คําปวารณาออกพรรษา คำกล่าวขอตักเตือนสำหรับพระสงฆ์

คําปวารณาออกพรรษา

            พิธีปวารณาในช่วงออกพรรษาคืออะไร และคำปวารณาออกพรรษาที่พระสงฆ์ใช้ในวันออกพรรษาต้องกล่าวว่าอย่างไรบ้าง คำตอบอยู่ที่นี่

           วันออกพรรษา (ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11) นอกจากจะเป็นวันสิ้นสุดของระยะจำพรรษาของพระภิกษุสงฆ์แล้ว ยังเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระภิกษุทำปวารณา หรือพิธีปวารณา คือ ยอมให้ว่ากล่าวตักเตือนซึ่งกันและกันได้โดยไม่ถือโทษโกรธเคือง ทำให้วันออกพรรษามีชื่อเรียกอีกอย่างว่า "วันมหาปวารณา"

พิธีปวารณา คืออะไร

           ตามความหมาย "ปวารณา" คือ ยอมให้, เปิดโอกาสให้, อนุญาต ซึ่งพระวินัยบัญญัติไว้เพื่อให้พระสงฆ์ที่จำพรรษาอยู่ร่วมกันตลอดไตรมาสสามารถว่ากล่าวตักเตือน ในสิ่งที่ได้ยิน ได้เห็น ได้ฟัง หรือสงสัย และชี้ข้อบกพร่องด้วยจิตเมตตาให้กับพระสงฆ์ที่ถูกตักเตือนได้มีโอกาสได้รับรู้ข้อบกพร่องของตัวเอง เพื่อนำไปแก้ไขปรับปรุงต่อไป

           ทั้งนี้พระสงฆ์ทุกรูปถือว่ามีความเสมอภาคกัน ดังนั้นพระผู้มีอาวุโสน้อยกว่าก็สามารถชี้แนะถึงข้อไม่ดีของพระผู้ใหญ่ได้เช่นกัน ไม่ใช่เพียงแค่พระผู้ใหญ่กล่าวตักเตือนพระผู้น้อยเพียงเท่านั้น 

ความเป็นมาของวันมหาปวารณา

           สาเหตุที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้มีการทำมหาปวารณาในวันออกพรรษานี้ได้นั้น มาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแคว้นโกศล ได้มีการตั้งกติกาไม่ให้พระภิกษุที่จำพรรษาพูดคุยกัน แต่ให้ใช้วิธีบอกใบ้ หรือใช้มือแทนคำพูด เมื่อถึงวันออกพรรษา พระภิกษุเหล่านี้ได้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พระองค์จึงตรัสถาม พร้อมกับติเตียนในกติกาดังกล่าว ก่อนจะทรงอนุญาตให้ทำปวารณา เพื่อให้ภิกษุว่ากล่าวตักเตือนกันได้ด้วยเหตุ 3 ประการคือ

           1. โดยเห็น
           2. โดยได้ยิน ได้ฟัง
           3. โดยสงสัย 


วิธีทำปวารณา

           การทำปวารณานั้น ในสมัยแรก ๆ ที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาต พระภิกษุจะต้องห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า นั่งกระโหย่ง (นั่งเอาปลายเท้าตั้งลงที่พื้น ส้นเท้าทั้ง 2 รับก้น) ประคองอัญชลี แล้วกล่าวปวารณา 3 ครั้ง เพื่อให้ภิกษุผู้นวกะ (พระที่บวชใหม่) กล่าวปรวารณาตอบ ภิกษุนวกะก็ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า นั่งกระโหย่ง ประคองอัญชลี แล้วกล่าวปวารณา 3 ครั้ง

           แต่ต่อมา พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้ภิกษุที่ปวารณาแล้วนั่งบนอาสนะได้ เพราะเคยมีภิกษุชราภาพนั่งกระโหย่งคอยนานจนเป็นลมล้มลง

