไม่ได้พูดแทนรัฐบาล ไม่ได้พูดแทนมหาวิทยาลัยที่เคยไปสอน หรือลูกความที่เคยทำงานให้ ผมพูดโดยไม่ต้องอ้างตำแหน่งหรือสถาบันใดมาหนุนชื่อผม ส่วนที่ผมจะพูดตรงกับใคร อันนั้นไม่ได้หมายความว่าผมไม่อิสระ บางเรื่องผมเห็นตรงกับรัฐบาล บางเรื่องผมเห็นตรงกับฝ่ายค้าน ความเห็นที่อิสระ คือต้องกล้าแสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมา แม้จะมีคนมองว่านี่ความเห็นเหมือนรัฐบาลแสดงว่าพวกรัฐบาล แต่ถ้าผมไม่แสดงความเห็น เพราะกลัวจะถูกมองว่าเข้าข้างรัฐบาล นั่นแสดงว่าผมไม่อิสระ

            คำว่า “นักกฎหมายอิสระ” คือสามารถแสดงความเห็นที่ผมเชื่อจริง ๆ ช่วงปีแรก ๆ ที่ผมให้สัมภาษณ์สื่อ ผมก็จะบอกพิธีกรว่า ไม่ต้องเรียกผมว่า “อาจารย์” นะ แต่เขาก็ยังเรียก ถือว่าให้เกียรติเรา จะให้ไปต่อว่าเขาก็ไม่ได้ ทุกคนไม่ว่าอาชีพอะไร ทุกคนมีประสบการณ์ในชีวิต ก็แสดงความเห็นได้ ไม่ต้องเป็นอาจารย์ แต่พอขยันเรียกผมไม่ยอมเลิก ผมก็ขี้เกียจบอกแล้ว

            ในยามบ้านเมืองมีปัญหารุนแรงแบบนี้ ผมสงวนท่าทีในเชิงหลักการไม่ได้ ผมกลับสบายใจว่าผมต่างไปจากนักกฎหมายหรือนักวิชาการบางคนที่แม้จะเห็นสิ่งไม่ถูกต้อง แต่ก็สงวนท่าทีเพื่อรักษาภาพหรือประโยชน์ส่วนตัว ซึ่งคนแบบนั้นเราไม่รู้ว่าอะไรจริงอะไรปลอม


แต่ไปเป็นที่ปรึกษาให้รัฐบาล ?

            เป็นคำถามที่ดีครับ ที่บอกว่าเคยเข้าไปเป็นที่ปรึกษาให้รองนายกรัฐมนตรี คุณพงศ์เทพ เทพกาญจนา และ อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคุณเจริญ จรรย์โกมล จึงทำให้ผมถูกเข้าใจผิดว่า เป็นคนของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยหรือเปล่า

            ประการแรก ถามว่าทำไมถึงมีคนรู้ข้อมูลนี้ ตอบว่าผมเองเป็นคนเปิดเผยในเว็บไซต์ของผม (www.verapat.com) เพราะผมตั้งใจเปิดเผยให้เขารู้ เพราะผมยึดหลักความโปร่งใส เมื่อผมแสดงความเห็นทางการเมือง ผมก็เปิดเผยหมดว่าผมไปเกี่ยวข้องกับใครอย่างไร ก็ต้องขอบคุณที่อุตส่าห์ให้ความสนใจ ถ้าดูให้ครบก็จะเห็นว่าผมเคยไปร่วมงานตรวจสอบทุจริตกับ ส.ว.ไพบูลย์ นิติตะวัน ที่ขึ้นเวที กปปส. ต่อต้านรัฐบาล ทีแบบนี้กลับไม่มีใครพูดถึง

