ไขข้อข้องใจ ทำไมเราถึงชอบแคะขี้มูกกันจัง


01
ไขข้อข้องใจ ทำไมเราถึงชอบแคะขี้มูกกันจัง

02

ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล

                    เวลาเห็นคน "แคะขี้มูก" ใคร ๆ ก็รู้สึกยี้ บางคนถึงขั้นดึงหน้าแสดงท่าทีรังเกียจอย่างชัดเจนด้วยซ้ำ ก็นอกจากจะเป็นพฤติกรรมชวนแหวะ ยังดูสกปรกและอาจเป็นอันตรายต่อจมูกได้ด้วย แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า ทุกคนบนโลกนี้ไม่มีใครไม่เคยแคะขี้มูกหรอก ถึงจะไม่ได้แคะให้ใครเห็นแต่ลับหลังไปอาจจะนั่งแคะอย่างเอาเป็นเอาตายอยู่ที่บ้านก็ได้ บางคนก็ยอมรับแมน ๆ ว่า "ชอบแคะขี้มูก" บางรายก็ถึงขั้นเสพติด มือว่างไม่ได้ต้องเอาไปไชรูจมูกทันที ...เอ ว่าแต่ทำไมคนเราถึงชอบแคะขี้มูกกันจังนะ ?

                    บีบีซี ได้ช่วยไขข้อข้องใจประการนี้ให้ในบทความสารคดีว่าด้วยพฤติกรรมชอบแคะขี้มูก ซึ่งมีชื่อเรียกเท่ ๆ ว่า "ไรโนทิลเล็กโซมาเนีย" (rhinotillexomania) เผยว่า การศึกษาอย่างเป็นระบบว่าด้วยพฤติกรรมเอานิ้วไชจมูกเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2538 โดยนายทอมป์สันและเจฟเฟอร์สัน สองนักวิจัยจากสหรัฐฯ ซึ่งได้ส่งแบบสอบถามจำนวน 1,000 ฉบับ ไปตามบ้านเรือนประชาชนในเขตเดนของรัฐวิสคอนซิน ทว่ามีผู้ตอบกลับแบบสอบถามเพียง 254 รายเท่านั้น โดย 91% ของผู้ตอบกลับยอมรับว่าตนชอบแคะขี้มูก ขณะที่ 1.2% บอกว่าแคะบ่อยอย่างน้อยชั่วโมงละครั้ง มี 2 คนยอมรับว่าติดการแคะขี้มูกจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ในขณะที่อีก 2 รายเสพติดการไชจมูกอย่างหนักจนถึงขั้นแคะจนผนังกั้นจมูกทะลุเลยทีเดียว 

                    ถึงแม้ว่าการวิจัยครั้งนี้จะไม่ประสบความสำเร็จเท่าไรนัก เพราะมีจำนวนผู้ตอบกลับแบบสอบถามเพียง 1 ใน 4 แต่ก็ทำให้พอจะมองเห็นภาพได้ว่า แม้พฤติกรรมแคะขี้มูกจะดูน่ารังเกียจและไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม แต่มันก็เป็นพฤติกรรมที่ใคร ๆ ต่างก็ทำกัน

                    จะยากดีมีจนแค่ไหน ใคร ๆ ก็แคะขี้มูกกัน

                    อีก 5 ปีต่อมา ก็มีผลงานวิจัยเกี่ยวกับการแคะขี้มูกชิ้นที่สองก็เกิดขึ้น โดยสองนักวิจัยชาวอินเดียจากสถาบันสุขภาพจิตและประสาทวิทยาแห่งชาติ ในเมืองบังกาลอร์ แถมผลงานวิจัยชิ้นนี้ยังส่งผลให้ทั้งคู่ได้รับรางวัลผลงานยิ่งใหญ่ที่ไม่ใช่โนเบลอย่าง อิกโนเบล (Ig Nobel) ในปี 2554 ด้วยนะ สองนักวิจัย นายจิตรันจัน อันตเรธ และ บีเอส ศรีหริ เล็งเห็นว่าพฤติกรรมชอบแคะจมูกนี้มักเกิดขึ้นในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดทางการสำรวจจากความเขินอายที่จะตอบกลับแบบสอบถามอีก ทั้งคู่จึงได้ลงพื้นที่ด้วยตนเองไปสำรวจกลุ่มตัวอย่างนักเรียนวัยรุ่น 200 คน จากโรงเรียน 4 แห่ง คละกันไปตั้งแต่โรงเรียนของเด็กจากวรรณะล่างจนถึงลูกหลานคนรวยมีอันจะกิน        

                    จากจำนวนนักเรียน 200 คนนี้ แทบทั้งหมดยอมรับว่ามีนิสัยแคะขี้มูก เฉลี่ยแล้วแคะกันประมาณวันละ 4 ครั้ง เหตุผลส่วนใหญ่ที่ชอบแคะเพราะช่วยให้หายคันและกำจัดขี้มูกออกไป ในขณะที่มี 12% บอกว่าชอบแคะเพราะทำให้รู้สึกดี แต่ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือมี 7.6% ยอมรับว่าแคะจมูกมากกว่าวันละ 20 ครั้ง อีกเกือบ 20% สารภาพว่าติดการแคะจมูกอย่างหนัก นอกจากนี้ยังได้พบว่าบางคนไม่ได้ใช้แค่นิ้วในการแหย่เข้าไปในรูจมูกเท่านั้น นักเรียน 13 คนยอมรับว่ายังใช้แหนบช่วยแคะ อีก 9 คนถึงกับแหย่ดินสอเข้าไปในรูจมูก ส่วนอีก 9 คนสารภาพว่าหลังจากแคะได้ก้อนขี้มูกแล้ว ก็เอาใส่ปากกินต่อ !!! 