คําปวารณาออกพรรษา

           สำหรับคำกล่าวปวารณา ที่พระสงฆ์จะใช้ว่ากล่าวตักเตือนกันนั้น มีคำกล่าวเป็นภาษาบาลีเป็นดังนี้

           "สังฆัมภันเต ปะวาเรมิ ทิฎเฐนะ วา สุเตนะ วา ปะริสังกายะ วา วะทันตุ มัง อายัสมันโต อะนุกัมปัง อุปาทายะ ปัสสันโต ปฎิกะริสสามิฯ"

           "ทุติยัมปิ ภันเต สังฆัง ปะวาเรมิ ทิฏเฐนะ วา สุเตนะ วา ปะริสังกายะ วา วะทันตุ มัง อายัสมันโต อะนุกัมปัง อุปาทายะ ปัสสันโต ปะฏิกกะริสสามิฯ"

           "ตะติยัมปิ ภันเต สังฆัง ปะวาเรมิ ทิฏเฐนะ วา สุเตนะ วา ปะริสังกายะ วา วะทันตุ มัง อายัสมันโต อะนุกัมปัง อุปาทายะ ปัสสันโต ปะฏิกกะริสสามิฯ"

           มีความหมายว่า ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ กระผมขอปวารณาต่อสงฆ์ ด้วยได้เห็นหรือได้ฟังก็ตาม ขอท่านทั้งหลายโปรดอนุเคราะห์ ว่ากล่าวตักเตือนกระผมด้วย เมื่อกระผมมองเห็นแล้ว จักประพฤติตัวเสียเลยใหม่ให้ดี...

คำขอขมาโทษพระเถระ

แบบทั่วไปที่แก้ไขใช้อยู่ในปัจจุบัน

           (ผู้ขอ) เถเร ปะมาเทนะ ทวารัตตะเยนะ กะตัง สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะ เม ภันเต (ถ้าขอหลายรูปให้เปลี่ยน "ขะมะถะ เม" เป็น "ขะมะตุ โน")

           (ผู้รับ) อะหัง ขะมามิ ตะยาปิ เม ขะมิตัพพัง (ถ้าผู้ขอมีหลายรูปให้เปลี่ยน "ตะยาปิ" เป็น "ตุมเหหิปิ")

           (ผู้ขอ) ขะมามิ ภันเต (ถ้าผู้ขอมีหลายรูปให้เปลี่ยน "มิ" เป็น "มะ")

แบบพิเศษนิยมใช้ถวายพระมหาเถระ

           (ผู้ขอ) อัจจะโย มัง ภันเต อัจจัคคะมา ยะถาพาลัง ยะถามูฬหัง
           ยะถาอะกุสะลัง โยหัง ภันเต กะทาจิ กะระหะจิ ปะมาทัง
           วา อาคัมมะ อะโยนิโสมะนะสิการัง วา อาคัมมะ มะหาเถเร
           อะคาระวัง อะกาสิง กาเยนะ วา วาจายะ วา มะนะสา วา
           สัมมุขาปิ ปะรัมมุขาปิ ตัสสะ เม ภันเต มะหาเถโร อัจจะยัง
           อัจจะยะโต ปะฏิคคัณหาตุ อายะติง สังวะรายะ

           (ผู้รับ) ตัคฆะ ตัง อาวุโส อัจจะโย อัจจัคคะมา ยะถาพาลัง
           ยะถามูฬหัง ยะถาอะกุสะลัง โย ตะวัง กะทาจิ กะระหะจิ
           ปะมาทัง วา อาคัมมะ อะโยนิโสมะนะสิการัง วา อาคัมมะ
           มะยิ อะคาระวัง อะกาสิ กาเยนะ วา วาจายะ วา มะนะสา
           วา สัมมุขาปิ ปะรัมมุขาปิ ยะโต จะ โข ตะวัง
           อัจจะยัง อัจจะยะโต ทิสวา ยะถาธัมมัง ปะฏิกกะโรสิ
           อายะติง สังวะรัง อาปัชชะสิ ตัง เต ปะฏิคคัณหามิ
           วุฑติ เหสา อาวุโส อะริยัสสะ วินะเย โย อัจจะยัง
           อัจจะยะโต ทิสวา ยะถาธัมมัง ปะฏิกกะโรติ อายะติง
           สังวะรัง อาปัชชะติ