            กรณีเข้าไปเป็นที่ปรึกษาคุณพงศ์เทพ รองนายกรัฐมนตรี ผมเข้าไปช่วยงานฝั่งราชการ (พนักงานราชการ) ไม่ใช่ฝั่งรัฐบาล (ไม่ใช่ที่ปรึกษาการเมือง) รัฐบาลจะมีปัญหากับศาลรัฐธรรมนูญ หรือฝ่ายค้านอย่างไร ผมไม่ยุ่ง เพราะนั่นคือฟากการเมือง แต่ผมเข้าไปในสายราชการ ช่วยงานกฎหมายของหน่วยงานที่รองนายกรัฐมนตรีต้องดูแลรับผิดชอบ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับการเมืองเลย เป็นเรื่องราชการ บริการพี่น้องประชาชน

            ยกตัวอย่าง ปัญหาการปราบปรามการค้ามนุษย์ คุณพงศ์เทพต้องดูแลประสานงานกับหลายฝ่าย ทั้งตำรวจ กระทรวงแรงงาน กระทรวงพัฒนาสังคม ผมในฐานะที่ปรึกษา ก็ไปประชุมกับนักสังคมสงเคราะห์ ตำรวจ อัยการ ผู้พิพากษา ช่วยตรวจสอบทั้งข้อกฎหมายไทย และกฎหมายต่างประเทศ ถามว่านี่คือเข้าไปช่วยรัฐบาลด้านการเมืองหรือไม่ ตอบว่าไม่ใช่ นี่คือการบริการประชาชน หรืออีกตัวอย่าง งานการปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครอง ผมก็ช่วยดูว่ารัฐบาลต้องปฏิบัติตามอย่างไรจึงถูกต้อง หรืออีกตัวอย่าง มหาวิทยาลัยระดับภูมิภาคถูกยุบจนนักศึกษาที่เรียนมาสี่ปี รับปริญญาไม่ได้ เราจะมีข้อกฎหมายช่วยเหลือเขาอย่างไร

            งานเหล่านี้ ผมไม่ได้เป็นคนไปสมัคร แต่คุณพงศ์เทพให้เกียรติมาเชิญผมไป ผมก็เรียนคุณพงศ์เทพว่า ผมเองไม่ได้เก่งที่สุด ยังมีนักกฎหมายเก่งอีกเยอะ แต่ผมถือว่าเมื่อไว้วางใจ และเป็นงานที่บริการพี่น้องประชาชน ช่วยส่วนรวม ไม่ได้เกี่ยวกับภาคการเมือง ผมยินดีช่วย ค่าตอบแทนอัตราราชการทั้งเดือนอาจน้อยเมื่อเทียบกับรายได้ที่ผมได้จากภาคเอกชนในหนึ่งสัปดาห์ จึงไม่ใช่ประโยชน์ส่วนตัว และผมก็ไม่เคยไปโฆษณาว่าผมไปปราบปรามการค้ามนุษย์ ไปช่วยนักเรียนที่รับปริญญาไม่ได้ ผมก็ทำงานเงียบ ๆ แต่ผมเปิดเผยข้อมูลให้รู้ว่าช่วยงานภาคราชการให้กับรองนายกรัฐมนตรี ไม่ได้เกี่ยวกับพรรคเพื่อไทย ไม่ได้เกี่ยวกับงานการเมือง


เปิดใจ วีรพัฒน์ ปริยวงศ์


แต่เคยไปให้คำปรึกษา เรื่องกฎหมายนิรโทษกรรม ?