                    จากผลการสำรวจนี้จะเห็นได้ว่า การแคะขี้มูกนั้นเป็นพฤติกรรมที่แพร่หลายโดยไม่จำกัดชั้นวรรณะ จึงไม่เกี่ยวว่าจะถูกอบรมบ่มนิสัยเรื่องมารยาทมาอย่างไร แต่ก็ออกจะมีความแตกต่างอยู่บ้างระหว่างผู้หญิงและผู้ชาย โดยพบว่าผู้ชายเป็นเพศที่ติดนิสัยแคะขี้มูกมากกว่า นอกจากนี้ยังพบว่าเป็นเพศที่เสี่ยงต่อการมีพฤติกรรมไม่ดี อย่างการกัดเล็บและดึงผมตัวเองมากกว่าด้วย 

                    แคะขี้มูก ส่อแววพฤติกรรมอันตราย ? 

                    การแคะขี้มูกอย่างเมามันล้วนกลายเป็นพฤติกรรมอันตรายที่ส่งผลเสียต่อเจ้าของจมูกได้เช่นกัน อันตเรทและศรีหริได้ย้อนดูบันทึกทางการแพทย์ถึงเคสความเจ็บป่วยที่เกิดเนื่องจากการแคะขี้มูก ก็ได้พบว่า มีกรณีหนึ่งที่แพทย์ประสบความล้มเหลวในการผ่าตัดจมูกเนื่องจากคนไข้ติดนิสัยแคะจมูกเป็นอาจิณ จนกระเทือนถึงแผลผ่าตัดไม่ปิดสนิทกันเสียที ทำให้ผู้ป่วยรายนี้มีรูโหว่ที่ผนังกั้นจมูกติดตัวตลอดไป และยังมีเคสที่หญิงวัย 53 ปีคนหนึ่ง เสพติดการแคะจมูกอย่างหนัก ถึงขั้นแคะจนทะลุไปถึงโพรงไซนัสเลยทีเดียว 

                    นอกจากนี้ยังปรากฎกรณีของผู้ป่วยชายวัย 29 ปี ที่มีนิสัยชอบแคะจมูกประกอบกับพฤติกรรมชอบดึงขนจมูกตัวเอง จนทำให้จมูกอักเสบไปหมด แพทย์ได้ใช้ยาทารักษา ทว่ามันส่งผลข้างเคียงทำให้จมูกของเขากลายเป็นสีม่วงไปด้วย แต่ถึงอย่างนั้นก็ช่วยบำบัดอาการแหย่และดึงขนจมูกของผู้ป่วยได้อย่างน่าพอใจ แม้ว่าจมูกจะกลายเป็นสีม่วงไม่เหมือนคนทั่วไปก็ตาม 

                    แคะขี้มูก พฤติกรรมเพาะเชื้อโรคตัวยง

                    ในปี 2549 มีผลการศึกษาจากสองนักวิจัยชาวดัตช์ พบว่าพฤติกรรมแคะขี้มูกทำให้ผู้แคะเสี่ยงกับเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus aureus มากกว่าคนทั่วไป ซึ่งเชื้อตัวนี้เป็นเชื้อประจำถิ่นบนผิวหนังและโพรงจมูก และจะสร้างสารพิษเอนเทอโรท็อกซินออกมา หากปกเปื้อนลงไปในอาหารก็จะทำให้ผู้รับประทานมีอาการอาหารเป็นพิษ บางรายอาจมีท้องร่วงรุนแรงจนช็อกได้ ใครท้องไส้อ่อนท้องเสียง่ายจึงต้องระวังเรื่องการแคะจมูกไว้ให้ดี เพราะพฤติกรรมนี้ช่วยทำให้เชื้อแพร่กระจายออกไปได้ง่ายขึ้น 

                    จากข้อมูลทั้งหมดก็พอทำให้เข้าใจได้ว่า "การแคะขี้มูก" เป็นสิ่งที่ใคร ๆ ต่างก็ทำกัน และไม่ใช่เรื่องน่าหวั่นวิตกหรือผิดแปลกแต่อย่างใดหากคุณจะแคะมันสักวันละ 4-5 ครั้ง ตราบเท่าที่ไม่ได้เอาสิ่งแปลก ๆ แยงเข้าไปหรือเอานิ้วไชจนขุดผิวหนังในจมูกเป็นแผล ว่าแต่เหตุผลจริง ๆ ที่เราชอบแคะขี้มูกกันนั้นมันคืออะไรเล่า บางทีเหตุผลอาจคล้าย ๆ กับสิ่งที่นายทอม สแตฟฟอร์ด ได้สรุปไว้ในงานวิจัยเรื่องพฤติกรมการกัดเล็บว่า พฤติกรรมเช่นนี้เกิดจากความรู้สึกอยากจัดการร่างกายให้เรียบร้อย ผนวกกับความที่จมูกเป็นอวัยวะใกล้มือ ลูบหน้าเมื่อไรก็เจอจมูกเมื่อนั้น มันเลยอดส่งนิ้วแหย่เข้าไปเช็คความเรียบร้อยไม่ได้ยังไงล่ะ 

                    เผลอ ๆ ตอนอ่านข้อความนี้อยู่ นิ้วข้างหนึ่งของคุณกำลังแหย่เข้าไปในรูจมูกอยู่พอดีก็ได้ ... :P 









เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไขข้อข้องใจ ทำไมเราถึงชอบแคะขี้มูกกันจัง อัปเดตล่าสุด 4 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา 15:49:02 26,606 อ่าน
TOP
x close