           (คำอวยพรของผู้รับ) ยัง ยัง ปุญญัง มะยา กะตัง อุปะจิตัง
           กาเยนะ วา วาจายะ วา มะนะสา วา ตัง ตัง อายัสมะโต
           อาทิสสามิ สาธายัสมา อัสมิง อัสมิง ปุญเญ ปัตติโต
           หุตวา อะนุโมทะตุ เตนะ อะนุโมทะนามะเยนะปิ ปุญเญนะ
           สุขิโต โหตุ อะโรโค นิรุปัททะโว จิรัง ทีฆะมัทธานัง
           อิมัสมิง ตะถาคะตัปปะเวทิเต ธัมมะวินะเย วุฑฒิง วิรุฬหิง
           เวปุลลัง อาปัชชะตุ
 
           (ผู้ขอ) สาธุ ภันเต

จุดมุ่งหมายของการปวารณา

           1. เป็นกรรมวิธีที่ช่วยลดหย่อนความขุ่นข้องหมองใจ ความสงสัยให้หมดไป เพราะการว่ากล่าวตักเตือนหรือสอบถามในสิ่งที่ได้ยิน ได้เห็น ได้สงสัย จะช่วยขจัดความคลางแคลงในหมู่พระสงฆ์ด้วยกัน

           2. ช่วยปรับความเข้าใจในหมู่สงฆ์ เพราะการอยู่จำพรรษาร่วมกันมา อาจมีการกระทบกระทั่ง หรือผิดใจกันบ้าง แต่การปวารณาจะช่วยประสานรอยร้าวนั้นได้

           3. สร้างเสริมความสามัคคีในหมู่ให้กลมเกลียวอยู่ร่วมกันอย่างสนิทใจ
 
           4. สร้างความเสมอภาคให้เกิดขึ้น เพราะพิธีปวารณานี้สามารถว่ากล่าวตักเตือนพระสงฆ์ได้ แม้ว่าพระรูปนั้นจะมียศ ชั้น พรรษา หรือวัยสูงกว่า

           5. ก่อให้เกิดภราดรภาพ เกิดความรู้สึกเป็นมิตรชิดเชื้อ ปรารถนาดี เอื้อเฟื้ออาทร เป็นพื้นฐานนำไปสู่พฤติกรรมอันพึงประสงค์ที่ดีงามคล้าย ๆ กัน เรียกว่า ศีลสามัญญตา

อานิสงส์ของการปวารณา
 
           1. ทำให้เกิดความบริสุทธิ์ในเพศบรรพชิต ทั้งทางกาย วาจา และใจ เป็นการคลายความสงสัย ระแวง ให้หมดไปในที่สุด
 
           2. พระภิกษุจะรู้ข้อบกพร่องของตนเอง เพื่อปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้น

           3. เป็นการฝึกความอดทนต่อการว่ากล่าวตักเตือนได้ ช่วยให้เปิดใจยอมรับฟังผู้อื่น

           4. พระภิกษุทุกรูปจะได้ขอขมากันและกัน เพื่อที่จะไม่ถือโทษโกรธเคืองกันในภายหลัง เกิดการให้อภัย ความปรารถนาดีที่จะทำให้อยู่ร่วมกันในหมู่คณะได้อย่างผาสุก 

           5. ทำให้เกิดความสมัครสมานสามัคคี สร้างเสริมความเป็นปึกแผ่น ไม่ให้ผู้ที่ไม่หวังดีต่อพระพุทธศาสนาเข้ามาทำลาย
 
 
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
dmc.tv , dhammajak.net

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
คําปวารณาออกพรรษา คำกล่าวขอตักเตือนสำหรับพระสงฆ์ อัปเดตล่าสุด 2 พฤษภาคม 2567 เวลา 16:14:16 152,916 อ่าน
TOP
x close