            กรณีคุณเจริญ จรรย์โกมล อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร อันนี้ยิ่งชัด ผมเข้าไปช่วยเป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ หมายความว่า ไม่มีค่าตอบแทน มีข้อมูลชัดในข่าวตอนนั้น ว่าผมไปช่วยคิดหาทางออกเรื่องความขัดแย้งในช่วงที่มีการพยายามจะออกกฎหมายนิรโทษกรรม คุณเจริญก็หวังดี บอกว่า ถ้าอยู่ดี ๆ พรรคเพื่อไทย ใช้เสียงข้างมาก เสนอเองฝ่ายเดียว บ้านเมืองก็จะมีปัญหาไม่จบ คุณเจริญก็เลยพยายามเชิญทุกฝ่ายที่ขัดแย้งกัน ทั้งแกนนำ นปช. พันธมิตร ทหาร นักธุรกิจ ญาติผู้เสียชีวิต รวมทั้งแกนนำเพื่อไทย และประชาธิปัตย์ เพื่อหาทางจัดวงคุยกัน ว่าถ้าเราจะมีการนิรโทษกรรม เราจะทำอย่างไรให้ โปร่งใส เป็นธรรมกับทุกฝ่าย และบรรเทาความขัดแย้งลง

            เมื่อคุณเจริญมีความตั้งใจดี ผมก็ยินดีเข้าไปช่วย ก็ไปช่วยคิดแนวทางสูตรเบื้องต้น ให้มีการแยกกลุ่ม นิรโทษกรรม จัดแยกกลุ่ม และให้มีกระบวนการพูดคุย ขอโทษให้อภัยกัน พิจารณาเป็นรายกรณี ไม่ใช่มาถึงแล้วนิรโทษกรรมกันหมด ไม่มีใครรับผิดชอบต่อใคร ผมเลยเสนอหลักการว่า

            1. ผมย้ำว่าต้องไม่นิรโทษกรรมช่วยเหลือคดีทุจริต แม้ว่าคดีดังกล่าวจะเป็นคดีที่มาจากคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ก็ตาม แต่ให้ไปใช้วิธีการจัดการคดีใหม่ให้เป็นธรรม

            2. ผมย้ำว่าต้องไม่ออกกฎหมายนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง หรือ แบบสุดซอย เพื่อให้มีการแยกพิจารณาคดีตามข้อเท็จจริงและความร้ายแรงที่เกิดขึ้น อาทิ หากทำผิดฐานเผาสถานที่ราชการ ยึดทำเนียบ ปิดสนามบิน จะให้ได้รับการนิรโทษกรรมเหมือนคนทำผิดข้อหาห้ามชุมนุม ก็ไม่ได้

            ผมก็เลยเสนอแนวคิดให้แยกคนออกเป็นสองกลุ่ม แยกกฎหมายออกเป็นสองฉบับ จะได้ชัดเจนว่าไม่มีการหมกเม็ด จนตอนนั้น แกนนำพันธมิตรคนหนึ่ง ถึงกับหันมาบอกผมว่า ผมกล้ามากที่เสนอแบบนี้ เพราะยังไง แกนนำเสื้อแดงกับพรรคเพื่อไทยเขาก็ไม่เอา

            ปรากฏว่าจริง ข้อเสนอดังกล่าว ไม่ได้รับการยอมรับจากรัฐบาล จนถึงขั้นที่คนที่ถูกมองเป็นแกนนำหรือนักวิชาการเสื้อแดง มาต่อว่าผม มาหาว่าผมใจไม่มีความเป็นมนุษย์ หาว่าผมจะไปแย่งหน้าคนเสื้อแดงบ้าง หาว่าผมไม่รู้เรื่องบ้าง แต่ผมก็ไม่ได้หนักใจ ผมถือว่าผมไม่ได้นั่งวิจารณ์อย่างเดียว แต่ลงมือเข้าไปช่วยหาทางออกให้บ้านเมืองในสิ่งที่ถูกต้อง แม้สุดท้ายต่างฝ่ายไม่ยอมมาคุยกัน แต่อย่างน้อยผมบอกตัวเองได้ ว่าผมได้พยายามเต็มที่แล้ว

            แล้วพอต่อมา พรรคไทยสอดไส้กฎหมายนิรโทษกรรมเหมาเข่ง ผมก็ออกมาเขียนบทความโต้แย้งลงครึ่งหน้ามติชน เขียนชัดเจนว่าทำผิด ทำไม่ได้ บ้านเมืองจะวุ่นวาย เหมือนตอนผมได้รับเชิญไปบรรยายที่พรรคเพื่อไทย ในฐานะวิทยากรจากนอกพรรค ก็มีคลิปที่ผมพูดให้ดูชัดเจน ว่าผมเน้นให้พรรคเพื่อไทยต้องต้านการทุจริต ส่วนกรณีคดี คตส. กรณีคุณทักษิณ ผมก็พูดชัดเจนต่อหน้านายกฯ ยิ่งลักษณ์ และสมาชิกพรรคเพื่อไทยที่นั่งฟังผมว่า คุณจะไปนิรโทษกรรมไม่ได้ จะยอมให้อายุความขาดไปผมก็ไม่ยอม แต่ต้องให้นำคดีมาว่ากันใหม่ให้เป็นธรรม เอาตัวคุณทักษิณกลับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ต้องแก้ปัญหาทั้งสองปีก คือ การรัฐประหาร และการทุจริต

            แต่เวลาผมพูดชัดแบบนี้ พูดโดยไม่ต้องเกรงใจนายกฯ พูดในสิ่งที่ไม่ได้ดีกับคุณทักษิณเลย มีคลิปบันทึกชัดเจน พูดจนคนเสื้อแดงมาต่อว่าผม แล้วทำไม ฝ่ายที่เขาหาว่าผมไปอิงเข้าข้างรัฐบาลหรือเสื้อแดง กลับไม่เคยฟัง กลับไปหลงผิดนึกว่าผมเข้าข้างรัฐบาลและคนเสื้อแดง คนพวกนี้น่าสงสาร

            และอีกอย่าง ที่น่าเศร้าใจ ก็คือ มีสื่อออนไลน์อยู่เจ้าหนึ่ง ลงบทความนำพาดหัวว่า “ค้นปูมหลัง “วีรพัฒน์” นัก กม.อิสระ เจ้าของธุรกิจ-ที่ปรึกษาบิ๊กเพื่อไทย ?” โดยเนื้อข่าวก็ลอกข้อมูลมาจากเว็บไซต์ของผมเอง แต่ใช้วิธีปรุงแต่งข้อความให้คนอ่านหลงเข้าใจว่าผมไปมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับพรรคเพื่อไทย หรือกลุ่มบริษัทชินวัตร ซึ่งล้วนเป็นความเท็จ แถมสื่อเจ้านี้ยังตีเนียนทำทีเป็นมาขอสัมภาษณ์เปิดโอกาสให้ผมชี้แจง แต่เอาข้อชี้แจงของผมไปแยกเป็นข่าวอีกชิ้น แล้วใส่ในหมวดข่าวที่เห็นเด่นน้อยกว่าข่าวชิ้นแรก จนสุดท้าย คนเขาก็อ่านกันแต่ข่าวชิ้นแรก ผมเจอใครเขาก็นึกว่าผมเป็นที่ปรึกษาพรรคเพื่อไทย ทั้งที่สื่อเจ้านี้ก็มีข้อมูลอยู่ว่าผมไปช่วยงานราชการ เช่น การปราบการค้ามนุษย์ที่รองนายกฯ ดูแล ไม่ได้เกี่ยวกับพรรคเพื่อไทย ไม่เคยทำงานกลุ่มบริษัทชินวัตร ทั้งที่กลุ่มบริษัทชินวัตรเคยเชิญผมไปสัมภาษณ์งาน แต่ผมก็บอกไปว่าไม่ได้สนใจ พฤติกรรมของสื่อเช่นนี้ น่าผิดหวังมาก ผมต่อว่าเขาไปแล้ว ขอความเป็นธรรมเขาแล้ว ปรากฏสิ่งที่เขาทำให้ได้ มีแค่เขียนข้อความเพิ่มสั้น ๆ ว่าให้ไปอ่านข้อเท็จจริงในอีกบทความ แต่สุดท้ายก็ไม่มีใครอ่าน คำถามคือ ถ้าคุณจริงใจ เหตุใดไม่เสนอข้อมูลให้ครบถ้วนในที่เดียวกัน ผมว่ามันจงใจแกล้งกัน

            สื่อทำให้ดูแย่มาก ผมเอาเวลาส่วนตัวเข้าไปช่วยงานส่วนรวม แต่กลับถูกเล่นคำพาดหัวให้คนเข้าใจผิดว่ามีส่วนได้เสียทางการเมือง แล้วต่อไปแบบนี้ใครเขาจะอยากเสียสละมาช่วยงานส่วนรวมบ้าง


รู้สึกอย่างไรที่ถูกมองว่าเป็น “คนเสื้อแดง” ?

            ผมรู้สึกขำ และ งง เพราะผมถูกหาว่าเป็นทุกอย่าง เสื้อแดงนี่เจอบ่อย แต่ก็มีคนที่บอกว่าเป็น เป็นพวกแดงปลอมก็มี เป็นส้มเหลืองก็มี หาว่าผมแอบชอบคุณอภิสิทธิ์ก็มี บอกว่าผมเป็นพวกนิยมเจ้า (royalist) ก็มี ขนาดนักวิชาการ หรือนักเคลื่อนไหวท่านอื่น ที่ถูกหาว่าเป็นเสื้อแดง ก็ยังไม่พอใจ หมั่นไส้ ไม่เห็นด้วยกับผมก็มี จนมีเสื้อแดงด่าผมว่าผมคนอำมหิต ไม่เห็นใจคนเสื้อแดงก็ยังเคยมี

            ที่น่าสนใจก็คือ ผมไม่แน่ใจว่า คำว่า “คนเสื้อแดง” ที่แต่ละคนใช้นั้นมีความหมายว่าอย่างไร และเวลาผมย้อนถามกลับไปว่า พวกคุณที่หาว่าผมเป็นเสื้อแดง ไหนลองให้นิยามชัด ๆ ว่าเสื้อแดงหมายถึงอะไร ปรากฏว่าคนพวกนี้ งง ตอบไม่ได้ เพราะ “คนเสื้อแดง” มีทั้งที่ต่อต้านรัฐประหาร โดยไม่ได้สนใจหรือชื่นชอบคุณทักษิณและเพื่อไทย เสื้อแดงที่ด่าคุณทักษิณและพรรคเพื่อไทยก็มีให้เห็น จนไปถึงคนเสื้อแดงที่เพียงแต่คลั่งไคล้คุณทักษิณ หรือคนเสื้อแดงที่เกลียดชังประชาธิปัตย์ ผมจึงรู้สึกขำ และสงสาร เวลาเห็นคนที่มาเที่ยวเรียกคนอื่นว่า “เสื้อแดง” มันมักเป็นอาการของคนที่ไม่รู้จะโต้เถียงยังไง พอไม่มีเหตุผลอะไรเหลือจะพูด ก็เลยพูดได้คำว่า “เสื้อแดง เสื้อแดง เสื้อแดง” ทั้งที่ตัวเองก็ยังไม่เข้าใจความหมาย ผมเห็นทีไร ก็ขำทุกที แต่ก็อดสงสารไม่ได้

            ตอบสั้น ๆ ก็คือ ผมเป็นตัวของผมเอง มีความคิดของผมเอง ไม่มีใครมาควบคุมได้ ผมวิจารณ์ทุกฝ่าย และยินดีนั่งคุยกับทุกฝ่าย และผมไม่เลือกปฏิบัติด้วย สถานีช่องไหนเชิญ ถ้าไม่ติดอะไรผมไปหมด เวทีไหนเชิญ ผมไปหมดไม่เกี่ยง คนเสื้อแดงเชิญไปงาน ผมก็ไม่กลัวถูกมอง ปัญหาคือ บางช่องบางเวที อย่าง ASTV Bluesky เขาไม่ยอมเชิญ ถ้าเชิญผมจะดีใจมาก

            ผมว่าถ้าใครแน่จริง โปรดหาคำวิจารณ์ที่มีกึ๋นมากกว่าแค่คำว่า “เสื้อแดง” หรือ “ทักษิณ” ละกัน ถ้าคิดได้เมื่อไหร่ ค่อยมาคุยกัน


เปิดใจ วีรพัฒน์ ปริยวงศ์


รู้สึกอย่างไรที่มีการพยายามโจมตีเรื่องประวัติและชีวิตส่วนตัวในโลกออนไลน์ ?

            ผมคิดในใจว่าผมไม่ได้เป็นดารานะ ไม่ได้ต้องสนใจผมขนาดนั้นก็ได้ แต่ผมสงสารคนที่โต้แย้งผมที่เหตุผลไม่ได้ เขาคงหมดปัญญา ไม่รู้จะเถียงผมด้วยเหตุผลอย่างไร ก็เลยต้องไปสร้างความเท็จขึ้นมาโจมตี แต่คนที่คิดเป็นหน่อยเขาก็ไม่เชื่อ
 
            คนพวกนี้สร้างข้อมูลอันเป็นเท็จเพื่อใส่ร้ายผมทางโลกออนไลน์ เช่น กล่าวหาว่าผมโกงเรื่องการศึกษา การอ้างคุณวุฒิวิชาชีพเกินจริง หรือสร้างเรื่องโกหกไร้สาระถึงขั้นว่าผมมุ่งจีบลูกสาวคนรวย เพื่อหวังประโยชน์ ซึ่งล้วนเป็นเท็จทั้งสิ้น ขนาดผมจีบลูกสาวคนไม่รวยยังจีบไม่ติดเลย และผมสงสารคนพวกนี้ เพราะมันตอกย้ำถึงความจนตรอก คือ ไม่รู้จะโต้แย้งหลักการและเหตุผลอย่างไร ก็เลยต้องมาสร้างความเท็จใส่ร้ายกัน เผยแพร่ภาพในอินเทอร์เน็ต ซึ่งผมกำลังเดินคดีอาญาอยู่

            ผมร่วมมือกับตำรวจ สาวไปถึงตัว ตรวจสอบและแจ้งเตือนไปยังที่ต่าง ๆ ที่เผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จว่า สิ่งที่คุณกำลังเผยแพร่อยู่นั้นเป็นความเท็จและทำให้ผมเสียหาย ขอให้ยุติการเผยแพร่ดังกล่าว แต่หากคุณยังยืนยันจะเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จเพื่อใส่ร้ายผู้อื่นต่อไป คุณอาจมีความผิดในคดีอาญา ฐานหมิ่นประมาท แม้จะแกล้งทำเป็นถาม ก็ยังผิด คนส่งต่อช่วย share ก็ผิด 

            ปรากฏว่า หลังจากที่ผมส่งข้อความเตือนไป บางรายก็มีความสำนึกผิด เช่น เพจ Mark Fan Club ก็ได้แสดงความรับผิดชอบ และตกลงดำเนินการแก้ไขความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ ผมมองว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะหากใครสำนึกรู้ว่าทำผิดแล้วออกมาขอโทษ และแก้ไขความผิดพลาด เป็นเรื่องที่ควรให้อภัย และยกย่องที่กล้ายอมรับความผิดพลาดของตนเอง ถ้าเขาทำให้ถูกต้องตามที่ตกลงกันได้ ผมก็อาจไม่ดำเนินคดี

            แต่ก็ยังคงมีบางรายที่ไม่สำนึก ไม่ยอมแก้ไขความผิดพลาด แถมยังพยายามเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จซ้ำออกไปอีก บางรายก็ไปใช้หน้าเฟซบุ๊กของภรรยานักการเมืองฝ่ายค้านชื่อดังเผยแพร่ภาพและข้อความหมิ่นประมาท ผมไม่แน่ใจว่ามีพรรคการเมืองอยู่เบื้องหลังหรือไม่ แต่ตอนนี้ผมกำลังแจ้งความดำเนินคดีอาญาอยู่ เพราะอยากให้สังคมได้ตระหนักว่า การวิจารณ์กันด้วยเหตุผลนั้นยอมรับได้ แต่การสร้างความเท็จใส่ความกันเช่นนี้เป็นการทำชั่ว ผิดกฎหมาย และไม่ควรปล่อยให้เป็นเยี่ยงอย่าง

            ผมท้าเลยนะครับ ถ้าใครมีหลักฐานว่าผมไปพูดเท็จอะไรอย่างไร โปรดแสดงชื่อและตัวตนของคุณออกมา และมาเจอหน้าผม แล้วเอาข้อมูลมาดูกัน ถ้าคุณพูดเท็จผมจะฟ้องหมิ่นประมาทคุณกลับ เอาไหมละ แต่คนเหล่านี้ไม่กล้าครับ คนเหล่านี้หลบอยู่ข้างหลัง ใช้ชื่อปลอม ๆ คนเหล่านี้ขี้ขลาด และจนตรอก ไม่กล้าแม้แต่แสดงชื่อจริงและหน้าจริงตัวเองออกมา แถมยังไม่กล้ายกเหตุผลมาโต้แย้ง ก็ต้องไปยกเรื่องไร้สาระ

            เรื่องนี้มันแสดงถึงความน่ากังวลใจของสังคมไทยทุกวันนี้ว่า แทนที่เราจะมาโต้แย้งเรื่องสำคัญที่เหตุผลและหลักฐาน เช่น นายกฯ ทำทุจริตมีหลักฐานอย่างไร เรากลับมาพูดกันในเรื่องไร้สาระ เช่น นายกฯ ไปเจอใครในโรงแรม 


แสดงว่าที่ผ่านมาวิจารณ์ทุกฝ่าย ?

            ผมมานั่งทบทวนตัวเอง เชื่อไหมว่า บทความชิ้นแรกที่ผมเขียนลงหนังสือพิมพ์ ผมชี้ช่องการจับตัวคุณทักษิณกลับมาดำเนินคดี ผมเขียนลงหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ตอนนั้นยังเป็นนักเรียนอยู่เลย เขียนว่าถ้าจะให้ประเทศอังกฤษส่งตัวคุณทักษิณเป็นผู้ร้ายข้ามแดนกลับมาจะทำอย่างไร ผมก็ชี้ช่องไว้เลย ตอนนั้นช่วงหลังรัฐประหาร ปรากฏต่อมา คุณทักษิณไปโผล่ที่ญี่ปุ่น ผมก็เขียนลงหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ อธิบายช่องทางว่าญี่ปุ่นจะส่งตัวคุณทักษิณกลับมาดำเนินคดีได้อย่างไรบ้าง

            จากนั้น ก่อนที่คุณยิ่งลักษณ์จะเข้ามาเป็นนายกฯ ผมเขียนบทความ 2 ชิ้น ฉบับหนึ่งลง ASTV ผู้จัดการ อีกฉบับลงไทยโพสต์ ซึ่งก็ล้วนเป็นหนังสือพิมพ์ต้านรัฐบาล ผมเขียนวิพากษ์วิจารณ์คุณยิ่งลักษณ์ ตั้งแต่ก่อนเป็นรัฐบาล พูดดักคอไว้ว่าคุณยิ่งลักษณ์ต้องไม่ใช้เสียงข้างมากนิรโทษกรรมที่ผิดหลักการ

            สรุปก็คือ ผมเองก็เขียนลงสื่อที่ต่อต้านรัฐบาล เวทีแรกที่ผมไปร่วมก็เป็นเวทีพันธมิตรที่ภาคใต้เรื่องปราสาทพระวิหาร ผมวิจารณ์ทุกฝ่าย แต่ปรากฏว่า ความพยายามที่จะติดตามตรวจสอบรัฐบาลหายไป เพราะสื่อที่เคยให้พื้นที่ผมวิจารณ์รัฐบาล ก็ไม่ให้พื้นที่ผม และที่สำคัญที่สุด เวลาเรากำลังวิจารณ์จะจ้องจับผิดคุณยิ่งลักษณ์ มันกลับมีขบวนการพยายามจะล้มรัฐธรรมนูญ เพื่อจะล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ผมเองไม่ได้เห็นด้วยกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แต่ผมถูกบังคับให้ต้องออกมาโต้แย้งกับคนที่ใช้กฎหมายผิดวิธีมาล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ดังนั้น ความพยายาม เวลา และสมาธิที่ผมจะติติงรัฐบาล มันเลยต้องเอาไปใช้กับการวิจารณ์ปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นก็คือการใช้ กองทัพ ศาล องค์กรอิสระ มาล้มรัฐบาลอย่างผิดวิธี

            แต่ผมก็ยังวิจารณ์รัฐบาลต่อ ทั้งโครงการรับจำนำข้าว ผมยังบอกในหนังสือพิมพ์เลยว่า แม้ศาลจะไม่รับฟ้องคดีจำนำข้าว แต่ก็ไม่ได้แปลว่าโครงการนี้ดี หรือถูกต้อง ผมยังอุตส่าห์ไปจี้ว่าโครงการอาจไม่ดี หรือแม้แต่โครงการรถไฟ 2 ล้านล้าน ผมก็ยังวิจารณ์ว่ามีปัญหาในส่วนการอนุมัติเบิกจ่ายเงินว่าอยู่ภายใต้ฝ่ายรัฐบาลฝ่ายเดียว แต่พอเสนอทางแก้ไปแล้ว ฝ่ายที่ต่อต้านรัฐบาล กลับไม่เอาไปใช้ ช่อง ASTV Bluesky เขาไม่เชิญผมไปพูด แล้วผมจะมีพื้นที่วิจารณ์รัฐบาลได้อย่างไร

            ดังนั้น ผมไม่เคยเลือกเข้าข้าง มีแต่คนอื่นที่เลือกเอาผมไปใส่ฝั่งโน้น ฝั่งนี้ พอผมจะติดตามตรวจสอบรัฐบาล กลับไม่เคยให้พื้นที่ และแม้เวลาผมวิจารณ์ศาล ผมก็ย้ำว่าผมไม่ได้เชียร์รัฐบาล แต่ผมกำลังบอกว่าศาลทำไม่ถูกต้อง ถ้าจะจัดการกับรัฐบาลต้องใช้วิธีที่ถูกต้อง มิเช่นนั้น คนที่ถูกทำร้าย ก็คือสถาบันศาลที่จะเสียความน่าเชื่อถือ รัฐบาลก็จะโฆษณาอ้างว่าเขาถูกกลั่นแกล้ง ความจริงคือ ผมต้องการปกป้องสถาบันศาลให้น่าเชื่อถือ พอผมวิจารณ์รัฐบาล สื่อไม่สนใจ แต่พอผมวิจารณ์คุณสุเทพ วิจารณ์ศาล สื่อเอาไปเล่นใหญ่


วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ จะเล่นการเมืองหรือไม่ ?
คิดว่า กปปส. จะจบเกมอย่างไร ?
ติดตาม บทสัมภาษณ์ตอนที่ 2
วันที่ 25 ก.พ. ทาง
Kapook.com

---
วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระ
www.facebook.com/verapat
Twitter @NewVerapat
 


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิดใจ วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ : ตัวตน กับ การเมืองไทย (ตอนที่ 1) อัปเดตล่าสุด 21 กุมภาพันธ์ 2557 เวลา 16:57:59 69,274 อ่าน
TOP